xs
xsm
sm
md
lg

‘วิรติ กีรติกานต์ชัย’ : ท่ามกลางจักรวาลอันไพศาล เรานั้นเป็นเพียงธุลีดาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำหรับผู้ชื่นชอบและชื่นชมในความงามของดวงดาวดารดาษบนฟากฟ้ายามราตรี ชื่อของ วิรติ กีรติกานต์ชัย หรือ ‘อาจารย์โอ’ ย่อมเป็นชื่อแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาในห้วงคำนึงถึง ด้วยผลงานภาพถ่ายดวงดาวและเทหวัตถุบนฟากฟ้า ที่สวยงามเกินกว่าจะจินตนาการได้ ไม่เพียงดวงจันทร์ ดาวเคราะห์ในระบบสุริยจักรวาลของเรา อย่างดาวเสาร์ ดาวพฤหัส ทว่า แม้แต่เนบิวลา อันเปรียบเสมือนครรภ์ที่ให้กำเนิดมวลหมู่ดาวมากมาย ชายคนนี้ ก็สามารถถ่ายภาพออกมาได้งามราวกับจิตรกรป้ายปาดสีสันลงบนผืนผ้าใบ

แม้ไม่ได้จบด้านดาราศาสตร์มาโดยตรง เนื่องด้วยด้านการศึกษาเขาจบปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต(วิศวกรรมไฟฟ้า) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปริญญาโท Master of Science (Information Technology) University of Minnesota US. แต่ความหลงใหลในความงามของดวงดาวบนฟากฟ้า ก็ทำให้เขาค้นคว้าหาความรู้ กระทั่งได้รับการยอมรับระดับประเทศว่าความรู้ด้านดาราศาสตร์และฝีมือการถ่ายภาพดาราศาสตร์ของเขา เป็นที่ยอมรับในระดับต้นๆ ของประเทศ


ด้วยความสามารถและองค์ความรู้ที่วิรติมีอยู่ ‘ผู้จัดการออนไลน์’ จึงสัมภาษณ์พิเศษเขาคนนี้ ถึงความสนใจที่มีต่อการถ่ายภาพดาราศาสตร์ องค์ความรู้ที่เขามีเกี่ยวกับดวงดาว กลุ่มดาว กาแล็กซี่ เนบิวลา และอีกหลายหลายประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง ทำให้ทราบว่า เขาสวมหมวกมากมายหลายใบ อาทิ ในฐานะนักวิชาการอิสระด้านดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม / ปฏิบัติงานเครือข่ายดาราศาสตร์ในการสนับสนุนสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)

ในฐานะนักดาราศาสตร์สมัครเล่น ผู้รักในดวงดาวจึงจัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ผ่านงานบรรยาย การสังเกตการณ์ภาคปฏิบัติ การเป็นวิทยากรให้กับสถานศึกษาต่างๆทั่วประเทศ เป็นผู้ประสานงานชมรมคนรักในดวงดาวที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการถ่ายภาพดาราศาสตร์และการเผยแพร่ความรู้ดาราศาสตร์ให้กับประชาชนและผู้สนใจทั่วไป

ด้วยองค์ความรู้และประสบการณ์ที่เขามี การสนทนา ถาม-ตอบ จึงแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจน ว่านักถ่ายภาพดวงดาวผู้นี้ เปี่ยมด้วยความรู้รอบด้านที่ล้วนน่าสนใจอย่างยิ่ง

เหล่านี้คือถ้อยความ ถาม-ตอบ ระหว่าง ‘ผู้จัดการออนไลน์’ และ ‘วิรติ กีรติกานต์ชัย’ ถึงความหลงใหล ทักษะ ความรู้ความสามารถ ความรอบรู้ที่เขามีต่อเทหวัตถุบนฟากฟ้า รวมถึงคำแนะนำในการถ่ายภาพดวงดาราให้สวยงามราวศิลปะบนผืนผ้าใบ


ผู้จัดการออนไลน์ : รบกวนช่วยเล่าประวัติความเป็นมา ว่าเพราะเหตุใดจึงกลายเป็นนักวิชาการด้านดาราศาสตร์ และศิลปินนักถ่ายภาพดาราศาสตร์ระดับประเทศ

วิรติ : เกิดจากความสนใจและหลงใหลในดวงดาวและปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ตั้งแต่วัยเด็ก
และจากหนังสือ COSMOS โดย Professor คาร์ล เซแกน (Carl Sagan) นักดาราศาสตร์คนสำคัญของโลกที่ถ่ายทอดเรื่องราวของจักรวาล Universe ที่ปัจจุบันเราเรียกว่า เอกภพ โดยภาพและเรื่องชวนให้สนใจศึกษาสมาชิกในระบบสุริยะ ดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ กาแล็กซี่ เนบิวลา วิวัฒนาการของวัตถุท้องฟ้าเหล่านี้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร ที่จริงภาพถ่ายสวยๆที่น่าสนใจในช่วงเวลานั้นก็ชวนให้ตะลึงทั้งในเรื่องของความสวยงามและความหมาย ความเป็นมา และหนังสือสองเล่มโดย Professor สตีเฟน ฮอว์กิ้ง (Stephen Hawking) คือประวัติย่อของกาลเวลา
A Briefer History Of Time และจักรวาลในเปลือกนัท The Universe in a Nutshell

เมื่อเรียนในระดับสูงขึ้นก็ไม่ได้เรียนในวิชาเอกทางดาราศาสตร์ อันเนื่องจากข้อจำกัดทางโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ของประเทศเรา แต่อาศัยการศึกษาตัวตนเองจากหนังสือ ตำราต่างประเทศ เว็ปไซต์ เว็ปบอร์ดทั้งในและต่างประเทศ ได้เพื่อนๆพี่น้องในวงการแนะนำถ่ายทอดความรู้ จนกระทั่งมีการก่อตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)หรือ NARIT ผมได้เข้าร่วมกิจกรรม ได้รับโอกาสเข้าอบรมถ่ายทอดความรู้ ได้รับการอนุเคราะห์สื่อและการสนับสนุนอย่างมาก เกิดการสะสม เพาะบ่มความรู้ในทางดาราศาสตร์มากขึ้น รวมทั้งการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ที่มีความสนใจอย่างมากมาตั้งแต่วัยเด็ก ผมมองว่าภาพถ่ายดาราศาสตร์นั้นดึงดูดให้ผู้คนให้ความสนใจทั้งในแง่ความสวยงามซึ่งเป็นสุนทรียภาพทางอารมณ์และวิทยาศาสตร์ซึ่งเราสามารถอธิบายที่มา ความหมายของวัตถุท้องฟ้าตลอดจนปรากฏการณ์ต่างได้ การศึกษาวิทยาศาสตร์นั้นมีส่วนพัฒนาคน โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เติบโตขึ้นเป็นผู้พัฒนาประเทศได้ต่อไป

โดยก่อนหน้านี้ก็เป็นนักถ่ายภาพแลนด์สเคปและมาโครมานานนับสิบปี จากการได้ร่วมงานกับทางนาริท ผมมีโอกาสได้ฝึกถ่ายภาพดาราศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2012 ผ่านอุปกรณ์ถ่ายภาพพื้นฐานมาจนถึงอุปกรณ์ถ่ายภาพเฉพาะทางดาราศาสตร์ ที่จริงแล้วผมไม่ได้ถ่ายภาพในแนวนี้สวยงามมากที่สุดในประเทศไทย ผมอาจเป็นคนแรกๆในวงการนี้ เป็นที่รู้จักได้เริ่มต้นจากการได้รับรางวัลประกวดภาพดาราศาสตร์ มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์สองปีติดกัน แต่ผมเป็นนักเขียน นักเล่าเรื่อง ผมแบ่งปันภาพถ่าย พร้อมเรื่องราวความหมายของภาพและเทคนิควิธีการถ่ายภาพเหล่านี้ ผมเชิญชวนผู้สนใจให้เข้าร่วมกิจกรรมอบรม จัดกิจกรรมสังเกตการณ์-ฝึกปฏิบัติการถ่ายภาพดาราศาสตร์ทั่วประเทศ โดยได้รับความสนใจตอบรับเข้าร่วมเป็นจำนวนมากมาตั้งแต่ปี 2013 แม้ปัจจุบันต้องรักษาระยะห่าง Social distance เราก็ยังจัดกิจกรรมอบรมและฝึกปฏิบัติออนไลน์มาโดยตลอด ผมเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงนักถ่ายภาพกับความรู้ดาราศาสตร์เข้าด้วยกัน โดยมีเป้าหมายในการสร้างนักดาราศาสตร์รุ่นใหม่ พัฒนานักถ่ายภาพดาราศาสตร์ชาวไทยที่มีความสามารถสู่สากล ซึ่งเป็นงานที่ทำร่วมกันในฐานะเครือข่ายกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)หรือ NARIT


ผู้จัดการออนไลน์ : คุณหลงใหลสิ่งใดเกี่ยวกับดวงดาวและดาราศาสตร์ อะไรที่ทำให้คุณประทับใจ

วิรติ : เป็นคนชอบตั้งคำถาม หาคำตอบ เป็คนช่างสงสัยมาโดยตลอดตั้งแต่เด็กจนทุกวันนี้ มีความสุขที่ได้อธิบายความหมาย ที่มาของสิ่งรอบตัว ดวงดาวบนท้องฟ้าอยู่กับเรามาตั้งแต่กำเนิดมนุษยชาติ อะไรๆไกลออกบนท้องฟ้าก็ชวนสงสัย น่าศึกษาที่มา อยากรู้ไปหมด เพราะยิ่งเราศึกษาเราก็ยิ่งพบคำตอบ ทำให้เราเข้าใจตนเองในฐานะผู้เล็กน้อยในเอกภพ เรานั้นเป็นเพียงธุลีดาว We are only stardust.

หลงใหลในความความงดงามสีสันจากสเปคตรัมอะตอมของแก็ส สีแดงจากไฮโดรเจนอะตอม แดงส้มจากซัลเฟอร์อะตอม สีฟ้าเขียวจากอะตอมรูปร่างแปลกตาเป็นที่มาของชื่อต่างๆเช่น เนบิวลาหัวม้า Horse Head Nebula เนบิวลาหัวใจและวิญญาณ Heart and Soul nebula และตำแหน่งของกลุ่มดาวบนท้องฟ้าเรียงตัวเป็นเรื่องราวเทพปกรณัม

ผู้จัดการออนไลน์ : คุณจดจำตำแหน่งดวงดาวต่างๆได้อย่างแม่นยำหรือไม่ มีหลักในการจำอย่างไร


วิริติ : กลุ่มดาวสากลทั้งหมดมี 88 กลุ่มดาว ผมเลือกจดจำกลุ่มดาวที่ใช้งานบ่อยๆ อยู่ราวๆ 20-30 กลุ่มดาวหรือครึ่งหนึ่งที่สามารถสังเกตการณ์ได้จากซีกฟ้าเหนือที่เราอยู่ ขณะกลุ่มดาวที่เหลือก็พยายามสังเกตการณ์จริงในซีกฟ้าใต้เมื่อมีโอกาสเดินทางต่างประเทศเสมอๆ

กลุ่มดาวมีความหมายหลายประการครับ เนื่องจากอยู่ไกลออกไปนอกระบบสุริยะ มีตำแหน่งคงที่ในช่วงชีวิตของเรา สามารถเป็นปฏิทินบอกฤดูกาล ใช้อ้างอิงปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ไม่ว่าจะฝนดาวตก การเคลื่อนตัวดาวหางหรืออ้างอิงกับพิกัดทางภูมิศาสตร์บนพื้นโลก ในแง่การจำ มีหลักการสองประการ

1.เส้นเชื่อมโยงสมาชิกในกลุ่มดาว กลุ่มดาวมีชื่อเรียกตามเส้นเชื่อมโยงเป็นรูปร่างผู้คน สัตว์และสิ่งของ เช่นกลุ่มดาวนายพราน Orion กลุ่มดาวสุนัขใหญ่ Major Canis กลุ่มดาวแมงป่อง Scorpius หรือ กลุ่มดาวคนยิงธนู Sagittarius เป็นต้น กลุ่มดาวเหล่านี้เราลากเส้นเชื่อมโยงแล้วจินตนาการเป็นรูปร่าง ช่วยจำได้ดี

2.ตำแหน่งหรือพิกัดบนท้องฟ้า(นักดาราศาสตร์เรียกทรงกลมฟ้า) กลุ่มดาวขึ้นและตกทิศเดิมเสมอ เปลี่ยนเพียงเวลา เพียงความรู้เรื่องทิศ มุมเงยและเวลา เราก็สามารถติดตามกลุ่มดาวและวัตถุท้องฟ้าต่างๆได้อย่างแม่นยำ

การจดจำได้นั้นเกิดความหลงสนใจและดูบ่อยๆเกิดประสบการณ์ขึ้นเองโดยไม่ต้องจำจำเลย และที่สำคัญ ปัจจุบันเรามีแผนที่ดาวออนไลน์เป็นแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนที่ช่วยให้เราเรียนรู้จักกลุ่มดาวและติดตามปรรากฏการณ์ท้องฟ้า หรือแม้กระทั่งดาวเทียม-สถานีอวกาศในอวกาศได้ในระดับ Real time

เหล่านี้ช่วยทำให้การศึกษา-ถ่ายภาพดาราศาสตร์ทำได้สะดวก ง่ายขึ้นกว่าเดิอม อันเป็นการขับเคลื่อน-ขยายวงการดาราศาสตร์ให้ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน


ผู้จัดการออนไลน์ : ผู้ที่สนใจอยากเรียนรู้ความงามของดวงดาว เนบิวลา หรือกาแล็คซีต่างๆ ควรเริ่มต้นจากอะไร จำเป็นต้องมีแผนที่ดูดาว และกล้องสำหรับดูดาวหรือไม่

วิรติ :
การเริ่มต้นให้เริ่มจากการถามตนเองว่าสนใจอะไรในทางดาราศาสตร์ เนื่องจากวัตถุท้องฟ้าแต่ละชนิดนั้นใช้อุปกรณ์แตกต่างกันไปตามขนาด ความสว่าง ระยะทาง ประเภทของวัตถุต้นกำเนิด ผมแนะนำไปทีละประเภททีละขั้นดังนี้ครับ

1.มีเป้าหมายดูดาวหรือสังเกตการณ์ปรากฏการณ์

อาจเริ่มจากการมองมุมกว้างด้วยตาเปล่าเช่น มองหากลุ่มดาวที่น่าสนใจ ชวนกันลากเส้นเชื่อมโยง เล่านิทานหรือเรื่องราวของวัตถุนั้นแบ่งปันกัน เพียงเท่านี้ก็สนุก ตื่นเต้นแล้วครับ อาจเป็นการแคมปิ้งดูดาว กางเต็นท์

เรามีเพียงแผนที่ดาวออนไลน์ ดาว์นโหลดฟรีมีเยอะแยะเลยครับ เช่น Sky Guide, Sky Portal, Sky Walk หรือ Sky Safariเป็นต้น หรือแบบเสียงานซื้อ(ครั้งเดียว) ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเช่น Sky Safari Pro, Stellarium และอื่นๆ

มากกว่านั้นในภาคสังเกตการณ์ เราอาจใช้กล้องส่องทางไกล Binocular หรือ กล้องส่องนก Bird Scope ที่มีอยู่แล้วร่วมกับแอพแผนที่ดูในการชี้เป้าหมาย ก็สามารถดูภาพวัตถุที่อยู่ไกลให้เข้ามาอยู่ใกล้ขึ้น เห็นรายละเอียดมากขึ้น

รวมทั้งกล้องโทรทรรศน์สำหรับสังเกตการณ์แบบต่างๆ โดยเลือกจัดหามาให้ตรงกับความต้องการ โดยกำหนดเป้าหมายว่าเราต้องการดูวัตถุใด เช่น สมาชิกในระบบสุริยะ ดวงจันทร์ ดาวเคราะห์ ดาวหาง หรือดวงอาทิตย์ มีหลากหลายราคาตามคุณภาพของวัตถุและความสามารถ ศึกษาให้ดีก่อนซื้อ

2.มีเป้าหมายในการถ่ายภาพ

เป็นงานที่ซับซ้อน ต้องใช้ความอดทน การวางแผนที่ดีรวมทั้งลงทุนกับอุปกรณ์เฉพาะทาง
แนะนำให้ตั้งเป้าหมายในการถ่ายภาพก่อนว่าจะถ่ายภาพมุมกว้างหรือมุมแคบ
มุมกว้าง เช่น ทางช้างเผือก กลุ่มดาว เส้นแสงดาว ปรากฏการณ์ฝนดาวตก ดาวหาง
เราสามารถใช้กล้องถ่ายภาพพื้นฐาน DSLR/Mirrorlessหรือแม้กระทั่งสมาร์ทโฟนในการบันทึกภาพได้ โดยมีอุปกรณ์เป็นกล้อง ขาตั้งกล้องที่มั่นคง เลนส์มุมกว้าง หรืออาจมีฐานตามดาวแบบพกพา หรืออาจปรับแต่งกล้องให้รับสัญญาณจากดวงดาวให้มากขึ้นที่เรียกว่า กล้องโม Modded camera

มุมแคบ เช่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวเคราะห์ กาแล็กซี่ และเนบิวลา

เราเรียกว่าการถ่ายภาพวัตถุในห้วงลึกอวกาศ DSO- Deep Sky Object จะเป็นเรื่องค่อนไปทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น คือเป็นการถ่ายภาพแบบ Long Exposure คือเปิดหน้ากล้องนาน เพื่อสะสมสัญญาณจากเทหวัตถุเป็นเวลานาน โดยอาจถ่ายภาพๆละ 3-5 นาทีจำนวนมากๆ บางภาพอาจต้องถ่ายต่อเนื่องหลายเดือนเป็นเวลารวมหลายสิบหลายร้อยชั่วโมง

โดยมีอุปกรณ์เป็น ฐานตามดาวแบบศูนย์สูตรท้องฟ้า EQ mount, กล้องโทรทรรศน์คุณภาพสูง มีทางยาวโฟกัสเหมาะสม, ระบบไกด์ดาวอัตโนมัติ, กล้องถ่ายภาพดาราศาสตร์และคอมพิวเตอร์ระบบควบคุมการถ่ายภาพ ชุดฟิลเตอร์ โฟกัสและมอเตอร์ควบคุมอัตโนมัติ

มีสมาชิกหลายท่านสร้างหอถ่ายภาพดาราศาสตร์ส่วนตัวไว้เพื่อกิจกรรมและความหลงใหลนี้โดยเฉพาะ จัดเป็นงานอดิเรกที่สนุก ลุ้น ท้าทายและน่าสนใจครับ

ซึ่งผมและทีมงานยินดีให้ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ โดยเรามีกลุ่มและเพจของเราในชื่อ ชมรมคนรักในดวงดาว Starry Night Lover Club และ Starry Night Gears ที่เราช่วยแนะนำการใช้งาน จัดหา แลกเปลี่ยน ฝากขายให้กับสมาชิกชมรมและผู้สนใจทั่วไปครับ ไม่ว่าจะภาคสังเกตการณ์หรือภาคการถ่ายภาพ

หากเรามองท้องฟ้าด้วยตาเปล่าในพื้นที่ที่มองเห็นดวงดาว กาแล็กซี เนบิวลา ทางช้างเผือก หรือเทหวัตถุต่างๆ อะไรคือสิ่งที่เราซึ่งมองจากบนโลกจะสังเกตเห็นได้ชัดที่สุด นอกเหนือจากดวงดาว เนบิวลา หรือกาแล็คซีใดที่เราจะเห็นชัดที่สุด วัตถุที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือวัตถุที่อยู่ใกล้โลก สว่างและมีขนาดใหญ่ โดยสถานที่สังเกตการณ์ควรมืดสนิทปราศจากมลภาวะทางแสง

ตาเปล่า

เริ่มจาก ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ (มองหรือถ่ายภาพจากแผ่นกรองแสง -Solar filter ห้ามมองดวงอาทิตย์ตรงๆ ตาบอดได้ทันที)

ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ มองด้วยตาเปล่าจะเห็นเพียงจุดสว่างเท่านั้น

ใจกลางทางช้างเผือก แขนฝุ่นของทางช้างเผือก(ในสถานที่ฟ้ามืด) เห็นด้วยตาเปล่าในเขตฟ้ามืดที่มีคุณภาพ

เนบิวลาที่เห็นด้วยตาเปล่า คือเนบิวลานายพราน Great Nebula หรือ M42

กระจุกดาวได้แก่ กระจุกดาวลูกไก่ M45 Pleiades

กาแล็กซี่ได้แก่ กาแล็กซี่แอนโดรเมดา M31

แอพแผนที่ดาวออนไลน์ช่วยได้มากครับ เพียงเปิดแอพ ระบุชื่อวัตถุก็สามารถตามหาวัตถุนั้นๆได้ แอพให้รายละเอียดเวลาขึ้นตกในแต่ละ รวมทั้งสามารถดูล่วงหน้าและย้อนหลังนับร้อยๆปี


ผู้จัดการออนไลน์ : ดวงดาวและเทหวัตถุเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน เดือน ปี ใช่หรือไม่ คุณมีวิธีในการจำอย่างไร

วิรติ : เทหวัตถุหรือวัตถุท้องฟ้าทีอยู่ระยะไกลหรืออยู่นอกระบบสุริยะ ปรากฏการณ์ประจำปีเช่นฝนดาวตก เนบิวลา กระจุกดาว กาแล็กซี่ อยู่ไกลออกไปนับร้อยปีแสงไปจนนับล้านปีแสง จะขึ้นและตกเกือบจะเป็นทิศเดิมทุกวัน ที่เปลี่ยนเป็นเวลาขึ้นตก การจำไม่ยากครับ ใช้กลุ่มดาวสากลเป็นพื้นหน้าอ้างอิง / ใช้พิกัดอ้างอิงทางดาราศาสตร์ RA/Dec

ส่วนสมาชิกในระบบสุริยะ จะขยับเปลี่ยนตำแหน่งช้าหรือเร็วขึ้นอยู่ระยะห่างจากโลก อย่างดวงจันทร์ขึ้นตกในแนวตะวันออกตะวันตกและขึ้นช้าไปวันละ 52 นาที อันนี้จำไว้เลย ดาวเคราะห์อื่นๆจะขยับเปลี่ยนตำแหน่งอย่างช้าๆ เราอาจใช้แผนที่ดาวอ้างอิงคร่าวๆ ว่าอยู่ในกลุ่มดาวใด โดยจะเคลื่อนที่อยู่ในแนวเส้นสุริยะวิถีซึ่งมีกลุ่มดาวจักราศีทั้ง 12 เป็นกลุ่มดาวอ้างอิง.

ผู้จัดการออนไลน์ : ดาวดวงไหน กาแล็คซี หรือเนบิวล่าไหนที่คุณชอบที่สุด ประทับใจที่สุด


วิรติ : ผมชอบและประทับใจ ‘เนบิวลาอีตา คาริเน’ ในกลุ่มดาวกระดูกงูเรือ เป็นเนบิวลาที่ไม่ได้เกิดจากการระเบิดของดาวฤกษ์ที่เรียกว่ามหานวดารา Supernova แต่เกิดจากการถ่ายเทมวลสารของดาวฤกษ์ยักษ์และปลดปล่อยพลังงานและความสว่างออกมา เป็นเนบิวลาที่ใหญ่ที่สุดในกาแล็กซีทางช้างเผือก อนาคตหากเกิด Supernova อาจจะวิวัฒน์เป็นหลุมดำขนาดใหญ่มหึมาอีกแห่งหนึ่งในกาแล็กซี่ของเราก็เป็นได้


ผู้จัดการออนไลน์ : ช่วยอธิบายถึงเทคนิคการถ่ายภาพดวงดาวและฟากฟ้าของคุณ มีหลักอย่างไร จึงได้รับการยอมรับระดับประเทศ

วิรติ : ในส่วนของภาพถ่าย ผมเลือกท้องฟ้าที่มืดสนิท มีมลภาวะทางแสงน้อยถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดอันดับหนึ่ง เลือกศึกษาวัตถุที่จะบันทึกภาพให้สอดคล้องกับอุปกรณ์ที่มีอยู่ ว่าสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ในกรณีที่เป็นภาพ DSO ต้องสะสมเวลาให้มาก เพราะยิ่งมากก็ยิ่งได้รายละเอียด

ส่วนในกรณีภาพมุมกว้างให้มองฉากหน้าที่สวยงามมีเอกลักษณ์ แยกบันทึกภาพส่วนท้องฟ้า สะสมเวลาให้มากพอ แยกบันทึกภาพฉากหน้า(ในเวลาใกล้เคียงกัน) นำภาพทั้งสองส่วนมารวมสัญญาณแล้วรวมเป็นภาพเดียวกัน ใช้ความอดทน เรียนรู้จากความผิดพลาด ปรับปรุงและแก้ไขเสมอ

ผู้จัดการออนไลน์ : สถานีดาราศาสตร์สำหรับดูดาวในเมืองไทยมีมากน้อยแค่ไหนในความเห็นคุณคิดว่ามีพอแล้วหรือยัง


วิรติ : ยังมีน้อยและใช้งานไม่เต็มที่ หอสังเกตการณ์และบันทึกภาพทางดาราศาสตร์มีความจำเป็นทั้งแง่ถ่ายภาพสังเกตการณ์และการศึกษาวิจัย เพราะการค้นพบใหม่ๆเกิดเพราะนักดาราศาสตร์สมัครเล่นซึ่งมีเวลาอยู่กับท้องฟ้ากลางคืนมากกว่านักดาราศาสตร์อาชีพ ผมอยากมีส่วนสร้างนักดาราศาสตร์สมัครเล่นในประเทศไทยให้เพิ่มจำนวนขึ้น อันมีส่วนในการพัฒนาประเทศได้ในอีกทางหนึ่งครับ


ผู้จัดการออนไลน์ : ช่วยแนะนำผู้ที่มีงบประมาณน้อย ปานกลาง และมีงบเยอะ ว่าควรซื้อหรือเลือกกล้องดูดาวแบบใด

วิรติ : ตามความต้องการครับ ความต้องการของเป็นเครื่องมือกำหนดงบประมาณ ภาคสังเกตการณ์คือดูดาวเท่านั้น อาจใช้ที่มีหรืองบประมาณไม่ถึงหมื่นบาทไปจนเรือนแสน ในขณะที่ภาคการถ่ายภาพ เริ่มจากกล้องถ่ายภาพพิ้นฐานหรือสมาร์ทโฟนที่มีก็สามารถทำได้ คือใช้ที่มีอยู่ เพิ่มอุปกรณ์อย่างฐานตามดาวแบบ DIY สามสี่พันบาท ไปจนระดับ DSO ที่ต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะทางที่ใช้งบเริ่มต้นตั้งแต่สามหมื่นกว่าบาท การก่อสร้างหอถ่ายภาพดูดาวส่วนบุคคลในราคาเรือนแสนครับ สอบถามทักทายปรึกษาได้ครับ ยินดีตอบคำถามสำหรับท่านที่สนใจครับ

ผู้จัดการออนไลน์ : คุณเป็นผู้ก่อตั้ง Starry night lover club ชมรมคนรักในดวงดาวใช่หรือไม่ ก่อตั้งมากี่ปีแล้ว ด้วยเหตุใด


วิรติ : ใช่ครับ ชมรมคนรักในดวงดาวก็ตั้งมาตั้งแต่ ปี 2016(2559) เรามีเป้าหมายในการส่งเสริมความรู้ดาราศาสตร์และการถ่ายภาพดาราศาสตร์ให้บุคคลทั่วไป จัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ ทริปท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ดาราศาสตร์ สนับสนุนชุมชนพัฒนาพื้นสู่เขตอนุรักษ์ฟ้ามืด ร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ สามารถติดตามได้ผ่านเพจและกลุ่มในFB : Starry Night Lover Club / Starry Night Gears และ FB : Wirati Keeratikanchai ยินดีต้อนรับทุกท่าน มีโอกาสได้ทำกิจกรรมและแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์กันครับ


ผู้จัดการออนไลน์ : การจัดทริปดูดาวในแต่ครั้งของคุณและชมรมคนรักในดวงดาว ขึ้นอยู่กับปัจจัย ห้วงเวลาใดเป็นหลัก

วิรติ : จัดคืนเดือนมืดของแต่ละเดือน หรือตามปฏิทินของปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าใจ เช่นถ่ายภาพทางช้างเผือกตลอดทั้งปี ปรากฏการณ์ฝนดาวตก ตามล่าดาวหางต่างๆ

ผู้จัดการออนไลน์ : คุณสนใจอารยธรรมโบราณที่ให้ความสำคัญกับการเคลื่อนที่ของดวงดาวหรือไม่ ไม่ว่าอียิปต์ มายา อินคาฯลฯ ที่ล้วนให้ความสำคัญกับดาวซิริอุส และไพยาดีส หรือดาวลูกไก่ คุณคิดว่าเพราะเหตุใด

วิรติ : อารยธรรมโบราณให้ความสนใจวัตถุท้องฟ้าที่เห็นได้ชัดเจน ติดตามจดบันทึกจนได้ความรู้เชิงอุปนัยนำดวงดาวหรือวัตถุท้องฟ้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นปฏิทินฤดูกาล การสร้างศาสนสถาน สุสาน การดำเนินชีวิตและการพยากรณ์ตามหลักโหราศาสตร์ ถือได้ว่าดวงดาวกับมนุษย์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมาตลอด แม้ทกวันนี้นักดาราศาสตร์ราใช้ดวงดาวเพื่อการศึกษาเป็นแรงกระตุ้นในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ขึ้น


ผู้จัดการออนไลน์ : จริงหรือไม่ที่ซิริอุสเคยมีดวงอาทิตย์โคจรอยู่ 3 ดวง ก่อนจะเหลือเพียงสองดวงในปัจจุบัน

วิรติ : ระบบสุริยะของเรามีดาวฤกษ์เดี่ยวเพียงดวงเดียวคือดวงอาทิตย์ แต่เมื่อเราศึกษามากขึ้นจึงทราบว่า มีระบบสุริยะจำนวนมากที่มีระบบดาวฤกษ์คู่หรือมากกว่านั้น ซิริอุสหรือดาวโจรก็เช่นกันประกอบด้วยดาวสีน้ำเงินสว่างสองดวง ดวงที่มีมวลมากกว่าคือ ซิริอุสบี เผาผลาญเชื้อเพลิงจนหมดและกลายเป็นดาวยักษ์แดง ก่อนจะหดตัวลงและกลายเป็นดาวแคระขาวเช่นในปัจจุบันตั้งแต่เมื่อ 120 ล้านปีที่แล้ว

ดาวซิริอุสเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในอีกชื่อหนึ่งว่า ดาวสุนัขใหญ่ สื่อถึงชื่อกลุ่มดาวที่มันสังกัดอยู่ คือ Canis Major (ภาษาละติน แปลว่า สุนัขใหญ่) เป็นดาวที่มีเรื่องเล่าตำนานและนิทานพื้นบ้านเกี่ยวข้องมากมายยิ่งกว่าดาวฤกษ์อื่นๆ นอกเหนือจากดวงอาทิตย์ การปรากฏของดาวซิริอุสที่ขอบฟ้ายามรุ่งสาง เป็นสัญลักษณ์บอกฤดูน้ำหลากของแม่น้ำไนล์ในอียิปต์โบราณ และเป็นวันสำคัญคือ "วันสุนัข" ในฤดูร้อนของกรีซโบราณ ส่วนชาวอาหรับเผ่าคุซาอะหฺก่อนอิสลามกาลก็ได้สักการบูชาดาวดวงนี้ โดยเรียกว่า อัชชิอฺรอ ส่วนชาวโพลินีเชียนใช้ในการระบุการเข้าสู่ฤดูหนาว ทั้งยังเป็นดาวสำคัญที่ใช้นำทางสำหรับการเดินทางในมหาสมุทรแปซิฟิก

ผู้จัดการออนไลน์ : Pleiades (ไพลยาดีส) หรือกระจุกดาวลูกไก่ เป็นเนบิวลาที่ยังคงเปรียบเสมือนครรภ์ที่ให้กำเนิดดาวฤกษ์ใช่หรือไม่


วิรติ : ใช่ เป็นกระจุกดาวฤกษ์อายุน้อย เรืองสีฟ้าเพราะแสงจากดาวฤกษ์พื้นหลังอายุน้อยมีสีน้ำเงิน ปัจจุบันอยู่เป็นกระจุกเป็นกลุ่มแต่ระยะเวลาอีกหลายร้อยล้านปีจะเริ่มขยับห่างจากกันและสีอาจเปลี่ยนไปตามแก็สหรือฝุ่นพื้นหน้า

ผู้จัดการออนไลน์ : จักรวาลกว้างใหญ่และมีเรื่องราวให้ศึกษาไม่รู้จบ คุณเป็นแรงบันดาลใจของผู้สนใจดูดาวและอยากเป็นนักดูดาว อยากเป็นนักถ่ายภาพดาราศาสตร์ได้สวยงามแบบคุณ มีคำแนะนำใด

วิรติ : ที่จริงแล้ว ผมเชื่อว่ามนุษย์สนใจดวงดาวมานับตั้งแต่แรกเริ่ม ตั้งแต่ยังไม่เข้าใจมาจนวันนี้ที่เราเข้าใจมากขึ้นกว่าเดิมมาก แต่ยังคงต้องใช้เวลาต่อไปอีกมากพอสมควรในการศึกษาหาคำถามของดวงดาวและวัตถุท้องฟ้าที่ไกลออกไป การศึกษานี้จะนำเราเข้าไปใกล้และรู้ความจริงมากขึ้นจนเราพบสิ่งมีชีวิตอื่นนอกโลกหรือแม้กระทั่งรู้ได้ว่าเรามีที่มาอย่างไร

กล่าวคือดาราศาสตร์นั้นทีเสน่ห์ดึงดูเราทุกคนให้มองออกไปบนท้องฟ้า การได้เห็นดวงดาวเป็นทั้งความสุขลึกๆ ที่เราอาจไม่เข้าใจ เพราะนั่นอาจเป็นเพราะว่าอณูในร่างกายกับอนุภาคของดวงดาวบนท้องฟ้านั่นเรียกหา ดึงดูกันก็เป็นได้ เพราะสุดท้ายแล้ว เราก็เป็นเพียงแค่ธุลีดาว We are only stardust
….
นับเป็นมุมมองที่กว้างไกล ให้แง่คิดและเปี่ยมด้วยแรงดลใจอันยิ่งใหญ่ สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องราวของเหล่าดวงดาราและเทหวัตถุแห่งจักรวาลอันไพศาลที่ตัวเรานั้น เปรียบเสมือนเพียงธุลีหรือละอองดาวก็มิปาน
















































*หมายเหตุ อาจารย์วิรติ กีรติกานต์ชัย หรือ อาจารย์โอ
เป็นทั้งนักวิชาการอิสระด้านดาราศาสตร์และสิ่งแวดล้อม, นักดาราศาสตร์สมัครเล่น
เป็นเครือข่ายงานดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) NARIT
ทูตสะเต็ม สสวท. กระทรวงศึกษาธิการ, ที่ปรึกษาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ดาราศาสตร์ ททท.
ผู้ก่อตั้งและผู้ประสานงานชมรมคนรักในดวงดาว, ช่างภาพ, นักเขียนและนักเดินทาง
…..
Interview : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo : วิรติ กีรติกานต์ชัย

กำลังโหลดความคิดเห็น