xs
xsm
sm
md
lg

‘มีรักเป็นรั้ว’ หัวใจและจิตวิญญาณแห่งความเป็น ‘ครู’ ของ ‘แม่แอ๊ว-รัชนี ธงไชย’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข้อมูลจากเว็บไซต์โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก มูลนิธิเด็ก ระบุใจความตอนหนึ่งว่า “โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก เป็นบ้านและโรงเรียนสำหรับเด็กด้อยโอกาส เช่น ถูกทารุณกรรม กำพร้า ถูกทอดทิ้ง ครอบครัวแตกแยกและยากจน มาอยู่ประจำกินนอนและรับการศึกษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น มี ศ.นพ. ประเวศ วะสี ประธานกรรมการมูลนิธิเด็ก ดำรงตำแหน่งเจ้าของโรงเรียนในนามมูลนิธิเด็ก มีนายพิภพ ธงไชย เป็นผู้ก่อตั้งและผู้จัดการ นางรัชนี ธงไชย เป็นผู้อำนวยการ ชุมชนแห่งนี้สามารถรับเด็กได้สูงสุดจำนวน ๒๕๐ คน”

‘รัชนี ธงไชย’ หรือ ผู้ที่เด็กๆ ทุกคนในโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก เรียกขานอย่างเต็มใจ รัก เคารพ ให้เกียรติและเชื่อมั่นว่า
“แม่แอ๊ว” แม่ของเด็กๆ ทุกคนในโรงเรียนผู้นี้เอง คือบุคคลที่ “ผู้จัดการออนไลน์” เชื้อชวนเธอมาร่วมสนทนาสัมภาษณ์พิเศษ ด้วยเธอผู้นี้คือหัวใจหลัก เปรียบเสมือนสัญลักษณ์และจิตวิญญาณของความเป็น ‘ครู’ ที่แท้จริง

สิ่งที่เธอได้รับการยกย่องกล่าวขาน ไม่เพียงในหมู่นักเรียน แต่รวมถึงในแวดวงนักการศึกษา ตลอดระยะเวลา 43 ปี ที่เธอทำหน้าที่ “ครูใหญ่” เป็น “แม่แอ๊ว” ของเด็กๆ ย่อมมิใช่คำยกย่อง ให้เกียรติ และเคารพในอุดมการณ์ อุดมคติที่เลื่อนลอย ทว่า เกิดขึ้นจากการที่เธอได้อุทิศตนอย่างแท้จริง เพื่อเหล่าเด็กๆ ที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ผ่านแนวทางและหลักคิดหลายประการที่เธอศึกษาจนเข้าใจอย่างถ่องแท้และแปรไปสู่ภาคปฏิบัติได้อย่างน่าชื่นชม และส่งผลต่อจิตใจของเด็กๆ ให้ได้รับการเยียวยา เธอจึงเป็นทั้งแม่และครู แม่ที่คอยเช็ดเนื้อตัวทำความสะอาดให้เด็กเมื่อนักเรียนเด็กถ่ายหนักเบาออกมาด้วยไม่สามารถควบคุมระบบการขับถ่ายได้ เธอคือครูที่เคยร้องไห้เมื่อแปลงผักที่ปลูกไว้ถูกเด็กทลายสิ้น ทว่าเมื่อได้ทำความเข้าใจจิตใจของเด็กและเวลาผ่านพ้น เธอกลับหัวเราะทุกครั้งเมื่อนึกถึงเหตุการณ์นั้น


ไม่เพียงเธอที่เป็นครูให้แก่เด็ก ในทางกลับกัน เด็กก็เป็นครูผู้มอบประสบการณ์ล้ำค่าให้แก่เธอเช่นกัน เธอเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำอยู่ เชื่อมั่นในหลักการที่ปฏิบัติ เธอจึงนำบุตรชายทั้งสองคน มาเข้าเรียนที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็กแห่งนี้ มิไยว่าจะถูกเพื่อนฝูงทักท้วงว่าเหตุใดไม่นำลูกไปเรียนโรงเรียนที่ดีกว่านี้ เพราะสำหรับเธอแล้ว โรงเรียนหมู่บ้านเด็กแห่งนี้ต่างหาก คือสถานศึกษาสำหรับเด็กที่เธอเชื่อมั่น

สิทธิเสรีภาพที่เด็กๆ ในโรงเรียนได้รับ จะมาพร้อมกับการเรียนรู้และตระหนักในการเคารพสิทธิและคุณค่าของทั้งตนเองและผู้อื่น มีสภาโรงเรียนให้เด็กๆ ได้อภิปราย สามารถอภิปรายได้กระทั่งครู ทุกคนที่นั่งประชุมอยู่ในสภาล้วนเท่าเทียม ด้วยหลักคิด ปรัชญาในการบริหาร จิตวิญญาณแห่งความเป็นครูที่แท้จริง ทำให้นักการศึกษาชาวต่างชาติ จากหลายประเทศทั่วโลก เดินทางมาศึกษาดูงานที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็กแห่งนี้ เช่นเดียวกับนักเรียน นักศึกษาต่างชาติ ที่ขอมาเป็นอาสาสมัครเพื่อสัมผัสและซึมซับกับวิถีและแนวทางของโรงเรียนแห่งนี้ ที่ไม่เพียงเยียวยาและปลอบโยนจิตใจและร่างกายของเด็กๆ ที่บอบช้ำจากการถูกทารุณกรรม หรือถูกทอดทิ้ง แต่ยังสามารถกอบกู้ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ให้เด็กทุกคนตระหนักในคุณค่าและความหมายของตนเอง ถ่องแท้ถึงสิทธิเสรีภาพ ขณะเดียวกันก็เคารพสิทธิของผู้อื่น

43 ปีที่ผ่านมา พวกเขาและเธอ เหล่านักเรียนโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก จึงเติบโตขึ้นอย่างงดงามในแบบฉบับของตนเอง ด้วยเข็มทิศนำทางแห่งความรัก ที่พวกเขาได้รับจาก “แม่แอ๊ว” ครู ที่เปรียบเสมือนแม่ของพวกเขาทุกคน


และถ้อยความจากนี้ คือคำบอกเล่าของแม่แอ๊ว นับแต่วัยสาว อายุไม่ถึง 20 แต่กลับต้องรับหน้าที่สอนเด็กมัธยมวัยห่างกันไม่มาก และยากต่อการรับมือ ทว่า ก็ทำให้ได้รับบทเรียนสำคัญ และเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่า “แม่แอ๊ว” ราวกับเกิดมาเพื่อเป็น “ครู” อย่างแท้จริง ครูที่เข้าใจเด็กอย่างลึกซึ้งและพร้อมให้โอกาสแก่ศิษย์ของตนเสมอ


เมื่อครูสาววัย 19 รับมือกับเด็กเฟี้ยววัย 16 ด้วยความเข้าใจ

บทสนทนาเริ่มด้วยคำถามว่า แม่แอ๊วจบครูที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา แล้วเป็นมาอย่างไร จึงมาเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็กได้

แม่แอ๊วของเด็กๆ ตอบอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมาว่า เมื่อครั้งที่เรียนครูนั้น ยังไม่ได้คิดเลยว่าตัวเองจะเป็นครู อีกทั้งตอนเรียนชั้นมัธยมก็รู้สึกสับสนในตัวเอง อยากเป็นพยาบาลบ้าง อยากไปเย็บผ้าบ้าง เพราะเห็นพี่สาวเย็บผ้าแล้วดูเป็นอิสระดี แต่ในที่สุดก็มาสอบเข้าครูเพราะพี่สาวคนโตชวนมาสอบจึงมาสอบกับเขาด้วย ซึ่งก็ไม่คิดว่าตัวเองจะสอบได้ แต่ปรากฏว่าเมื่อประกาศผลออกมา พี่สาวกับเพื่อนพี่ที่เรียนชั้น ม. 4 สอบไม่ได้ ขณะที่แม่แอ๊วซึ่งเรียน ม. 3 ในขณะนั้นกลับสอบได้

แม่แอ๊วกล่าวว่า “เราก็รู้สึกภูมิใจ แล้วก็เรียนในตอนนั้น มี ปก.ศ. ต้น (ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นต้น)ประกาศณียบัตรครู สมัยก่อนเรียกแบบนั้น แล้วก็มาเรียนต่อที่ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จบ ปก.ศ. สูง ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ปกศ.ชั้นสูง) แล้วพบจบปก.ศ.สูง ก็ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร แต่เรียนภาคค่ำ เพราะตอนเช้าก็ต้องไปสอนนักเรียน จำได้ว่า สอนครั้งแรกไมเกรนขึ้นเลย เพราะเราเจอปัญหาเด็ก แล้วครูใหญ่ก็ให้แม่แอ๊วไปเป็นครูมัธยม ขณะที่ตอนนั้นแม่แอ๊วเพิ่งมีอายุแค่ 19 ปี แล้วเด็กมัธยมอายุ 16 ปี

เราก็รู้สึกว่า เราถูกเด็กทดสอบนู่นนี่หลายอย่างเลยค่ะ เขาทดสอบอารมณ์ เรา เราก็ต้องหาวิธีแก้ปัญหาหลายอย่าง ประการหนึ่ง เนื่องมาจากว่า ครอบครัวเขามีปัญหา แม่สอนได้นานที่นั่น ซึ่งเป็นโรงเรียนแรกที่แม่สอน เป็นโรงเรียนอิสลาม แล้วแม่แอ๊วมีครูรุ่นพี่ที่เขาอยู่มาก่อนและมีเมตตา เราก็ปรึกษาเขาว่า ‘พี่ หนูแก้ปัญหาเด็กคนนี้ไม่ได้’ ครูรุ่นพี่เขาก็บอกว่า ‘แอ๊ว ไปดูบ้านเด็กคนนี้สิ’ เราก็ไปเยี่ยมบ้านเด็ก ก็ได้พบว่าเด็กถูกสังคมรอบบ้านเด็กกดเขา ดูถูกเขา เพราะแม่เขามีอาชีพที่ชุมชนตรงนั้นไม่ยอมรับแล้วก็ไปประณามที่ลูก แล้วก็อะไรหลายๆ อย่างที่เด็กต้องเจอกับการไม่ยอมรับ ในช่วงนั้นมันกดดันเด็ก เด็กเขาจึงแสดงออกกับเราอย่างรุนแรง เราก็รู้วิธีเข้าหาเด็กแล้ว ว่าต้องเข้าหาเขาอย่างไร ตรงจุดไหน ครูรุ่นพี่เขาก็ช่วย ตรงนี้แหละที่แม่รู้สึกว่าเราประสบความสำเร็จในการดูแลเด็ก เราก็เลยอยากเป็นครู

แล้วเราก็พบว่าตัวเราเองเมื่อสอนหนังสือแล้วเด็กก็รักเราด้วย แล้วเด็กก็บอกเราว่าเรียนกับครู สนุกกว่าเรียนกับครูคนอื่น เพราะเรื่องยากๆ แม่ทำให้เป็นเรื่องง่าย เมื่อเด็กชอบ เราก็ยิ่งภูมิใจ ความอยากเป็นครูก็มีมากขึ้น เมื่อแม่ออกมารับราชการ ได้สอนเด็กมัธยมที่นั่นก็มีความรู้สึกอย่างนี้เช่นกัน


แรงดลใจจาก ‘เพียงความรักเท่านั้นยังไม่พอ’ และ ‘ซัมเมอร์ฮิลล์ (Summer Hill)’

แม่แอ๊วกล่าวว่า ในช่วงเวลานั้น คู่ชีวิตขอแม่แอ๊ว คือ ‘พ่อเปี๊ยก’ หรือ พิภพ ธงไชย (ปัจจุบันเป็นเลขาธิการอาสามูลนิธิเด็ก) โดยพิภพได้พบกับหนังสือซัมเมอร์ฮิลล์ (Summer Hill) ของผู้เขียน A.S.Neill (เอ.เอส.นีล) (หมายเหตุ จากคำนิยมหนังสือ ชีวิต เสรีภาพ ซัมเมอร์ฮิล โดยพิภพ ธงไชย ซึ่งจัดพิมพ์โดยมูลนิธิเด็กระบุใจความตอนหนึ่งว่าเอ. เอส. นีล ผู้ก่อตั้งซัมเมอร์ฮิล เชื่อว่ามนุษย์ที่มีความรัก มีความเมตตา และไร้ซึ่งความเกลียดชัง จะไม่ก่อความรุนแรง และใฝ่หาอำนาจ และไม่ก่อสงครามต่อมนุษยชาติ แต่มีมนุษย์ไม่มากนัก ที่จะรอดจากระบบดังกล่าว ความเกลียดชังจึงเห็นไปทั่ว สงครามจึงเกิดทุกหย่อมหญ้า)

ขณะที่แม่แอ๊วเล่าว่า เดิมที เพื่อนพิภพที่อังกฤษส่งซัมเมอร์ฮิลล์ (Summer Hill) ของผู้เขียน A.S.Neill (เอ.เอส.นีล) มาให้อ่าน แล้วสันติสุข โสภณสิริ เขียนทำบทย่อออกมาตีพิมพ์ลงปาจารยสาร ( หมายเหตุ : ‘ปาจารยสาร’ ก่อตั้งเมื่อปี 2517 โดยพิภพ ธงไชย ในระยะแรกเป็นวารสารวิพากษ์ระบบการศึกษาไทย นอกจากนั้น พิภพยังเป็นสาราณียกรคนแรก ‘ปาจารยสาร’ ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป)

แม่แอ๊วเล่าว่า ตอนนั้นพ่อเปี๊ยกหรือพิภพเป็นสาราณียกรปาจารยสาร แม่ก็อ่านด้วย

“ เมื่อแม่อ่านซัมเมอร์ฮิลล์ปุ๊บแม่ก็นึกถึงเด็กที่แม่เคยเจอมา ที่เด็กมีปัญหา ไม่ว่าอยู่ในโรงเรียนหรือไม่ได้เรียน

ไม่ว่าในโรงเรียนมุสลิม คริสต์ หรือโรงเรียนรัฐที่แม่รับราชการ แม่ก็นึกถึงเด็กเหล่านี้ว่าถ้ามีสถานที่แบบนี้ เด็กพวกนี้ก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้น ปัญหาของเขาก็จะคลี่คลาย สามารถแก้ไขให้หายได้ เพราะแม่เชื่อว่า การอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิมๆ เด็กไม่มีทางหายหรอก แม่ก็เลยฝัน ฝันแล้วแม่ก็ลาออกจากราชการ แล้วตอนนั้นก็ไม่ได้คิดว่าจะได้เป็นครูใหญ่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก เพราะกรรมการเขาก็ไม่ได้มองแม่นะคะ ว่าจะให้แม่เป็นครูใหญ่ ซึ่งแม่เองก็อยากเป็นแค่ครูน้อย”

แม่แอ๊วเล่าว่า ในห้วงเวลานั้น คณะกรรมการมูลนิธิให้คนอื่นเป็น แต่เนื่องจาก บุคคลนั้นจำเป็นต้องออกจากมูลนิธิเด็กด้วยความจำเป็นทางครอบครัว จึงไม่มีใครที่จะสามารถมาเป็นครูใหญ่ได้ เพราะกรรมการมูลนิธิมองว่าการเป็นครูใหญ่ได้จะต้องติดต่อกับระบบราชการ ทั้งในส่วนจังหวัด และติดต่อกับกระทรวงต่างๆ “เขาเห็นว่าแม่เคยเป็นข้าราชการเก่า น่าจะติดต่อกับที่กระทรวงได้ แม่ก็เลยได้เป็นครูใหญ่ คือแม่ไม่ได้เก่งกาจอะไรนะ เพียงแต่ว่าเป็นข้าราชการเก่า ที่เขาเห็นว่าก็น่าจะรู้วิธีติดต่อกับข้าราชการด้วยกัน แม่ก็เลยได้มาเป็นครูใหญ่”


แม่แอ๊วบอกเล่าอย่างถ่อมตน และกล่าวเพิ่มเติมว่า

“พอเป็นโรงเรียนหมู่บ้านเด็กปุ๊บ! แม่รู้สึกว่า มีหลายเรื่องที่เราไม่เคยเจอ ไม่ว่าเรื่องเสรีภาพ เรื่องสภาโรงเรียน ไม่ว่าเรื่องที่เราจะคุยกับเด็กอย่างไร เพื่อให้เด็กรู้สึกว่า เราอยู่ข้างเดียวกับเขา เพราะว่าเด็กมีปัญหามักจะถูกลงโทษ ถูกไล่ออกจากโรงเรียนนั้น โรงเรียนนี้ แล้วเราก็แบมือรับ ดังนั้น แม่จะทำอย่างไร แม่ก็ถามตัวเอง พ่อเปี๊ยกเขาก็เลยพาคนแปลหนังสือของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud)ที่แปลโดยคุณกิติกร มีทรัพย์ และพ่อเปี๊ยกยังพาผู้แปลหนังสือของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) มาอีกท่านหนึ่งด้วย แต่ท่านหนึ่งค่อนข้างใช้ศัพท์ทางวิชาการ ใช้ศัพท์ยากหน่อย เวลาอ่านหนังสือแล้วต้องมีคนแปลภาษาไทยเป็นไทยให้เราฟังอีกที

แต่หนังสือที่แปลโดยคุณกิติกร มีทรัพย์ แปลอ่านง่าย แต่เหมือนเนื้อหายังไม่เต็ม เราก็ได้สองคนนี้มาช่วย แล้วก็อ่านหนังสือเล่มอื่นๆ ที่เป็นหนังสือที่สามารถนำมาใช้ทำงานกับเด็กที่มีปัญหาด้วย แล้วแม่ก็อ่านงานอีกเล่มที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้แปล ซึ่งหนังสือเล่มหลังนี้ชื่อ เพียงความรักเท่านั้นยังไม่พอ ( หมายเหตุ : เพียงความรักเท่านั้นยังไม่พอ แปลจาก LOVE IS NOT ENOUGH BY BRUNO BETTELHEIM )

หนังสือเล่มนี้ เขาก็พูดถึงว่าเราจะพูดกับเด็กอย่างไร ให้เด็กมีเสรีภาพ ปกติ เราจะอยู่กับโรงเรียนเอกชน อยู่กับโรงเรียนรัฐบาล เวลาพูดกับเด็ก มักจะเป็นการสั่งให้เด็กทำนู่น ทำนั่น ทำนี่ เด็กไม่มีทางเลือก เด็กคิดเองก็ไม่ได้ ห้ามคิด ต้องทำตามที่ฉันบอก แม่ชินกับอย่างนี้ เพราะแม่ทำหน้าที่ครูแบบนั้นมา 11 ปี แต่เมื่อมาอยู่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก แม่ต้องคิดใหม่ เปลี่ยนวิธีใหม่ ไม่เช่นนั้นเราก็ไปไม่ถึงปรัชญาซัมเมอร์ฮิล แม่ก็พบว่ามันมีการลอง มีความท้าทาย การเป็นครูใหญ่ของแม่ จึงไม่ได้หมายความว่าแม่เก่ง แต่แม่ชอบที่มันท้าทาย แล้วตอนนั้น แม่ก็ไม่ต้องทำอะไรมาก เพราะพ่อเปี๊ยกยังอยู่ที่นั่น เขาก็คอยทำหน้าที่พูดคุยกับแขก และทำหน้าที่ประสานงานอะไรต่อมิอะไร แล้วรวมทั้งปีแรกกับปีที่สอง พ่อเปี๊ยกคอยทำหน้าที่บริหาร แต่พอปีที่สาม ก็มีครูคนอื่นที่เขาสนใจ ปรัชญาซัมเมอร์ฮิลล์ เขาอ่านมาแล้ว ก็มาช่วยกัน แต่ต่อมาเราก็ย้ายมาอยู่ ณ ที่ตั้งที่เราอยู่ปัจจุบัน จากเดิมตอนแรกเราอยู่อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ตอนหลังเราย้ายมาอยู่ อำเภอเมือง ตอนนี้แหละลำบากเลย เพราะต้องทำอะไรต่างๆ เอง พ่อเปี๊ยกก็ต้องออกไปทำหน้าที่อย่างอื่น (หมายเหตุ : ที่ตั้งของ โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก มูลนิธิเด็ก ปัจจุบัน มีที่ตั้งอยู่ ณ 16/1 ม.2 ถ.ลาดหญ้า-ศรีสวัสดิ์ ต.วังด้ง อ.เมือง จ.กาญจนบุรี 71190 )


เมื่อต้องเป็นครูใหญ่โรงเรียนหมู่บ้านเด็กเต็มตัว

แม่แอ๊วเล่าว่า เมื่อพ่อเปี๊ยก หรือพิภพ ธงไชย ต้องออกจากไปทำหน้าที่และบทบาทอื่นๆ ของมูลนิธิเด็ก แม่แอ๊วก็ต้องเป็นครูใหญ่เต็มตัว แล้วก็ต้องสอนหนังสือด้วย แล้วก็ทำงานหลายอย่าง

“ซึ่งแม่ก็คิดว่า การเป็นแบบนั้น สำหรับแม่เหมือนเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ ไม่ต้องอยู่กับเด็กมีปัญหาตลอด 24 ชั่วโมง เพราะเราต้องเลี้ยงเด็กด้วยนะคะ ในโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก เราไปขับรถ ไปทำกับข้าว มีอะไรให้ทำหลายเรื่อง แล้วตอนโรงเรียนยังอยู่ที่เก่าที่ไทรโยค แม่รู้สึกว่า เป็นชีวิตจริงๆ ของเราเลยนะ ชีวิตจริงๆ หมายความว่า ต้องเดินลงหน้าผาสูง 40 เมตร ไปช่วยเด็กซักผ้า เด็กฉี่รดที่นอน เด็กอึ 6-7 ขวบแล้วก็ยังอึราดเพราะเขาควบคุมระบบขับถ่ายของเขาไม่ได้เราก็ต้องช่วยเขา ช่วยตัวเขา


จาก ‘ครู’ สู่ ‘แม่’

แม่แอ๊วเล่าว่า “แม่รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ มันเป็นเรื่องของชีวิตจริงๆ ระหว่างเรากับเด็ก ดังนั้น เด็กรุ่นนั้น จะผูกพันกับเรามากจริงๆ เราก็ผูกพันกับเด็กมากค่ะ เป็นความรู้สึกที่เราทำงานหลากหลาย เพราะฉะนั้น แม่ไม่ได้คิดว่าแม่เป็นครูใหญ่ ดังนั้น ตอนหลัง แม่จึงเปลี่ยนความรู้สึกจากการเป็นครูมาเป็น ‘แม่’

พอเป็นแม่ปุ๊บ! ก็เหมือนเราอยู่บ้าน หุงข้าวให้ลูกกิน ซักเสื้อ แล้วก็ปลูกผัก ชวนลูกปลูกผัก ลูกบางคนก็มีปัญหาทางจิตวิทยาก็ทลายแปลงผักเราบ้าง ( หัวเราะอย่างอ่อนโยน ) แม่ไม่ถือโกรธนะ แต่ยอมรับว่าตอนช่วงนั้นแม่นั่งร้องไห้ แต่พอผ่านไปแล้วก็ขำกับพฤติกรรมเด็กในช่วงนั้น แล้วเราก็มีการคุยกัน เรามีการคุยกันมี supporter ที่เข้ามาช่วย เราต่างคน ต่างฝ่ายต่างก็ support อารมณ์ซึ่งกันและกัน กลายเป็นว่าเราผูกพันกับทั้งคนทำงาน และผูกพันกับเด็ก คนทำงานเองก็ผูกพันกับเด็กด้วย ดังนั้น แม่รู้สึกว่าที่นี่คือชุมชน เห็นภาพของความเป็นชุมชนที่เราอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขค่ะ

ถึงแม้ว่าจะมีแรงกระแทกจากข้างนอก จากคนที่ไม่ได้เข้าใจปรัชญาซัมเมอร์ฮิล แม้กระทั่ง ชาวบ้านรอบโรงเรียนก็มองแบบที่มีคำพูดแรงๆ เลยนะว่า เราเลี้ยงเด็กให้เป็นโจร เพราะเด็กเถียงเรา เด็กขโมย เด็กอะไรต่อมิอะไร แต่เราก็ค่อยๆ แก้ไข แล้วเราได้แรง ได้กำลังใจ ได้รับการเยียวยาใจเราจาก อาจารย์คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มาเยี่ยมเรา แล้วอาจารย์ตามเยี่ยมเรามาแล้ว 3-4 ปี โดยอาจารย์ มีเป้าหมายที่เด็กคนหนึ่ง แล้วอาจารย์ก็บอกเราว่าความคิดของเรา หลักคิดที่เราทำแบบนี้ เป็นผลสำเร็จนะ เป็นความคิดที่ดี แล้วก็เหมาะกับเด็กที่มีสภาวะแวดล้อมไม่ดี เด็กที่มีปัญหาครอบครัว เพราะอาจารย์เห็นว่าเด็กหลายคนดีขึ้น อาจารย์ก็บอกว่าเรามาถูกทางแล้ว

เราก็เลยมีกำลังใจ นี่คือสิ่งที่แม่เผชิญกันในช่วงหนึ่งค่ะ เราอาจจะเหนื่อยแต่พอเราคิดย้อนหลังแล้วมันกลายเป็นความสนุกค่ะ” แม่แอ๊วถ่ายทอดรายละเอียดได้อย่างเห็นภาพของความมุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อเด็กๆ ที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก


‘ใช้ความรักเป็นรั้ว’ : 43 ปีแห่งความเป็น ‘แม่’ ของเด็กๆ โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก

แม่แอ๊วเล่าว่าโรงเรียนหมู่บ้านเด็กเปิดมา 43 ปีแล้ว โดยแม่แอ๊วเป็นครูใหญ่นับตั้งแต่ปีแรก เมื่อได้รับฟังสิ่งที่แม่บอกเล่า เราจึงไม่แปลกใจว่าองค์ความรู้ที่แม่มี รวมทั้งจิตวิทยาในการเลี้ยงดูเด็กนักเรียนโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก จึงอบอุ่น อ่อนโยน ขณะเดียวกัน เด็กๆ ก็ตระหนักถึงความรับผิดชอบ และตระหนักในคุณค่าของตนเองและผู้อื่น

เมื่อถามว่า โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก รับเด็กที่ถูกทารุณกรรมในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งเด็กกำพร้า หรือเด็กที่มีปัญหาครอบครัวมาเรียนที่นี่ เช่นนั้นแล้ว แม่แอ๊ว และคุณครูที่หมู่บ้านเด็กมีวิธีเยียวยาเด็กที่ถูกทารุณกรรม หรือมีบาดแผลทางใจอย่างไร

แม่แอ๊วตอบว่า “ตอนแรกเลย เราจะต้อนรับเขาอย่างอบอุ่นค่ะ ให้เขารู้สึกว่าเขาอยู่ที่นี่แล้วเขาปลอดภัย ไม่อยากจะพูด แต่ก็จำต้องพูดว่าถึงแม้เขาอยู่กับครอบครัวเก่าเขาก็ถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ แม่ก็เลยนั่งคุยกันกับครู 5-6 คน ว่าเราจะต้องทำให้เด็กที่อยู่ที่นี่รู้สึกว่าเขาปลอดภัย เราจะทำให้เขาอยากอยู่ เราก็เลือกที่จะใช้ภาษาแบบนี้ค่ะ คือ ‘ใช้รักให้เป็นรั้ว’

เพราะฉะนั้น เด็กก็ไม่ต้องหนีเรา ไม่หนีโรงเรียน เพราะที่นี่เต็มไปด้วยความรัก แต่ทว่า ก็มีครูและรวมทั้งตัวแม่ด้วย ที่นำเอาลูกมาเรียนที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก เราก็พยายามสื่อสารกันด้วยภาษาท่าทาง ภาษาร่างกายว่านี่คือลูกเรา ส่วนเด็กoyนักเรียนก็เป็นลูกเราเหมือนกัน แต่คนละรูปแบบ แล้วก็ภาษาพูด เพื่อให้เขาแยกระหว่างลูกแท้กับลูกเทียมซึ่งเราก็คิดว่าเราทำสำเร็จ เพราะตอนหลัง เขาก็ยอมรับเรามากขึ้น แล้วเราก็พาลูกเราไปเยี่ยมบ้านเพื่อน ลูกเราก็ได้เห็นว่าเพื่อนเขาลำบากนะ ตัวเขาสบายกว่า ในบางเรื่องและในหลายๆ เรื่อง มันก็เลยมีความผูกพันระหว่างลูกๆ ของเรา กับเพื่อนๆ ของเขา


ถามว่า อะไรคือแนวคิดของแม่แอ๊ว ที่ทำให้นำลูกมาเรียนที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก

แม่แอ๊วตอบว่า เหตุผลที่นำลูกชายสองคนมาเรียนด้วย เพราะแม่ถือว่า แม่ไปทำงานที่ไหนก็ตาม ลูกต้องอยู่กับเรา เพราะเราไม่ต้องการให้ครอบครัวเราแยกจากกัน แม้แต่พ่อเปี๊ยกก็ต้องมาทำงานกับเรา เพราะพ่อเปี๊ยก-พิภพ เป็นคนก่อตั้งโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก เราก็ยึดหลักนี้ พ่อเปี๊ยกก็ยึดหลักนี้ ทั้งๆ ที่เพื่อนๆ ของพวกเราก็พูดกันว่า เราคิดผิดหรือเปล่า แทนที่จะพาลูกไปเรียนสูงๆ เรียนโรงเรียนดีๆ กลับมาอยู่ตรงนี้

“แต่เราก็ชี้ให้เห็นว่าโรงเรียนของเรา ต่างกับโรงเรียนทั่วไป ลูกเราก็มีความสุข นักเรียนก็มีความสุข เพราะสิ่งนี้ แม่ถือว่าเราเลือกถูกแล้ว เราไม่ต้องการให้ลูกไปทำงานร่ำรวย แต่ขอให้เขามีความสุขในชีวิต แม่คิดอย่างนั้นค่ะ แล้วก็อธิบายให้เพื่อนๆ ฟัง” แม่แอ๊วบอกเล่าอย่างชัดเจนแน่วแน่ในจุดยืน


‘ทารุณกรรมทั้งกาย-ใจ’ ปัญหาหลักที่เด็กต้องเผชิญทุกยุคสมัย

ถามว่า เด็กๆ ที่มาเรียนที่หมู่บ้านเด็กส่วนใหญ่ เกิดจากสภาพปัญหาหลายสาเหตุ บ้านเป็นเด็กที่ถูกทารุณกรรม บ้างมีปัญหาครอบครัว เช่นนั้นแล้ว ตั้งแต่เริ่มเปิดโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก กระทั่งผ่านมาถึงวันนี้ ปัญหาอะไรที่เกิดกับเด็กๆ มากที่สุด

แม่แอ๊วตอบว่า “ทารุณกรรมค่ะ abuse มีไม่เลิกนะคะปัญหาทารุณกรรม มีทั้งทารุณร่างกาย และจิตใจ อันนี้ยังมีต่อเนื่องเลยค่ะตลอด 43 ปี ที่ผ่านมา

ถามว่า ปัญหาที่เด็กถูกทารุณกรรม ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่าเดิมไหม

แม่แอ๊วตอบว่า “มีเพิ่มค่ะ เด็กอายุแค่ขวบนิดๆ ก็ถูกทารุณจนกระทั่งกระดูกหักเลยนะคะ ซึ่งเมื่อก่อน ตอนแม่ทำโรงเรียน แม่เคยคิดว่า เด็กที่ถูกทารุณกรรม มักจะเป็นเด็กโต เพราะเราทำโรงเรียนประถม แล้วเราก็คลุกคลีเด็กวัยประถม เราก็ได้รับรู้ว่า เด็กประถมมักเป็นวัยที่ถูกทารุณกรรม

แต่เมื่อได้มาคลุกคลีในระดับ Nursery แรกเกิดเลย ก็พบว่าถูกทารุณกรรมตั้งแต่เล็กเลย ซึ่งการทารุณกรรมมีหลายรูปแบบ ทั้งทารุณกรรมร่างกายอย่างที่แม่เล่าไป กระทั่งถูกทารุณรรมจนร่างกายบาดเจ็บ แต่ปัจจุบัน แม่พบว่าเด็กแรกเกิดก็ถูกทารุณกรรมในด้านจิตใจ อย่างเช่น เด็กถูกนำใส่ถุงขยะ เอาไปทิ้ง แล้วเราก็ได้รับมาดูแล ดีที่เราได้รับมาไว เราจึงแก้ปัญหาได้ไวขึ้น”

แม่แอ๊วเล่าว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนภาพสังคมว่า ทุกวันนี้ คนในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ก็ถูกทารุณกรรมทางสังคม สำหรับแม่แอ๊ว คำว่าทารุณกรรมในความหมายของแม่คือ สภาพจิตใจ ภาพที่เขาได้เห็น สภาพร่างกาย แล้วก็ทางสมอง เพราะมันเป็นการโปรแกรมสิ่งที่โหดร้ายลงไปในสมองด้วย

ส่วนเด็กเล็กที่ถูกทารุณกรรม หมายถึงเด็กเล็กที่บ้านทานตะวัน มูลนิธิเด็ก


ถามว่า บทบาทของแม่แอ๊ว ต้องดูแลบ้านทานตะวันนอกเหนือจากโรงเรียนหมู่บ้านเด็กด้วยหรือไม่

แม่แอ๊วตอบว่า “ช่วงหนึ่งแม่อยากดูเด็กเล็ก แม่จึงเลยลงมาดู แต่ดูแค่หนึ่งถึงสองปี แล้วแม่ก็ใช้เวลาอยู่กับวิธีการแก้ปัญหาของเขา นั่นคือ การกอดเด็กเล็ก อายุเพียงเดือนกว่าๆ การหอมด้วย กอดด้วย พูดกับเขา มองเขาอย่างอ่อนโยน นี่แม่มองจากหลัก แนวคิดมอนเตสซอรี (Montessori) นะ ( หมายเหตุ การศึกษาแบบ มอนเตสซอรี่ ถูกคิดค้นขึ้นโดย Maria Montessori ผู้ซึ่งได้ทำการศึกษาการพัฒนาของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ) เขาบอกว่าครูต้องอ่อนโยน และให้เด็กสบตาที่เต็มไปด้วยความเมตตา นี่คือสิ่งที่แม่คิดว่าเราต้องฝึกนะคะ ว่าสายตาที่มีเมตตาอย่างไร แม่ก็ใช้หลักนี้ ส่วนการกิน การนอน เราดูแลอยู่แล้ว แต่การปฏิบัติต่อเขาเหมือนเขาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราด้วยนี่ เราต้องฝึกอีกเยอะ แม่ก็ต้องใช้วิธีนี้กับเด็กเป็นหลัก ส่วนตอนนี้แม่ก็กลับไปที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็กเหมือนเดิมแล้วค่ะ” แม่แอ๊วถ่ายทอดถึงหัวใจและหลักการในการเยียวยาเด็กเล็กที่ถูกทารุณกรรมได้อย่างเห็นภาพที่ชัดเจน


‘ซัมเมอร์ฮิลล์ (Summer Hill)’ และ มอนเตสซอรี (Montessori)

ถามว่า ทำไมโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก และบ้านทานตะวัน ของมูลนิธิเด็ก จึงใช้แนวทางของ มอนเตสซอรี และซัมเมอร์ฮิลล์

แม่แอ๊วตอบว่า “แม่คิดว่าโรงเรียนของเราใช้ปรัชญาทั้งสองแบบ ซึ่งจริงๆ มีปรัชญาอื่นๆ อีกนะคะ ที่จะมองเห็นเด็ก ให้คุณค่ากับเด็กค่ะ ส่วนในสองปรัชญานี้ ภาษาทางการเขาเรียกว่า ‘มีเด็กเป็นศูนย์กลาง’ เวลาเราจะทำกิจกรรมอะไรสักอย่างเราจะดูว่าเด็กมีความพึงพอใจไหม ความพึงพอใจนี้เปลี่ยนพฤติกรรมเด็กที่เคยรุนแรงก้าวร้าว แล้วดีขึ้นไหม แม่อ่านปรัชญาทั้งสองแนวคิดนี้แล้วแม่ชอบ ตอนนี้แม่ก็กลับมาอ่านมอนเตสซอรีอีกรอบ แม่ก็เห็นว่ามีส่วนที่น่าจะนำไปช่วยเด็กพิเศษได้ แต่ตอนนี้แม่ยังพูดไม่ได้ แม่ต้องอ่านให้ละเอียดกว่านี้แล้วตีความออกมาเป็นภาคปฏิบัติให้ได้ด้วยค่ะ” แม่แอ๊วระบุ


เส้นทาง 117 ชีวิตวัยเยาว์ ที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก

สนทนามาเนิ่นนาน อดถามไม่ได้ว่าโรงเรียนหมู่บ้านเด็กมีเด็กทั้งหมดกี่คน กี่ชั้นเรียน

แม่แอ๊วตอบว่า “ตอนนี้ เรามีเด็ก 117 คนค่ะ มี 9 ชั้นเรียน ซึ่งจริงๆ แล้วเรามี 12 ชั้นเรียนคือถึงมัธยม 6 แต่โดยปกติ พอถึงชั้นที่ 9 เด็กมักจะออกไปเรียนต่ออาชีวะ หรือเรียนเทคนิค

ที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก เราเริ่มสอนตั้งแต่ ป.1 เลยค่ะ แต่แม่ก็เริ่มเปิดเตรียมประถมแล้วนะคะ เพื่อให้เด็กเรียนรู้กล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ซึ่งส่งผลกับการเขียนหนังสือของเด็ก แล้วก็ฝึกสายตาที่สัมพันธ์กับมือ เราก็จะเตรียมความพร้อมให้เด็ก เพื่อให้ประสาทสัมผัสทั้งห้าของเขาพร้อมที่จะเรียนรู้ค่ะ เด็กหลายๆ คนก็มาจากบ้านทานตะวันค่ะ

ส่วนครูของโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก มีทั้งหมด 11 คนค่ะ

หากถามว่าเพียงพอไหม ตอบเลยว่าไม่เพียงพอค่ะ เพราะเรามีเด็ก 100 กว่าคน ความต้องการของเขามันหลากหลายมาก เพราะฉะนั้นครู 11 คน จึงไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความหลากหลายนั้น เราก็ถือว่า เราปูพื้นฐานให้ แต่เราต้องมีครูแนะแนวให้เด็กว่าต้องไปเรียนต่อตรงนั้น ตรงนี้ แล้วจะมีสิ่งที่เธอต้องการ ทักษะที่เธออยากได้ ในสิ่งที่ศักยภาพเธอไปถึง” แม่แอ๊วระบุ


ถามว่า ครูที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็กต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง

แม่แอ๊วตอบชัดเจนว่า “ข้อหนึ่ง คือหัวใจหลักของเราเลยค่ะ นั่นคือวิธีคิดต้องไม่ใช่อนุรักษ์นิยม ไม่เป็นความคิดแบบคนหัวเก่าที่ว่าครูรู้ทุกอย่างทั้งหมด แล้วเด็กต้องทำตาม แบบนี้ไม่ใช่ นื่คือหัวใจหลักของเราเลยค่ะ

ข้อสอง เข้าใจเสรีภาพ แบบที่มีคุณภาพ อย่างที่แม่เล่าว่าจะต้องเคารพสิทธิและหน้าที่ของคนอื่นและสิทธิและหน้าที่ของตนเอง

อันนี้เป็นพื้นฐาน นอกจากนั้น ก็มีหลักเชิงพุทธเข้ามา มีพรหมวิหารสี่ อิทธิบาทสี่ เวลาเจอปัญหาปุ๊บ! จะใช้วิธีไหนในการแก้ปัญหา ที่เป็นแบบอย่างให้แก่เด็กได้” แม่แอ๊วระบุถึงคุณสมบัติของครูที่โรงเรียนแห่งนี้ต้องการ


วาดหวังผลักดันความรู้ด้าน ‘การตลาด’ เพื่อเด็ก

ถามว่า แม่แอ๊วคาดหวังอะไรกับโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก หรือมีสิ่งใดที่อยากจะทำ

แม่แอ๊วหัวเราะอย่างอารมณ์ดี ก่อนตอบว่า “มีเยอะแยะค่ะที่แม่อยากทำ คือทุกวันนี้ เราเรียนความรู้ครึ่งวันและเรียนในส่วนของภาคปฏิบัติอีกครึ่งวัน ตอนนี้ เราก็พบว่าเด็กของเราหลายคนเลย เป็นนักปฏิบัติที่ดี แต่พอเด็กของเราออกไปข้างนอกแล้วเนี่ย เราพบว่าเด็กยังขาดความรู้เรื่องการตลาด แม่ก็อยากทำการตลาดให้เด็กเพราะถ้าเด็กจบออกไป ประกอบอาชีพได้ เป็นผู้ประกอบการได้ หรือเป็นหัวหน้าในหน่วยงานได้ เขาก็จะได้มีความสามารถที่จะวางแผนชีวิตเขาในระยะยาวได้ นี่แหละค่ะคือสิ่งที่แม่อยากทำ เพราะไม่ว่าอย่างไร เราก็ปฏิเสธระบบทุนนิยมไม่ได้ แม่อยากเปิดเป็นคอร์ส เป็นวิชา แล้วปฏิบัติกันเลย แต่แม่ก็ยังทำไม่เป็นนะคะ แต่ก็เป็นสิ่งที่อยากทำให้เด็กๆ” แม่แอ๊วระบุถึงสิ่งที่วาดหวังอยากทำให้เด็กๆ ที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก


ทำงานร่วมกับนักสังคมสงเคราะห์และหน่วยงานภาครัฐ

บทสนทนาเข้าใกล้ปลายทางยิ่งขึ้นทุกที ถามแม่แอ๊วว่าเด็กที่มาเรียนที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก มาจากที่ๆไกลที่สุดคือที่ไหน

แม่แอ๊วตอบว่า “ที่เชียงรายค่ะ และที่ปัตตานีก็มีค่ะ

ถามต่อไปว่า ในกรณีคนที่อยากส่งลูกมาเรียนที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก หรือมีผู้พบเห็นเด็กถูกทารุณกรรม แล้วอยากส่งมาที่หมู่บ้านเด็ก จะต้องทำอย่างไร

แม่แอ๊วอธิบายว่า “เราให้ติดต่อและผสานกับ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด(สนง.พมจ.) ค่ะ เพราะอย่างน้อยต้องผ่านการคัดกรองจากพัฒนาสังคมฯ จากนักสังคมสงเคราะห์ของจังหวัดก่อน ไม่ว่าเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ หรือปัญหาทางจิตวิทยา หรือความสัมพันธ์ที่เป็นปมของเด็กที่ครอบครัวอาจทำอะไรไว้กับเด็กบ้างบ้าง แม่ก็เลยคิดว่าต้องผ่านจากตรงนี้ก่อน แล้วเด็กบางคน ก็อาจจะถูกผู้ใหญ่หวังจะฉกฉวยประโยชน์จากเด็ก ดังนั้น เขาควรจะต้องทำเรื่องที่ได้รับการคุ้มครองไว้ก่อนเลย เราจึงอาศัยราชการ กฏมายของทางราชการนี่แหละค่ะเข้ามาปกป้องเด็ก แล้วจากนั้นเราก็ดูแลเขาได้เต็มที่” แม่แอ๊วระบุและอธิบายเพิ่มเติมว่า เด็กที่มาเรียนที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก มีทั้งที่มาจากบ้านทานตะวัน มูลนิธิเด็ก และเด็กคนอื่นๆ จากที่ต่างๆ ซึ่งจะต้องมาจาก สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด(สนง.พมจ.) ตามกระบวนการกระบวนการอย่างเป็นเรื่องเป็นราว และต้องได้พบนักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยา รวมถึงนักกฎหมายด้วย

ในที่สุด บทสนทนาอันอิ่มเอมในหลักการและปรัชญาเพื่อเด็กๆ ก็เดินทางมาถึงบทสรุป โดยแม่แอ๊วฝากทิ้งท้ายว่า

“แม่ก็อยากจะบอกว่า โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก อยู่ได้ด้วยการบริจาคของคนในสังคมไทยเป็นส่วนใหญ่ แม่ก็อยากฝากไว้ในอ้อมกอดค่ะ” ตรงไปตรงมาและชัดเจน โดยมีความห่วงใยต่อเด็กๆ เป็นที่ตั้งไม่เปลี่ยนแปร










…..
Text by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by : รัชนี ธงไชย


กำลังโหลดความคิดเห็น