การประมูลคลื่นวิทยุเสร็จสิ้นไปแล้ว กสทช.ประกาศผลสำรวจพบ "หนุ่ม มีซอ" ลูกชาย "เฉลิมพล มาลาคำ" เข้าประมูลคว้ามาได้ 2 คลื่น FM 95.25 ยโสธร และ 100.5 มหาสารคาม ด้วยมูลค่ารวมกันกว่า 7 ล้านบาท
วันนี้ (23 ก.พ.) จากกรณีที่ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกาศผลการประมูลคลื่นความถี่ในระบบเอฟเอ็ม สำหรับการให้บริการกระจายเสียง ประเภทกิจการทางธุรกิจ เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา จำนวน 71 คลื่นความถี่ มีการเคาะราคาสูงกว่าราคาประมูลเริ่มต้นทั้งหมดจาก 398.498 ล้านบาท เป็น 700 ล้านบาท (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นจากราคาเริ่มต้นการประมูล 77%
อ่านประกอบ : สรุปผลประมูลคลื่นเอฟเอ็ม ชนะ 9 ราย ราคา 700 ล้านบาท อสมท คว้า 47 คลื่นความถี่
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ผลการประมูลพบว่ามีผู้ชนะการประมูล 9 ราย ได้แก่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ชนะการประมูลมากที่สุด 47 คลื่นความถี่ จากที่ยื่นประมูล 55 คลื่นความถี่ รองลงมาคือ บริษัท ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค 24 ชั่วโมง จำกัด ชนะการประมูล 13 คลื่นความถี่ จากที่ยื่นประมูล 45 คลื่นความถี่, บริษัท เจ.เอส.ไนน์ตี้วัน จํากัด ชนะการประมูล 3 คลื่นความถี่ จากที่ยื่นประมูล 9 คลื่นความถี่, บริษัท นานาเอนเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด ชนะการประมูล 2 คลื่นความถี่ จากที่ยื่นประมูล 5 คลื่นความถี่ และบริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) ชนะการประมูล 1 คลื่นความถี่
ส่วนผู้ประกอบการระดับท้องถิ่น และระดับภูมิภาค พบว่า บริษัท ดินดิน จำกัด จากจังหวัดขอนแก่น ชนะการประมูล 2 คลื่นความถี่ จากที่ยื่นประมูล 5 คลื่นความถี่, บริษัท สตูดิโอ ไลน์ เอเจนซี่ จำกัด ผู้ผลิตรายการ 88 Nice Peak และ 93 Green FM จากจังหวัดภูเก็ต ชนะการประมูล 1 คลื่นความถี่, ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุภคพร กรุ๊ป จากจังหวัดยโสธร ชนะการประมูล 1 คลื่นความถี่, ห้างหุ้นส่วนจำกัด พีระยา มีเดียกรุ๊ป จากจังหวัดมหาสารคาม ชนะการประมูล 1 คลื่นความถี่ เป็นต้น
โดยพบว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุภคพร กรุ๊ป ที่มีนางนริศรา นาสำแดง และนายสุริยันต์ มาลาคำ หรือ หนุ่ม มีซอ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ซึ่งนายสุริยันต์เป็นบุตรชายของ เฉลิมพล มาลาคำ นักร้องเพลงลูกทุ่งหมอลำชื่อดัง ชนะการประมูลคลื่นความถี่ เอฟเอ็ม 95.25 จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นของคลื่น อสมท.ยโสธร เดิม ด้วยราคากว่า 4.21 ล้านบาท สูงกว่า อสมท และลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค จากราคาเริ่มต้น 105,000 บาท
ส่วนห้างหุ้นส่วนจำกัด พีระยา มีเดียกรุ๊ป ที่มีนายสุริยันต์ มาลาคำ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และมีนางพีระยา ผาบชมภู หรือดีเจพีระยา ผู้ผลิตรายการลูกทุ่งบันเทิงมหาสารคาม และนายทศพร ผาบชมภู เป็นหุ้นส่วน ชนะการประมูลคลื่นความถี่ เอฟเอ็ม 100.5 จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นของคลื่น อสมท.มหาสารคาม เดิม ด้วยราคากว่า 2.99 ล้านบาท สูงกว่าลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค จากราคาเริ่มต้น 105,000 บาท
นอกจากนี้ บริษัท ดินดิน จำกัด ของ น.ส.มะลิดา ปทุมธนทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวาทศิลป์ และผู้ผลิตรายการ เอฟเอ็ม 106 ที-สไมล์เรดิโอ จังหวัดขอนแก่น เข้าร่วมการประมูล 5 คลื่นความถี่ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น 3 คลื่นความถี่ จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดชัยภูมิ ปรากฏว่าชนะการประมูล 2 คลื่นความถี่ ได้แก่ เอฟเอ็ม 101 จังหวัดร้อยเอ็ด ของสถานีวิทยุ อสมท. ร้อยเอ็ด เดิม และอีก 1 คลื่นความถี่ในจังหวัดขอนแก่น
อีกด้านหนึ่ง แม้ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อสื่อมวลชนว่าจะแถลงผลการประมูลทางออนไลน์ในวันที่ 24 ก.พ.นี้ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า กรุงเทพมหานครเข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียวแบบไม่มีคู่แข่ง 6 ความถี่ ต่างจังหวัดเข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียวแบบไม่มีคู่แข่ง 14 ความถี่ และชนะลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค 12 ความถี่ นอกจากนี้ จากการตรวจสอบ โดยเปรียบเทียบรายชื่อผู้เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ในระบบเอฟเอ็มเพิ่มเติม พบว่ายังชนะการประมูลเพิ่มเติมอีก 11 ความถี่ ยังเหลืออีกส่วนหนึ่งที่คาดว่า อสมท จะเปิดเผยอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้
สรุปความถี่ที่ชนะการประมูลเบื้องต้น (เปรียบเทียบ รายชื่อผู้เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ในระบบเอฟเอ็ม)
กรุงเทพมหานคร เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว อสมท 6 ความถี่ ได้แก่ FM 95, FM 96.5, FM 99, FM 100.5, FM 105.5, FM 107 ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค FM 98.5 และ จีเอ็มเอ็ม มีเดีย FM 106.5 (กรีนเวฟ)
ต่างจังหวัด อสมท เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว 14 ความถี่ ได้แก่ FM 99.5 จังหวัดแม่ฮ่องสอน, FM 99.25 จังหวัดสุโขทัย, FM 98.5 จังหวัดอุตรดิตถ์, FM 92 จังหวัดน่าน, FM 92 จังหวัดกาฬสินธุ์, FM 91.5 จังหวัดอุดรธานี, FM 96.5 จังหวัดสงขลา, FM 93.25 จังหวัดสตูล, FM 102.5 จังหวัดยะลา, FM 91 จังหวัดปัตตานี, FM 101.5 จังหวัดภูเก็ต, FM 95.75 จังหวัดพัทลุง, FM 100.5 จังหวัดระนอง และ FM 106.75 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
อสมท ชนะลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค 12 ความถี่ ได้แก่ FM 99 จังหวัดลำปาง, FM 97.25 จังหวัดตาก, FM 101.25 จังหวัดเชียงราย, FM 107.75 จังหวัดพิจิตร, FM 107.25 จังหวัดตราด, FM 96.75 จังหวัดระยอง, FM 107.25 จังหวัดกาญจนบุรี, FM 95 จังหวัดศรีสะเกษ, FM 105 จังหวัดกระบี่, FM 106.25 จังหวัดตรัง, FM 90.75 จังหวัดชุมพร และ FM 104.75 จังหวัดชุมพร (อสมท หลังสวน เดิม)
อสมท ชนะผู้ประกอบการมากกว่า 2 ราย (เฉพาะเทียบเคียงกับลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค และผู้ประกอบการที่ไม่ชนะการประมูลเลย) 11 ความถี่ ได้แก่ FM 93 จังหวัดแพร่, FM 106.25 จังหวัดพิษณุโลก, FM 95.25 จังหวัดจันทบุรี, FM 107.75 จังหวัดชลบุรี (อสมท.พัทยา เดิม), FM 91.25 จังหวัดสิงห์บุรี, FM 107.0 จังหวัดอุบลราชธานี, FM 92 จังหวัดบุรีรัมย์, FM 100 จังหวัดเลย, FM 93.5 จังหวัดนครพนม, FM 104.5 จังหวัดนครศรีธรรมราช และ FM 102 จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว 5 ความถี่ ได้แก่ FM 102 จังหวัดแม่ฮ่องสอน, FM 96.5 จังหวัดลำพูน, FM 106.25 จังหวัดนครราชสีมา, FM 105.75 จังหวัดระนอง และ FM 98.75 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค ชนะผู้ประกอบการรายอื่น 7 ความถี่ ได้แก่ FM 97.25 จังหวัดพะเยา, FM 101.75 จังหวัดอุทัยธานี, FM 92.75 จังหวัดกำแพงเพชร, FM 93.25 จังหวัดขอนแก่น, FM 99.75 จังหวัดสุรินทร์, FM 99 จังหวัดอุดรธานี และ FM 102.25 จังหวัดสงขลา
นานาเอนเทอร์เทนเม้นท์ เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว ได้แก่ FM 96 จังหวัดนราธิวาส, ชนะลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค ได้แก่ FM 89 จังหวัดภูเก็ต เป็นต้น