xs
xsm
sm
md
lg

ประมงพื้นบ้านประเมิน “น้ำมันรั่วขึ้นฝั่งระยอง” หนักกว่าปี 2556 เพราะเร่งรีบฉีดสารเคมีทำให้จม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตั้งแต่ประมาณ 18.00น. ของวันที่ 28 มกราคม 2565 วัตถุที่เป็นคราบสีดำคล้ายคราบน้ำมัน เริ่มถูกน้ำทะเลพัดมาติดบนชายหาดแม่รำพึง จ.ระยอง และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตลอดเวลา จนมาถึงเช้าวันที่ 29 มกราคม 2565 แนวหน้าหาดประมาณ 4 กิโลเมตร ก็เต็มไปด้วยคราบสีดำ ที่ได้รับการยืนยันจากกรมควบคุมมลพิษแล้วว่า เป็นคราบน้ำมัน

คราบน้ำมันเหล่านี้มาจากเหตุท่อใต้ส่งน้ำมันใต้ทะเลของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) ในบริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง เกิดรอยรั่วขึ้นจนมีน้ำมันไหลจากท่อออกมาในทะเล เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 ซึ่งบริษัทอ้างว่า มีสาเหตุจากการที่ท่อถูกเพรียงทะเลเกาะจนเกิดรอยรั่วขนาด 0.9 เซนติเมตร

ตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงช่วงเวลาที่คราบน้ำมันถูกพัดขึ้นมาปรากฎบนชายหาดแม่รำพึง เป็นเวลาประมาณ 4 วัน รูปแบบการจัดการกับเหตุน้ำมันรั่วครั้งนี้ ถูกจัดการด้วยวิธีการเดียวเท่านั้น คือ ฉีดสารเคมี “Dispersant” ลงไปบนพื้นผิวน้ำมัน เพื่อให้แตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ และจมลงไปในทะเล ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับที่ใช้ในปี 2556

แต่มีจุดต่างกันที่สำคัญ 2 จุด คือ ที่เกิดเหตุน้ำมันรั่วต่างกันระหว่างบนผิวน้ำกับใต้ทะเล และการใช้สารเคมีที่คราวนี้ เริ่มใช้ตั้งแต่เกิดเหตุใหม่ๆ

 

นายวีรศักดิ์ คงณรงค์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง
นายวีรศักดิ์ คงณรงค์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง ซึ่งลงไปสังเกตุการณ์การจัดการทั้ง 2 เหตุการณ์ ประเมินว่า สถานการณ์ในรอบนี้ ร้ายแรงกว่าในปี 2556 อย่างมาก และมีทีท่าว่าจะควบคุมสถานการณ์ไม่อยู่ โดยจะเห็นได้จากการที่หลายหน่วยงานยังคงใช้วิธีระดมฉีดสารเคมีลงไปบนคราบน้ำมัน แม้ว่าน้ำมันจะถูกพัดขึ้นมาชายฝั่งแล้ว

“ตั้งแต่วันที่ 26 มาจนวันที่ 29 แล้ว เขาก็ระดมฉีดสารเคมี ไม่เคยหยุดฉีดเลย แต่ก็ยังมีคราบน้ำมันขึ้นฝั่ง เพราะการที่เขารีบทำให้น้ำมันแตกตัวจมลงไปใต้น้ำ ไม่สอดคล้องกับสภาพของอ่าวระยองที่เป็นกระแสน้ำวน ยิ่งช่วงนี้คลื่นลมขยับ มันก็ไปกวนให้น้ำมันที่แตกตัววนกลับขึ้นมาอีกจนพัดเข้ามาที่ชายฝั่ง ผมยังใช้เครื่อง Echo Sounder (เครื่องหยั่งความลึกของน้ำ) วัดดูเมื่อวานนี้ แล้วเจอว่า จุดที่ฉีดสารเคมีอยู่ตอนนี้มีความลึกแค่ 12 เมตร บางจุดลึกแค่ 8 เมตร ซึ่งเมื่อน้ำมันจะจมลงไปจะถูกกระแสน้ำวนเข้าไปกวนแน่นอน การมาใช้วิธีฉีดสารเคมีในจุดที่น้ำตื้น จึงไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง ไม่ใช่มาตรฐานสากล และผมคิดว่า จะส่งผลกระทบมากกว่าเดิม” วีรศักดิ์ กล่าว

และเมื่อพิจารณาว่า การฉีดสารเคมี เป็นวิธีการเดียวที่ถูกเลือกใช้ ทั้งที่หลังเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วเมื่อปี 2556 มีข้อสรุปแล้วว่า มาตรฐานสากลการจัดการเหตุน้ำมันรั่วในพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเล จะต้องใช้วิธีนำทุ่นดูดซับน้ำมัน หรือ บูม มาล้อมคราบน้ำมันไว้ และดูดออกไปเท่านั้น เพราะการทำให้น้ำมันจมลงไป จะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์อย่างร้ายแรง เนื่องจากชายฝั่งทะเล เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เป็นแหล่งปะการังที่สัตว์น้ำมาวางไข่ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง จึงตั้งข้อสังเกตต่อการเร่งใช้สารเคมี มาจัดการเหตุการณ์รอบนี้

 


“คราวนี้ผมเห็นว่าเขารีบใช้สารเคมีมาก รีบจัดหนัก อาจเพราะไม่ต้องการให้เห็นภาพคราบน้ำมันลอยบนทะเลนานเหมือนเมื่อปี 2556 มันเหมือนกับว่า การถอดบทเรียนจากเหตุการณ์รอบที่แล้ว ไม่ได้ถอดบทเรียนกันว่า ไม่ควรจะใช้วิธีการทำให้น้ำมันจมลงไปอีกแล้วใช่หรือไม่ แต่เป็นการสรุปเพียงแค่ว่า จะทำให้จมลงไปให้เร็วที่สุดได้อย่างไร เพื่อให้ยุติสถานการณ์เฉพาะหน้าโดยเร็ว โดยไม่ได้คำนึงถึงผลเสียระยะยาวที่ตามมาเลย”

“ตอนนี้ประมงพื้นบ้านไปจับปลา ได้ปลาเปื้อนน้ำมัน ปูเปื้อนน้ำมัน อวนก็เต็มไปด้วยคราบน้ำมัน ไม่มีใครรับซื้อแล้ว อุตสาหกรรมอาหารทะเลก็พัง รีสอร์ท การท่องเที่ยว ถูกยกเลิกการจองหมดตั้งแต่เมื่อวานนี้ และอยากให้หน่วยงานต่างๆ คิดด้วยว่า ผลกระทบจากเหตุการณ์ปี 2556 ถูกประเมินว่าจะยาวนานประมาณ 10 ปี แต่เมื่อมีครั้งที่ 2 ตามมาอีก แถมยังหนักกว่าเดิม จะมีผลกระทบต่อเนื่องไปอีกกี่สิบปี”

 


ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนของสมาคมประมงท้องถิ่นระยอง จะมีการนัดหารือกันในวันที่ 30 มกราคม 2565 โดยเบื้องต้น นายวีรศักดิ์ จะเน้นไปที่การเสนอแนวทางเรียกร้องความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อทำทุกวิถีทางในการฟื้นฟูทะเลระยองมากกว่าจะเรียกร้องค่าชดเชยเยียวยา โดยเบื้องต้นได้หารือกับกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวไปบ้างแล้ว และจะหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อไป เพื่อขอให้การประกอบกิจการของอุตสาหกรรม ต้องหยุดรบกวนท้องทะเล ต้องมีมาตรการตรวจสอบที่เข้มงวดขึ้น บ่อยขึ้น เพราะทะเลเป็นทรัพยากรที่ใช้ร่วมกัน








กำลังโหลดความคิดเห็น