xs
xsm
sm
md
lg

การเดินทางครั้งใหม่ที่เปี่ยมความหมายของ “ไอซ์ซึ-ณัฐรัตน์” กับบทบาทในหนัง One for The Road

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หากให้ถามถึงนักแสดงที่ถือได้ว่า เข้าถึงทุกบทบาทที่เขาได้รับในแต่ละครั้ง ชื่อของ ไอซ์ซึ-ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์ จะต้องอยู่ในนั้น เพราะไม่ว่าจะเป็นบทบาทไหนก็ตาม เขาคนนี้ก็ได้ทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถแทบทุกครั้ง จนเป็นที่ยอมรับจากทั้งผู้ชมที่ติดตามผลงานในแต่ละเรื่องทุกคราวไป จนมาถึงผลงานการแสดงภาพยนตร์ครั้งแรก กับหนังเรื่อง ‘One For The Road วันสุดท้ายก่อนบายเธอ’ จากค่ายจีดีเอช กับบทบาทผู้ป่วยมะเร็งในระยะสุดท้าย ที่อยากจะทำอะไรซักครั้งก่อนที่จะจากไป ซึ่งเชื่อได้เลยว่า การแสดงของเขาในครั้งนี้ น่าจะถูกพูดถึงอีกครั้งไม่มากก็น้อย


อยากให้ไอซ์เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำงานของหนังเรื่องนี้มาพอสังเขปหน่อยครับ

จุดเริ่มต้นก็คือ ทางพี่บาส (นัฐวุฒิ พูนพิริยะ – ผู้กำกับการแสดง) โทรมาหาเรา ให้ไปออดิชั่นในบทอู๊ดเนี่ยแหละครับ เราก็ไปทำการทดสอบอย่างที่บอก โดยที่ยังไม่รู้ว่า โปรดิวเซอร์ของหนังเรื่องนี้เป็นใคร ก็มีการออดิชั่นกันตาม scope งานปกติเลยครับ จนเวลาผ่านไปประมาณ 2-3 อาทิตย์ พี่บาสก็ติดต่อกลับมาหาเราว่า ได้รับบทอู๊ดในหนังเรื่องนี้


กับการที่มารับบทเป็นผู้ป่วยมะเร็ง ตัวคุณเองมีการเตรียมตัวยังไงบ้าง

ก็จะแบ่งเป็น 2 พาร์ทนะครับ พาร์ทแรกก็เป็นเชิงในเรื่องของความเข้าใจในผู้ป่วยมะเร็งในเชิงกายภาพครับ ก็จะเข้าไปคุยกับคุณหมอที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ครับ ไปถามเกี่ยวกับอาการผู้ป่วย และ ไปสำรวจผู้ป่วยโรคดังกล่าวที่โรงพยาบาลครับ หลังจากนั้น ทางพี่บาส เขาก็มีเพื่อนที่เป็นมะเร็ง เขาก็ให้ทางเพื่อนของพี่เขา มาเป็น role model เพื่อให้ผมศึกษา ทั้งในเรื่องของสภาพจิตใจ และในเรื่องของทางกายภาพ ว่าเขามีอาการเช่น เดินยังไงบ้าง และในเรื่องของรายละเอียดต่างที่สามารถเอามาปรับใช้ให้กับตัวเราได้ครับ

ต่อมาก็จะเป็นเรื่องของจิตใจแล้วครับ เราก็ไปทำการศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งก็ไปเจอว่า ท่านแม่ชีศันสนีย์ (เสถียรสุต) มีกิจกรรมในการบำบัดอาการด้วยใจ ที่เสถียรธรรมสถาน เราก็ลองไปทำกิจกรรมนั้นดู แล้วก็ได้เจอกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ก็ได้พูดคุยและสังเกตเขาน่ะครับ ซึ่งทางครูกุ๊กไก่ รังสิมา (อิทธิพรวณิชย์) ที่เป็นแอคติ้งโค้ชของหนังเรื่องนี้ ได้แนะนำว่ามีกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจ ที่เขาเคยไปทำมา ชื่อว่า ‘เตรียมตัวก่อนตาย’ ของทางองค์กร peaceful death ครับ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้คนที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง หรือป่วยเป็นโรคอื่นๆ รวมถึงคนปกติ แต่ว่าอยากจะเตรียมตัวตัวเอง จะรับมือกับความตายยังไง ไปทำกิจกรรมกัน ก็บินไปที่ลำปาง ได้ไปร่วมทำกิจกรรมนั้น ก็ได้เจอกับผู้คนมากมายที่เข้ามาด้วยเรื่องราว แล้วเราก็ได้ฟังเรื่องราวเหล่านั้น ผมก็ได้แชร์เรื่องราวของตัวเองไป แล้วบังเอิญ พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล มาเป็นวิทยากรให้ ก็ได้คุยกับท่าน แล้วก็เอาสิ่งที่ตัวละครคิดและเผชิญอยู่ไปปรึกษา ท่านก็ให้คำแนะนำมา แล้วเอาสิ่งนั้นมาประยุกต์ใช้กับตัวละครครับผม


เรียกได้ว่า คุณได้เข้าใจและเข้าถึงผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ประมาณนั้นมั้ย

ผมว่าพอได้แสดงหนังเรื่องนี้ เรียกว่าได้เข้าใจถึงผู้ป่วยมะเร็งเลย คือเราเข้าใจตัวละครนี้ในฐานะที่เป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผมว่าต่างคนที่เป็นผู้ป่วยในโรคนี้นั้น มีอะไรที่แตกต่างกัน ในการรับมือกับโรคที่เขาเจอ คือเราอาจจะไม่สามารถเข้าใจถึงผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ทั้งหมด แต่เราเข้าใจถึง “อู๊ด” ที่กำลังเผชิญในโรคมะเร็งนี้ กับคนที่อยู่รอบตัวเขาในตอนนี้ครับ

ในความเป็น “อู๊ด” กับความเป็น “ไอซ์ซึ” มีความต่างและคล้ายตรงไหนบ้าง


อาจจะเป็นเรื่องของบริบทบางอย่างครับ ในเบื้องหลังของตัวละครที่มีความคล้ายในตัวละคร แต่ความแตกต่างระหว่างผมกับอู๊ด ก็คือ ผมยังไม่เคยป่วยเป็นโรคมะเร็งและยังไม่รู้จักมัน น่าจะเป็นจุดที่แตกต่างประมาณนั้น

คิดว่าในการทำงานในเรื่องนี้ ส่วนไหนที่คิดว่ายากสุดครับ


(นิ่งคิด) ถ้าส่วนที่ยากที่สุด ผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจผู้ป่วยโรคมะเร็งครับ ซึ่งเราให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ที่สุด เพราะมันเป็นหัวใจของการทำงานรับผิดชอบในหนังเรื่องนี้เลย แล้วเราก็อยากจะถ่ายทอดบท ‘อู๊ด’ ให้ดีที่สุดและสมบูรณ์แบบที่สุดครับ เพราะถ้าวันหนึ่งเวลางานออกมา เราจะได้ไม่ต้องเสียใจ ถ้ายังไม่ทุ่มเทสิ่งนั้นลงไป เพราะมันน่าจะมีโอกาสเดียวที่จะได้รับบทบาทในลักษณะนี้


ขณะเดียวกัน การที่ได้มาเล่นหนังเรื่องแรก โดยส่วนตัวถือว่าเป็นความท้าทายใหม่ในการทำงานด้วยมั้ย

(นิ่งคิด) พอดีว่าผมไม่ได้มองงานแสดง ไม่ว่าจะเป็นบทไหนก็ตาม ด้วยมุมมองในเชิงความท้าทาย แต่มันจะเป็นในเรื่องของความอยากรู้มากกว่า แล้วการที่ได้มาเล่นบทนี้ มันเป็นการกระตุกต่อมความอยากรู้ของตัวเองเยอะมาก ในแง่ของการที่เราเข้าไปอยากรู้ว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งเขาต้องเจอโรคอะไรบ้าง เพื่อที่จะเข้าใจเขาน่ะครับ ผมว่าผมอยากรู้ในสิ่งนี้ที่สุดว่าถ้าเกิดวันหนึ่ง เราเองที่เหลือเวลาในชีวิตน้อยลงบ้างแล้วมันจะเป็นยังไง สิ่งนี้ มันทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าเกิดเราได้รู้มัน ชีวิตมันน่าจะดีขึ้นแน่ๆ ในเวลาที่เราเอามาปรับใช้กับตัวเอง ผมว่ามันเกิดจากความอยากรู้มากกว่าความท้าทาย

เช่นเดียวกัน การทำงานกับทั้งทางพี่บาส และ หว่องกาไว เอง คุณได้รับประสบการณ์จากทั้งสองคนอย่างไรบ้าง


ของพี่บาส สิ่งที่ผมได้หลังจากที่ทำงานกับเขา จะเป็นความรู้สึกว่า เมื่อใดก็ตามที่เรารักในสิ่งที่เราทำ แล้วเราใส่ใจมันด้วยใจจริง งานมันจะออกมาดีเสมอ ผมว่าสิ่งนี้ที่ผมได้เรียนรู้จากพี่บาส ส่วนทาง หว่องกาไว เอาจริงๆ แทบไม่ค่อยได้เจอเขาเลย แต่ว่าสิ่งที่ได้รับจากเขา ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เจอก็ตามที ก็คือ การที่เราอยากจะผลักดันตัวเองให้เกินขีดจำกัดของตัวเองที่มีอยู่ เพราะเรากำลังถูกจับตาดูจากผู้กำกับหนังระดับโลกในการแสดงของเรา


แสดงว่า การที่คุณไปกองถ่าย เพื่อดูการทำงานของนักแสดงท่านอื่นๆ มันเหมือนการเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมด้วยมั้ย

ใช่ครับ โดยส่วนตัวเองแล้ว ถือว่าเป็นความชอบส่วนตัวอยู่แล้วด้วยครับ ที่ตัวผมเองจะชอบที่จะอยากรู้ว่านักแสดงท่านอื่นๆ นั้น เขาใช้วิธีแบบใดในการแสดง แล้วก็จะเก็บมาใช้ในลิ้นชักของตัวเองครับ เผื่อที่จะเอาไปใช้กับงานแสดงในอนาคต หรือว่าเอามาประยุกต์ใช้ในหน้างานตรงนั้นเลย ในมุมหนึ่ง มันเหมือนกับ เป็นโอกาสดีที่เราจะได้เข้าคลาสการแสดงแบบฟรีๆ ในขณะที่เราทำงาน แล้วยิ่งเป็นโปรเจกต์หนังเรื่องนี้ที่ได้ทำ เราเจอทั้ง พี่นุ่น-ศิรพันธ์ (วัฒนจินดา) เจอต่อ (ธนภพ ลีรัตนขจร) เจอวี (วิโอเล็ต วอเทียร์) เจอออกแบบ (ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง) เจอพี่พลอย (หอวัง) พี่หญิง รฐา (โพธิ์งาม) และ พี่เอก-ธเนศ (วรากุลนุเคราะห์) ทุกคนคือเก่งมากๆ เพราะฉะนั้น มันเหมือนกับ ผมไม่มีทางที่จะปล่อยให้โอกาสแบบนี้หลุดไป ในเชิงเรื่องของการเรียนรู้สิ่งที่เขาใช้ในการแสดง เพื่อที่จะนำมาปรับใช้ในตัวเราเอง ผมไม่ปล่อยแน่นอน


หลายๆ คน มีผลตอบรับถึงการเข้าถึงแต่ละบทบาทที่คุณแสดงในแต่ละครั้ง โดยส่วนตัวของคุณเอง มีความรู้สึกต่อคำตอบรับอย่างไรบ้าง

(นิ่งคิด) คือจากผลตอบรับในรูปแบบต่างๆ ที่เราได้รับรู้มา เราก็ได้รับรู้จากผลตอบรับเหล่านั้นนะครับ แต่ก็วางไว้ข้างๆ แต่โดยส่วนตัว เราจะรู้สึกด้วยตัวเองมากกว่าว่า เราจะเข้าไปสำรวจ และทำในสิ่งที่ตัวเองทำนั้น ได้มากน้อยแค่ไหนในแต่ละโปรเจกต์น่ะครับ ก็เลยจะไม่ได้ take สิ่งนั้นเป็นปัจจัยหลักในตัวเองน่ะครับ จะ take การทำงานของตัวเองมากกว่า ผมจะประเมินการทำงานของจัวเองมากกว่า

ทุกวันนี้ โดยส่วนตัวของคุณเอง ได้ทำหน้าที่ “นักแสดง” ได้อย่างสมบูรณ์แบบหรือยัง


(นิ่งคิด) ถือว่าสมบูรณ์แบบครับ มันสมบูรณ์เพราะว่า ขณะที่ผมทำการแสดงในตัวละครทุกตัว ผมเอาชีวิต เวลา ความรู้และประสบการณ์ของตัวเองที่มีนั้น ใส่ไปในตแต่ละบทบาทในเท่าที่จะทำในในช่วงเวลานั้นๆ แต่ถ้าเป็นช่วงที่หลังจากผลงานที่ออกมาแล้ว มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้ว แต่เราก็ได้ทุ่มทุกอย่างใส่ไปในงาน ในแต่ละช่วงเวลาแต่ละครั้ง อย่างที่บอก ผมก็เลยคิดว่าสิ่งนั้นแหละ น่าจะสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ ณ เวลานั้น

เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : GDH



กำลังโหลดความคิดเห็น