xs
xsm
sm
md
lg

เหตุที่มอญถือหงส์เป็นสัญลักษณ์! แผ่นดินผุดขึ้นตรงหงส์ ๒ ตัวเล่นน้ำ เป็นเมืองหงสาวดี!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑ เรื่องพงศาวดารมอญพม่า ได้กล่าวถึงการกำเนิดของเมืองหงสาวดี โดยอ้างพระพุทธเจ้าเช่นเดียวกับพงศาวดารเขมรที่กล่าวถึงกำเนิดกรุงกัมพูชา กล่าวว่า เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วแปดพรรษา ได้เสด็จจาริกมาถึงภูเขาสุทัศนมรังสิต หรือที่มอญเรียกว่าสุทัศน์บรรพต ซึ่งตอนนั้นยังเป็นทะเลอยู่ เมื่อน้ำแห้งงวดลงไปก็จะเห็นยอดเขาโผล่ขึ้นมาดูแต่ไกลเหมือนพระเจดีย์ ทรงผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกทอดพระเนตรเห็นหงส์ทองสองตัวเล่นน้ำอยู่ จึงทรงทำนายว่า กาลสืบไปภายหน้า บริเวณที่หงส์ทองสองตัวเล่นน้ำนี้จะเป็นมหานครขึ้น มีชื่อว่า เมืองหงสาวดี และจะเป็นที่ตั้งพระธาตุสถูปเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ พระศาสนาคำสั่งสอนของเราจะรุ่งเรืองตั้งอยู่ที่นี่

ครั้นสมเด็จพระพุทธเจ้านิพพานล่วงไปแล้ว ๑,๐๐๐ ปี หาดที่เขาสุทัศน์บรรพตก็ตื้นขึ้นมาประมาณสิบสามวา ครั้งนั้นมีสำเภาลำใหญ่แล่นมาแต่เมืองพิทยานคร จะไปค้าขาย ณ เมืองสุวรรณภูมิ เมื่อมาถึงเขาสุทัศน์บรรพตก็เห็นหงส์ทองสองตัว ซึ่งสืบเนื่องมาแต่ตระกูลหงส์ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นในกาลก่อน ต่างพากันชมด้วยความพิศวง ครั้นกลับไปถึงเมืองพิทยานคร แขกนายเรือได้กราบทูลพระเจ้าบัณฑุราชาให้ทรงทราบถึงเหตุมหัศจรรย์นั้น พระเจ้าบัณฑุราชาจึงตรัสถามอาจารย์อาทิตยภารทวาช ผู้รู้จดหมายเหตุน้อยใหญ่มาก อาจารย์ได้กราบทูลว่า ในคัมภีร์จดหมายเหตุมีมาว่า เมื่อครั้งพระโคตมพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ ได้เสด็จไปเมืองสุธรรมวดี ครั้นมาถึงที่หงส์ทองทั้งสองเล่นน้ำอยู่ ได้ทรงทำนายว่านานไปภายหน้าจะเป็นที่ตั้งนครขึ้นแห่งหนึ่ง ในตำราไตรเภทก็ว่าไว้อย่างนั้นด้วย พระเจ้าบัณฑุราชาจึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นเราจะไปกำหนดจดหมายไว้ให้เป็นสำคัญ นานไปภายหน้าจะได้เป็นอาณาเขตรของเราสืบไป จึงให้เอาศิลาท่อนหนึ่งยาวห้าศอก ใหญ่ห้ากำ จารึกอักษรศักราชปีเดือนวันขึ้นแรมไว้ว่า ประเทศนี้พระเจ้าบัณฑุราชา ผู้ครองเมืองพิทยานครได้จองไว้ แล้วให้หุ้มเสาศิลาด้วยแผ่นเหล็กดีทำให้แน่นหนา ให้อาจารย์อาทิตยภารทวาชะคุมแขกห้าร้อยคนลงสำเภาไปถึงที่จะตั้งเมืองหงสาวดี ทอดสมออยู่ริมฝั่งที่ตำบลหนึ่งซึ่งอยู่ทางใต้ของสุทัศน์บรรพต พวกรามัญจึงเรียกเขาที่ทอดสมอนี้ว่า เขาซอยบัง หมายถึงเป็นที่รั้งเรือทะเล อาจารย์อาทิตยภารทวาชะก็ลงเรือตีกันเชียงไปดูที่จะตั้งเป็นพระนครได้ แล้วให้ปักเสาศิลาไว้เป็นสำคัญ ครั้นเสร็จแล้วก็แล่นสำเภากลับเมืองพิทยานคร

ครั้นล่วงมาอีกร้อยหกสิบปีจากที่พระเจ้าบัณฑุราชาจับจองไว้ หาดทรายที่หงส์ทองคู่นั้นเคยมาเล่นน้ำก็ตื้นขึ้นเป็นแผ่นดิน พระเจ้าบัณฑุราชาล่วงลับไป ราชบุตรที่ชื่อสาติราชาขึ้นครองราชย์แทน ครั้นพระเจ้าสาติราชาล่วงลับ ราชบุตรที่ชื่อบัณฑุราช ได้ครองราชย์ต่อ ทรงทราบว่าเสาศิลาที่พระเจ้าปู่ให้ไปปักไว้มีประโยชน์อยู่ จึงให้อำมาตย์ชื่อสจาตทุโล คุมแขกเจ็ดสิบคนให้ข้ามมารักษาที่จะตั้งเมืองหงสาวดีไว้ จนล่วงไปได้ห้าสิบหกสิบปี เป็นไร่เป็นนาขึ้นแล้ว

ในครั้งนั้น พระเจ้าเสนะคงคา ผู้ครองเมืองรัมวดี คือร่างกุ้ง ทรงได้นางกุมารีลูกของนางนาคซึ่งได้เสียกับบุตรของพระเจ้ากระลึงคราษฐ์แล้วไข่ทิ้งไว้ พระโลมฤาษีเก็บมาเลี้ยงไว้จนโตเป็นสาวสวยมาเป็นมเหสี มีราชโอรสสององค์ ต่อมาพระมเหสีก็มีจิตรกำเริบด้วยโทสะกล้า ถ้านางสนมผู้ใดทำให้ขัดเคือง ผู้นั้นก็ต้องตายด้วยอิทธิฤทธิ์นาคของนาง พระเจ้าเสนะคงคาทรงสงสัยได้ตรัสถามกับปุโรหิต จึงกราบทูลว่าเคยได้ยินมาจากบิดาว่านางเป็นนาค พระเจ้าเสนะคงคาจึงให้ปุโรหิตประกอบยาให้พระมเหสีผัดต่างแป้งเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นนาคจริงหรือไม่ เมื่อพระมเหสีถูกยานั้นก็เกิดโรคซูบผอมอิดโรยถอยกำลังจนถึงแก่กรรม อำมาตย์ทั้งปวงจึงไม่ยอมให้พระราชกุมารทั้งสององค์อยู่ในพระนครต่อไป กราบทูลให้เชิญสองพี่น้องไปมอบให้พระฤาษีที่เลี้ยงพระราชมารดามา

พระราชกุมารทั้งสองพี่น้องได้ไปถวายตัวทำราชการอยู่กับพระเจ้าอรินทรธมราช ณ เมืองสุธรรมวดี คือเมืองสเทิม กุมารทั้งสองรูปงาม กิริยามารยาทเรียบร้อย ทั้งยังฉลาดในราชกิจทั้งปวง จึงเป็นคนโปรดของพระเจ้าอรินธมราช เข้าออกภายใน จนนางภัทราราชกุมารี พระราชธิดา เกิดผูกพันรักใคร่กับสมลกุมาร พระราชกุมารผู้พี่ เมื่อพระเจ้าอรินทรธมราชทรงทราบก็กริ้ว รับสั่งให้จับสองพระราชกุมารประหารเสีย พระราชกุมารทั้งสองรู้ตัวก็รีบหนีมาหาพระโลมฤาษี พระฤาษีจึงบอกว่าหลานทั้งสองอย่าอยู่ที่นี้เลย หนีราชภัยไม่พ้นแน่ ที่สุทัศน์บรรพตมีคำโบราณเล่าสืบกันมาว่าจะมีราชธานีใหญ่เกิดขึ้น ตอนนี้ที่นั้นก็ดอนขึ้นเป็นแผ่นดินแล้ว แต่ยังไม่เป็นอาณาเขตของผู้ใด หลานทั้งสองจงข้ามไปอยู่ที่นั่นเถิด จะพ้นภัยอันตรายและเกษมสุข พระราชกุมารทั้งสองก็รับคำพระฤาษี เกลี้ยกล่อมผู้คนได้ร้อยเจ็ดสิบคน ต่อแพข้ามไปจอดข้างภูเขาซอยกระบัง ตั้งบ้านเรือนอยู่ เมื่อคนที่อยู่ชายป่าบนฝั่งทราบว่าพระราชกุมารทั้งสองมาอยู่ก็พากันมาอยู่ด้วยจนได้คนประมาณพันเศษ พระราชกุมารทั้งสองจึงปรึกษากันว่า บัดนี้พวกพลเราก็มากแล้ว เราจะสร้างพระนครเป็นที่อยู่อาศัย

ขณะนั้นสมเด็จพระอมรินทราธิราช หรือพระอินทร์ ได้ทราบความดำริของพระราชกุมารทั้งสอง ทรงระลึกถึงพระพุทธพยากรณ์ที่ทรงทำนายไว้ จึงแปลงเป็นพราหมณ์นครวัฒกี ถือเชือกประดับพลอยเท่าผลมะยมเป็นสายบันทัดวัดที่จะสร้างพระนคร เสด็จมาสู่นักพระราชกุมารบอกว่า อย่าวิตกเลย การทั้งนี้ไว้เป็นพนักงานของเรา เราจะช่วยจัดแจงให้ได้ดังประสงค์ พระราชกุมารทั้งสองกับคนห้าร้อยเศษได้ยินดังนั้นก็ชื่นชมยินดียิ่งนัก

แต่เมื่อพระอินทร์ในรูปของพราหมณ์นครวัฒกีไปวัดที่แถวหงส์ทองเล่นน้ำจะสร้างเป็นพระนคร อำมาตย์สจาตทุโล ที่พระเจ้าบัณฑุราชให้คุมแขกเจ็ดสิบคนมารักษา ก็เข้ามาห้ามว่าที่นี้กษัตริย์แห่งเมืองพิทยานครจับจองไว้ โดยเอาเสาศิลาจารึกวันเดือนปีมาปักไว้ตอนเขาโผล่ได้ ๓๐ วา และให้พวกตนมารักษา พราหมณ์นครวัฒกีจึงว่า ถ้าเช่นนั้นก็แสดงว่ามาจองทีหลังเรา เพราะเราปักเสาไว้ลึกกว่าตั้งแต่โผล่ขึ้นมา ๒๐ วาเท่านั้น ในที่สุดก็มีการท้าพิสูจน์กัน ถ้าเสาหลักของใครลึกกว่า ก็จะได้เป็นเจ้าของที่นี้

ในคืนนั้นก่อนที่จะมีการขุดในวันรุ่งขึ้น สมเด็จพระอมรินทราธิราชจึงเนรมิตเสาทองคำทั้งแท่งท่อนหนึ่ง พร้อมจารึกอักษรวันเดือนปีก่อนที่พระเจ้าบัณฑุราชาบันทึกไว้ และฝังลึกลงไปกว่าพวกแขกอีก ๑๐ วา ฉะนั้นเมื่อมีการขุดพิสูจน์กัน ฝ่ายแขกจึงแพ้พราหมณ์ปลอม ต้องแบกเสาหินถูกไล่ลงแพกลับไป

บริเวณที่พระอินทร์กับแขกปะทะคารมกันอยู่กลางเมืองหงสาวดีพอดี เรียกกันว่า อินทจักเมือง มีการสร้างพระสถูปไว้ตรงนั้น ส่วนตรงที่พวกแขกแบกเสาลงแพออกทะเลไป มอญเรียกว่า ตะรางจาเรดะ แปลว่าประตูที่ถอยแพไป เมื่อถอยแพออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เสาหินที่เอาไปตกน้ำ บริเวณนั้นมอญจึงเรียกว่า เติงตะโมะ แปลว่า หลักศิลา

เมื่อแพพวกสจาตทุโลล่องแพไปถึงตำบลหนึ่ง จึงจอดแพปรึกษากัน ว่าเรือใหญ่จะข้ามทะเลกลับไปเมืองก็ไม่มี แม้กลับไปก็คงถูกลงโทษแน่ หากพระเจ้าบัณฑุราชทรงทราบเรื่องนี้ก็คงต้องยกทัพมาตีเอาคืนแน่ ฉะนั้นจึงตั้งโรงคอยกันอยู่ตรงนั้น มอญจึงเรียกตำบลนั้นกันว่า ตายคะลา แปลว่า โรงแขก ส่วนที่พระอินทร์ให้เอาเสาทองคำไปฝังนั้น ชาวมอญได้ก่อพระสถูปบรรจุพระเกสาธาตุไว้ เรียกว่า พระเจดีย์ชนะ

เมื่อสมเด็จพระอมรินทราธิราชเสด็จลงมาสร้างเมืองหงสาวดีนั้นเป็นพุทธศักราช ๑๑๑๖ พระสมลกุมารได้ขึ้นครองราชย์ เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์แรก ต่อมาเป็นพระอนุชาวิมลกุมาร จากนั้นทุกพระองค์ต่อมาล้วนทรงพระราชศรัทธาบำรุงพระพุทธศาสนาจนรุ่งเรือง

นี่ก็เป็นตำนานที่มาของเมืองหงสาวดี เมืองหลวงของประเทศรามัญ และที่มาของสัญลักษณ์ของมอญที่ใช้เป็นรูปหงส์ตลอดมา เมื่ออพยพมาอยู่เมืองไทย รูปหงส์จึงปรากฏอยู่ทั่วไปในขณะนี้ ซึ่งโดยมากมักจะยืนอยู่บนยอดเสา






กำลังโหลดความคิดเห็น