ปีนี้ไม่มีวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ แต่ในปี พ.ศ.๒๔๕๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าหลวงเป็นของคนไทยขึ้นที่สามเสน จากโรงแรกที่ฝรั่งเป็นผู้สร้าง
ไฟฟ้าได้เริ่มส่องสว่างขึ้นครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาในปี ๒๔๒๒ จากนั้นในปี ๒๔๒๕ จึงเริ่มมีที่อังกฤษ ตอนนั้นคนไทยก็เช่นเดียวกับคนทั้งโลกที่ไม่รู้เรื่องไฟฟ้า แต่จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) เมื่อครั้งยังเป็น จมื่นไวยวรนาถ ได้ร่วมเป็นคณะราชทูตสยามไปอังกฤษ ได้เห็นความมหัศจรรย์ของกรุงลอนดอนที่สว่างไสวในยามราตรี จึงเกิดความคิดว่าเมืองไทยน่าจะนำไฟฟ้ามาใช้บ้าง แต่เมื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงรับสั่งว่า “ไฟฟ้า หลังคาตัด ข้าไม่เชื่อ” จมื่นไวยฯจึงคิดที่จะต้องทำให้ทอดพระเนตรให้ได้ จึงนำที่ดินมรดกแปลงหนึ่งไปกราบทูลขอพระราชทานให้สมเด็จพระบรมราชเทวีทรงช่วยรับซื้อไว้ ได้เงินมา ๑๘๐ ชั่ง หรือ ๑๔,๔๐๐ บาท จากนั้นจึงให้นายมาโยลา ครูฝึกทหารชาวอิตาเลียน เดินทางไปซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่กรุงลอนดอนได้เครื่องกำเนิดไฟฟ้ามา ๒ เครื่องพร้อมอุปกรณ์ สายและหลอด
จมื่นไวยฯจึงติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขึ้นที่ศาลากรมทหารหน้า ซึ่งก็คือศาลากระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน วางสายเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง เริ่มเดินเครื่องจ่ายไฟในวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๔๒๗ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จึงถือได้ว่ากรุงสยามมีไฟฟ้าครั้งแรกในวันนั้น
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้พระราชทานเงินค่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าคืนให้จมื่นไวยฯ และทรงวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อประชาชนจะได้ใช้กัน ให้สัมปทานบริษัทของชาวเดนมาร์คสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นที่วัดมหาพฤฒาราม และได้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นนี้ไปใช้ในการเดินรถรางจากถนนตกถึงหลักเมืองด้วย ซึ่งเดิมใช้ม้าลาก เปลี่ยนมาเป็นรถไฟฟ้าในปี ๒๔๓๗ ทำให้ประเทศไทยได้รับการจารึกไว้ว่า เป็นประเทศแรกของโลกที่นำรถไฟฟ้ามาใช้เป็นรถโดยสาร แต่เดี๋ยวนี้มาใช้รถโดยสารควันโขมงได้ยังไงก็ไม่รู้
โรงไฟฟ้าที่เปิดบริการประชาชนอย่างกว้างขวางจนเป็นตำนานของโรงไฟฟ้าของกรุงเทพฯก็คือ “โรงไฟฟ้าวัดเลียบ” ซึ่งก่อตั้งในที่ดินของวัดราชบูรณะราชวรมหาวิหาร (วัดเลียบ) โดยบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๔๑๑ เป็นของชาวเดนมาร์คอีกเช่นกัน และจดทะเบียนที่กรุงโคเปนเฮเกน ซึ่งนอกจากจะจ่ายไฟฟ้าบริการประชาชนแล้ว ยังรวมเอากิจการรถรางมาดำเนินการด้วย บริษัทนี้ยั่งยืนมาตลอดจนหมดสัมปทานในปี ๒๔๙๒ รัฐบาลจึงดำเนินการต่อเอง
เมื่อกรุงเทพฯเติบโตขึ้นจนเกินกำลังของโรงไฟฟ้าวัดเลียบ ในปี ๒๔๕๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล ดำเนินการสร้างการประปาและโรงไฟฟ้าขึ้นพร้อมกันที่สามเสน และเปิดจ่ายไฟฟ้าได้ตั้งแต่ปี ๒๔๕๗ ในชื่อ “การไฟฟ้าหลวงสามเสน” โดยแบ่งเขตกับโรงไฟฟ้าวัดเลียบ จ่ายไฟตั้งแต่แนวคลองบางลำพูและคลองบางกอกน้อยขึ้นไป ผู้เขียนเกิดที่บ้านในคลองบางกอกน้อย สมัยเด็กยังแปลกใจที่บ้านซึ่งอยู่ฝั่งใต้เกิดไฟดับ แต่ฝั่งตรงข้ามยังเปิดสว่างไสว เพราะใช้ไฟฟ้าคนละโรงนี่เอง
ตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทั้งโรงไฟฟ้าวัดเลียบและโรงไฟฟ้าหลวงสามเสนถูกทิ้งระเบิดทำลาย ต้องหยุดจ่ายกระแสไฟทั้ง ๒ โรง ทั้งกรุงเทพฯและธนบุรีจึงต้องกลับไปใช้ตะเกียงและเทียนไขกันอีก จนสงครามสงบจึงซ่อมและกลับมาส่งกระแสไฟใหม่
หลังจากที่รัฐบาลรับโรงไฟฟ้าวัดเลียบเมื่อหมดสัมปทานมาดำเนินการเองเป็นรัฐวิสาหกิจ และเปลี่ยนชื่อเป็น การไฟฟ้ากรุงเทพ ในปี ๒๕๐๑ จึงได้รวมการไฟฟ้ากรุงเทพฯกับการไฟฟ้าหลวง มาเป็นการไฟฟ้านครหลวงในปี ๒๕๐๓ จึงมีสิ่งมหัศจรรย์ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เกิดขึ้น
ทั้งนี้เมื่อหลังสงคราม เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆได้หลั่งไหลเข้ามามาก อย่าง พัดลม เตารีด กาต้มน้ำ เครื่องหุงต้มไฟฟ้า และตู้เย็น กระแสไฟที่ไม่พอใช้อยู่แล้วจึงถึงขั้นขาดแคลน เกิดไฟดับเป็นประจำ แม้จะสร้างเขื่อนยันฮีขึ้นที่จังหวัดตากแล้ว ก็คาดว่าในอนาคตอีกไม่นานจะเกิดปัญหาอีก จึงเกิดความคิดที่จะเพิ่มประแสโดยเปลี่ยนระบบแรงดันจาก ๑๑๐ โวลท์ มาเป็น ๒๒๐ โวลท์ เหตุผลที่จะเปลี่ยนก็เพราะสามารถจ่ายไฟได้เป็น ๔ เท่าของระบบ ๑๑๐ โวลท์โดยใช้สายขนาดเดียวกัน ซึ่งจะประหยัดและลดต้นทุนการผลิตลงได้มาก แต่หลายประเทศในขณะนี้แม้แต่อเมริกาก็ยังใช้ระบบ ๑๐๐ โวลท์ ทั้งนี้ก็เพราะมารู้เมื่อมีการใช้กันมากจนไม่สามารถเปลี่ยนได้แล้ว
การเปลี่ยนนี้หมายถึงต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าทุกอย่าง ตั้งแต่หลอดไฟทุกหลอดในเมือง เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชิ้นภายในบ้าน ซึ่งขณะนั้นมีผู้ใช้ไฟฟ้าในกรุงเทพฯมีราว ๑๖๐,๐๐๐ ราย การไฟฟ้านครหลวงยอมรับผิดชอบส่งช่างเข้าเปลี่ยนหลอดไฟและบาลลาสหลอดฟลูเรสเซนต์ตามบ้านให้ทั้งหมด ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าเช่นเตารีด เครื่องหุงต้ม ตู้เย็น ก็ดัดแปลงให้เป็น ๒๒๐ โวลท์ พัดลมขนาดเล็กก็ติดตั้งหม้อแปลงลดแรงดันไฟฟ้าให้ ใช้งบประมาณ ๑๒๐ ล้านบาท แต่ก็คุ้มค่ากับการพัฒนาประเทศในระยะยาว
ในที่สุดสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้นี้ก็สำเร็จลง จนสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าในระบบใหม่ไปทั่วประเทศ โดยไม่มีการหรี่ๆดับๆอย่างแต่ก่อนอีก
ต่อมาหน่วยงานด้านการผลิตและส่งพลังงานไฟฟ้า ๓ แห่ง คือ การไฟฟ้ายันฮี การลิกไนท์ และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รวมกันเป็น “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” มีฐานะเป็นนิติบุคคลตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๑๒
นี่ก็เป็นประวัติการไฟฟ้าของประเทศไทย ที่มีความน่าภาคภูมิไม่น้อยหน้าใคร