วันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ.๑๘๐๕ เมื่อ ๗๖๐ ปีก่อน พ่อขุนมังราย มหาราชองค์แรกของล้านนา ได้ทรงสร้างเมืองเชียงรายขึ้น หลังจากที่ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๒๕ ของหิรัญนครเงินยางเชียงลาว ขณะมีพระชนมายุ ๒๑ พรรษา ทรงมีพระราชดำริที่จะรวบรวมแคว้นน้อยใหญ่ในล้านนาให้เป็นปึกแผ่น และประทับที่เชียงรายเป็นราชธานี ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นของราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา
จากนั้นใน พ.ศ.๑๘๑๖ ก็ทรงสร้างเมืองฝาง ต่อมาใน พ.ศ.๑๘๒๔ หลังจากที่ทรงยึดเมืองหริภุญไชย หรือลำพูนในปัจจุบันได้แล้ว ทรงสร้างเมืองชะแวขึ้นที่ทางเหนือของหริภุญไชยราว ๔ กิโลเมตร แต่เป็นที่ลุ่มถูกน้ำท่วมเป็นประจำ จึงขยับไปสร้างเวียงกุมกามเป็นราชธานี ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ประทับอยู่ ๑๒ ปีก็ต้องผจญกับน้ำท่วมอีก จึงทรงหาทำเลใหม่อีกครั้ง และพบที่ราบเชิงดอยสุเทพ ห่างจากเวียงกุมกามเพียง ๔ กิโลเมตร เป็นที่ดอน จึงทรงสร้าง เมืองใหม่ขึ้นอีกแห่งหนึ่งใน พ.ศ.๑๘๓๘ พระราชทานนามว่า นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่
ปัจจุบัน นอกจากจะมีพระบรมราชานุสาวรีย์ของพ่อขุนมังรายอยู่ที่จังหวัดเชียงราย เมืองที่พระองค์ทรงสร้างเป็นแห่งแรกแล้ว ยังมีอยู่ที่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ด้วย เป็นอนุสาวรีย์ ๓ กษัตริย์ที่เป็นพระสหายกัน ทั้งนี้เมื่อตอนที่พ่อขุนมังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ ได้เชิญ ๒ พระสหายมาปรึกษาหา คือ พ่อขุนรามคำแหง แห่งสุโขทัย และพ่อขุนงำเมือง แห่งภูกามยาวหรือพะเยา ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า พ่อขุนมังรายคิดจะสร้างเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม ยาวด้านละ ๒,๐๐๐ วา แต่พ่อขุนรามคำแหงและพ่อขุนงำเมืองค้านว่า ต่อไปถ้ามีศึกมาประชิดเมืองอาจจะไม่มีคนพอจะรักษาเมืองไว้ได้ ควรจะลดลงให้เหลือเพียงด้านละ ๕๐๐ วา ในที่สุดพ่อขุมมังรายก็ยอมลดลงเหลือยาว ๑,๐๐๐ วา กว้าง ๙๐๐ วา
พ่อขุนรามคำแหงและพ่อขุนงำเมือง เป็นศิษย์ร่วมสำนักพระสุกทันตฤาษี ณ กรุงละโว้เมื่อครั้งมีพระชนม์ ๑๖ พรรษา จึงสนิทแนบแน่นกันมาตั้งแต่ครั้งนั้น ส่วนความสัมพันธ์ของพ่อขุนมังรายกับพ่อขุนงำเมืองเกิดขึ้นเมื่อพ่อขุนมังรายทรงเห็นว่า อาณาจักรล้านนายังมีเท้าพระยาแยกกันปกครองหลายองค์ และมักจะขัดแย้งวิวาทกันสร้างความเดือดร้อนให้อาณาประชาราษฎร์อยู่เสมอ หนึ่งในเมืองที่จะต้องรวบรวมเข้ามาก็คือภูกามยาว จึงทรงยกทัพไป แต่พ่อขุนงำเมืองนั้นทรงทศพิพิธราชธรรม แทนที่จะยกทัพออกไปรบ กลับออกไปจัดแต่งที่คอยต้อนรับ พ่อขุนมังรายเจอแผนธรรมยุทธ์แบบนี้เลยต้องยอมเป็นมิตร จากนั้นสองกษัตริย์ก็ปฏิญาณเป็นไมตรีกัน
สำหรับความสัมพันธ์ของพ่อขุนรามคำแหงกับพ่อขุนมังราย พงศาวดารโยนกได้บันทึกไว้ว่า
“...อยู่มาครั้งหนึ่ง สมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จมาสู่หาพระยางำเมือง ณ เมืองพะเยา ได้เห็นนางอั้วเชียงแสน ราชเทวีของพระยางำเมือง มีรูปโฉมอันงาม ก็บังเกิดความกำหนัดในนาง นางนั้นก็มีจิตปฏิพัทธ์ต่อพระร่วง จึงลอบสมัครสังวาสกัน พระยางำเมืองทราบเหตุก็กุมเอาตัวพระร่วงไว้ แล้วจึงใช้ให้ไปเชิญพระยาเม็งรายเจ้านครเชียงรายมาตัดสิน”
เมื่อพ่อขุนมังรายมาถึง พ่อขุนงำเมืองได้เล่าโทษของพ่อขุนรามคำแหงให้ทราบแล้ว พ่อขุนมังรายจึงกล่าวว่า
“ดูราสหายเจ้า เรานี้เป็นท้าวพระยาใหญ่ได้น้ำมุรธาภิเษกสรงเกศ มีบุญสมภารยศบริวารทุกคน ดังพระยาร่วงนี้เล่า เขาก็ได้มุรธาภิเษกในเมืองสุโขทัยโพ้นแล้ว แม้นท้าวร่วงได้กระทำผิดสหายได้รักษาไว้ บัดนี้สหายจุ่งเอาพระยาร่วงมา เราจะพิจารณาตามครองคุณแลโทษ พระยางำเมืองก็หื้อเอาพระยาร่วงมาถาม พระยาร่วงก็ปลงปฏิญาณว่าตนมักเมียพระยางำเมืองแท้ ทีนั้นพระยาเม็งรายก็กระทำปริยายชักชวนให้พระยาร่วงกับพระยางำเมืองยินดีซึ่งกันด้วยปริยายหลายประการต่างๆ แล้วพระยาเม็งรายจึงแต่งหื้อพระยาร่วงขมาพระยางำเมืองสหายตน เป็นเบี้ยเก้าลุนเก้าลวง คือเก้าแสนเก้าหมื่นเบี้ย พระยาร่วงเจ้าก็กระทำตามคำพระยาเม็งรายตัดแต่งให้ขอขมาโทษต่อพระยางำเมืองนั้นเพื่อให้หายเวรนั้นแล พระยาเม็งรายก็ชักนำกระทำให้พระยาทั้งสองมีราชไมตรีสนิทติดต่อกันยิ่งกว่าเก่าด้วยเดชะไมตรีแห่งเจ้าพระยาเม็งรายนั้นแล”
เรื่องประหลาดในพงศาวดารนี้ นักประวัติศาสตร์หลายท่านได้ให้ความเห็นไว้ว่า อาจเป็นการเขียนขึ้นเพื่อเสริมบารมีพ่อขุนมังราย บางท่านก็ว่าเป็นการสร้างเรื่องเพื่อปิดบังอำพรางการพบปะทางการเมือง เพื่อจะทำงานสำคัญอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้
การเป็นมหาราชที่จะรวมแคว้นต่างๆในล้านนาให้เข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อพ่อขุนมังรายมีพระราชประสงค์ต้องการได้เมืองหริภุญไชย หรือลำพูนในปัจจุบัน เพราะเป็นเมืองที่มั่งคั่ง มีเส้นทางน้ำติดต่อกับกรุงละโว้และอโยธยา เป็นศูนย์กลางการค้า และมีกำลังที่เข้มแข็ง จึงต้องใช้นโยบายทำให้อ่อนเปลี้ยลงเสียก่อน ทรงวางแผนให้ข้าหลวงคนหนึ่งชื่อ อ้ายฟ้า เข้าไปเป็นไส้ศึกอยู่ในวงราชการของ พญาญี่บา ผู้ครองเมือง แล้วเกณฑ์คนไปทำงานหนักในหน้าร้อน ให้ลากซุงผ่านที่นาของชาวบ้านในฤดูทำนา ทำให้ต้นข้าวเสียหาย อ้างว่าพญาญี่บาจะสร้างวังใหม่ ทำให้ผู้คนพากันโกรธแค้นพญาญี่บา อ้ายฟ้าบ่อนทำลายการเมืองหริภุญไชยอยู่ราว ๗ ปี ความแตกแยกก็เกิดขึ้นในเมืองหริภุญไชย เมื่อพ่อขุนมังรายยกทัพไปใน พ.ศ.๑๘๒๔ จึงได้เมืองหริภุญไชยโดยไม่ยาก
แผนใช้ไส้ศึกบ่อนทำลายให้อ่อนกำลังลงนี้ ยังปรากฏต่อมาในนิทานเรื่อง “วัสสการพราหมณ์” ใน สามัคคีเภทคำฉันท์ ที่ประพันธ์โดย ชิต บุรทัต ใน พ.ศ.๒๔๕๗ กล่าวถึง พระเจ้าอชาตศัตรู แห่งกรุงราชคฤห์ ในแคว้นมคธ ได้ส่งปุโรหิตชื่อ วัสสการพราหมณ์ เข้าไปบ่อนทำลายความสามัคคีกรุงเวสาลี ของกษัตริย์ลิจฉวี แห่งแคว้นวัชชี โดยแกล้งลงโทษให้เฆี่ยนจนปางตายแล้วไล่ออกจากเมือง วัสสการพราหมณ์ก็ไปขออาศัยพึ่งพิงกษัตริย์ลิจฉวี จากนั้นก็บ่อนทำลายจนเสียเมือง
แผนนี้ถ้าจะนำมาใช้ในปัจจุบัน ก็ยังใช้ได้นะครับ
อาณาจักรล้านนาในสมัยพ่อขุนมังราย ทิศเหนือครอบครองถึงเชียงรุ่ง จรดสิบสองปันนา ทิศใต้ครอบครองลำปาง จรดสุโขทัย ทิศตะวันออกถึงแม่น้ำโขง จรดแคว้นลาว ทิศตะวันตกจรดแม่น้ำสาละวิน
นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการรวมแว่นแคว้นต่างๆขึ้นเป็นอาณาจักรล้านนา ของมหาราชพระองค์หนึ่ง ก่อนจะมารวมกันเป็นประเทศไทยในวันนี้