ไม่เพียงในฐานะ ‘ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่’
ทว่า ชื่อของ ‘อาจารย์ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ’ ยังเป็นที่รู้จักดีสำหรับชาวเชียงใหม่ โดยเฉพาะในด้านศิลปวัฒนธรรมและการศึกษาทางเลือก เนื่องด้วยอาจารย์ชัชวาลย์เป็นผู้ก่อตั้ง ‘โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา’
เป็นอดีตเลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือก ทั้งเป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมรณรงรค์ขับเคลื่อนประเด็น ‘จังหวัดเชียงใหม่จัดการตนเอง ทว่า เหล่านั้น เป็นเพียงส่วนปลีกย่อยที่เราหยิบยกมาเพื่อให้เห็นพื้นภูมิบางส่วน เพราะประเด็นหลักของการพูดคุยสนทนาในครั้งนี้
‘ผู้จัดการออนไลน์’สัมภาษ์ณ์พิเศษ อาจารย์ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ภาคีเครือข่ายที่รวบรวมไว้ซึ่งคนทำงานภาคประชาสังคมหลากหลายด้านมากที่สุดเครือข่ายหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ก็ว่าได้
ไม่ว่าผู้เชี่ยวชาญเรื่องพื้นที่ป่า สิทธิที่ดิน สิทธิพลเมือง เครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม เครือข่ายด้านการอนุรักษ์เมืองเชียงใหม่ แนวร่วมและผู้เชี่ยวชาญด้านการต้านไฟป่ารวมถึงนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ และอีกหลากหลายคนทำงานภาคประชาสัมคมที่รวมตัวกันขับเคลื่อนประเด็นเพื่อต่อสู้กับปัญหามลภาวะหมอกควัน หรือ ฝุ่นควัน PM 2.5 ที่เมื่อไม่นานปีมานี้ จังหวัดเชียงใหม่ ประสบปัญหาดังกล่าวกระทั่งติดอันดับ 1 ของโลก และยังคงเผชิญปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง
กระทั่งในที่สุด วันที่ 9 เดือน 9 ปี 2019 ‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’ จึงก่อตั้งขึ้นด้วยองค์ความรู้ที่น่าสนใจยิ่ง ทั้งในเรื่องของประเด็นปัญหา การบริหารจัดการ การมองปัญหาอย่างลึกซึ้งรอบด้าน ในหลากหลายบริบท การผสานความร่วมมือกับทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงข้อเรียกร้องที่ผลักดันต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด
‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’ รวบรวมไว้ด้วยผู้คนมากมายที่มาร่วมกันระดมความเห็น ระดมมันสมอง ถอดบทเรียนปัญหา เสนอแนวทางการแก้ไขแบบยั่งยืน
มี ‘เชียงใหม่ โมเดล’ ที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขPM 2.5 มีคณะทำงานด้านต่างๆ อาทิ ภาคเมือง ภาคโรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง คณะทำงานด้านเกษตร คณะทำงานด้านที่ดิน ป่าไม้ ขณะที่ประเด็นข้อเสนอข้อเรียกร้องถึงภาครัฐก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่องโดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
ย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 สภาลมหายใจเชียงใหม่มีหลายพันธกิจและหลายประเด็นขับเคลื่อนที่น่าสนใจยิ่ง พวกเขามีภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันเรียกร้องผลักดันสภาพอากาศของพื้นที่ภาคเหนือ รวมตัวเป็น ‘สภาลมหายใจภาคเหนือ8 จังหวัด’ ประกอบด้วย สภาลมหายใจแม่ฮ่องสอน สภาลมหายใจเชียงราย สภาลมหายใจพะเยา สภาลมหายใจแพร่ สภาลมหายใจน่าน สภาลมหายใจลำพูน สภาลมหายใจลำปาง และสภาลมหายใจเชียงใหม่
เป็นการรวมพลัง เรียกร้องผลักดันในประเด็นร่วม ใส่ใจในประเด็นที่เป็นแก่นแกนรากเหง้าปัญหา การพยายามแก้ไขอย่างยั่งยืนแม้ไม่ง่ายแต่ก็ยังคงเดินหน้าผลักดัน
นอกจากนี้ ยังทำงานร่วมกับนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์เพื่อนำมาใช้พิจารณาค่าHot Spot
รวมทั้งประเด็นสำคัญอย่างข้อเรียกร้องให้เกิดการกระจายอำนาจ เพื่อให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการตัดสินใจและบริหารจัดการปัญหาได้ทันท่วงทีโดยไม่ต้องรอคำสั่งจากส่วนกลาง เป็นอีกประเด็นที่สภาลมหายใจเรียกร้อง ทั้งหมดทั้งปวงนั้น คือถ้อยความนับจากนี้ที่อาจารย์ชัชวายล์ บอกกล่าวแก่เรา โดยไม่ลืมวิเคราะห์ถึงสถานการณ์‘ลานินญา’ ที่แม้จะทำให้PM
2.5 ในเชียงใหม่ปีนี้ เบาจางลง แต่ทว่า ในระยะยาว ยังมีปัญหาอีกมากมายรอคอยการแก้ไข
สะสาง เดินหน้า ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของ‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’ และภาคีเครือข่ายทั้งปวง
วันที่9 เดือน9 ปี2019 : กำเนิด‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’
เมื่อสอบถามถึงจุดเริ่มต้นหรือความเป็นมาของ
‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’ กับภาคีเครือข่าย ว่ามีกรอบการทำงานร่วมกันอย่างไร
อาจารย์ชัชวาลย์ตอบพร้อมเสียงหัวเราะว่า
“สภาลมหายใจเชียงใหม่ของเราใช้ฤกษ์ วันที่9 เดือน9 ปี2019 หรือเริ่มต้นในวันที่เก้า เดือนเก้า คือเดือนกันยายน ในปี พ.ศ.2562 ปีนั้น ค่าPM2.5 ของเชียงใหม่ทะลักขึ้นไปเป็นอันดับหนึ่งของโลกครับ
หมายความว่ามันทำให้ประชาชนทั่วไป มีความรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ซึ่งจริงๆ
ก่อนหน้านั้นก็ไม่ไหวแล้วครับ เพราะในปี พ.ศ.2561 ก็มีการรณรงค์ผ่านChange.orgที่จะขับไล่ผู้ว่าฯ
กัน ในกรณีนี้ ประชาชนเขาไม่พอใจอย่างแรง ซึ่งก็มีปัญหากันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ว่าในปี พ.ศ.2562
ทุกคนรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ถ้าปล่อยให้ฝ่ายราชการทำฝ่ายเดียวคงไม่ไหว เพราะปัญหาเพิ่มมากขึ้นทุกปีๆ
เพราะฉะนั้น เราคงจะต้องมานั่งพูดคุยกัน ไม่ว่าภาคประชาสังคม ภาคีเครือข่ายต่างๆ
สิ่งสำคัญก็คือว่าแนวทางของเรา เราจะไม่โทษกันไปมา แต่เราอยากสร้างแพลตฟอร์มเพื่อให้ทุกฝ่ายอยากแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นควันร่วมกันได้เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มนี้และมาร่วมกันแก้ปัญหา นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่เราเห็นตรงกันครับ”
ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่
บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการก่อกำเนิดเครือข่ายภาคประชาสังคมที่นับว่าแข็งแรงอย่างมากอีกเครือข่ายหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่
ก่อนบอกเล่าเพิ่มเติมว่า สิ่งที่น่าสนใจของสภาลมหายใจเชียงใหม่คือ
เริ่มต้นจากการสรุปบทเรียน ทบทวนสาเหตุว่าทำไม ตลอดระยะเวลานับ14 ปี ที่ผ่านมา ปัญหาฝุ่นควันในเชียงใหม่ ซึ่ง ในปี พ.ศ.2550 เคยมีการใช้คำว่าการแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ
ซึ่งณ เวลานั้น เรียกได้ว่าเป็นจุดสตาร์ทที่ชัดเจนมาก ว่ารัฐบาลให้ความสนใจเรื่องนี้
แต่หลังจากนั้น ก็ไม่มีการแก้ปัญหาอีก และแล้วปัญหาหมอกควันหรือฝุ่นควันเชียงใหม่ก็หนักขึ้นเรื่อยๆ
สรุปข้อเสนอแนะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
อาจารย์ชัชวาลย์ บอกกล่าวว่า สภาลมหายใจเชียงใหม่เริ่มต้นด้วยการหารือในประเด็นที่ว่า ทำไมตลอดระยะเวลา
14 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ได้ เราจะทำอย่างไร ในที่สุด จึงสรุปข้อเสนอแนะและแนวทางการแก้ปัญหาออกมาได้ 3 ปัจจัย ดังนี้
ปัจจัยข้อ1.การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
อาจารย์ชัชวาลย์กล่าวว่าที่ผ่านมา รัฐแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้า แก้ปัญหาเชิงรับ คือมองแค่ว่ามีไฟ
แล้วก็มาดับไฟ อาจตั้งคณะกรรมการขึ้นประมาณสักเดือนธันวาคม แล้วก็มาดับไฟในช่วงเดือนกุมภาพันธ์
มีนาคม เมษายน แล้วก็จากนั้นก็กลับเข้ากรมกอง
“คือมันเป็นลูป เป็นวัฏจักรแบบนี้ แก้ปัญหาไม่ได้ ดังนั้น เราก็เสนอใหม่ ว่ามันต้องเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
นี่คือสิ่งที่เราสรุปได้ว่าเราต้องแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในทุกสาเหตุ ซึ่งปัญหาเรื่องสาเหตุที่แก้ไขไม่ได้นี่ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่เราถกเถียงกันหนักมาก เพราะที่ผ่านมาสังคมมักจะโทษชาวบ้านว่าเผาป่า ชาวเขาเผาป่า เผาเห็ดถอบ ล่าสัตว์
อะไรแบบนี้ ซึ่งพอเราศึกษาทำให้เราได้ข้อมูลที่น่าสนใจ เนื่องจาก แพลตฟอร์มของเรามาจากทุกภาคส่วน
ทำให้เราได้ศึกษาเชิงลึกมาก โดยข้อมูลจากภาควิชาการพบว่า ตลอดทั้งปี มีผุ่นควันจากรถยนต์ และอุตสาหกรรมและการก่อสร้างมากถึง56% ที่เข้ามากองอยู่ที่แอ่งเชียงใหม่ จากนั้นในช่วงมกราคม กุมภาพันธ์
มีนาคม เมษายน แล้ว ไฟป่าจากภาคการเกษตร จากป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ ป่าประเทศเพื่อนบ้านก็เข้ามาแบบทะลักเกิน
100 % ไปเลยครับ นี่คือลูปที่เราเริ่มเรียนรู้ว่า สาเหตุมาจากหลายสาเหตุมาก และปัจจัยหนึ่งคือ ระบบแอ่งของเมืองเรา
มันมีลักษณะพิเศษคือ อากาศหนักจะมากองอยู่ก้นแอ่งแล้วมีลักษณะเหมือนฝาชีครอบ แล้วเชียงใหม่มีการระบายตัวของอากาศต่ำในช่วงกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน
ประเด็นนี้คือสิ่งที่เราเริ่มเรียนรู้มากขึ้น เราก็เสนอว่า ต้องมีการแก้ไขในทุกส่วน มีแผนทั้งในระยะสั้น กลาง ยาว
นี่คือประเด็นที่1” อาจารย์ชัชวาลย์ระบุถึงแนวทางการแก้ปัญหา ก่อนกล่าวเพิ่มเติมถึงปัจจัยในข้อต่อไป
สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมขนาดใหญ่จากทุกภาคส่วน
ปัจจัยข้อที่2. สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมขนาดใหญ่จากทุกภาคส่วน
อาจารย์ชัชวาลย์กล่าวว่า ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาโดยรัฐมักเป็นระดับ Top Down คือการสั่งการจากกรุงเทพฯ มาเชียงใหม่ มายังผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วสั่งต่อลงไปเป็นทอดๆ ไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น เหล่านี้ ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมประชาชนเป็นเหมือนผู้ดู ผู้บ่น สภาลมหายใจจึงเสนอว่าแบบนี้แก้ปัญหาไม่ได้
“เราเสนอให้สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมขนาดใหญ่ คือ ทุกภาคส่วนต้องมาช่วยกัน เพราะแท้จริงแล้ว
ถ้าวิเคราะห์ สาเหตุในส่วนแรก ทุกคนมีส่วนในการสร้างPM2.5 ไม่ว่าขับรถยนต์ คนในภาคอุตสาหกรรม
ภาคการเกษตร หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้าน คุณอยู่ภาคส่วนไหนก็แล้วแต่ คุณมีส่วนในการสร้างปัญหาทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ทุกฝ่ายทุกคนต้องมาช่วยกัน แต่ว่าเราเสนอหลักสำคัญที่น่าจะเป็นกลไกสำคัญ
นั่นก็คือ เราเสนอให้ใช้‘พื้นที่’ เป็นตัวตั้ง ใช้ชุมชนเป็นตัวตั้ง คือมีชุมชนเป็นแกนหลัก เพราะว่าแต่สภาพละพื้นที่ไม่เหมือนกันเลย อย่างเช่น ทางใต้ของเชียงใหม่ แถวอมก๋อย ดอยเต่า ใบไม้จะร่วงเร็วหน่อย สักเดือนมกราคมก็ร่วงหมดแล้ว แต่ขึ้นไปทางเหนือ ทางเชียงดาว ฝาง ชัยปราการ กว่าใบไม้จะร่วงก็จะเป็นมีนาคม เมษายน
คือ ระบบนิเวศน์ ระบบพื้นที่มันไม่เหมือนกัน เราจึงเสนอให้เอาระบบพื้นที่เป็นตัวตั้ง และชุมชนเป็นแกนหลัก เพราะชุมชนอยู่ติดป่า ติดพื้นที่ ติดดิน ทุกตารางนิ้วของเชียงใหม่ ต้องมีชุมชน ดูแลอยู่แล้ว
ถ้าชุมชนไม่ลุกขึ้นมาก็แก้ปัญหาไม่ได้” อาจารย์ชัชวาลย์ระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า
กระนั้น สภาลมหายใจเชียงใหม่ก็เสนอว่า ชุมชนอย่างเดียวก็อาจไม่พอ
ต้องมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นแกนประสาน กล่าวคือ มีพื้นที่เป็นตัวตั้ง
ชุมชนเป็นแกนหลัก และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นแกนประสานนั่นเอง
ปัจจัยที่3. Fire management
อาจารย์ชัชวาลย์กล่าวว่า เดิมที แนวทางของรัฐราชการ คือการใช้หลัก ‘ซีโร่ เบิร์นนิ่ง’
คือ มีการกำหนดวันที่ห้ามเผา ใครเผาโดนจับ
“ซึ่งปรากฏว่าเกิดเหตุไฟไหม้วินาศสันตะโรหมด แล้วก็จับใครไม่ได้เลย เพราะว่าเขาทำให้การเผาผิดกฎหมาย เมื่อผิด ทุกคนก็ต้องหลบไปอยู่ใต้ดินหมด เราก็เสนอว่า ในกรณีที่เป็นพื้นที่เสี่ยงที่ใบไม้สะสมเยอะๆ แล้วเสี่ยงมากถ้าไม่มีการจัดการ เราก็เสนอให้ใช้คำว่า fire management อีกข้อหนึ่งที่เป็นการแก้ปัญหาระยะยาวคือ กฎหมายที่ใช้กันในปัจจุบัน คือ กฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งหมายความว่าเมื่อเกิดเหตุ จึงจะสามารถใช้คน ใช้เครื่องจักรได้ กฎหมายนี้มันเก่ามาก มันเป็นกฎหมายที่โบราณมาก เราก็เสนอให้มี ‘ร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ.....’ที่เป็นกฎหมายเชิงรุก เชิงป้องกันมากขึ้น
“เหล่านี้3 ข้อที่เราเริ่มต้นพูดคุย แล้วเราก็นำเอาข้อสรุปนี้ไปขับเคลื่อนในทุกๆ พื้นที่ ทุกๆ เวทีที่เราพูดคุย จนกระทั่ง ทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงนั้นยอมรับว่าที่ผ่านมามันแก้ปัญหาไม่ได้จริง
เพราะฉะนั้น เขาก็เห็นด้วยกับแนวทางที่เราเสนอ จึงขับเคลื่อนร่วมกันมาด้วยดี
แต่ว่า ก็อาจจะมีปัญหาสะดุดลงบ้างนะครับ เพราะตอนนี้ เปลี่ยนผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่
ผู้ว่าฯ คนใหม่ อาจจะไม่เหมือนผู้ว่าฯ คนเก่าเต็มร้อย แต่ว่าท่านก็ยอมรับในสิ่งที่เราทำกันมาต่อเนื่อง”
อาจารย์ชัชวาลย์ระบุ
วิเคราะห์ปัจจัยปี 2022 อากาศเชียงใหม่ดีขึ้น PM2.5 ลดลง
ถามว่า นับแต่กำเนิดของสภาลมหายใจเชียงใหม่ ในปี2019 กระทั่งถึงตอนนี้ ก็ย่างก้าวสู่ปีที่3 แล้ว ในปีนี้ มีหลายเสียงสะท้อนจากชาวเชียงใหม่ว่า อากาศของเชียงใหม่ดีขึ้น ฝุ่นPM2.5 ลดน้อยลง อาจารย์สามารถวิเคราะห์ได้หรือไม่ ว่าเกิดจากปัจจัยใดบ้าง
อาจารย์ชัชวาลย์ตอบว่า ในความเห็นของตนคิดว่าสาเหตุมาจากสองส่วน
ส่วนที่หนึ่ง ในปีนี้ต้องยอมรับว่าเป็นปรากฏการณ์ ‘ลานินญา’ คือทำให้เกิดฝนเยอะ
ฝนภาคเหนือตกล่าช้ากว่าปกติอย่างมากเลย เห็นได้จากปลายเดือนมกราคม ฝนก็ยังตกอยู่
ซึ่งส่วนนี้ ถือว่า ธรรมชาติหรือความชื้นเรื่องฝนเป็นปัจจัยหลัก นี่คือสาเหตุที่1
“กระนั้น สภาลมหายใจเชียงใหม่ก็มีข้อสังเกตว่าในช่วงที่ฝนตก
เห็นปริมาณจุดHotspotลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างเช่น ปีที่แล้ว ชัดเจนมาก จาก จุดHotspot
21,000 จุด ลงลงมาเหลือประมาณ 8,600 ลดลงถึง 62% พื้นที่เผาไหม้ลดลงห้าแสนถึงหกแสนไร่
ซึ่งก็ถือว่ามีนัยสำคัญ เพราะฉะนั้น การที่ให้ชุมชน ให้ท้องถิ่นมีกระบวนการวางแผนในการป้องกัน
ทำแนวกันไฟ มีการลาดตระเวน มีการทำแผนป้องกันล่วงหน้า โดยมีองค์กรท้องถิ่นช่วยผสาน
มีงบประมาณสนับสนุนบางส่วน แล้วพวกเราเองก็ระดมทุนสนับสนุนไปที่ชุมชน ในระดับพื้นที่
โดยรวมแล้ว ผมมองว่าสิ่งเหล่านี้ก็มีส่วนที่ทำให้PM2.5 ลดลง กระบวนการมีส่วนร่วมนับว่ามีส่วน”
อาจารย์ชัชวาลย์ระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า
สาเหตุสำคัญอีกประการคือ การบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่ทำให้เกิดการเผา ที่ยอมรับได้ในส่วนที่จำเป็น ที่เมื่อมีแจ้งเข้ามา หลายภาคส่วนก็เข้าไปช่วยกันตรวจดูไม่ให้การเผาไหม้นั้นลุกลาม สะท้อนถึงการทำงานร่วมกันของหลายภาคส่วนที่มีกระบวนการที่ดี
“และที่สำคัญ ผมมองว่าเกิดจากการตื่นตัวของประชาชนชาวเชียงใหม่เองด้วย
เนื่องจากที่เชียงใหม่ เรามีเครื่องวัดคุณภาพอากาศทุกตำบล
มีเยอะมาก เพราะฉะนั้น เราก็รณรงค์ให้ทุกคน เมื่อตื่นขึ้นมา ก็ดูค่าอากาศ เพราะการดูค่าอากาศ มันทำให้คนตื่นตัว เช่นช่วงนี้มีค่าสีส้ม ต้องทำยังไง ช่วงนี้สีแดงต้องทำยังไง ช่วงนี้สีเหลือง สีเขียวต้องทำยังไง มันทำให้ประชาชนกับปัญหาฝุ่นควัน
เกิดปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด คือมีการรับรู้เรื่องราว รับรู้ข้อมูลความรู้ที่มีความชัดเจน และที่สำคัญก็คือเริ่มเข้าใจปัญหา สาเหตุ และเงื่อนไขปัจจัยที่เกิดขึ้นในระบบแอ่งเชียงใหม่ ในฐานะที่เป็นทั้งผู้สร้างและผู้ได้รับผลกระทบ ผมว่า ความเข้าใจสิ่งเหล่านี้มีส่วนสำคัญอย่างมาก”
อาจารย์ชัชวาลย์วิเคราะห์องค์ความรู้ของชาวเชียงใหม่ที่มีต่อปัญหาฝุ่นควันและยกตัวอย่างการผสานความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ
พันธกิจของ‘เชียงใหม่โมเดล’
ถามว่า สภาลมหายใจเชียงใหม่ เคยเสนอให้มีการแก้ปัญหาPM 2.5 จากทุกสาเหตุอย่างยั่งยืนโดยเรียกว่า
‘เชียงใหม่ โมเดล’มีความคืบหน้าหรือมีพันธกิจอะไรที่จะทำเพิ่มเติมอีกบ้าง
อาจารย์ชัชวาลย์กล่าวว่า กรณีของ‘เชียงใหม่โมเดล’ นั้น จริงๆ แล้ว
ถ้าเป็นไปได้ อยากให้โมเดลนี้ถูกนำไปใช้ในทุกจังหวัด เพราะว่ามันคือการเปลี่ยนหลักคิดและกระบวนการแก้ปัญหาแบบใหม่ ซึ่งมีความยั่งยืนกว่าเดิม
“ประเด็นที่1 นะครับ จากการที่เราทำงานมา2-3 ปี เราเชื่อมั่นในกระบวนการที่เราทำ แต่ว่าอย่างไรก็ตาม ณ ตอนนี้
เราก็เห็นข้อจำกัดหลายเรื่อง ว่าถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนจริงๆ มันต้องเกิดสิ่งที่เรียกว่า‘การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต’ และ ‘การผลิตที่ยั่งยืน’
เช่น ยกตัวอย่าง รถยนต์ เป็นไปได้ไหมที่เราจะเปลี่ยนจากรถที่ใช้น้ำมันเป็น รถที่ใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานไฟฟ้า ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่หากถามว่าทำได้เร็วไหม หรือ มันจำเป็นต้องใช้เวลาไหม ก็ตอบได้ว่าจำเป็นต้องใช้เวลา
ในขณะที่เราเชื่อมั่น เราก็รู้สึกว่าการจะไปสู่เป้าหมายนั้นต้องใช้เวลาและอาศัยพลังของภาคประชาชนและสังคม
ในการที่จะไปเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายด้วย
เช่น เรื่อง โรงงานอุตสาหกรรม และรถยนต์ เนื่องจากทั้งสองสิ่งนี้ คือ รถยนต์ และโรงงานอุตสาหกรรมนั้น
ดาวเทียมไม่สามารถจับจุดHot Spot ได้นะครับ ตรงกันข้าม ถ้าเกิดไฟในป่า ในพื้นที่เกษตร ดาวเทียมจับจุดHot Spot ได้ทุกจุดเลย จับได้หมดตลอดเวลา แต่เมื่อเราสตาร์ทรถครั้งหนึ่ง ทั้งที่เปรียบได้กับกองไฟหนึ่งกอง
แต่ดาวเทียมกลับไม่สามารถจับได้ หรือ โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยควันตลอด24 ชม. แต่ดาวเทียมจับไม่ได้
ทั้งที่เปรียบได้กับไฟกองใหญ่ ปล่อยPM2.5 เยอะมาก แต่กลับไม่มีเครื่องวัดด้วยนะครับ ทั้งประเทศมีเครื่องวัดอยู่เครื่องเดียว”
อาจารย์ชัชวาลย์สะท้อนได้อย่างเห็นภาพของปัญหาที่แฝงไว้ด้วยนัยของความไม่เป็นธรรมกับภาคส่วนอื่นๆ
และพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ป่า
เมื่อถามถึงประเด็นความไม่เป็นธรรมของข้อมูล
อาจารย์กล่าวว่า “ถูกต้องครับ เพราะฉะนั้น ข้อมูลค่อนข้างเอียง สถานการณ์ก็คือไปเพ่งเล็งที่พื้นที่เกษตร และพื้นที่ป่าเพียงอย่างเดียว ซึ่งส่วนนี้ ผมมองว่าไม่ยุติธรรมเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น เราจะทำอย่างไร ให้อุตสาหกรรมเป็นอุตสาหกรรมสะอาดได้มากขึ้น หรือเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งเราก็ต้องผลักดันกันต่อไป
ส่วนต่อมา คือพื้นที่เกษตร มีปัจจัยอยู่สองส่วน คือ หนึ่ง เกษตรยังชีพ พื้นที่ไร่หมุนเวียนของชาวบ้านซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ไฟ
อีกส่วนหนึ่งเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกข้าวโพด อ้อย ซึ่งมันเป็นพื้นที่ใหญ่มาก และต้องใช้ไฟ ซึ่งจริงๆ มันสามารถเปลี่ยนได้ ทำให้ใช้เทคโนโลยีที่ไม่ต้องเกิดการเผาได้ไหม หรือว่าแปลเปลี่ยนวัสดุไปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ให้มากขึ้นได้ไหม
ถ้าสามารถคิดค้นสิ่งเหล่านี้ได้ ปัญหาส่วนนี้ก็ลดลงครับ”
อาจารย์ชัชวาลย์ระบุ และกล่าวเพิ่มเติมถึงประเด็นความทับซ้อนของพื้นที่ป่าที่นับว่ามีความซับซ้อนกว่าปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น
“ถ้าเรามองให้ลึกลงไปก็เปรียบเหมือนหัวหอม ที่เราต้องค่อยๆ คลี่ออกทีละชั้นๆ ทีละกลีบ คลี่ออกไปเรื่อยๆ ครับ กล่าวคือ เชียงใหม่เรามีพื้นที่ป่าอยู่ 70% เป็นพื้นที่นอกป่า 30%
ในส่วนของพื้นที่ป่า มีป่าอนุรักษ์ ซึ่งมีชุมชนอยู่ในป่าอนุรักษ์
400 ชุมชน มีชุมชนอยู่ในป่าสงวน ประมาณ1,500 ชุมชน
นี่คือกฎหมายที่ออกมาสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ช่วงปี พ.ศ.2503-2507ที่ประกาศทับลงมาในพื้นที่ชุมชน
โดยที่ยังไม่มีการกันชุมชนออกเลยก็ยังคาราคาซัง พื้นที่เหล่านี้จึงเป็นพื้นที่ผิดกฎหมาย
แผนงานของทุกกระทรวง ทบวง กรม ไม่สามารถเข้าไปดำเนินงานในพื้นที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ได้
เมื่อสิทธิในที่ดิน ไม่มีความยั่งยืน ไม่แน่นอน แล้วเราจะเรียกร้องให้ชาวบ้านปลูกหรือทำการผลิตที่มั่นคงและยั่งยืนก็คงยาก
ถ้าเราจะเปลี่ยนมาเป็นปลูกไม้ยืนต้นปลูกไผ่ เขาก็กลัวถูกทวงคืนผืนป่าอีก
เหล่านี้เป็นต้น นี่จึงเป็นปัญหาระดับนโยบายที่เราจะต้องแก้ไข ก็ค่อยๆ แก้กันไปครับ”
อาจารย์ชัชวาลย์ระบุถึงประเด็นปัญหาที่หมักหมมมานานหลายทศวรรษ
ก่อนจะกล่าวเพิ่มเติมว่า
ณ ตอนนี้ สิ่งที่ทำได้คือใช้แนวทางนโยบายความร่วมมือในการที่จะทำให้ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ ซึ่งเดิมทีทะเลาะกันมาตลอด หันหน้ามาจับมือกันเพื่อป้องกันป่า เพื่อป้องกันไฟและฝุ่นควัน ซึ่งตอนนี้ก็ทำได้ในระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายถ้าจะแก้ปัญหาเบ็ดเสร็จ ต้องมีนโยบายที่จะแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของชาวบ้านให้มีความชัดเจนมากขึ้น
หรือให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการดูแลป้องกัน การจัดการป่าได้มากขึ้น เป็นต้น
อาจารย์ชัชวาลย์กล้าวว่า “อีกส่วนหนึ่ง คือเรื่องประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากมีบริษัทยักษ์ใหญ่ของเรานี่แหละไปส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เยอะมากๆ แล้วจุดเผาไหม้ของต่างประเทศ เป็นปริมาณที่สูงมากๆ แต่รัฐบาลกลับยังไม่มีแผนหรือนโยบายที่จะลดประเด็นปัญหานี้ลงในระดับภูมิภาคอาเซียน ยังไม่ได้มีแผนอะไรที่ชัดเจน ไม่เห็นความเคลื่อนไหวที่ชัดเจน เท่าที่สภาลมหายใจเชียงใหม่ทำงานมา 3-4 ปี เราก็พยายามกระตุ้นตลอด แต่เราก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าที่ชัดเจน เพราะฉะนั้น หากถามว่า สถานการณ์PM 2.5 ในเชียงใหม่มันดีขึ้นไหม
ผมตอบว่าดีขึ้นครับ แต่โดยภาพรวม ในระยะยาว ยังต้องแก้ไข”
ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ระบุ
แอพลิเคชันFireD อีกตัวช่วยสำคัญ
ถามถึงความคืบหน้าในการใช้แอพลิเคชันที่คิดค้นโดยอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อคำนวนความเหมาะสมในกรณีที่ประชาชน มีความจำเป็นต้องเผาพืชไร่ ปัจจุบัน แอพลิเคชันนี้ยังใช้อยู่หรือไม่
อาจารย์ชัชวาลย์ตอบว่า “ยังใช้อยู่ครับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชาคริต โชติอมรศักดิ์
หัวหน้าศูนย์ภูมิภาคเพื่อการศึกษาด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้พัฒนาแอพลิเคชัน FireD ขึ้นมา โดยเป็นการพัฒนาร่วมกับ อบจ. เพราะฉะนั้น เชียงใหม่ หรือ ที่ อบจ. จึงมีศูนย์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง กับสภาพอากาศและภูมิศาสตร์ที่ดีมากที่สุดจังหวัดหนึ่งของประเทศเลยครับ
เพราะว่าสามารถรู้ได้หมดเลย ว่าจุดHotSpot เกิดขึ้นเมื่อไหร่ แบบเรียลไทม์ เลยครับ เช่นวันนี้
HotSpot เท่าไหร่PM 2.5 เท่าไหร่ กระแสลมเป็นอย่างไร การระบายตัวของอากาศ การยกตัวของอากาศเป็นอย่างไร
แล้วสามารถพยากรณ์ได้ล่วงหน้า3-5 วัน เพราะฉะนั้น กระบวนการนี้เราก็ใช้อยู่ครับ และทำให้ เชียงใหม่มีความพร้อมหลายด้าน” อาจารย์ชัชวาลย์ระบุ และเอ่ยเพิ่มเติมถึงประโยชน์ที่ได้รับจากเทคโนโลยีดังกล่าวว่า
เกิดประโยชน์ต่อแผนของท้องถิ่นที่ให้ชุมชนและท้องถิ่นวางแผนร่วมกันมา
ในพื้นที่ แล้วนำมาเชื่อมโยงกับข้อมูลวิทยาศาสตร์แอพลิเคชันFireD แล้วส่งต่อให้คณะกรรมการวอร์รูมระดับจังหวัด
ใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงและฝุ่นควันได้อย่างดี ใช้ประเมินการจัดการเชื้อเพลิงได้ เช่น ประเมินว่าช่วงนี้ยังไม่เหมาะที่จะเผา รอให้ค่า HotSpotลดลงก่อนPM 2.5 ลดลงก่อน จึงค่อยดำเนินการ
เป็นต้น
“เหล่านี้ทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ ใช้แผนแล้วก็ใช้ข้อมูล และทุกคนทุกฝ่ายเห็นข้อมูลชุดเดียวกันในการบริหาร ซึ่งหากทำอย่างต่อเนื่อง ผมคิดว่าน่าจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพและใจจริงอยากให้ใช้ทั่วประเทศด้วยซ้ำไป
เพราะข้อมูลเหล่านี้เป็นวิทยาศาสตร์ โกหกไม่ได้” อาจารย์ชัชวาลย์ระบุถึงประโยชน์ของข้อมูลที่ช่วยให้การประเมิน
การตัดสินใจในระดับพื้นที่และชุมชนแม่นยำมากขึ้น
ภาคี‘สภาลมหายใจภาคเหนือ8 จังหวัด’ และ‘สถานีฝุ่น’
ถามว่า สภาลมหายใจเชียงใหม่และภาคีเครือข่าย ยังมีข้อเสนอใดที่อยากผลักดันกับภาครัฐหรือไม่
อาจารย์ชัชวาลย์ตอบว่า “ปีนี้ เราทำ2-3 เรื่องที่น่าสนใจครับ เรื่องแรกเราสรุปบทเรียนจากปีที่แล้ว พบว่า
HotSpotลดลงเยอะ การเผาไหม้ลดลงเยอะ แต่ค่า PM 2.5 ยังสูงอยู่ เพราะว่ามีกระแสลมพัด พัดเข้ามาจากแม่ฮ่องสองบ้าง จากลำปาง ลำพูนบ้าง พัดเข้ามา เพราะฉะนั้น ปัญหาPM2.5
มันจึงซับซ้อนและเลื่อนไหล เป็นDynamic เพราะฉะนั้น เราไม่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะเชียงใหม่จังหวัดเดียว
เราก็เลยจับมือเป็น ‘สภาลมหายใจภาคเหนือ8 จังหวัด’ ที่จะทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้
ช่วยเหลือเกื้อกูล ในการแก้ปัญหาในแต่ละจังหวัดร่วมกัน และเราอยากมีพลังที่จะส่งเสียงกับรัฐบาล
ในการเร่งรัดติดตามวาระแห่งชาติ แผนที่วางไว้ เป็นอย่างไร
เราก็อยากมีพลังในการเจรจากับรัฐด้วยครับ เพื่อส่งเสียงไปยังรัฐบาลได้อย่างมีพลังมากขึ้น”
อาจารย์ชัชวาลย์ระบุ ก่อนจะกล่าวเพิ่มเติมว่า
‘สภาลมหายใจภาคเหนือ8 จังหวัด’ ประกอบด้วย สภาลมหายใจแม่ฮ่องสอน
สภาลมหายใจเชียงราย สภาลมหายใจพะเยา สภาลมหายใจแพร่ สภาลมหายใจน่าน
สภาลมหายใจลำพูน สภาลมหายใจลำปาง และสภาลมหายใจเชียงใหม่รวมกันเป็นเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ
นอกจากนี้ อาจารย์ชัชวาลย์กล่าวด้วยว่า สภาลมหายใจเชียงใหม่ได้ริเริ่มจัดทำแฟนเพจเฟซบุ๊ค‘สถานีฝุ่น’ ขึ้น เพื่อรายงานค่าอากาศ รายงานสถานการณ์ฝุ่นPM2.5 ทุกวัน และมีการวิเคราะห์สถานการณ์ทุกวัน ว่าเกิดจากอะไร ตรงไหน อย่างไร มีไฟเกิดขึ้นตรงไหนบ้าง จะช่วยกันแก้ปัญหา ระดมพลัง ระดมทรัพยากรไปช่วยกันแก้ปัญหาอย่างไร
หรือว่าแม้กระทั่งการรับบริจาค สนับสนุนระหว่างภาคเมืองกับภาคชุมชนต่างๆ ในส่วนของข้อเสนอที่มีต่อรัฐ อาจารย์ชัชวาลย์เล่าว่าสภาลมหายใจเชียงใหม่ เสนอไป7-8 ข้อแล้ว อาทิ ขอให้มีการติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศทุกตำบล ขอให้มีการให้ความรู้แก่ประชาชนในการติดตามค่าคุณภาพอากาศ
รวมถึง เสนอให้ใช้แนวทาง‘เชียงใหม่ โมเดล’ ในทุกจังหวัด ถ้าเป็นไปได้
รวมทั้ง ขอให้มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีทรัพยากร
มีอำนาจในการบริหารจัดการ ให้ประชาชนเข้ามามีอำนาจในการมีส่วนร่วมมากขึ้น
ความหวังต่อ‘ร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด
พ.ศ. ....’
ถามถึง
‘ร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ....’ว่ามีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง และมีความคิดเห็นอย่างไร
ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ สะท้อนความเห็นว่าตอนนี้มีหลายร่างกฎหมายที่ผลักดันเข้าไป ทั้งร่างกฎหมายของภาคประชาชนและพรรคการเมืองต่างๆ เต็มไปหมด ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ช่วยกันเสนอเข้าไปเยอะๆ ทราบว่า อีกไม่นานจะมีการนำเข้าสภาฯ และมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้น พิจารณาร่างฯ
ต่างๆ
อาจารย์ชัชวาลย์กล่าวถึงในส่วนร่างกฎหมายของของภาคประชาชน
คือร่างฯของ เครือข่ายอากาศสะอาด (Thailand CAN) ที่มีหนึ่งในผู้ยกร่างคือ รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์ ตัวแทนเครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย
นั้น เข้าใจว่าสภาฯ น่าจะรับไปแล้ว
อาจารย์ชัชวาลย์กล่าวว่า
ร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ....ของ เครือข่ายอากาศสะอาด (Thailand CAN) เท่าที่ตนทราบเขาพยายามชี้ให้เห็นว่าการมีอากาศสะอาดหายใจเป็นสิทธิที่พลเมืองควรได้รับการปกป้อง
จากนั้น ก็จะเสนอให้มีกลไกล มาตรการ แผนงาน ของทุกหน่วยที่จะทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ทั้งในการสนับสนุนในพื้นที่ การสนับสนุนทางวิชาการต่างๆ เป็นระบบที่เป็นกฎหมายเชิงรุกที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง
และมีกลไกดูแลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ถือว่าเป็นพัฒนาที่ดี
“แต่ข้อเสนอของสภาลมหายใจที่เราฝากไว้ มีประเด็นเดียวครับก็คือ เราอยากให้ กฎหมายนี้ สร้างความเป็นธรรมกับทุกกลุ่ม เพราะบางทีเราก็เห็นว่าพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์บนดอย มักไม่ได้รับความเป็นธรรม
ถูกมองเป็นจำเลย พูดง่ายๆ ก็คือเราฝากประเด็นนี้ ส่วนเรื่องอื่นๆ เราเห็นด้วยหมด
แต่เราอยากฝากประเด็นนี้ให้ละเอียดและช่วยดูให้รอบคอบ ไม่เช่นนั้นก็จะป็นกฎหมายที่มากดทับผู้ที่ตกเป็นจำเลยและถูกต่อว่าและกล่าวหา”
ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา
มุ่งหวังให้เกิด‘การกระจายอำนาจ’
สุดท้ายอาจารย์ชัชวาลย์กล่าวถึงสิ่งที่สภาลมหายใจเรียกร้องผลักดันต่อรัฐบาล และมุ่งหวังอยากเห็น อยากให้เกิดขึ้นจริงเสมอมา
“เรื่องสุดท้ายที่ผมคิดว่าสำคัญมากๆ
คือ เรื่อง กระจายอำนาจครับ เช่น กรมป่าไม้กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมาดับไฟ แต่ไม่เคยให้งบ แบบนี้ เป็นต้น คือให้แต่ภารกิจ แต่ไม่ให้สิทธิและอำนาจ หรือ แม้แต่ในตอนนี้ จังหวัดเชียงใหม่ เวลาตั้ง‘ซิงเกิ้ล คอมมานด์’ ( หมายเหตุ: การใช้อำนาจ “ซิงเกิล คอมมานด์” คือนำรูปแบบการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์การแก้ปัญหา
) ในทุกๆ ปี ก็ฟังส่วนกลางเป็นหลัก ทั้งนี้ ที่เชียงใหม่
เรามีภาคประชาชนที่แข็งแรง เราก็สามารถลุกขึ้นมาพูดคุยและทำงานร่วมกับภาครัฐได้ค่อนข้างดี
แต่ถ้าหากไม่มีการรวมตัวของภาคประชาชนที่จะทำงานตรงนี้ ก็จะถือว่าเป็นเรื่องยาก"
อาจารย์ชัชวาลย์กล่าวว่า "ดังนั้น ผมมองว่า การบริหารจัดการ โดยแท้จริงแล้ว ควรให้ท้องถิ่น หรือจังหวัดจัดการ เพื่อที่จะได้สอดคล้องกับบริบทท้องที่หรือสามารถแก้ไขปัญหาในท้องที่ได้ทันท่วงที เพราะยกตัวอย่าง เชียงใหม่ กับกรุงเทพฯ ก็ไม่เหมือนกันใช่ไหมครับ ผมจึงเห็นว่าเรื่องการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นเป็นสิ่งสำคัญครับ”
คือเสียงเน้นย้ำของประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ หนึ่งในผู้ซึ่งตระหนัก รับรู้ เข้าใจกลไกปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการบริหารจัดการในแต่ละพื้นที่และชุมชนอย่างถึงรากถึงแก่น
ข้อเสนอที่บอกล่าว จึงควรค่าแก่การรับฟังไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากผู้กุมอำนาจรัฐที่ควรอำนวยความสะดวกให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนที่ประสบปัญหา ด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง รอบด้าน และรับฟังเสียงสะท้อนที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง
…………
Text by รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ