องค์การบริหารส่วนตำบลทับน้ำ อยุธยา ร่วม ทีมวิจัยพัฒนาระบบเก็บรายได้ท้องถิ่น จุฬาฯ เปิดแหล่งท่องเที่ยวชุมชนแห่งใหม่ หวังเกษตรกรมีรายได้ ตามหลักศาสตร์พระราชา โคก หนอง นา โมเดล พาชม 6 สถานที่เด่นของพื้นที่
ที่ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา องค์การบริหารส่วนตำบลทับน้ำ ร่วมกับ โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงาน Soft Opening One day trip ภายใต้ธีม “พบรักที่บ้านม้า รอเธอมาที่ทับน้ำ” เพื่อเปิดตัวเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนแห่งใหม่ในตำบลทับน้ำ ประชาสัมพันธ์สินค้าชุมชนและช่องทางการจำหน่ายผ่านสื่อออนไลน์ เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา
โดยนายกฤตภพ เฉื่อยฉ่ำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทับน้ำ กล่าวถึงชุมชนตำบลทับน้ำว่า บริเวณนี้เป็นพื้นที่ราบลุ่ม ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ประสบกับปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วม เป็นประจำทุกปี จึงได้ดำเนินโครงการน้ำแห่งชีวิต ขึ้นมา ด้วยการน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์พระราชา โคก หนอง นา โมเดล มาปรับใช้ ในพื้นที่ ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและการขาดรายได้ในช่วงฤดูแล้ง โดยการเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตของชุมชน จนสามารถแก้ไขปัญหาของเกษตรกรและชุมชนได้เป็นอย่างดี
“ผมได้นำความรู้ ความสามารถของตนเอง ในวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรมาใช้ในการส่งเสริมอาชีพและการพัฒนาชุมชน โดยให้เกษตรกรของทั้งสองตำบลคือ บ้านม้าและทับน้ำ นำผลผลิตทางเกษตรออกจำหน่ายในตลาดถนนคนเดิน ในบริเวณของอบต.ทับน้ำ โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้า คนกลาง มีอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาช่วย ให้คำแนะนำและส่งเสริมให้มีการสืบสานวิถีชีวิตแบบเกษตรกรที่ทันสมัย มีการพัฒนารูปแบบการทำเกษตรแบบก้าวหน้าเพื่อเพิ่มผลิตผลที่ดี มีคุณภาพ และ ส่งเสริมให้ชาวบ้านในชุมชนมีการปลูกพืชแบบผสมผสานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็น แบบอย่างที่ดีเป็นประโยชน์ ทำให้เกษตรกรมีรายได้และสามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างยั่งยืน" นายกฤตภพ กล่าว
ด้าน ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้จัดทำโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น และสนับสนุนการพัฒนาความเข้มแข็งของอบต.ทับน้ำ มาตั้งแต่ปี 2558 กล่าวว่า วันนี้ศักยภาพของท้องถิ่นไปไกลมาก มีทุนทางสังคมที่เข้มแข็ง อย่างเช่นที่นี่ อบต.ทับน้ำ บ้านม้า เขามีของดีมากมาย ทางโครงการมาช่วยเติมเต็มต่อยอด จากฐานเดิมของ ชุมชน ทุกฝ่ายต่างมีส่วนร่วม ทั้งชาวบ้าน อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต่างมีส่วนร่วมในการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร เมื่อมีการจัดการน้ำ มีการเพาะปลูก ได้ผลผลิตนำมาขาย ที่ตลาดแล้ว เราจะเพิ่มมูลค่าเปิดกว้างให้มากขึ้นด้วย ตลาดสินค้าออนไลน์ ประชาชนสามารถซื้อ ขายกันได้ทางออนไลน์ โดยคำนึงถึง การพัฒนาคุณภาพสินค้าที่มีเอกลักษณ์ประจำถิ่น เช่น เครื่องจักสาน จากไม้ไผ่
"ถ้าเราได้มาสัมผัส กับวิถีชีวิตชุมชนที่นี่ จะพบความเรียบง่ายมีเอกลักษณ์ เฉพาะที่สวยงาม แล้ว เราจะพบรอยยิ้มและการต้อนรับที่แสนอบอุ่น พื้นที่ตั้งของชุมชมแต่ละแห่งส่วนใหญ่ยังมีความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์ เมื่อได้มาเที่ยวเหมือนได้รับการชาร์ตพลังไปในตัว อีกทั้งการมาท่องเที่ยวชุมชนสามารถช่วยกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน ทำให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้แบบยั่งยืน โดยผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการจัดการทรัพยากร ภูมิปัญญาอันทรงคุณค่า สร้างสมดุลระหว่าง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นำไปสู่คุณภาพชีวิต ความสุขของคนในชุมชน นักท่องเที่ยวและผู้มาเยือน” ดร.วีระศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้องค์การบริหารส่วนตำบลทับน้ำ ได้กำหนดเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนไว้ 6 จุด ประกอบด้วย 1.ไร่ลุงเชิด ของ นายบุญเชิด แจ้งใจ ปราชญ์ชาวบ้านทับน้ำ ที่เปิดให้ผู้สนใจได้สัมผัสรับรู้เรื่องราวของเกษตรตามแนวทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง โคก หนอง นา โมเดล ชมเกษตรผสมผสาน ผักสวนครัว ไม้ยืนต้น การทำปุ๋ยหมัก และ การเรียนรู้ด้านการจัดการน้ำ การขุดคลองไส้ไก่ การเพาะเลี้ยงแคคตัส ฯลฯ 2.กลุ่มจักสานไทยโบราณ บ้านม้า ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่เริ่มจากการทำอุปกรณ์หาปลา ก่อนนำหวายที่ขึ้นอยู่ริมคลอง มาประยุกต์เข้ากับการสานไม้ไผ่ จนเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความสวยงาม ประณีต คงทนแข็งแรง ด้วยฝีมือ คุณค่าดั้งเดิม
3. JJJ @ ดูนา ชาบู คาเฟ่ ร้านอาหารและบ้านพัก สไตล์แคมป์ปิ้ง วิวคันนา 4.วัดผึ่งแดด ที่มีศูนย์สาธิตเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก บ้านทับน้ำ เพื่อให้ชาวชุมชนได้เรียนรู้การปลูกพืชเศรษฐกิจ สำหรับบริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือน รวมทั้งชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดผึ่งแดด ที่จะมีการจัดกิจกรรมทำบุญทุกวันธรรมสวนะ โดยการนำของเจ้าอาวาสวัด 5.ไร่รักสงบ ของ นายโอภาส มุ่งแซ่กลาง หมอดินอาสา ที่ใช้พื้นที่เพียง 3 งานในการทำเกษตรผสมผสาน ทั้งแปลงผักปลอดสาร พืชสมุนไพร ไม้ยืนต้น อ้อย สะเดา เลี้ยงเป็ด ห่าน กบ และปลา การเผาถ่านและสกัดน้ำส้มควันไม้ ฯลฯ เป็นการเกษตรแบบประณีต ที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก และ 6. ภูเจ้าเอย ร้านกาแฟบรรยากาศธรรมชาติแห่งท้องทุ่ง
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถท่องเที่ยวได้ทุกฤดูกาล ติดต่อมาได้ที่ อบต.ทับน้ำ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา