"นางสาวตรีนุช เทียนทอง" รมว.ศธ. ออกมาเปิดเผยว่าพบการทุจริตสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วยหลายแห่ง พบมีการดำเนินคดีแล้วบางราย โดยตัดสิทธิการสอบครูผู้ช่วยตลอดชีวิตทันที และจะไม่มีสิทธิสอบเป็นข้าราชการได้อีกตลอดชีวิต
จากกรณีที่มีข้อมูลการเผยแพร่ผ่านโซเชียลถึงการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่พบว่าอาจจะมีการทุจริตในการสอบ โดยตรวจสอบพบว่ามีอดีตครูจังหวัดบุรีรัมย์ที่ลาออกไปแล้วทำหน้าที่มือปืนรับจ้างสอบที่ศูนย์สอบสนามสอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ซึ่งศูนย์สอบ มธ.ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อครูผู้รับจ้างสอบแล้ว ส่วนผู้ที่จ้างสอบมี 2 ราย โดย สอศ.ได้ตัดสิทธิการสอบครูผู้ช่วยตลอดชีวิตทันที และจะไม่มีสิทธิสอบเป็นข้าราชการได้อีก
ล่าสุดวันนี้ (9 ก.พ.) มีรายงานว่า น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ได้ออกมากล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า
“ได้เน้นย้ำไปยัง สอศ.แล้วว่าอย่าให้มีช่องทางหละหลวมในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก เพราะการสอบครูเราจะต้องได้ครูมีความรู้ ความสามารถอย่างแท้จริง และมีจรรยาบรรณในวิชาชีพ เพื่อมาสั่งสอนเด็ก ซึ่งที่ผ่านมาดิฉันได้กำชับตลอดว่าการจัดสอบต่างๆ จะต้องโปร่งใส และกระบวนการออกข้อสอบจะต้องทำให้เกิดความรอบคอบ แต่ก็ยังมีช่องทางให้ทุจริตเกิดขึ้นอีก ดังนั้นดิฉันขอประกาศไว้ตรงนี้เลย ว่า หากการจัดสอบครูไม่ว่าจะเป็นครูในสังกัดใดก็ตาม หากมีเรื่องทุจริตการสอบเกิดขึ้น จะถูกลงโทษด้วยมาตรการที่รุนแรงและขอตัดสิทธิในเส้นทางราชการอย่างแน่นอน” รมว.ศธ.กล่าว
นอกจากนี้ "นายอัมพร พินะสา" เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า
ในกรณีที่เกิดการทุจริตใน จ.ประจวบคีรีขันธ์นั้น จากการตรวจสอบพบว่ามีการปลอมแปลงบัตรประจำตัวประชาชนเข้าสอบแทน ทั้งนี้พบว่าผู้ที่เข้าสอบแทนเป็นคน จ.มหาสารคาม สอบแทนผู้สมัครซึ่งเป็นครูอัตราจ้างใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เบื้องต้น สพฐ.ได้ลงโทษตัดสิทธิการเข้ารับราชการของทั้ง 2 ราย
“ผู้ที่ทุจริตทั้ง 2 รายไม่มีสิทธิเข้ารับราชการตลอดชีวิต โดยผมได้รายงานให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.รับทราบแล้ว ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ย้ำให้ดำเนินการลงโทษอย่างเต็มที่ และทราบว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเรียกผู้เกี่ยวข้องไปให้ปากคำ จากนี้ต้องไปดูด้วยว่าผู้ที่เข้าสอบแทนมีตำแหน่งหรือทำงานในหน่วยงานราชการหรือไม่ หากเป็นข้าราชการก็จะต้องมีโทษทางวินัยและอาญา อย่างไรก็ตาม ในการสอบครูผู้ช่วยผมได้ย้ำมาตลอดเรื่องความโปร่งใส และไม่ให้มีการทุจริต แต่แม้จะป้องกันอย่างไรก็ยังเกิดขึ้น เหมือนตำรวจไล่จับโจร แต่ก็ยังมีคนทำผิดกฎหมาย เพราะเราห้ามไม่ได้ แต่ป้องกันและตรวจสอบได้” นายอัมพรกล่าว
นายอัมพรกล่าวต่อว่า สำหรับการสอบครั้งนี้มีผู้เข้าสอบกว่าร้อยละ 80 และพบว่าผู้สมัครบางรายติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ซึ่ง สพฐ.ก็ไม่ได้ตัดสิทธิ เพียงแต่ให้แยกห้องสอบ ส่วนกรณีที่เข้าสอบรายหนึ่ง โพสต์ถามถึงคำแปลภาษาอังกฤษคำว่า “emergency room” ทำให้มีผู้ตั้งคำถามว่า เป็นคำศัพท์ง่ายๆ สำหรับคนที่เตรียมจะเป็นครูทำไมถึงไม่รู้นั้น เรื่องนี้ไม่ขอออกความเห็น และไม่กล้าก้าวล่วงมหาวิทยาลัยที่ทำการสอน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง