กล่าวกันว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นทรงมีพระวรกายสันทัด ไม่ใหญ่โตเป็นชายชาตรีที่เข้มแข็ง แต่ก็ทรงโปรดกีฬาประพาสป่าไล่ล่าและคล้องช้าง ทรงเป็นจอมทัพที่รบไม่เคยแพ้ อีกทั้งยังทรงมีอภินิหารมาแต่ทรงพระเยาว์ ที่สำคัญทรงมีพระสติปัญญาล้ำหน้ากษัตริย์ตะวันออกในยุคนั้น ไม่ทรงดูถูกชาติตะวันตกที่มากันแค่เรือไม่กี่ลำ ทหารไม่กี่คน เมื่อฮอลันดาเข้ายึดชวาหรืออินโดนีเซียได้ และแผ่อิทธิพลเข้ามาจนเป็นอันตรายต่อสยาม นอกจากพระองค์จะทรงย้ายไปประทับที่เมืองลพบุรีให้ห่างทางเรือที่มาจากทะเลได้แล้ว ยังทรงเปิดสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสเพื่อคานอำนาจ และเมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงเห็นว่าพระองค์เปิดประตูต้อนรับคณะบาทหลวงอย่างเต็มที่ ไม่กีดกันศาสนาคริสต์อย่างชาติตะวันออกอื่นๆ จึงหวังจะเปลี่ยนศาสนาให้สมเด็จพระนารายณ์หันไปถือศาสนาคริสต์ อันจะเป็นการทำให้พระองค์กระเดื่องพระเกียรติอย่างใหญ่หลวง แต่เมื่อได้รับคำตอบจากสมเด็จพระนารายณ์ที่ทรงถูกหว่านล้อม ก็ทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ถึงกับทรงอึ้ง ตรัสไม่ออก
สมเด็จพระนารายณ์มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้านรินทร์ เป็นราชโอรสพระเจ้าปราสาททอง แต่ที่ได้พระนามพระนารายณ์พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาบันทึกว่า เมื่อตอนขึ้นพระอู่ บรรดาพระประยูรญาติต่างเห็นว่าพระองค์มี ๔ กร ส่วนในฉบับคำให้การของชาวกรุงเก่ากล่าวว่า เมื่อครั้งเกิดเพลิงไหม้ที่พระที่นั่งมังคลาภิเษก พระองค์เสด็จไปช่วยดับเพลิง มีผู้เห็นพระองค์มี ๔ กร จึงขนานพระนามว่า “พระนารายณ์ราชกุมาร”
นอกจากนี้ยังมีบันทึกถึงปาฏิหาริย์ของพระองค์อีกว่า ขณะที่พระชนม์ ๕ พรรษา พระองค์ทรงเสด็จออกไปเล่นกลางแจ้งขณะฝนพรำ พระสนมพี่เลี้ยงทูลห้ามก็ไม่ทรงฟัง ได้เกิดฟ้าผ่าลงบนเสาหลักที่พระนารายณ์ยืนอยู่ เสาได้แตกออกเป็นเสี่ยง พระสนมพี่เลี้ยงล้มสลบไปตามกัน แต่พระนารายณ์กลับไม่เป็นอะไรแม้แต่น้อย
ต่อมาเมื่อมีพระชนม์ได้ ๙ พรรษา ขณะพระราชบิดาเสด็จไปที่วัดไชยวัฒนาราม ให้พระนารายณ์ประทับอยู่กับพระสนมพี่เลี้ยงที่พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพอาสน์ กลางสระน้ำพระราชวังบางปะอิน ได้เกิดฟ้าผ่าลงที่พระที่นั่ง บรรดาพระสนมพี่เลี้ยงต่างบาดเจ็บไปตามกัน แต่พระนาราย์ไม่เป็นอะไรเช่นเคย พระเจ้าปราสาททองทรงรีบเสด็จมา ครั้นทอดพระเนตรความเสียหายของพระที่นั่ง จึงโปรดให้สมโภชพระกุมารเป็นเวลา ๓ วัน
ปาฏิหาริย์ต่างๆนี้ บรรดาพราหมณ์ผู้เป็นโหราจารย์ทั้งหลายต่างเห็นตรงกันว่า เป็นกฤดาภินิหารของพระนาราย์ราชกุมารโดยแท้
เมื่อพระเจ้าปราสาททองสวรรคตโดยไม่ตรงแต่งตั้งรัชทายาท ซึ่งตามกฎมณเฑียรบาลกำหนดให้พระอนุชาจะได้ขึ้นครองราชย์ แต่สมเด็จเจ้าฟ้าไชย พระเชษฐาของสมเด็จพระนารายณ์ได้นำกำลังเข้าล้อมวังและขึ้นครองราชย์แทน สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา พระอนุชาของพระเจ้าปราสาททอง ผู้มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์จึงคบคิดกับสมเด็จพระนารายณ์เข้าชิงราชบัลลังก์ได้เมื่อเจ้าฟ้าไชยครองราชย์ได้เพียง ๙ เดือน สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาจึงได้ขึ้นครองราชย์
พระศรีสุธรรมราชาครองราชย์ได้เพียง ๒ เดือนเศษ ก็คิดไม่ดี รับสั่งให้พระราชกัลยาณี พระกนิษฐาผู้เลอโฉมของสมเด็จพระนารายณ์ ให้ขึ้นไปหาบนพระที่ พระราชกัลยาณีจึงหนีกลับพระตำหนักและแจ้งให้พระนมทราบ พระนมจึงให้พระราชกัลยาณีเข้าซ่อนในตู้หนังสือ แล้วให้คนหามไปวังหน้า พอไปถึงพระราชกัลยาณีก็ออกจากตู้เข้าเฝ้าพระเชษฐา ทรงกรรแสงทูลให้ทราบเหตุ สมเด็จพระนารายณ์ทรงพิโรธ จึงนำกำลังวังหน้าบุกวังหลวง
กองกำลังสำคัญที่เข้าร่วมชิงราชบัลลังก์ครั้งนี้ ก็คือกลุ่มชาวเปอร์เซียทายาทของเฉกอะหมัด หรือ เจ้าพระยาบวรราชนายก ที่เคยร่วมกับพระเจ้าปราสาททองตั้งแต่ครั้งยังเป็นพระยามหาอำมาตย์ ขับไล่ซามูไรญี่ปุ่น ๕๐๐ คนที่ก่อกบฏมาแล้ว และยังมีสายสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดตลอดมา สมเด็จพระนารายณ์ในวัยเยาว์ก็ไปคบหาสมาคมอยู่กับชาวเปอร์เซียกลุ่มนี้ จึงให้ทหารของพระองค์แทรกเข้าไปในขบวนแห่ประจำปีของมุสลิมนิกายชีอะห์ โดยขอพระบรมราชานุญาตนำขบวนแห่เข้าไปในวังหลวงให้ทอดพระเนตรด้วย และถือโอกาสนี้กระจายกันออกยึดคลังอาวุธในพระราชวัง ขนปืนใหญ่มาถล่มวังหลวงจนแตกกระเจิง ชิงราชบัลลังก์ได้สำเร็จขณะที่พระศรีสุธรรมราชาครองราชย์ได้เพียง ๒ เดือน ๑๗ วัน
สมเด็จพระนารายณ์ทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุได้ ๒๕ พรรษา พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถยิ่ง ในยุคสมัยของพระองค์กรุงศรียุธยาจึงรุ่งเรืองในทุกด้าน ทั้งการต่างประเทศ เศรษฐกิจ และศิลปวัฒนธรรม ถือได้ว่าเป็นยุคทองของวรรณคดี
แม้พระองค์จะกระเดื่องพระเกียรติในด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ แต่ในด้านการทำสงครามระหว่างไทย-พม่า ซึ่งเกือบทั้งหมดพม่าเป็นฝ่ายรุกราน มีเพียงในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเท่านั้น ที่กองทัพไทยแก้แค้นบุกไปตีเมืองพม่า สมเด็จพระนเรศวรทรงตีถึงเมืองหงสาวดี ตองอู และอังวะ ส่วนในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ไทยก็บุกเข้าไปในดินแดนพม่าถึง ๓ ครั้ง มีเจ้าพระยาโกษาเหล็กเป็นแม่ทัพเข้าไปตีได้เมืองร่างกุ้ง เมืองแปร เมืองตองอู เมืองหงสาวดี และเคยไปล้อมเมืองอังวะ แต่ขาดเสบียงจึงต้องถอยทัพกลับ ถือได้ว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเป็นจอมทัพที่ไปตีพม่าเป็นการตอบแทนเช่นเดียวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และหลังจากสมัยของพระองค์ ไทยกับพม่าก็เลิกรบกันถึง ๑๐๐ กว่าปี เพราะพม่าอ่อนกำลังลง
ในด้านการค้านั้น มีการค้าขายกับต่างประเทศมากยิ่งกว่าในสมัยที่ผ่านมา มีเรือกำปั่นหลวงออกไปค้าขายกับต่างประเทศ จนกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์การค้าที่คึกคักที่สุดของย่านตะวันออก พ่อค้าชาวฝรั่งเศสบันทึกไว้ว่า
“ในชมพูทวีปไม่มีเมืองใดที่จะแลกเปลี่ยนสินค้ามากเท่ากับในสยาม สินค้าขายได้ดีมากในสยาม และการซื้อขายใช้เงินสด...”
แต่การค้าของไทยก็ทำให้เกิดความขัดแย้งกับฮอลันดาซึ่งแผ่อิทธิพลเข้ามา ฮอลันดาได้พยายามกีดกันเรือสินค้าไทยที่ไปแย่งตลาดการค้าของฮอลันดา ครั้งหนึ่งได้ส่งเรือรบมาปิดอ่าวเจ้าพระยา ขู่จะยิงเรือไทย จนไทยต้องยอมผ่อนผันทำสัญญาให้ฮอลันดาตามต้องการ สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงดำเนินนโยบายเปิดสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสเพื่อให้ฮอลันดาเกรงขาม บาทหลวง ๓ รูปที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ส่งมากรุงศรีอยุธยา ได้รายงานไปยังพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ และพระสันตะปาปาว่า กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่คริสต์ศาสนา ยอมให้ตั้งโรงเรียน โรงพยาบาล และยังพระราชทานที่ดินให้สร้างโบสถ์ด้วย ทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงคิดว่าสมเด็จพระนารายณ์เลื่อมใสในคริสต์ศาสนา จึงส่งเชอวาเรีย เดอ โชมองต์ เป็นราชทูตถือพระราชสาร์นเข้ามา ทูลขอให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงเข้ารีต แต่สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีบันทึกตอบกลับราชทูตฝรั่งเศสว่า พระองค์มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ทรงทราบจากจดหมายบันทึกของราชทูตว่า พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสมีความรักใคร่พระองค์มากถึงเพียงนี้ ซึ่งเป็นการกระทำให้ชนชาวตะวันออกทั่วไปแลเห็นในพระทัยกว้างขวางของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ และทรงยินดียิ่งนักจนจะหาถ้อยคำที่จะแสดงความยินดีนั้นไม่ได้แล้ว แต่ทรงเสียพระทัยว่า การที่จะเป็นพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส พระองค์จะต้องเข้ารีตถือศาสนาคริสเตียนนั้น เป็นการยากนักหนา เพราะการที่จะเปลี่ยนศาสนาอันได้นับถือและเชื่อถือกันมาถึง ๒๒๒๙ ปีมาแล้วนั้น เป็นการยากอย่างยิ่ง จึงขอให้พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทรงวินิจฉัยดูว่า การที่จะเปลี่ยนศาสนาเช่นนี้เป็นการง่ายหรืออย่างไร และขอให้พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทรงดำริด้วยว่า ถ้าพระเจ้าผู้สร้างฟ้าสร้างดินและสร้างสิงสาราสัตว์อันมีรูปพรรณสัณฐานและนิสัยต่างๆกัน จะประสงค์ให้มนุษย์ทั้งหลายได้นับถือศาสนาอย่างเดียวกันทุกคน และให้มนุษย์ทั้งหลายอยู่ในกฎหมายอันเดียวกันหมดแล้ว พระเจ้าก็คงจะทำให้เป็นเช่นนั้นได้ง่ายที่สุด แต่สิงสาราสัตว์ ต้นหมากรากไม้และของทั้งปวง พระเจ้าก็ได้สร้างให้มีรูปพรรณและลักษณะต่างกันทั้งสิ้น จึงเป็นพยานให้เห็นได้ว่า การที่เกี่ยวด้วยศาสนานั้นพระเจ้าก็คงต้องการให้ถือต่างกันเหมือนกัน เพราะเหตุฉะนั้น พระองค์จะทรงยอมให้พระเป็นเจ้าได้ตัดสินในเรื่องนี้ กล่าวคือทรงยอมพระองค์และพระราชอาณาจักรให้อยู่ในโอวาทของพระเป็นเจ้า แล้วแต่พระเป็นเจ้าจะเห็นควรอย่างไร
คำตอบอันล้ำลึกของกษัตริย์ตะวันออกพระองค์หนึ่งนี้ คงจะทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ตรัสต่อไปไม่เป็น
เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๓ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่ ๑๑ กรกฎาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์ เป็น “วันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช” และในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๙ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรีจึงถือเอาวันนี้เป็นวันจัด “งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช” ซึ่งเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชาวลพบุรี สำหรับในปีนี้ปรับรูปแบบเป็นวิถีใหม่ จัดขึ้นในวันที่ ๑๑-๒๐ กุมภาพันธ์