นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ เผยประสิทธิภาพของวัคซีนโดยไม่นับรวมวัคซีนเชื้อตายในการป้องกันการเกิดอาการต่อ "โอมิครอน" สายพันธุ์ย่อย พบฉีดเข็ม 2 ไป 5 เดือนป้องกันได้ไม่ถึง 20%
จากกรณีเมื่อวันที่ 26 ม.ค. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ออกมาแถลงข่าว โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พบสายพันธุ์ย่อย BA.2 ของโควิดสายพันธุ์ "โอมิครอน" ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์ย่อยที่ 1 (BA.1) 1.5 เท่า
ล่าสุดวันนี้ (31 ม.ค.) นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha” ระบุถึงประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการเกิดอาการของโอมิครอน สายพันธุ์ย่อยทั้ง 2 ตัว โดยไม่ได้นับรวมวัคซีนเชื้อตาย ซึ่ง "หมอธีระวัฒน์" ได้ระบุข้อความว่า
"ประสิทธิภาพของวัคซีน (ไม่ได้นับรวมวัคซีนเชื้อตาย) ในการป้องกันการเกิดอาการของโอมิครอน
ที่ 25 สัปดาห์หลังฉีดสองเข็ม
สายพี่ BA.1 = 9%
สายน้อง BA.2. = 13%
ที่ 2 สัปดาห์หลังฉีดเข็มที่สาม
สาย BA.1 = 63%
สาย BA.2 = 70 %
สาย BA.2 ไม่ได้ผันตัวมาจาก BA.1 แต่มาจากต้นกำเนิดเดียวกันในประเทศเดนมาร์ก BA.2 จะเริ่มแซงหน้าสายพี่ และยังไม่ทราบข้ออธิบายว่าทำไมถึงแพร่ได้เร็วกว่า ทั้งนี้ ข้อมูลในโลกความเป็นจริงทางระบาดวิทยาคราวนี้ จะมาก่อนข้อสันนิษฐานจากรหัสพันธุกรรมและโครงสร้างตามที่เคยมี
โดยที่รหัสพันธุกรรมของส่วนหนาม spike ไม่ได้มีการขาดวิ่นแบบ BA.1 (ซึ่งทำให้ตรวจและระบุการพบ BA.1 ได้ง่าย)
แต่เป็นที่คาดการณ์ว่าสายย่อยนี้น่าจะคล้ายกับสายพี่ BA.1 ในด้านความรุนแรงแม้จะแพร่ได้เร็วกว่า และถ้าคนที่ติดสายพี่ไปแล้ว ถ้าเกิดติดสายน้องใหม่ น่าจะมีอาการน้อยมาก และวัคซีนน่าจะมีประสิทธิภาพคล้ายคลึงกันกล่าวคือกันติดได้ไม่ดีนักและอาจได้ไม่นาน แต่ควรกันอาการหนักได้ดีพอสมควรยกเว้นคนสูงวัยและมีโรคประจำตัวทั้งหลายรวมทั้งโรคอ้วน ข้อมูลส่วนหนึ่งมาจากด็อกเตอร์ จอห์น แคมป์เบล 31/1/65"
อ่านโพสต์ต้นฉบับ