xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.ธรณ์” อธิบายสถานการณ์น้ำมันดิบรั่วกลางทะเล พื้นที่เฝ้าระวังอย่างมากคือเมืองระยอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม เผยถึงสถานการณ์น้ำมันดิบรั่วกลางทะเล 4 แสนลิตร พื้นที่เฝ้าระวังอย่างมากคือเมืองระยอง ส่วนระบบนิเวศหลักๆ ที่ได้รับผลกระทบคือหาดทราย

วันนี้ (26 ม.ค.) เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” หรือ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความอธิบายถึงกรณีเกิดเหตุท่อน้ำมันดิบใต้ทะเล บริษัท สตาร์รีไฟน์นิ่งฯ รั่วไหลลงทะเลมากถึง 4 แสนลิตร

โดยระบุว่า "กรณีของน้ำมันรั่วที่ระยอง 4 แสนลิตร ตอนนี้เริ่มมีความชัดเจน จึงนำมาอธิบายกับเพื่อนธรณ์ น้ำมันดิบอย่างน้อย 4 แสนลิตรรั่วนอกฝั่ง เป็นกรณีคล้ายเกาะเสม็ด น้ำมันดิบเหมือนกัน รั่วนอกฝั่งเหมือนกัน แต่ปริมาณหนนี้เยอะกว่า

ดูจากคลิปวิดีโอ เห็นชัดว่าน้ำมันแผ่ขยายกว้างมาก จุดแตกต่างนอกจากปริมาณ คือปัจจัยสิ่งแวดล้อม ลมพัดขึ้นเหนือไม่ค่อยแรง ต่างจากครั้งก่อนที่ลมพัดไปทางตะวันออกค่อนข้างแรง พื้นที่เกิดผลกระทบอาจต่างกัน หนนี้น่าจะเป็นชายฝั่ง เมืองระยอง หาดแม่รำพึง ก้นอ่าว ฯลฯ

ตรงนั้นเป็นหาดทรายยาว หากน้ำมันดิบมาถึงหาดทราย อาจเกิดคราบดำบนหาดหรือเกิดก้อนน้ำมันดิบ การกำจัดคราบน้ำมันจากหาดทรายทำยากมาก เราอาจใช้แผ่นซับ เก็บก้อนน้ำมันดิน ไปจนถึงตักหน้าทรายออก แต่ทุกอย่างยากหมด วิธีดีสุดคืออย่าให้ถึงฝั่ง ลมค่อนข้างเบา พอมีเวลา ใช้บูมดัก กวาดน้ำมันออก ใช้สารเคมีทำให้จมตัวลง

เน้นย้ำว่าสารเคมีต้องใช้ในที่ลึก อย่าใช้ในที่ตื้นเกินไป เพราะน้ำมันกับสารจะแตกตัวไม่ทัน ไปกองที่พื้นก่อน ความลึกแค่ไหนมีในคู่มือการใช้อยู่แล้ว ขอเพียงทำตามและระวังให้มาก เพราะพื้นทะเลแถวนั้นเป็นแหล่งประมงพื้นบ้าน

ตอนนี้หลายท่านลงพื้นที่แล้ว แต่ข้อจำกัดของเราอยู่ที่อุปกรณ์ แม้จะมีการพัฒนาการรับมือจากประสบการณ์คราวก่อน แต่ยังต้องระวังเพราะครั้งนี้ถือว่าเยอะ กรมควบคุมมลพิษใช้โมเดล คาดว่าจะถึงฝั่ง 180,000 ลิตร ถือว่าเยอะจนน่าเป็นห่วง ระบบนิเวศหลักๆ ที่ได้รับผลกระทบคือหาดทราย พื้นที่เฝ้าระวังอย่างมากคือเมืองระยองถึงก้นอ่าว หญ้าทะเลอยู่ที่บ้านเพ/สวนสน อาจได้รับผลบ้างแต่คงน้อย เพราะช่วงนี้น้ำไม่ลงต่ำจนแห้ง คราบน้ำมันไม่น่าลงไปบนหญ้าโดยตรง

ทิศทางลมไม่ได้ไปทางเกาะเสม็ด แนวปะการังอาจได้รับผลไม่มาก แต่ควรเฝ้าระวังในพื้นที่เดิม เช่น อ่าวพร้าว สรุปแล้วให้เน้นหาดทรายกับพื้นท้องทะเลเป็นหลัก ความคืบหน้าจะแจ้งมาเรื่อยๆ ครับ"




กำลังโหลดความคิดเห็น