xs
xsm
sm
md
lg

ไขปริศนา “แก๊งคอลเซนเตอร์” หลอกโอนเงิน ภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่ตำรวจไทยต้องขอให้รัฐบาลช่วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

ในระหว่างที่คนส่วนใหญ่ของประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตพร้อมกันหลายด้าน ที่ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ทั้งการระบาดของโควิด-19 และปัญหาของแพง ประเทศไทยก็กำลังเป็นอีกหนึ่งในเป้าหมายใหญ่ของ “แก๊งคอลเซนเตอร์” ที่โทรมาหลอกให้เหยื่อโอนเงินให้ในหลักแสนถึงล้านบาท และกำลังเป็นปัญหาที่กระจายออกไป มีผู้เสียหายถูกหลอกลวงจนหมดตัวเพิ่มขึ้นรายวัน

ทีมข่าว MGR Online คุยกับ พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือที่เรียกสั้นๆ กันว่า “ตำรวจไซเบอร์” และพบว่า นี่เป็นปัญหาใหญ่มากที่ประเทศไทย อาจยังต้องการทั้งเครื่องมือทางกฎหมายและความร่วมมือจากหลายภาคส่วนจึงจะแก้ไขได้


ตำรวจไซเบอร์ รู้จักทุกอย่างของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่ไปจับกุมไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในประเทศไทย

“แก๊งที่ทำงานเพื่อหลอกลวงคนไทย มีฐานที่ตั้งอยู่ที่กัมพูชา เป็นกลุ่มคนจีน ที่นำคนไทยไปทำงานเป็นคนคอยโทรมาพูดจาหว่านล้อมให้เหยื่อโอนเงิน ที่เราขอความร่วมมือได้ ก็แค่การนำตัวคนไทยกลับบ้าน พอกลับมาเขาก็จะอ้างว่าถูกบังคับให้ทำ แต่เคยคุยกับเจ้าหน้าที่กัมพูชา เขาก็บอกว่า บางคนก็เห็นมาหลายรอบแล้ว”

พล.ต.ต.นิเวศน์ ฉายภาพปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในการจัดการกับแก๊งคอลเซนเตอร์ ซึ่งก็คือ การก่อเหตุโดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมายระหว่างประเทศที่มีความยุ่งยากในการประสานงาน ดังนั้นคนร้ายในขบวนการนี้จะมีหลักคือ จะไม่ก่อเหตุในประเทศที่ฐานตั้งอยู่ แต่ใช้วิธีไขว้กันไปมาแทน โดยการตั้งฐานบัญชาการอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านของประเทศที่เป็นเป้าหมาย และนำคนของประเทศเป้าหมายข้ามแดนมาทำงานเป็นคนโทรไปหลอกลวงคนในประเทศของตัวเอง ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจทางกฎหมายเข้าไปจัดการได้

“เรารู้ข้อมูลหมด แก๊งชาวจีนเป็นใคร ตั้งฐานอยู่ที่ไหนในกัมพูชา แต่เราไม่มีอำนาจไปจับกุม เรื่องนี้เกินอำนาจของข้าราชการไปแล้ว ต้องขอร้องให้รัฐบาลยกประเด็นนี้ขึ้นเป็นประเด็นหารือในระดับผู้นำประเทศทั้งของไทยกับกัมพูชา เพราะถ้าไม่มีความร่วมมือระหว่างประเทศ ก็จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นทุกวัน ประชาชนจะโดนหลอกจนหมดตัวทุกวัน”


เผยคนร้ายเลือกเหยื่อที่มีเงินในบัญชีมาก แต่ยังสงสัย ทำไมแก๊งคอลเซนเตอร์มีข้อมูลบัญชีของเหยื่อ

“คนร้ายจะใช้ระบบ VoIP (Voice Over IP) หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นการโทรศัพท์ผ่านระบบเครือข่าย เพื่อโทรมาจากต่างประเทศ แต่โชว์เบอร์เหมือนโทรในไทย สามารถปลอมหมายเลขเป็นเบอร์ของธนาคาร เบอร์ตำรวจ หรือหน่วยงานต่างๆ ได้ ถ้าเมื่อไหร่ที่คนโทรมาเริ่มบีบคั้น กดดันให้เราต้องโอนเงินไป ให้ตัดสายทิ้งไปเลย และลองโทรกลับไปเบอร์นั้น ถ้าโทรไม่ติด แสดงว่าเป็นเบอร์ของคนร้าย”

พล.ต.ต.นิเวศน์ บอกว่า ข้อความเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เราต้องรีบส่งออกไปเพื่อแจ้งเตือนคนไทยที่เป็นเป้าหมายของแก๊งคอลเซนเตอร์ให้ได้โดยเร็ว เพราะแม้ว่าจะมีข่าวคนโดนหลอกในรูปแบบเดิมอยู่ทุกวัน แต่ก็ยังมีคนโดนหลอกเพิ่มทุกวันเช่นกัน ดังนั้นทางตำรวจไซเบอร์ จึงได้หารือกับสมาคมธนาคาร เพื่อขอให้ธนาคารส่งข้อความแจ้งเตือนลูกค้าที่มีเงินในบัญชีหลักล้านบาทผ่านแอพพลิเคชันที่ใช้ทำธุรกรรมทางออนไลน์ของธนาคาร เพราะตำรวจพบว่า คนร้าย มีพฤติกรรมเลือกเฉพาะเหยื่อที่มีเงินในบัญชีธนาคารจำนวนมากเท่านั้น พร้อมตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า คนร้ายได้ข้อมูลเงินในบัญชีของเหยื่อไปได้อย่างไร มีขบวนการแอบขายข้อมูล หรือ ระบบธนาคารถูกแฮกหรือไม่

พล.ต.ต.นิเวศน์ ยังย้ำด้วยว่า นอกจากจะสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการปลอมหมายเลขโทรศัพท์ธนาคาร สถานีตำรวจ ใช้รูปหน่วยงานรัฐ กลุ่มคนร้ายแก๊งคอลเซนเตอร์ ยังมีทีมงานที่คอยเปลี่ยนแปลงเรื่องราวที่นำมาใช้ในการหลอกให้เหยื่อโอนเงินอยู่เสมอ

“ช่วงที่ผ่านมาคนร้ายจะมีคีย์เวิร์ดที่อ้างว่ามีสินค้ามาจาก DHL ซึ่งเมื่อข้อมูลนี้กลายเป็นข่าวดังที่คนทั่วไปเริ่มรับรู้แล้ว คนร้ายก็เริ่มเปลี่ยนรูปแบบเป็นการ ปลอมหมายศาล โดยจะเริ่มจากการใช้เบอร์ปลอมโทรหาเหยื่อ สร้างความน่าเชื่อถือด้วยการส่งต่อให้คุยกับตำรวจ จากนั้นจะขอแอดไลน์ ซึ่งมีรูปโปรไฟล์ที่น่าเชื่อถือ และส่งภาพหมายศาลมาให้”


ถ้าแก้ “บัญชีม้า” ได้ ก็ตัดวงจรของแก๊งคอลเซนเตอร์ได้

“บัญชีม้า” คือ บัญชีที่ถูก “รับจ้างเปิดขึ้นมา” เพื่อให้เหยื่อโอนเงินเข้ามาโดยไม่สามารถสาวไปถึงต้นตอของผู้รับเงินตัวจริงได้

บัญชีม้า ใช้ชื่อเจ้าของบัญชีเป็นคนทั่วไปที่ได้ค่าจ้างเปิดบัญชี แค่บัญชีละประมาณ 1 พันบาท เมื่อเปิดบัญชีแล้ว จะเชื่อมต่อระบบการทำธุรกรรมออนไลน์เข้ากับหมายเลขโทรศัพท์ของคนร้ายตัวจริง ซึ่งเป็นคนจัดการบัญชี ดังนั้นในบัญชีม้า ก็จะมีเงินผ่านเข้ามาจำนวนมาก และถูกย้ายออกไปในบัญชีที่ 2 หรือ 3 แทบจะทันที และเมื่อตรวจสอบบัญชี เข้าไปจับกุม ก็จะเจอแต่คนยากจนที่รับจ้างเปิดบัญชี ถึงจะลงโทษทางกฎหมายได้ แต่ก็ทำได้เพียงการลงโทษคนยากจนเท่านั้น

พล.ต.ต.นิเวศน์ บอกว่า ได้เคยเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา “บัญชีม้า” ไปกับกลุ่มธนาคาร และกลุ่มโอเปอเรเตอร์โทรศัพท์มือถือทั้ง 3 ค่ายไปแล้ว โดยทางตำรวจ ต้องการให้มีกติกากำหนดให้หมายเลขโทรศัพท์ที่จะใช้ทำธุรกรรมทางออนไลน์ ต้องยืนยันตัวตนว่าเป็นคนเดียวกันกับเจ้าของบัญชีธนาคาร เพราะคนร้ายในแก๊งคอลเซนเตอร์ที่เปิดใช้แอพลิเคชันธนาคาร จะเป็นคนละคนกับเจ้าของบัญชีม้าเสมอ แต่ก็ยอมรับว่า ยังติดปัญหาที่ทางกลุ่มธนาคารและโอเปอเรเตอร์ กังวลว่า จะไปส่งผลกระทบกับความสะดวกในการใช้งานของลูกค้าทั่วไป

“เบื้องต้นก็เสนอไปให้ธนาคารอัปเดตแอพพลิเคชันเป็นเวอร์ชั่นใหม่ และแจ้งเตือนว่าขอสงวนสิทธิ์ระงับการทำธุกรรมทางออนไลน์ของลูกค้าที่ลงทะเบียนใช้หมายเลขโทรศัพท์ไม่ตรงกับชื่อเจ้าของบัญชี ซึ่งต้องได้ความร่วมมือในการตรวจสอบจาก 3 ค่ายผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ด้วย ซึ่งเราคุยกับสมาคมธนาคารอยู่เกือบทุกวัน และกำลังจะคุยกับทางกลุ่มโอเปอเรเตอร์”


ประสาน เลขาธิการ สพฐ. สร้างเครือข่ายครู เตือนภัยจากแก๊งคอลเซนเตอร์

พล.ต.ต.นิเวศน์ ยังบอกถึงแนวทางแก้ปัญหาระยะยาวที่จะเกิดจขึ้นเร็วๆนี้อีกอย่าง คือการที่ ตำรวจไซเบอร์ ได้หารือกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อนำองค์ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับภัยทางไซเบอร์ไปถ่ายทอดให้กับครูในสังกัด สพฐ.ทั้งหมด โดยทางตำรวจไซเบอร์ จะทำรูปแบบสื่อที่เข้าใจง่ายมาส่งต่อให้ครู เพื่อสร้างเครือข่ายให้ครูไปบอกต่อนักเรียนในห้องเรียน และให้นักเรียนส่งข้อมูลต่อให้ผู้ปกครอง

กราฟฟิกลิขสิทธิ์ MGR Online
กำลังโหลดความคิดเห็น