ราคาหมูที่เพิ่มขึ้นช่วงหนึ่งเดือนมานี้ เป็นประเด็นร้อนทำให้ทุกภาคส่วนต้องระดมสมองเร่งแก้ปัญไข โดยมีนายกฯนั่งหัวโต๊ะบัญชาการ เพื่อให้สถานการณ์หมูคลี่คลายโดยเร็วที่สุด
เมื่อหันมาดูภาคผู้เลี้ยงที่ถือเป็นต้นน้ำ ก็เห็นความเคลื่อนไหวในการร่วมผ่อนคลายสถานการณ์ ให้ตลาดผ่อนคลายลง โดยเฉพาะความร่วมมือของเกษตรกรทั้งประเทศในการรักษาราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์ม ไว้ไม่เกิน 110 บาทต่อกิโลกรัม ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 2 และจะยืนราคานี้ไปจนถึงหลังตรุษจีน ส่งผลให้ราคาขายปลีกเนื้อหมู ชิ้นส่วนสะโพก หัวไหล่ ในห้างค้าปลีก อยู่ที่ 175-185 บาทต่อกิโลกรัม ถือเป็นการช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนได้อย่างดี
การยืนราคาหมูหน้าฟาร์มของเกษตรกรนี้ ก็เพื่อไม่ให้เป็นจำเลยของสังคม ว่าคนเลี้ยงหมูคือต้นเหตุทำให้ราคาหมูแพง แม้ต้องแบกภาระต้นทุนสูง พบว่าบางฟาร์มต้นทุนพุ่งไป 120 บาทแล้ว เพราะเกษตรกรต้องการให้สังคมเข้าใจและทำให้สถานการณ์ให้ดีขึ้น
สมาชิกสมาคมผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศ ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และรายกลาง ยังขนเนื้อหมูไปร่วมสนับสนุน โครงการพาณิชย์ลดราคา ขายหมูเนื้อแดงกิโลกรัมละ 150 บาท ปัจจุบันดำเนินการกระจายในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้หมูราคาประหยัดกระจายถึงคนไทยให้มากที่สุด
อันที่จริงราคาหมูเพิ่งจะปรับขึ้นมาในช่วงเดือนเดียวเท่านั้น ราคาที่ขายได้ตอนนี้ ผู้เลี้ยงแค่พอจะคุ้มทุนบ้าง ไม่ได้มีกำไรเหลือมากมาย เพราะต้นทุนการเลี้ยงทุกอย่างเพิ่มขึ้นทั้งหมด เกษตรกรแค่มีรายได้ใช้หนี้ค้างเก่าจากที่ต้องขาดทุนมากว่า 3 ปี และพอมีทุนในการเลี้ยงหมูรุ่นต่อไปเท่านั้น
แต่ก็ต้องร้อนๆหนาวๆ กับแนวทางแก้ปัญหาที่บางฝ่ายนำเสนอให้มีการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศเข้ามา พยุงราคาหมูไทย เรื่องนี้ถ้าถามคนเลี้ยงยังไงก็มีแต่ส่ายหัว ไม่เห็นด้วยเด็ดขาด เพราะหมูนอกเป็นการซ้ำเติมปัญหาของเกษตรกร ยิ่งหมูในประเทศแถบยุโรปด้วยแล้ว ยิ่งต้องระวัง เพราะนอกจากความเสี่ยงเรื่องโรคต่างถิ่นที่อาจปนเปื้อนเข้ามากระทบกับหมูไทยแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่จะต้องเปิดรับเนื้อหมูจากยุโรปตลอดไป และมีโอกาสที่จะส่งเข้ามาไม่จำกัด แม้ว่าจะมีการกำหนดปริมาณไว้ชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติประเทศผู้ส่งออกจะส่งมาเกินกว่าที่กำหนด
ประเด็นนี้มีตัวอย่างให้เห็นแล้ว อย่างประเทศเวียดนาม ที่เลือกแก้ปัญหาขาดแคลนหมูด้วยการนำเข้า โดยหวังว่าจะได้บริโภคเนื้อหมูราคาถูกในช่วงแรก แต่กลับได้กินหมูในราคาแพง แถมยังมีการแยกชนชั้นระหว่างสินค้านำเข้าและสินค้าในประเทศ ไม่ใช่สินค้าราคาถูกอย่างที่หวัง ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูชาวเวียดนนาม ต้องแบกภาระขาดทุนจากภาวะหมูล้นตลาดอย่างที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้
ที่สำคัญ การนำเข้าเนื้อหมู ชิ้นส่วน และหมูแปรรูปจากต่างแดน ถือเป็นการทำลายกลไกการเลี้ยงหมูในประเทศ เพราะหมูนำเข้าราคาถูกกว่าหมูไทย จากต้นทุนการเลี้ยงที่ต่ำกว่ามาก เนื่องจากรัฐบาลของต่างประเทศให้การอุดหนุนต้นทุนการเลี้ยง จึงสามารถขายหมูในราคาถูกได้
ส่วนคนเลี้ยงหมูไทยต้องแบกรับภาระต้นทุนการเลี้ยงที่พุ่งสูงเองทั้งหมด แต่กลับไม่สามารถขายหมูในราคาที่สะท้อนต้นทุนได้ หากยอมให้หมูนอกเข้ามา เกษตรกรก็ไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ ที่สุดแล้วก็จะทิ้งอาชีพ พากันเลิกเลี้ยงหมูไปหมด ความมั่นคงทางอาหารของประเทศต้องสั่นคลอนอย่างแน่นอน
ที่สำคัญ หมูนอกยังกระทบกับภาวะราคาตกต่ำจากผลผลิตล้นตลาด ที่จะลดแรงจูงใจของเกษตรกรผู้เลี้ยงที่กำลังกลับเข้าระบบ กลายเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาซัพพลายหมูที่ภาครัฐกำลังเร่งดำเนินการอยู่
วันนี้คนเลี้ยงร่วมมือกันยืนราคาหมูไม่ให้กระทบผู้บริโภคแล้ว การแก้ปัญหาด้านอื่นๆก็กำลังเดินหน้า อย่าให้หมูต่างประเทศมาฉุดรั้งความพยายามของทุกฝ่ายที่ทำมาถูกทาง อย่ายอมให้หมูนอกมาทำลายอาชีพเกษตรกรเลี้ยงหมูให้ต้องล่มสลายเลย