xs
xsm
sm
md
lg

สัตวแพทย์ ทช.แจง เต่ากระ-โลมาไม่ได้ตายเพราะคราบน้ำมัน พบขยะพลาสติกในซากเต่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทีมสัตวแพทย์ ทช.แจงหลังในโลกออนไลน์แชร์ภาพน่าเศร้า เต่ากระ, โลมา ลอยตายในทะเล เผยว่าซากโลมาตายไม่ต่ำกว่า 7 วัน และไม่มีคราบน้ำมัน ส่วนซากเต่าทะเลพบขยะพลาสติกแต่ไม่พบการปนเปื้อนหรือคราบน้ำมัน

จากกรณีคราบน้ำมันที่เกิดจากการรั่วไหลจากท่อใต้ทะเล บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม ไฟน์นิ่ง จำกัด ถูกคลื่นซัดเข้าฝั่งจนสร้างความเสียหายต่อการท่องเที่ยว ผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งสัตว์น้ำในทะเล จากนั้นในโลกออนไลน์ได้แชร์ภาพเต่ากระ และโลมา ลอยตายในทะเล คาดว่าสาเหตุเกิดจากคราบน้ำมันที่รั่วไหลจากท่อใต้ทะเล

อ่านข่าวประกอบ : เศร้า! แห่แชร์ภาพ เต่า-โลมา ลอยตายในทะเล เชื่อสาเหตุเกิดจากคราบน้ำมันรั่ว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ม.ค.มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก "Tar T. Chomcheun" ซึ่งเป็นนายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้ออกมาชี้แจงถึงสาเหตุการตายของสัตว์ทั้ง 2 ชนิด ระบุว่า "ด้วยสัตย์จริง ไม่มีคำสั่งอะไรมาบิดเบือนทั้งนั้น เห็นยังไง เราพิมพ์ตามที่เห็นทั้งนั้นครับ อย่างไรก็ตาม การนำเสนอข่าว รบกวนไปเพจกรม ทช.หลักนะครับ (แก้ไขตรงนี้เพิ่ม 19.05) ตามที่มีการพบเห็นซากเต่าและโลมา ในพื้นที่การเกิดน้ำมันดิบรั่วไหลจากท่อกลางทะเลบริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง ในวันที่ 30 มกราคม 2565 สัตวแพทย์ ทช.ผ่าชันสูตรซากแล้ว มีผลดังนี้

1. ซากโลมาที่พบเป็นโลมาปากขวดอินโดแปซิฟิก (indo-pacific bottlenose dolphin: Tursiops aduncus) ขนาดความยาวซากที่เหลืออยู่ 2.35 เมตร สภาพซากเน่ามาก (advanced decomposition หรือที่ระดับ 4/5) จากสภาพซากโลมาตัวนี้เสียชีวิตมาแล้วไม่ต่ำกว่า 7 วัน จากการตรวจสอบกล้ามเนื้อและผิวหนังหลุดร่อน อวัยวะหลายส่วนได้หลุดหายไปเนื่องจากผนังช่องท้องได้เปิดออกจากการเน่าตามธรรมชาติ ทางเดินอาหารพบ gastric content เล็กน้อย ตลอดทางเดินหายใจและทางเดินอาหารไม่พบสิ่งแปลกปลอม และคราบน้ำมัน อย่างไรก็ตามเนื่องจากสภาพเน่ามาก ไม่สามารถหาสาเหตุการตายที่ชัดเจนได้

2. ซากเต่าทะเลที่พบเป็นเต่ากระ (Hawksbill turtle: Eretmochelys imbricata) ขนาดกระดองกว้าง 74 เซนติเมตร กว้าง 83 เซนติเมตร เพศเมีย อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ สภาพซากเน่ามาก (advanced decomposition หรือที่ระดับ 4/5) เป็นเต่าที่เกิดและโตในธรรมชาติไม่พบหมายเลขไมโครชิปและแถบเหล็กระบุตัวตน จากการตรวจสอบ จากสภาพซากเต่าได้เสียชีวิตมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 วัน เต่าทะเลมีไขมันสะสมตามช่องท้องค่อนข้างน้อย บ่งบอกการป่วยที่เรื้อรัง ตลอดทางเดินอาหารพบอาหารตามธรรมชาติเล็กน้อย ได้แก่ ปะการังอ่อน เปลือกหอย ไฮดรอย เป็นต้น ทั้งนี้ยังพบขยะทะเลจำนวนหนึ่ง เช่น ถุงพลาสติก เศษเชือก เศษกระสอบ หนังยางรัดแกง แต่ไม่พบการอักเสบของทางเดินอาหาร ทั้งนี้ไม่พบการปนเปื้อนหรือคราบน้ำมันทั้งภายในและภายนอกของเต่าทะเล อย่างไรก็ตามเนื่องจากซากเน่ามากทำให้ไม่สามารถสรุปหาสาเหตุการตายได้"

คลิก>>อ่านโพสต์ต้นฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น