xs
xsm
sm
md
lg

สสปน.ดึงงาน Air Show จัดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภา สู่ศูนย์กลางการบินของภูมิภาคอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานส่งเสริมการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ริเริ่มดึงงาน Air Show มาจัดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกและประเทศไทยสู่ศูนย์กลางการบินของภูมิภาคอาเซียน
วันนี้ (8 ก.พ.) สำนักงานส่งเสริมการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ริเริ่มดึงงาน Air Show เข้ามาจัดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยได้พิจารณาเห็นว่า สนามบินอู่ตะเภามีศักยภาพในการจัดงาน จึงนำเสนอโครงการให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกพอ. พิจารณาผลักดันให้มีการจัดงานต่อไป เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินในอาเซียน

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. กล่าวในฐานะประธานเปิดงานว่า “การจัดงาน Thailand International Air Show ครั้งแรกนี้ จะเป็นการเปิดมิติใหม่ในหลายด้าน เช่น ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการจัดแสดง และการค้าด้านอากาศยาน เป็นงานนานาชาติขนาดใหญ่จากความคิดริเริ่มของ สสปน. และเป็นการผลักดันอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของไทยสู่ตลาดโลก อีกทั้งการจัดงานนี้ยังช่วยส่งเสริมประเทศไทยในฐานะหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนอากาศยานของโลก ดังข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการลงทุนที่ระบุว่าในปี พ.ศ. 2561 ประเทศไทยส่งออกชิ้นส่วนและอุปกรณ์อากาศยานมากถึง 3,180 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบแสนล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดังกล่าวก็จะได้รับโอกาสในการมีส่วนร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานของโลกอย่างเต็มศักยภาพ”

นางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. กล่าวว่า “สสปน. นอกจากจะเป็นองค์กรหลักในการผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์ให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรม เพื่อสร้างความเจริญ และกระจายรายได้ไปสู่ทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืนแล้ว เรายังมีบทบาทหน้าที่ในฐานะ National Bidder ดึงงานระดับโลกเข้ามาจัดในประเทศไทย เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับภาคสังคม เศรษฐกิจ และระบบนิเวศของการจัดประชุม งานแสดงสินค้า และงานเทศกาลนานาชาติ โดยจากนโยบาย Thailand 4.0 ที่มุ่งเน้นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมอุตสาหกรรม 12 S-Curve โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (Focused Industries) ซึ่งอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation & Logistics) เป็นหนึ่งในนั้น และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนโยบายพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกในพื้นที่ EEC เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินของอาเซียน สสปน. จึงได้ริเริ่มและผลักดันการจัดงาน “Thailand International Air Show” ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด Future of Aerospace ซึ่งนำเสนอจุดยืนที่เน้นการแสดงนวัตกรรมในอนาคต (Innovation Technology) เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ของไทยแลนด์ 4.0 ในทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นพลเรือน พาณิชย์ หรือหน่วยความมั่นคง”

“สำหรับที่มาและแนวคิดในการดึงงานแสดงสินค้าระดับโลกนี้มาจัดแสดงในประเทศไทยนั้น ต้องย้อนหลังไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เมื่อ สสปน. ขานรับนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 และในปี พ.ศ. 2561 ประเทศไทย โดย สสปน. ได้เริ่มทำการศึกษาข้อมูลการจัดงานแอร์โชว์ เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการดึงงานแอร์โชว์มาจัดในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2562 สสปน. ได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้รวมถึงโมเดลความร่วมมือในแบบต่าง ๆ เพื่อวางกรอบความร่วมมือในการจัดงานแสดงสินค้าด้านการบิน ซึ่งภายหลังจากนั้น ได้มีการทำกิจกรรมประชาพิจารณ์และประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบัน สสปน. นำเสนอขอให้ประเทศไทยจัดงานดังกล่าว โดยเรียนเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EECO) บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) กองทัพเรือ (ทร.) และเมืองพัทยา พิจารณาร่วมผลักดันการจัดงานต่อไป”

“นอกจากนี้ สสปน. ยังมุ่งเน้นการยกระดับอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ของไทย รวมถึงเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไมซ์ในพื้นที่ เพื่อรองรับการจัดงาน “Thailand International Air Show” ผ่านโครงการ “Road to Air Show” โดยริเริ่มสัปดาห์งานแสดงสินค้าและงานในอุตสาหกรรมไมซ์ ภายใต้ชื่อ “Aviation & LOG-IN Week” ซึ่งเป็นการรวมงานแสดง การประชุม และงานเมกกะอีเว้นท์ เพื่อต่อยอดโอกาสในการเข้าร่วมงาน ให้เกิดการมีส่วนร่วมในงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมนั้น ๆ ตลอดจนช่วยกระตุ้นผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจแบบทวีคูณ โดย สสปน. คาดว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566-2570 จะมีการจัดงานในโครงการ “Aviation & LOG-IN Week” ทั้งงานใหม่และงานที่จัดต่อเนื่องจำนวน 28 งานในพื้นที่ EEC ซึ่งเมื่อรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจของงาน Thailand International Air Show ในช่วงเวลานั้น จะสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้มากถึง 8,200 ล้านบาท”

นายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “สกพอ. เป็นหน่วยงานของรัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการลงทุน ยกระดับนวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศไทย และมีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกด้านการติดต่อดำเนินธุรกิจในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) ทั้งนี้ สกพอ. มีความยินดี และชื่นชมแนวคิดของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ที่ต้องการผลักดันให้มีงานแสดงสินค้าด้านการบิน และโลจิสติกส์ระดับโลกในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ บริการ และแรงงาน รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินของไทย ตลอดจนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องสาขาต่างๆ ให้ก้าวหน้า และทัดเทียมมาตรฐานสากล อีกทั้งโครงการนี้ยังสอดคล้องกับนโยบายพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกในพื้นที่ EEC เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินของอาเซียน”

“จากการที่ประเทศไทยมีความโดดเด่นในด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้งและมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ในแต่ละภูมิภาค จึงทำให้ประเทศไทยยังคงเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ จากนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งสนามบินหลัก 6 แห่งในประเทศไทยในปี 2019 สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารกว่า 140 ล้านคนต่อปี มีปริมาณเที่ยวบินขาออกไปยังทั่วโลกมากถึง 450,000 เที่ยวบินต่อปี และทั้งประเทศมีปริมาณการใช้บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน เป็นมูลค่ากว่า 36,500 ล้านบาทต่อปี และมีจำนวนอากาศยานที่จดทะเบียนในประเทศกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยถึง 679 ลำ”

“เพื่อเป็นการสนองนโยบายของภาครัฐตามแผนพัฒนาประเทศ และส่งเสริมอุตสาหกรรมการบิน และโลจิสติกส์ สกพอ. จึงได้ดำเนินการผลักดันการพัฒนาให้ประเทศไทยเพิ่มศักยภาพในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการบินครบวงจร จึงบรรจุการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศ เพื่อวางรากฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินอย่างครบวงจร อาทิ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul: MRO) การผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (Parts Manufacturing) และส่วนประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการบูรณาการกิจกรรมเหล่านี้อยู่ในพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมการบินภายในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ทั้งนี้ การจัดงาน Thailand International Airshow ในอนาคตนั้น นับเป็นโอกาสอันดีที่จะเป็นอีกก้าวหนึ่งของการประกาศศักยภาพอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย ที่ไม่ใช่เพียงแค่จุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยว แต่สามารถเป็น Aviation Hub หรือศูนย์กลางด้านธุรกิจการบินอย่างครบวงจรอีกด้วย”

นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวถึงความร่วมมือในฐานะเมืองเจ้าภาพว่า “งาน Thailand International Air Show ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ NEO Pattaya เป็นอย่างมาก เพื่อผลักดันพัทยาให้เป็น Smart City ศูนย์กลางเศรษฐกิจ การลงทุน การคมนาคมขนส่งแห่งภาคตะวันออก”

“สำหรับในด้านความพร้อมในการจัดงาน จากการพัฒนาเมืองพัทยาให้เป็น Smart City อีกทั้งมีสนามบินอู่ตะเภาที่จะเป็นสนามบินหลักอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย ตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคใหม่ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การทำธุรกิจ การพักอาศัย ผสมผสานอย่างลงตัว เช่นเดียวกับเมืองนานาชาติระดับโลก เมืองพัทยายุคใหม่จะยกระดับด้วยเทคโนโลยี Digital Transformation สร้างความสะดวกให้ประชาชน นักธุรกิจ และนักท่องเที่ยว ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ ทำให้พัทยาโดดเด่นเป็นศูนย์กลางของโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ฉะนั้น เราจึงมีความพร้อมในการจัดงานยิ่งใหญ่ระดับนานาชาติเป็นอย่างมาก งานในครั้งนี้จะสามารถพัฒนา และยกระดับเศรษฐกิจไม่ใช่แค่ในเมืองพัทยา แต่จะเป็นการยกระดับเพื่อประเทศชาติ จะมีการกระจายรายได้ไปสู่ประชาชน ผู้ประกอบการต่างๆ”

“เมืองพัทยามีความภูมิใจเป็นอย่างมากในการเป็นเมืองตัวแทนประเทศไทยในการจัดงานระดับโลก “Thailand International Air Show” ในครั้งนี้”

ทั้งนี้ ทุกภาคีที่มีส่วนร่วมคาดว่า การจัดงาน “Thailand International Air Show” นี้ จะนำมาซึ่งการพัฒนาและความเจริญเติบโตของภาคชุมชน สังคม ธุรกิจ อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศไทย อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการบินของอาเซียนได้อย่างเต็มภาคภูมิ












กำลังโหลดความคิดเห็น