xs
xsm
sm
md
lg

Side Story จากข่าวที่ดิน ทิดสมปอง : “ภบท.5” เอกสารที่ไม่ควรมีอยู่ในสารบบการครอบครองที่ดินของรัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

“ครอบครองที่ดินป่าสงวน 200 ไร่” กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ “ทิดสมปอง นครไธสง” ถูกตรวจสอบหลักถูกเปิดเผยว่า นำเงินไปให้ญาติซื้อที่ดินประมาณ 300 ไร่ ที่ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ จากเดิมเข้าใจกันว่า อาจเป็นที่ดิน ส.ป.ก.

และเมื่อมีกระบวนการตรวจสอบก็พบว่า มีเพียงประมาณ 7 ไร่ ที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน เพราะที่ดินที่เคยประกาศเป็น ส.ป.ก.ไม่เสมาะกับการทำเกษตรกรรม จึงส่งคืนให้กรมป่าไม้

โดย “เพื่อนบ้าน” ที่ครอบครองที่ดินข้างเคียง อ้างว่า เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ เพราะมีเอกสารที่เรียกว่า “ภบท.5”

ภบท.5 คือ เอกสารที่มักจะถูกนำมาอ้างว่า เป็นหลักฐานการครอบครองที่ดิน ... แต่ จริงๆแล้ว ไม่ใช่

ภบท. มาจาก คำว่า ภาษีบำรุงท้องที่

“ใบ ภบท.5” มีสถานะเป็นเพียง “ใบเสร็จรับเงิน” เพื่อแสดงว่า คุณได้เสียภาษีให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการใช้ประโยชน์ที่ดินแล้วเท่านั้น ดังนั้นเอกสารใบนี้จึงไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ ไม่สามารถนำมาแสดงเป็นหลักฐานการได้รับอนุญาตให้ครอบครองที่ดินได้

แต่ในอดีต กระบวนการตรวจสอบการบุกรุกที่ดินของรัฐ มักจะถูกประชาชนที่เข้าครอบครองที่ดินของรัฐโดยมิชอบ นำ “ใบเสร็จรับเงิน” ที่เรียกว่า “ภบท.5” มาแสดงแทนเอกสารสิทธิ ทั้งคนที่เข้าไปทำประโยชน์ในที่ป่าไม้ อุทยานฯ ราชพัสดุ

ผู้ที่เข้าไปครอบครองที่ดินของรัฐ มักนำ ภบท.5 มาอ้างสิทธิ พร้อมให้เหตุผลที่น่าสนใจว่า “ถ้าเขาเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินที่ผิดกฎหมายจริง ทำไมท้องถิ่นจึงมาเก็บภาษีอีก การเก็บภาษีบำรุงท้องที่ ก็ถือเป็นการจ่ายเงินให้รัฐใช่หรือไม่ จึงเข้าใจได้ว่า เขาได้สิทธิในการครอบครองทำประโยชน์ที่ดินจากรัฐแล้วใช่หรือไม่”

เมื่อเป็นเช่นนี้ กระทรวงมหาดไทย จึงออกประกาศหลายครั้งให้ท้องถิ่น “งดการจัดเก็บ” ภาษีบำรุงท้องที่ กับประชาชนที่เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ เพื่อไม่ให้ ภบท.5 ถูกนำมาใช้อ้างในการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ

แต่หากเป็นการครอบครองที่ดินของรัฐอย่างถูกกฎหมาย ก็มีรูปแบบการจ่ายเงินให้รัฐอยู่แล้ว เช่น หากจะเข้าไปทำประโยชน์ในที่ “ราชพัสดุ” ซึ่งมีผู้รับผิดชอบ คือ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง หากเป็นที่ดินที่เรียกว่า “พื้นที่กายภาพ” ไม่ลาดชันเกินกว่า 35 องศา ไม่เป็นแหล่งต้นน้ำชั้น 1A และชั้น 2A ก็สามารถขอเช่าที่ระยะยาวจากกรมธนารักษ์เพื่อเข้าทำประโยชน์ได้ มีเอกสารการขอเช่า และกรมธนารักษ์จะนำค่าเช่าไปหักส่วนที่เป็นภาษีบำรุงท้องที่ส่งไปให้กับท้องถิ่นเอง

แต่หากได้ที่ดินราชพัสดุมาด้วยการ “ซื้อต่อ” จากผู้ที่ครอบครองอยู่เดิม ก็จะเป็นเพียงการ “การซื้อที่ดินมือเปล่า” ไม่มีเอกสารรับรองใดๆ และยังคงเป็นการครอบครองโดยผิดกฎหมาย เพราะไม่ใช่ที่ดินที่สามารถซื้อขายได้

กรณีเป็นที่ “ป่าไม้” หรือ “ป่าสงวนแห่งชาติ” หากกรมป่าไม้ เห็นว่าพื้นที่นั้นเป็นแหล่งป่าเสื่อมโทรม ก็อาจนำมาจัดสรรเป็นที่ดินทำกินให้กับประชาชนได้เช่นกัน เรียกว่า “สทก. หรือ สิทธิทำกิน” ซึ่งจะมีเอกสารรับรองว่าพื้นที่นี้ เป็นที่ สทก. ที่ป่าไม้จัดสรรให้ประชาชนทำกิน และจะมี “เสาหิน” เป็นหมุดแสดงอาณาเขตอย่างชัดเจน

แต่หากมีการซื้อขาย ก็จะเป็น “การซื้อขายที่ดินมือเปล่า” เช่นกัน ไม่มีเอกสารสิทธิ ไม่ถูกกฎหมาย แต่ก็อาจมีบางกรณีที่สิทธิการครอบครอง สทก.ถูกเปลี่ยนมือไปด้วยกำลังภายใน

ส่วน ส.ป.ก. หรือ ที่ดินปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม คือ ที่ดินของรัฐที่ถูกนำมาจัดสรรให้ประชาชนที่ยากไร้ได้มีที่ทำกิน โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ที่จะได้สิทธิใน ส.ป.ก. จะต้องมีรายได้น้อย ไม่มีที่ดินทำกิน ไม่เป็นข้าราชการ ต้องนำที่ดินไปใช้เพื่อทำเกษตรกรรมเท่านั้น โดยได้รับการจัดสรรรายละไม่เกิน 50 ไร่ และไม่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ เว้นแต่ตกทอดเป็นมรดก

ดังนั้น ผู้ที่จะครอบครองที่ ส.ป.ก.จะต้องมีคุณสมบัติตามข้างต้น มีเอกสารการคอบครอง มีหลักหมุดแสดงอาณาเขตที่ชัดเจน และมีกฎหมายที่ประกาศใช้เมื่อปี 2564 ให้เกษตรกรที่ทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. ไปเสียภาษีให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ใบเสร็จรับเงินที่ได้มา ก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งไม่ใช่ “ภบท.5”

และปัจจุบันก็พบว่า มีการซื้อขายเปลี่ยนมือสิทธิ ส.ป.ก.ไปเป็นจำนวนมาก ประมาณ 60% ของที่ดิน สปก.ทั้งหมด ด้วยรูปแบบเดียวกัน คือ “ซื้อขายที่ดินมือเปล่า” แต่ชื่อผู้ครอบครอง ส.ป.ก. ยังคงเป็นชื่อของผู้มีสิทธิดั้งเดิม ดังนั้น ส.ป.ก.จึงพยายามขยายของเขตการสืบทอดสิทธิ ส.ป.ก.ออกไปให้มากกว่าเดิม

เช่น ไม่ต้องเป็นทายาทโดยตรง สามารถโอนสิทธิไปให้ญาติรวมทั้งฝั่งภรรยาได้ หรือ หากทายาทผู้รับมรดก เป็นข้าราชการหรือพนักงานบริษัทเอกชน ก็สามารถรับสิทธิต่อไปได้ เพื่อป้องกันการเปลี่ยนมือที่อาจเกิดขึ้นจากการที่เกษตรกรรายเดิม ไม่มีทายาทที่เป็นเกษตรกร ก็เลือกที่จะขายที่ดินมากกว่า

เมื่อพิจารณารูปแบบการครอบครองทำประโยชน์ที่ดินของรัฐตามสถานะของที่ดินต่างๆจะพบว่า หากครอบครองโดยได้รับการจัดสรรอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะไม่มีความจำเป็นต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ ไม่จำเป็นต้องมีใบ “ภบท.5” มาแสดง แต่จะมีเอกสารการเช่า หรือเอกสารการครอบครองที่ดินตามสถานะที่ต่างกัน

ดังนั้น หากผู้ที่ครอบครองที่ดินของรัฐ ไม่มีเอกสารแสดงสิทธิ์ใดๆเลย ก็หมายความว่า อาจครอบครองด้วยการบุกรุก หรืออาจได้มาด้วยการซื้อขายที่ดินมือเปล่า ซึ่งไม่มีสิทธิ์ครอบครองได้จริงตามกฎหมาย

ส่วนในกรณีของทิดสมปอง ที่อ้างว่า เป็นเพียงผู้ที่มอบเงินให้ญาติๆ นำไปซื้อที่ดินไว้ทำกินเท่านั้น โดยไม่มีส่วนรู้เห็นว่า ที่ดินที่ซื้อมามีสถานะเป็นอย่างไร อาจทำให้ต้องมีกระบวนการพิสูจน์เจตนากันต่อไป

เพราะโดยหลักการแล้ว ผู้ที่ถูกพบว่าเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ จะต้องเป็นผู้ถูกดำเนินคดีฐานบุกรุก แต่ก็ต้องพิสูจน์ต่อไปว่า ครอบครองแทนบุคคลอื่นที่เป็นเจ้าของซึ่งเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ตัวจริงหรือไม่?
กำลังโหลดความคิดเห็น