xs
xsm
sm
md
lg

‘สมภพ แจ่มจันทร์’ นักจิตวิทยาผู้เชื่อมั่นว่ามนุษย์ล้วนมีศักยภาพในตนเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากเด็กมัธยมปลายผู้สนใจและชื่นชอบผลงานการประพันธ์ของบรมครูนาม ‘หลวงวิจิตรวาทการ’ ถึงขั้นใช้ระยะเวลาหนึ่งฝึกฝนการหมุนวนแก้วไวน์โดยไม่ให้น้ำที่อยู่เต็มแก้วหกออกมาแม้เล็กน้อย ตามที่หลวงวิจิตรฯ เขียนไว้ในหนังสือ ‘กำลังความคิด’ และผลงานอีกหลายต่อหลายเล่มที่เขาชอบอ่าน คือแรงดลใจสำคัญที่ทำให้เขาเลือกเรียนจิตวิทยา แม้เขาจะบอกเล่าปนอารมณ์ขันว่า สิ่งที่เขาได้เรียนในรั้วมหาวิทยาลัยนั้น ต่างไปจากแนวทางการฝึกพลังความคิดที่เขาอยากเรียนตามที่หลวงวิจิตรวาทการเขียนไว้อย่างสิ้นเชิง กระนั้น ด้วยความเข้าใจผิด อาจด้วยโชคชะตานำพา หรือเหตุผลใดอื่นใดก็แล้วแต่ ทำให้มีนักจิตวิทยาผู้ยึดมั่นในจรรยาบรรณและจุดยืน ก้าวเข้าสู่วิชาชีพนี้เพิ่มอีกหนึ่งคน
เขาคือ ‘สมภพ แจ่มจันทร์’ นักจิตวิทยาการปรึกษา ซึ่งเป็นทั้งหนึ่งในผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ Knowing Mind ศูนย์บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและส่งเสริมสุขภาวะ

จากศูนย์บริการรับฟัง ที่ต้องอิงอาศัยอยู่ร่วมกับคลินิคของแพทย์ท่านอื่นนานถึง 8 ปี กระทั่งมีที่ตั้งศูนย์บริการฯเป็นที่เป็นทางล่วงเข้าสู่ปีที่ 6 รวมระยะเวลาที่เขาทำหน้าที่ในวิชาชีพนักจิตวิทยา รับฟังและให้คำปรึกษาแก่ผู้คนมายาวนานเกินกว่าทศวรรษ มุมมองของ ‘สมภพ แจ่มจันทร์’ ที่มีต่อภาพรวมและรายละเอียดของการสำรวจตรวจสอบภาวะสุขภาพจิต จึงน่าสนใจอย่างยิ่ง ทั้งถ่ายทอดถึงจรรยาบรรณ จุดยืนแห่งวิชาชีพ ความต่างและการทำงานร่วมกันของจิตแพทย์ และนักจิตวิทยา


ขณะเดียวกัน ก็สะท้อนภาพรวมของสภาวะปัญหาที่ผู้คนเผชิญทั้งในยุคก่อนวิกฤติโควิด-19 และการมาถึงของวิกฤติโควิด-19 ที่เขาพบว่า ไวรัสร้ายนี้ ได้เร่งปฏิกิริยาของผู้คนให้พบและเผชิญหน้ากับปัญหา มองเห็นปัญหาได้ชัดขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น เขายังบอกเล่าถึงสัจธรรมแห่งชีวิตที่พบเห็นจากการทำงานอันยาวนานมากกว่าสิบปี
การปล่อยวางจากความคาดหวัง การไม่นำชีวิตตนเองไปยึดติดหรืออิงสนิทแนบแน่นกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากเกินไป ย่อมเป็นผลดีกว่าการยึดติด เพราะย่อมไม่ต่างไปจากการอาศัยอยู่ในบ้านที่มีเสาต้นเดียว เมื่อเสาต้นนั้นพังทลาย จิตใจก็สูญเสียพังทลายไม่ต่างกัน

ยังมีอีกหลากหลายทัศนะที่น่าสนใจ และสะท้อนภาพความสำคัญของการดูแลสุขภาพจิต และการทำงานของนักจิตวิทยาการปรึกษาที่อยู่เคียงข้าง รับฟัง ประคับประคอง ด้วยวิธีการ เทคนิคและทักษะที่แต่ละคนมีอยู่ เพื่อช่วยให้ผู้คนได้มองเห็น ‘ทางออก’ ของปัญหา ผ่านการรับฟังโดยไม่มีการตัดสิน ไม่มีการวินิจฉัยโรค แต่ช่วยมองหาที่มาของปัญหา เยียวยาจิตใจ เพราะผู้เข้ารับคำปรึกษาสามารถบอกเล่าทุกเรื่องราวในชีวิตได้อย่างเต็มที่ ด้วยข้อตกลงและจรรยาบรรณในการไม่เปิดเผยข้อมูล และอีกหลายองค์ประกอบที่ทำให้ผู้เข้ารับการรักษาได้รับความสบายใจ

‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์ ‘สมภพ แจ่มจันทร์’ นักจิตวิทยาการปรึกษา ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ Knowing Mind ที่มีจุดยืนหนักแน่น เปี่ยมด้วยทัศนคติที่น่ารับฟัง

และถ้อยความเหล่านี้ คือคำบอกเล่าจากเขา


ความแตกต่างระหว่างจิตแพทย์และนักจิตวิทยา

เริ่มบทสนทนาด้วยการขอความรู้ว่านักจิตวิทยาการปรึกษา เหมือนหรือต่างกับนักจิตบำบัด และจิตแพทย์หรือไม่ อย่างไร

ผู้อำนวยการ Knowing Mind ตอบว่า การปรึกษาเชิงจิตวิทยาหรือจิตบำบัด ทั้งสองวิธีการ สองกระบวนนี้คล้ายกัน เพียงแต่ว่ามีที่มาที่แตกต่างกัน ทว่า โดยภาพรวมล้วนเป็นกระบวนการช่วยเหลือทางด้านจิตใจ ในปัจจุบัน จริงๆ แล้วถือว่าไม่แตกต่าง แต่ความแตกต่างเกิดจากที่มาในอดีต

เนื่องจาก เมื่อเอ่ยถึงจิตบำบัด สมัยก่อนจะพูดถึงการรักษาคนที่เขามีปัญหา กับคนที่มีอาการผิดปกติหรือมีปัญหาทางจิต ซึ่งใช้จิตบำบัดเพื่อจะได้เยียวยา รักษาคนกลุ่มนี้

แต่นักจิตวิทยาไม่ได้มุ่งเน้นทำงานกับคนที่มีความผิดปกติ แต่เป็นการแนะนำ ให้คำปรึกษาแก่คนทั่วๆ ไปที่เขามีปัญหาบางอย่าง ในอดีต ประเด็นที่กล่าวมานี้นี่คือที่มาคร่าวๆ แต่ปัจจุบัน สองคำนี้ก็ถูกใช้สลับไปสลับมา การทำจิตบำบัด จึงไม่ได้หมายความว่า คนที่มาบำบัดไม่จำเป็นต้องป่วยหรือมีอาการทางจิตเสมอไป

ดังนั้น สองคำนี้ใช้แทนกันได้ในปัจจุบัน ใช้เพื่อการช่วยเหลือเหมือนกัน

ถามว่า วิชาชีพและหน้าที่ของสมภพ เป็นนักจิตวิทยาการปรึกษา ใช่หรือไม่

สมภพตอบว่า “ใช่ครับ ผมเรียกคำนี้ด้วยบริบทก็แล้วกัน ผมก็ยังคงมุ่งเน้นไปที่การที่เรามาพูดคุยกัน เพื่อที่เราจะทำความเข้าใจปัญหาและหาทางแก้ปัญหา โดยไม่ไปตัดสินว่าถูกหรือผิด ไม่ตัดสินว่าคุณป่วยหรือไม่ป่วย คุณมีอาการทางจิต หรือไม่มี

เราไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การวินิจฉัยโรค แม้ว่าคนๆ นั้นจะเป็นคนป่วยก็ตาม คือในกรณีที่จิตแพทย์ส่งมาให้พูดคุยเนื่องจากมีอาการป่วยชัดเจน แต่เวลาเราทำงาน เราจะไม่ได้มองหาอาการเจ็บป่วย แต่เรามองหาที่มา ว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของคนๆ นี้ เขากำลังเผชิญปัญหาอะไรอยู่ เผชิญสถานการณ์อะไรอยู่ จึงทำให้เขามีความทุกข์ หรือมีปัญหาอยู่ ณ ตอนนี้”


มองภาพรวมปัญหาสุขภาพจิต-ปัญหาชีวิต ช่วงก่อน-หลังวิกฤติโควิด-19

ถามว่า ในโลกยุควิกฤติโควิด-19 หรือแม้แต่โลกยุคหลังวิกฤติโควิด ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับผู้คนทั้งในระดับปัจเจก ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ หรือแม้แต่ความสูญเสียที่เป็นวงกล้างระดับโลก สิ่งที่เกิดขึ้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 นี้ นักจิตวิทยาการปรึกษาอย่างคุณ มีคำแนะนำใดแก่ผู้ที่เผชิญกับความสูญเสียจากวิกฤติดังกล่าว และคุณมองวิกฤตินี้อย่างไร

สมภพตอบว่า “ผมว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้น มันก็เป็นเรื่องที่ จริงๆ แล้ว ทำใจยอมรับได้ยาก ย้อนกลับไป ก่อน 2 ปีที่แล้ว ยังไม่มีโควิด-19 เลยนะครับ แต่อยู่ๆ 2 ปีที่ผ่านมาก็มีโควิด-19 และมีความสูญเสียเกิดขึ้นมากมาย ในหลายมิติ

ผมว่าไม่ใช่แค่เรื่องการเสียชีวิต แต่มีทั้งผู้ที่สูญเสียการทำงาน สูญเสียความสามารถ สูญเสียทรัพย์สิน สูญเสียตัวตน และอีกหลายอย่าง ซึ่งคนที่มารับคำปรึกษา จากการสูญเสียเนื่องจากโควิด เขาก็เผชิญกับความสูญเสียจริงๆ แต่ความสูญเสียมันมีหลากหลายมิติ ดังนั้น หากจะบอกว่า มันเป็นผลกระทบที่รุนแรงก็ต้องตอบว่าใช่

แต่หากถามว่า มันเป็นความสูญเสียที่แปลก และต่างไปจากความสูญเสียที่เราเคยเจอหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าไม่

เพราะจริงๆ แล้ว การที่มีโควิด-19 ผมว่าเราเจอความสูญเสียแบบนี้อยู่แล้วในชีวิตปกติ เพียงแต่มันไม่ได้ใกล้ตัวเราขนาดนี้

เราไม่ได้ใส่ใจมันขนาดนี้ เรายังรู้สึกว่าความตายหรือความสูญเสียเป็นเรื่องห่างไกล แต่ผมมองว่าโควิด-19 ในแง่หนึ่ง ทำให้สิ่งที่เป็นโจทย์ หรือเป็นประเด็นร่วมกันของมนุษยชาติ คือความสูญเสีย ความตาย มันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากกว่าครั้งไหนๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับมนุษย์ในยุคนี้

ความสูญเสีย เป็นความทุกข์ก็จริง แต่เท่าที่ผมสังเกตนะครับ มันก็ทำให้หลายๆ คนกลับมาตระหนัก เมื่อความสูญเสียเข้ามาใกล้เรามากขึ้นเรื่อยๆ ในแง่หนึ่ง ก็ทำให้เราตระหนักถึงสิ่งที่มีคุณค่าและมีความหมายที่แท้จริงกับเราได้มากขึ้น” สมภพระบุ


ผู้คนตระหนักมากขึ้นว่า ‘ความตายอยู่ใกล้ตัวเรา’ เมื่อเกิดโควิด-19

สมภพกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ความตาย หรือความสูญเสียมันไม่ได้ใกล้ตัวเราขนาดนี้ เราก็ใช้ชีวิตเสมือนว่า มันจะยังมาไม่ถึงเรา ใช้ชีวิตเสมือนว่า ความตายและความสูญเสียเหล่านั้น เป็นเรื่องที่ห่างไกล

ดังนั้น เมื่อมันเข้ามาใกล้ตัวเรามากๆ สมภพจึงมองว่าเราก็ใช้ชีวิตในแต่ละวันได้อย่างมีสติ และตระหนักรู้มากขึ้น ว่าอะไรสำคัญกับเรากันแน่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทุกคนตระหนัก กระนั้น ก็มีหลายๆ คนที่ตระหนักในเรื่องนี้ เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ขึ้นมา

ถามว่า ตั้งแต่ช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 มีผู้ที่เข้ารับการบำบัดเนื่องจากความสูญเสียจากโควิด มากน้อยเพียงใด มีเคสไหนที่พอจะแบ่งปันให้ฟังได้บ้าง

สมภพตอบว่า “ก่อนอื่นผมขอออกตัวนิดหนึ่งนะครับ ผมเองไม่ใช่บุคลากรด่านหน้า ที่จะเผชิญกับความสูญเสียชีวิต ดังนั้น ผู้ที่มาคุยกับผม มารับคำปรึกษา จริงๆ แล้วตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ถึงช่วงที่เกิดโควิด-19 หรือแม้แต่หลังโควิด-19 ก็ยังเป็นคนกลุ่มเดิม ไม่ต่างไปจากเดิม ปัญหาที่พวกเขาเผชิญจึงไม่ใช่โควิดเป็นหลัก แต่โควิดทำให้มองเห็นประเด็นปัญหาชัดเจนขึ้น

จริงๆ แล้วผมว่าปัญหาอะไรที่มนุษย์เคยเจอ ก่อนโควิด หรือหลังโควิด ประเด็นปัญหานั้นก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่โควิดเป็นตัวเร่งปฏิกริยาให้ปัญหาเหล่านั้นชัดเจนขึ้นมา

เช่น หากถามว่า ผู้ที่มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ แล้วมาคุยกับผมในช่วงหลังโควิด ถามว่าก่อนโควิดเขามีปัญหาไหม ก็มีปัญหานะครับ เพียงแต่มันไม่มีสถานการณ์ที่ทำให้เรามานั่งคิด ว่าเรามีปัญหาหรือเปล่า แต่เมื่อเกิดโควิด บางทีคนเป็นแฟนกัน เจอกันได้น้อยลง ก็เริ่มตระหนักแล้วว่า แบบนี้ เราโอเคหรือเปล่า ที่เราจะเจอกันน้อยลง หรือมีโอกาสได้ทบทวนความสัมพันธ์ว่าเรากับคู่ของเรา ไปด้วยกันได้ดีจริงๆ หรือเปล่า เพราะเรามีเวลามากขึ้นที่จะทบทวน ดังนั้น ในมุมของผม จึงมองว่าโควิด มันทำให้ประเด็นปัญหาเด่นชัดขึ้นมา จนเราไม่สามารถปฏิเสธ หรือทำเป็นมองไม่เห็นได้อีกต่อไป

หรือในบางครอบครัวที่อยู่ร่วมกัน ก่อนโควิดก็ตื่นเช้ามาแยกย้ายกันไปทำงาน พอตกเย็นมาก็กลับบ้าน ได้เจอกันช่วงสั้นๆ จะมีปัญหาอะไร ดูเหมือนจะมองข้ามมันได้ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ได้ แต่เมื่อเกิดโควิด ต้องทำงานที่บ้าน เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็หลีกเลี่ยงไม่ได้นะครับ ต้องเผชิญหน้ากับปัญหา อย่างเช่น บางครอบครัวเผชิญหน้ากันแล้ว เห็นปัญหาแล้ว ก็คุยกัน ช่วยกันหาทางแก้ไข ติดขัดตรงไหนก็ช่วยกันหาทางออกเพื่อที่จะไปด้วยกันต่อ แต่บางครอบครัว ก็อาจจะเผชิญแล้วพบว่าไปต่อด้วยกันไม่ได้จริงๆ ก็จะได้แยกกันไป

หรือบางคน มีปัญหาเรื่องการทำงาน ก่อนหน้าโควิด ไม่ต้องคิดถึงอะไรมาก ทำงานด้วยความสนุก แสวงหาตัวตน ทำงานที่ตัวเองชอบไปเรื่อยๆ แต่เมื่อโควิดมาถึงก็พบว่า จริงๆ แล้ว สิ่งสำคัญสำหรับเราไม่ใช่ความสนุกหรือความเพลิดเพลินในการทำงาน แต่มันคือความมั่นคง ดังนั้น ก็มองเห็นเลยว่างานที่ไม่แน่นอน มันส่งผลกระทบต่อรายได้ และความเป็นอยู่แค่ไหน เหล่านี้คือสิ่งที่ผมหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง เพื่อให้เห็นว่า ก่อนหน้าโควิด มันก็มีปัญหา แต่เราหลีกหนีได้ ทว่า เมื่อเกิดโควิด เราหลีกหนีไม่ได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมจะสะท้อนก็คือ หากมองว่าเรื่องนี้เป็นโอกาส ผมก็มองว่าเป็นโอกาสที่จะกลับมามองว่าอะไรที่เป็นสิ่งสำคัญจริงๆ ในชีวิตเรา และยอมรับว่าจริงๆ แล้ว ตอนนี้ ที่เราใช้ชีวิตเหมือนไม่มีปัญหาอะไร จริงๆ แล้ว มันมีปัญหาอะไรซ่อนอยู่หรือเปล่า ก็ได้กลับมาทบทวนตัวเอง” ผู้อำนวยการ Knowing Mind บอกเล่าได้อย่างเห็นภาพ

ถามว่า ในเมืองไทย มีหน่วยงานของรัฐหรือมีสถานที่รับฟังปัญหาและให้คำปรึกษาประชาชนมากน้อยเพียงใด เพียงพอหรือไม่

สมภพตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า “จริงๆ แล้ว ถ้าจะบอกก็คือ ไม่เพียงพอแน่นอนครับ เพราะว่าบริการของรัฐ หน่วยงานสาธารณะ สาธารณประโยชน์มีอยู่อย่างจำกัดมากๆ เลยครับ เราจะพบเลยว่าหน่วยงานในส่วนสุขภาพจิตทั้งหลาย โทร.ไปกว่าจะโทรติด ใช้เวลานานมาก ดังนั้น ผมตอบเลยว่าไม่พอ ด้วยเหตุนี้ จึงมีข้อจำกัด ในเวลาที่ประชาชนเขามีเรื่องกังวลใจ มีปัญหา หรือผู้ที่มีรายได้น้อยก็เข้าถึงการรับคำปรึกษาได้ยากลำบาก เข้าถึงการช่วยเหลือได้ยากลำบากมากๆ ดังนั้น ต้องมีเพิ่มครับ” สมภพระบุ


Knowing Mind จากแรกเริ่มถึงวันนี้

ชวนนักจิตวิทยาการปรึกษาผู้นี้ สนทนาพ้นไปจากประเด็นปัญหาวิกฤติโควิด-19 แล้วพูดคุยถึง Knowing Mind บ้าง ว่าเปิดให้บริการมากี่ปีแล้ว

สมภพตอบว่า ถ้านับโดยเริ่มตั้งแต่ตอนที่ยังไม่มีคลินิคของตนเอง ยังคงเป็นศูนย์ให้บริการรับฟัง โดยต้องไปใช้สถานที่คือคลินิคของคุณหมอท่านอื่นๆ อยู่ ก็นับว่าเปิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 กระทั่งปัจจุบัน พ.ศ.2565 เปิดมา 13 ปีแล้ว แต่หากเริ่มต้นนับสถานที่แห่งใหม่ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์บริการฯ ของ Knowing Mind จริงๆ นับเป็นการเข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว

“ก่อนหน้านี้ จะไม่ใช่ลักษณะของศูนย์บริการฯ แบบในปัจจุบัน ด้วยความที่เราเป็นนักจิตวิทยา เราก็ไปหาพื้นที่ โดยทำงานร่วมกับคุณหมอท่านหนึ่ง ที่คุณหมอซึ่งรักษาการเจ็บป่วยทางร่างกาย แล้วคุณหมอพบว่า บางครั้ง ความเจ็บป่วยทางร่างกาย สาเหตุคือความเครียด ความไม่สบายใจ แล้วถ้าเขามองว่า รักษาไปก็ไม่ได้ช่วยอะไร เขาก็จะส่งมาคุยกับผม ก่อนหน้านี้ เราจึงทำงานร่วมกันกับแพทย์ในเชิงรูปแบบนี้ ผมเองก็ทำหน้าที่ให้ความรู้ผ่านการบรรยายเป็นหลัก เพราะสังคมไทยเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ผู้ที่มาขอรับการปรึกษาและทำการนัดหมายเข้ามา มีน้อยมากๆ เพราะคนรู้จักน้อยมาก

ต่างจากปัจจุบัน ที่บอกเลยว่า วันหนึ่งๆ มีคนติดต่อเราเข้ามาเยอะมาก คิวนัดหมายยาวไปหลายสัปดาห์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ไม่เคยเกิดขึ้นนะครับ ตอนนั้น กว่าจะมีนัดหมายเข้ามารายหนึ่ง โอโฮ! นานๆ ที หลายๆ วัน จึงจะมีคนนัดเข้ามาสักคนหนึ่ง เพราะเขายังมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ใช่เรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องแปลกๆ ไม่เข้าใจการที่จะต้องมานั่งคุยกับนักจิตวิทยา แต่ปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะเป็นที่ยอมรับได้มากขึ้น” สมภพสะท้อนภาพการทำงานในอดีตและปัจจุบัน ที่ต่างกันไปด้วยความเข้าใจของผู้คนในสังคมที่ยอมรับ เปิดกว้างและเห็นความสำคัญของการพบนักจิตวิทยามากขึ้น


สัจธรรมแห่งชีวิต

ถามว่า มีเคสไหนที่น่าสนใจเป็นพิเศษ และเป็นบทเรียนให้คนอื่นได้ด้วย ที่พอจะบอกเล่าได้

สมภพตอบว่า “ผมออกตัวอีกนิดหนึ่งนะครับ โดยหลักการแล้วเวลาเราให้การรักษา ให้คำปรึกษา เราไม่สามารถหยิบยกกรณีของใครคนใดคนหนึ่งขึ้นมาได้ ด้วยจรรยาบรรณ และข้อตกลงเรื่องการรักษาความลับ

ดังนั้น เวลาที่ผมยกขึ้นมาก็จะขอเป็นเรื่องรวมๆ ที่เป็นประเด็นพื้นฐานร่วมกัน แบบนี้ผมพอจะหยิบยกได้ แต่ประเด็นที่เฉพาะเจาะจง ว่าเขาไปเจออะไรมา แม้จะไม่เอ่ยชื่อ แต่ผมก็ขอหลบเลี่ยงที่จะเอ่ยถึง เพราะอาจเป็นประเด็นที่คาบเกี่ยวกับเขาได้

ในเรื่องของภาพรวม จากการทำงานตลอดหลายปีที่ผ่านมาของผม ผมพบว่า ไม่ว่าเราจะเป็นใคร คุณจะอายุเท่าไหร่ เพศใด สถานะทางเศรษฐกิจอย่างไร สถานะทางสังคมอย่างไร คุณก็มีโอกาสที่จะมีปัญหาทางจิตใจพอๆ กันเลยนะ

สิ่งที่ผมพบคือคนที่มา Knowing Mind ต้องพูดตามตรงว่าเป็นคนที่มีกำลังจ่าย พอจ่ายได้ ไม่ต้องรับบริการฟรีจากของรัฐ ผมพบเลยว่า ผมเคยเจอกับผู้คนที่เรามองจากภายนอกแล้ว ชีวิตก็น่าจะโอเค มีสถานะ มีความร่ำรวยขนาดนั้นแล้ว ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรในชีวิต แต่เอาเข้าจริง เมื่อเรามานั่งคุย เราจะเห็นเลยว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร แม้ว่าคุณจะเป็นเศรษฐี โอกาสที่จะเกิดปัญหาทางจิตใจ มีโอกาสเป็นไปได้พอๆ กันเลย

เพราะว่าโอกาสที่จะเกิดปัญหาทางจิตใจไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ จริงอยู่ สิ่งเหล่านี้ทำให้คุณใช้ชีวิตได้สบายขึ้น แต่ระหว่างความสุขความสบายกับความทุกข์ในชีวิต คือ คุณสบายเมื่อคุณมีเงินมากขึ้น มีความสะดวกสบาย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณจะมีความสุข และไม่มีความทุกข์

คนเรามักจะมีความเชื่อว่าเมื่อเราได้สิ่งนี้ มีสิ่งนี้ เป็นแบบนี้แล้วชีวิตเราน่าจะมีความสุข หรือหลายๆ คนตอนนี้ อาจจะขวนขวายในการทำงาน ทำงานให้มากขึ้น หนักขึ้น เพื่อที่จะได้มีเงินเพิ่มขึ้นและมีความสะดวกสบายในชีวิต ผมว่าคนรุ่นใหม่ มีความคิดแบบนี้ ในลักษณะกดดันตัวเองแบบนี้เยอะ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิด ในแง่หนึ่งก็คือการพัฒนาตนเอง แต่สิ่งที่พบว่าเป็นปัญหาก็คือ สิ่งที่กว่าเราจะได้มันมา เมื่อเราพยายามทั้งหมดแล้วนั้น เมื่อได้มันมา มันจะทำให้คุณมีความสุขจริงหรือเปล่า และเราจะทำได้ยาวนานแค่ไหน นี่คือสิ่งที่ต้องตั้งคำถาม คือผมไม่ได้หมายความว่า ให้เลิกความพยายาม แต่หมายความว่า เราต้องไม่ไปอิงหรือไปยึดติดกับในเรื่องความสุขความทุกข์ของเราไว้กับเรื่องหนึ่งเรื่องใดในชีวิต แต่ทุกวันนี้ บางคนก็เอาความสุขของตัวเองไปอิงไว้กับเรื่องงาน บางคนเอาไปอิงไปยึดติดไว้กับเรื่องความสัมพันธ์ บางคนเอาไปอิงไว้กับเรื่องทรัพย์สินเงินทอง บางคนเอาไปอิงไว้กับชื่อเสียง สถานะทางสังคม

ในแง่หนึ่งก็เข้าใจได้ แต่ในความเป็นจริง มันก็เปรียบเสมือนคุณอาศัยอยู่ในบ้านที่มีเสาแค่ต้นเดียว เมื่อเสาต้นนี้มันพัง ก็พังทั้งบ้านเลย ทางออกอย่างหนึ่งก็คือ เราต้องไม่สร้างเงื่อนไขขึ้นมาว่าชีวิตเราต้องมีอะไร หรือเป็นอะไร แต่เราสามารถที่จะมีความสุขในชีวิตได้ โดยการที่คุณเข้าใจตัวคุณเองว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับคุณ แล้วคุณก็อยู่กับสิ่งเหล่านี้ไปในทุกๆ วันของชีวิต” สมภพให้แง่คิดได้อย่างลุ่มลึกและชี้ให้เห็นถึงสัจธรรมของชีวิตได้อย่างน่าสนใจ


เมื่อใดที่คนเราควรพบนักจิตวิทยาการปรึกษา หรือจิตแพทย์

ถามว่า เมื่อใดที่คนเราควรพบนักจิตวิทยาการปรึกษา หรือจิตแพทย์

สมภพตอบว่า “ผมตอบในแบบอุดมคตินะครับ คือเมื่อคุณไม่สบายใจ ไปพบได้เลย แต่ผมว่าตอบแบบนี้ก็ประเมินได้ยากอีกนะครับว่าไม่สบายใจในระดับไหน

คือการมาคุยกับนักจิตวิทยา มันไม่จำเป็นว่าคุณต้องป่วย จริงๆ แล้ว เลเวลไหนก็คุยได้หมดเลย เพียงแต่การมาเจอนักจิตวิทยาอาจมีเรื่องข้อจำกัดสำหรับผู้ที่ต้องการพบ

ถ้าพูดถึงความจำเป็นจริงๆ แล้วก็คือเพื่อให้อาการเหล่านี้ลดน้อยลง เวลาที่ผมชวนประเมิน ผมจะประเมินในสี่ด้านที่อาจเป็นภาพสะท้อนของปัญหาสุขภาพจิตที่มันเกิดขึ้น ซึ่งทั้งสี่ด้านนี้ ถ้าคุณทำให้มันดีขึ้นได้ คุณก็ไม่ต้องมาพบนักจิตวิทยา

แต่ทั้งสี่ด้านนี้ ถ้ามีแนวโน้มว่าจัดการด้วยตัวเองแล้วไม่ดีขึ้น ปรึกษาคนรอบข้างแล้วก็ไม่ดีขึ้น การมาพบนักจิตวิทยาก็อาจเป็นตัวช่วยหนึ่ง เพราะโดยปกติแล้ว คนเรา ในเวลาที่เกิดปัญหา เรามีทางเลือกมีทางออกมากมาย เช่น คุณอาจไปออกกำลังกาย เที่ยว ปาร์ตี้ ได้หมดเลย ข้อแค่ให้เป็นวิธีการที่เหมาะกับเรา” สมภพระบุ และบอกเล่าถึงรายละเอียดของการประเมินทั้งสี่ด้าน ดังนี้

ด้านที่ 1. อารมณ์ ความรู้สึก

เมื่อเรามีปัญหาสุขภาพจิต สิ่งที่จะเจอชัดๆ คือ อารมณ์ ความรู้สึก โดยส่วนใหญ่แล้ว อารมณ์ความรู้สึก ถ้าเป็นคนปกติก็จะสามารถเปลี่ยนได้เร็ว เช่น เวลาเราโกรธ เราก็โกรธ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป เราก็ไปอยู่กับอารมณ์อื่น เช่น เราอาจสนุกสนาน อารมณ์ก็หมุนไป นี่คือในกรณีที่เราเป็นคนปกติ ที่ไม่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต

แต่เมื่อใดที่เรามีปัญหาสุขภาพจิต อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งจะอยู่กับเรานานเป็นพิเศษ เช่น อารมณ์โกรธจะอยู่นานกว่าปกติ แม้เปลี่ยนไปทำกิจกรรมอย่างอื่นแล้ว อารมณ์นั้นก็ยังอยู่ ซึ่งมันจะยิ่งอยู่นานขึ้น เมื่อเราไม่สบอารมณ์ หรืออารมณ์ไม่ดี

ข้อสังเกตต่อมาเกี่ยวกับอารมณ์ ความรู้สึกคือ นอกจากอารมณ์นั้นจะอยู่นานแล้ว มันยังเกิดขึ้นง่ายเป็นพิเศษ ถ้าเรามีสุขภาพจิตดี เวลาเจอเหตุการณ์ เราสบายๆ ไม่รู้สึกอะไรเลย แต่เมื่อใดก็ตามที่คุณมีปัญหา แม้นิดๆ หน่อยๆ ก็เกิดความรู้สึกได้ง่ายมาก ถูกกระตุ้นได้ง่ายขึ้น นี่คือข้อสังเกตที่ 2 ซึ่งเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก

ข้อสังเกตอีกประการ คือ ผ่อนคลายตัวเองได้ยากขึ้น

เช่น ก่อนหน้านี้ เราอาจจะมีทางออกส่วนตัวในการผ่อนคลายตัวเอง เช่นอาจดูหนัง ฟังเพลง เล่นอินเทอร์เน็ต ไปออกกำลังกาย แต่เวลาที่เรามีปัญหาสุขภาพจิต วิธีการเดิมๆ ทำไปแล้วก็ไม่รู้สึกดีขึ้น นี่คืออีกข้อสังเกตเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก

ถ้าอารมณ์นี้เป็นอยู่นาน ถ้ามันถูกกระตุ้นได้ง่าย และมันผ่อนคลายตัวเองได้ยากขึ้น นี่คือสิ่งสะท้อนแล้วว่าการมาพบนักจิตวิทยาเพื่อปรึกษาว่ามันเกิดอะไรกับชีวิตเรา ก็เป็นทางออก

ด้านที่ 2 ซึ่งนอกเหนือจาก อารมณ์ ความรู้สึก ก็คือเรื่องของความคิด

สมภพกล่าวว่า “เมื่อเรามีปัญหาทางสุขภาพจิต ความคิด มันจะมีแนวโน้มไปในทางลบน่ะครับ มองอะไรเป็นทางลบไปหมด ไม่ได้หมายความว่าเรามองอะไรไปในทางลบไม่ได้นะ แต่เมื่อเราเกิดปัญหาสุขภาพจิต ทุกอย่างจะเป็นลบไปหมด ถ้าเปรียบเป็นสีก็คือ เป็นสีดำไปหมด ไม่มีสีอื่นเลย

ข้อสังเกตอีกอย่างคือ โดยปกติ คนเราก็มีความคิดหลากหลาย ดีบ้างแย่บ้าง แต่เมื่อมีปัญหาสุขภาพจิต ความคิดมักจะเป็นไปในแง่ลบ และห้ามไม่ได้ หยุดไม่ได้ เช่น พยายามเปลี่ยนไปคิดเรื่องอื่นแล้ว แต่ความคิดที่ไม่ค่อยโอเคมันก็ยังจะคอยติดตามเราอยู่ คุณอาจกังวลเรื่องงาน กลัวว่างานออกมาไม่ดี ถ้าคุณเป็นคนปกติ คุณก็แค่เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น เปลี่ยนเรื่องไปทำอย่างอื่น มันก็สลัดความคิดนั้นหลุดออกไปได้ชั่วคราว แต่ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ความคิดลบจะสลัดไม่หลุด มันจะคอยติดตาม ดังนั้น นี่เป็นข้อสังเกตเรื่องความคิด คือคิดลบ และคิดวนเรื่องเดิม ไม่สามารถสลัดออกไปจากความคิดนี้ได้” สมภพอธิบายอย่างเห็นภาพได้ชัดเจน และกล่าวเพิ่มเติมว่า

ด้านที่ 3 และ 4 ที่ใช้สังเกตว่าเรามีปัญหาสุขภาพจิตแล้วหรือยัง คือในเรื่องของพฤติกรรมและอาการทางร่างกาย ซึ่งสองส่วนนี้ จะเห็นได้ชัดเจน

ด้านที่ 3. พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง

สมภพกล่าวว่า “เวลาที่เรามีปัญหาสุขภาพจิตนะครับ พฤติกรรมเราจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลง อะไรที่เราทำได้ก็จะไม่ค่อยอยากทำ อะไรที่ทำเป็นกิจวัตร ก็จะเริ่มเปลี่ยน เช่น จากคนที่ทำงานตรงต่อเวลา ทำงานดี เมื่อเราเริ่มมีปัญหา เราก็เริ่มจะไม่อยากทำงาน มาทำงานสาย ไม่ค่อยอยากจะลุกจากที่นอน การดูแลตัวเองพื้นฐานไม่ค่อยอยากทำ ไม่อาบน้ำแปรงฟัน ไม่ดูแลตัวเอง จะมีความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมอย่างเห็นได้ชัด

อะไรที่ไม่เคยทำ ก็ดันทำขึ้นมา เช่น ซื้อของมากขึ้น ไปดื่มมากขึ้น เข้าแอปพลิเคชั่นหาคู่ ดังนั้น ต้องลองสาเกตดูว่า อะไรที่ในเวลาปกติเราไม่ทำ แต่เริ่มทำมากขึ้น ก็สะท้อนได้ว่าเราเริ่มมีปัญหาแล้ว นี่คือ ข้อสังเกตเกี่ยวกับพฤติกรรม

ด้านที่ 4. อาการของร่างกาย

เช่น มีอาการปวดหัวอย่างไม่ทราบสาเหตุ ปวดท้อง ไม่อยากอาหาร นอนไม่ค่อยหลับ เหล่านี้ คืออาการทางร่างกาย

“ข้อสุดท้ายนี่แหละที่ทำให้เราไปพบจิตแพทย์ เพราะเราไม่รู้ว่าคืออะไร อยู่ๆ มันก็เกิดขึ้นมา ทำไม อยู่ๆ เราก็นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรงทำงาน ทำงานไม่ได้ เหล่านี้ ทำให้เราไปหาจิตแพทย์ ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ใช่แค่อาการทางร่างกาย แต่ยังมีอะไรหลายอย่างที่ช่วยให้เราพิจารณา” สมภพระบุได้อย่างครอบคลุมถึงการประเมินสุขภาพจิตทั้งสี่ด้าน

ถามว่าจากการประเมินตนเองทั้ง 4 ด้านที่สมภพว่ามา หากคนๆ หนึ่งมีอาการครบทั้ง 4 ด้าน เขาจะตัดสินใจได้อย่างไร ว่าควรไปหาจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาการปรึกษาหรือนักจิตบำบัด หรือควรไปพบทั้งสองวิชาชีพ มีคำแนะนำในการตัดสินใจอย่างไร

สมภพยอมรับอย่างตรงไปตรงมา และอธิบายว่า “จริงๆ แล้วก็ไม่ง่ายนะครับ เพราะในแวดวงวิชาชีพเอง ก็ยังมีความเห็นแตกต่างกัน ผมขอเล่าให้ฟังถึงแต่ละวิชาชีพ เพื่อจะได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น”

สมภพกล่าวถึงนักจิตวิทยาว่า งานหลักของนักจิตวิทยา โดยเฉพาะนักจิตวิทยาการปรึกษา หรือนักจิตบำบัด ก็คือการพูดคุย เพื่อจะได้ช่วยคนที่เขามีปัญหา ช่วยทำความเข้าใจว่าที่เขามีปัญหานั้น ปัญหาคืออะไรกันแน่นะ

ปัญหาเหล่านี้ ที่มันเกิดขึ้น มีที่มาที่ไปจากตรงไหนบ้าง หากจะหาทางแก้ มันมีทางเลือกไหนให้เราบ้าง ดังนั้นการทำงานจะมุ่งไปที่การแก้ปัญหา การหาสาเหตุของปัญหา การหาทางเลือกที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา มุ่งเน้นไปที่การพูดคุย เราไม่ได้ไปวินิจฉัยว่าคุณเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า คุณเป็นโรควิตกกังวล หรือไบโพล่าร์ นักจิตวิทยาจะไม่ทำเช่นนั้น แต่เราจะมุ่งไปที่ประเด็นว่าเราจะมาแก้ปัญหากัน


การทำงานแยกส่วนและทำงานร่วมกันของจิตแพทย์-นักจิตวิทยา

สมภพกล่าวว่าคนที่เหมาะมาคุยกับนักจิตวิทยาก็คือ คนที่ค่อนข้างชัดเจนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเอง ตนพอจะรู้ตัวอยู่นะ ว่ามันมีที่มา แม้ว่าจะยังไม่รู้ชัด เช่น แค่ไม่พอใจแฟน สามี ภรรยา แต่ก็บอกไม่ถูกว่าคืออะไรแน่ แบบนี้ มีประเด็นที่ค่อนข้างชัดเจน ดังนั้น การมาพูดคุยก็เป็นทางที่เหมาะสม หรือบางคนยังไม่ชัดเจน ว่าจะทำงานนี้ต่อไป หรือลาออกไปหางานใหม่

ขณะที่งานหลักๆ ของจิตแพทย์ คือการวินิจฉัยโรค สาเหตุที่ต้องวินิจฉัยเพราะถ้าวินิจฉัยไม่ถูกก็รักษาต่อไม่ได้ ว่าคุณเป็นโรคอะไรกันแน่

งานอันดับแรกๆ ของจิตแพทย์คือ เขาต้องวินิจฉัยก่อนว่าสิ่งที่คุณเป็นคืออะไร ซึมเศร้า วิตกกังวล หรือเป็นโรคอะไรกันแน่ เมื่อวินิจฉัยแล้ว ก็ให้ยาที่ตรงกับโรค

แน่นอนที่ว่าในตัวกระบวนการก็มีการพูดคุยถึงปัญหา แต่โดยหลักแล้ว จิตแพทย์เขาจะวินิจฉัยว่าคุณเป็นโรคอะไร จะได้ทำการรักษาได้ถูก

หลายๆ คน จึงรู้สึกว่าเวลาเราไปพบจิตแพทย์ เราพูดประเด็นปัญหาไม่ได้ทั้งหมด เพราะว่ามีเวลาที่ค่อนข้างจำกัด และประเด็นจะมุ่งไปยังสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เพื่อที่หมอจะได้วินิจฉัย

สมภพกล่าวว่า “ดังนั้น ถ้าเกิดอาการคุณมีเยอะ มีอาการแปลกปลอมหลายๆ อย่าง ถ้าอาการมันรุมเร้ามาก การไปพบจิตแพทย์ก่อนก็ช่วยได้ แต่บางคน นอนไม่หลับมาหลายวันเลย แล้วคุณมาคุยกับนักจิตวิทยา คุณคุยไม่ไหวหรอก คุณก็ต้องไปหาหมอ ไปหาจิตแพทย์ก่อน หรือตอนนี้ คุณเบลอๆ สับสนๆ ก็คงมาคุยกันไม่ได้ คุณต้องไปพบจิตแพทย์ก่อน ผมจึงสรุปแบบนี้ครับ ถ้าอาการหนักไปพบจิตแพทย์ก่อนก็ได้ แต่ถ้ามีประเด็นปัญหานำ ก็มาพบนักจิตวิทยาก่อนได้

แต่ถ้ามีทั้งสองส่วน ก็พบด้วยกันทั้งคู่ได้ เช่น บางคนมาพบผม แล้วผมรู้ว่าเขานอนไม่หลับเลย หลายคืนแล้ว ไปทำงานไม่ไหว มาคุยกับผมแล้ว แม้ว่าเราจะมองเห็นปัญหา แต่ก็ยังไม่อาจจะแก้ไขอะไรได้ ดังนั้น การไปหาหมอเพื่อทานยาและนอนหลับได้ดีขึ้น มันก็เป็นตัวช่วยให้เขาแก้ปัญหาให้ดีขึ้น หรือบางที ผมก็มีจิตแพทย์ที่ทำงานร่วมกันอยู่ คุณหมอก็จะเห็นว่า เขากินยาอย่างเดียวไม่พอ เพราะยังมีประเด็นปัญหาที่ต้องแก้ ดังนั้น คุณกินยาเข้าไป มันยังไม่ช่วยแก้ปัญหานะ ยังต้องมาคุย เพื่อที่คุณจะได้หาทางแก้ปัญหาให้มันจบ
เพราะฉะนั้น การทำงานของเรา ก็มุ่งเน้นคนละมิติ และทำงานร่วมกันได้” สมภพระบุและบอกเล่าเพิ่มเติมว่า ในเชิงหลักการ นักจิตวิทยาก็ได้เรียนรู้หลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยโรคมาเหมือนกับจิตแพทย์ ถามว่าเจอแล้วเราพอจะมองออกไหมว่าเขาเป็นโรคอะไร ตอบว่ามองออก แต่เราไม่มีอำนาจหน้าที่ไปฟันธง เราไม่ตัดสิน เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของจิตแพทย์ เพราะการทำงานของเรา มุ่งเน้นไปที่การแก้โจทย์ การแก้ปัญหา แต่ถ้าคุณไปหาหมอไปหาจิตแพทย์ หมอก็จะถามว่าช่วงนี้คุณนอนหลับดีไหม เศร้าไหม เขาก็จะดูอาการ ถ้าอาการเยอะ และมันรบกวนการใช้ชีวิต หมอก็จะให้ยาครับ” สมภพระบุ


เหตุผลที่ทำให้เป็นนักจิตวิทยา

ได้รับความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพใจสุขภาพจิตจากการสนทนาไม่น้อย อดถามไม่ได้ว่า เพราะเหตุใดจึงเป็นนักจิตวิทยาและประกอบวิชาชีพนี้

สมภพตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า “จริงๆ แล้ว ผมเลือกเรียนจิตวิทยาด้วยความเข้าใจผิดครับ ถ้าจะพูดกันตามตรง ช่วงมัธยมปลาย ผมมีความสนใจเรื่องปรัชญา ศาสนา อะไรทำนองนั้น แต่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เราสนใจอยู่นั้น คืออะไร แต่เรานึกเอาเองว่าสิ่งที่เราสนใจคือ จิตวิทยา เนื่องจากผมชอบอ่านหนังสือของ ‘หลวงวิจิตรวาทการ’ ก็พบว่าท่านเป็นคนไทยคนแรกๆ เลยนะครับ ที่ได้ไปศึกษาจิตวิทยาที่ต่างประเทศ แล้วท่านก็กลับมาเขียนหนังสือมากมายเกี่ยวกับจิตใจมนุษย์

แต่สิ่งเหล่านี้ ไม่เหมือนกับจิตวิทยาที่ผมได้เข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัย เราตั้งใจว่าจะมาเรียนจิตวิทยาเหมือนหลวงวิจิตรวาทการนะ คือท่านเขียนหนังสือเกี่ยวกับจิตใจในเชิงความลี้ลับ เชิงฝึกฝนอำนาจจิต คือผมจำได้ดีเลยครับ สมัยมัธยม ตอนกลางคืน ผมก็จะอ่านหนังสือของหลวงวิจิตรวาทการ จะมีหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ ‘กำลังความคิด’

มีตอนหนึ่งที่ท่านเขียนถึงการฝึกพลังความคิด ด้วยการให้นำเอาน้ำใส่แก้วไวน์ ให้เต็มแก้วเลยนะครับ แล้วให้ถือวนโดยที่น้ำไม่หก ผมก็ฝึกอย่างนี้อยู่สักพักเลยครับ แล้วผมก็เข้าใจไปว่า การฝึกฝนอำนาจจิตเป็นแบบนี้แหละ แต่คือเมื่อมาเรียนจิตวิทยาแล้วมันไม่ใช่เลย คนละเรื่องกันเลย ผมก็เลือกด้วยความเข้าใจผิด ซึ่งตอนเรียนปริญญาตรี ผมเลือกเรียนจิตวิทยาคลินิคด้วยนะครับ งานหลักคือการทำงานกับคนที่มีอาการทางจิต ก็ไปฝึกที่โรงพยาบาลต่างๆ เช่น โรงพยาบาลศรีธัญญา, สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ก็จะได้เห็นแต่คนที่มีความผิดปกติทางจิต

เมื่อเรียนจบ ผมรู้สึกว่าการทำงานกับคนกลุ่มนี้มีข้อจำกัดเยอะ ผมเห็นว่าคนทั่วๆ ไปที่ไม่ได้อยู่โรงพยาบาลต่างหากที่น่าจะมีปัญหาเยอะ และเป็นคนกลุ่มใหญ่ ผมก็เลยคิดว่า จิตวิทยาอะไรที่จะช่วยคนกลุ่มนี้ ดังนั้น ผมจึงเลือกเรียนต่อปริญญาโทด้านจิตวิทยาการปรึกษา มุ่งเน้นการทำงานกับคนปกติทั่วๆ ไปเลย เช่น คุณ และ ผม เราก็เป็นคนทั่วๆ ไป ที่อาจจะมีปัญหาอยู่แล้ว การมาเรียนตรงนี้จึงทำงานได้กับคนทุกคนที่มีปัญหาชีวิต นี่คือที่มาที่ไปครับ”

สมภพบอกเล่าถึงทางเดินชีวิตบนแขนงวิชาชีพนักจิตวิทยา ที่แม้จะมีที่มาของการเลือกเรียนที่ฟังแล้วอดขำไม่ได้ ทว่า ความมุ่งมั่นตั้งใจของเขาที่สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนตลอดระยะเวลาอันยาวนานนับแต่เรียนปริญญาตรี คณะสังคมศาสตร์ ภาควิชาจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเรียนต่อปริญญาโท คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทั่งการทำงานเป็นนักจิตวิทยาด้วยความมุ่งหวังเพื่อช่วยเหลือเยียวยา หาทางออกให้ปัญหาในชีวิตจิตใจของผู้คน ล้วนเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและสะท้อนถึงจุดยืน จรรยาบรรณในวิชาชีพของเขาได้เป็นอย่างดี


เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์

สมภพกล่าวว่า กระบวนการทำงานของเขา เชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการที่จะแก้ปัญหา มนุษย์ทุกคนมีคำตอบอยู่แล้ว สำหรับปัญหาของเขาเอง เพียงแต่มีอุปสรรคบางอย่าง ที่ทำให้ไม่สามารถค้นพบวิธีการที่จะใช้รับมือกับปัญหาที่เจอ

“ดังนั้น หน้าที่ของนักจิตวิทยาจึงไม่ใช่การให้คำตอบ ว่าคุณควรทำอะไร ตัดสินใจแบบไหน แต่สิ่งที่เราทำคือ ร่วมกันหาทางออกว่าเขาคิด เขาเชื่อแบบนั้นเพราะอะไร ซึ่งผมพบว่า 99% เป็นแบบนั้นจริงๆ เช่น คุณบอกว่า คุณจะลาออกจากงานดีไหม ซึ่งคุณมีคำตอบในใจอยู่แล้วแหละว่าคุณอยากลาออก

หรือในความสัมพันธ์ คุณจะแยกกันหรือคุณจะไปต่อ จริงๆ แล้วคุณก็มีคำตอบในใจอยู่แล้ว แบบนี้เป็นต้น แต่เมื่อเราสับสน เราก็ไม่มั่นใจในตัวเอง เราอยากจะไปหาคำตอบจากข้างนอก อยากจะไปหาหมอดู ซึ่งคำตอบที่คุณได้จากคนอื่น มันอาจจะมีทั้งจริงและไม่จริง มันอาจจะจริงเมื่อตรงกับคำตอบของคุณที่คุณอยากจะเชื่อ

แต่ถ้ามันไม่ตรง สุดท้าย คนอื่นตอบไปมันก็ไม่จบอยู่ดี ดังนั้น สิ่งที่เราทำคือ เราทำให้เขาค้นพบคำตอบได้ด้วยตัวเอง” สมภพเน้นย้ำอย่างชัดเจนถึงความเชื่อมั่นว่าคำตอบทางออกของปัญหา ควรค้นพบด้วยตนเอง

ถามว่าจิตวิทยาแนวพุทธถือเป็นหลักในการทำงานของสมภพ และของนักจิตวิทยาการปรึกษาทุกคน ที่ Knowing Mind ศูนย์บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและส่งเสริมสุขภาวะ ใช่หรือไม่

สมภพตอบว่า “จะเรียกว่าแบบนั้นเลยก็ได้ครับ เพราะนักจิตวิทยาทุกคนที่ Knowing Mind ได้รับการฝึกฝนจิตวิทยาแนวพุทธ จิตบำบัดแนวพุทธ เพียงแต่เราก็มีแนวทางอื่นๆ ที่เราสนใจเพิ่มเติมขึ้นมา ก็ผสมผสานกัน โดยจิตวิทยาแนวพุทธ เป็นหลักการพื้นฐานที่เรามีเป็นสิ่งเดียวกัน ส่วนวิธีการ ทักษะและเทคนิคอาจแตกต่างกันได้ในการที่เราหยิบยกมาให้คำปรึกษากับผู้เข้ารับการปรึกษา


ระยะเวลาในการค้นหาคำตอบให้กับปัญหา

ถามว่าในกระบวนการเข้ารับการปรึกษา ใช้เวลานานแค่ไหน กว่าที่แต่ละคน กว่าที่แต่ละคนจะค้นพบคือคำตอบที่พวกเขาตามหา

สมภพตอบโดยเปรียบเปรยได้อย่างน่าสนใจว่า “ขึ้นอยู่กับแต่ละคนนะครับ เช่น หากมีคนสองคน เราต้องให้เขาทานอาหารแค่ไหน เขาถึงจะอิ่ม

หากคุณไม่ค่อยหิว อาจจะกินนิดเดียวก็อิ่มแล้ว แต่ผมไม่ได้กินอะไรมาทั้งวัน ผมก็ต้องกินเยอะหน่อยถึงจะอิ่ม ดังนั้น แต่ละคนย่อมใช้เวลา วิธี และกระบวนการที่แตกต่างกันออกไป เพราะเราต่างก็มีสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเรา อะไรที่สำเร็จรูป หรือมาตรฐานที่บอกว่าว่าคุณต้องมาตามลำดับขั้นตอนให้ครบแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น ผมไม่เชื่ออะไรแบบนั้นเลย ผมเชื่อว่าแต่ละคนล้วนมีแนวทางของตัวเอง ซึ่งนักจิตวิทยาต้องทำความเข้าใจ และนี่คือหน้าที่ของนักจิตวิทยา คือพบว่าอะไรที่เหมาะสมกับคนๆ นี้ อะไรที่จะช่วยคนๆ นี้ ได้ โดยที่คุณไม่ไปอิง ไปยึด หรือไปขวางเขาเพื่อให้มาเข้ากับแนวทางของคุณเอง”


หวังให้ผู้คนหมั่นดูแลจิตใจตนเอง

ก่อนบทสนทนาจะจบลง ผู้อำนวยการ Knowing Mind ทิ้งท้ายโดยให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิต

“ผมมองว่าประเด็นปัญหาเรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องใกล้ตัวเรา เราทุกคนควรใส่ใจ แต่โดยธรรมชาติของคนเราแล้ว เราจะใส่ใจก็ต่อเมื่อมันมีเหตุให้เราต้องติดขัด หรือเหตุที่มันจำเป็น เหมือนกรณีที่เราจะไปหาหมอก็ต่อเมื่อเราป่วย แต่เราไม่สามารถใช้วิธีนี้ในการดูแลจิตใจเราได้ เพราะหากรอให้ถึงจุดหนึ่ง มันยากมากนะครับที่จะแก้ไข

แต่ถ้าเราคอยหมั่นดูแลจิตใจเราอยู่ตลอด คอยหมั่นสังเกตตัวเอง เริ่มเห็นอะไรที่ไม่โอเค แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ควรเริ่มหาวิธีจัดการ ผมว่าการที่เรารีบจัดการมันเป็นวิธีที่ดีที่สุด ไม่ต้องรอให้มันแย่ ปัญหาทุกอย่างในด้านจิตใจ มันไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืนนะครับ แม้อาจจะมีบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากความสะสม คุณเผชิญกับความเครียดวันละเล็กวันละน้อย วันแล้ว วันเล่า คุณสะสมปัญหาวันละเล็กวันละน้อย วันแล้ววันเล่า แล้วไม่ยอมแก้ไข เมื่อถึงวันหนึ่งมันก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมา

เช่น คนที่เป็นโรคซึมเศร้า ไม่ใช่ว่าลืมตาตื่นขึ้นมาแล้วเขาเป็นโรคนี้เลย แต่เกิดจากการสั่งสมอะไรก็ไม่รู้ตั้งมากมายเป็นเวลายาวนานจนไม่ไหวแล้ว และก็กลายเป็นโรคนี้ ดังนั้น ก็ขอให้ทุกคนหมั่นดูแลสุขภาพจิตตัวเอง ดูแลจิตใจตัวเองอย่างสม่ำเสมอครับ”

เป็นเสียงแห่งความห่วงใยจากนักจิตวิทยาที่น่ารับฟังและควรนำมาปฏิบัติ เพื่อดูแลจิตใจของตนให้พร้อมเผชิญกับโลกที่หมุนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

แต่ถึงที่สุดแล้ว หากตระหนักว่าไม่อาจก้าวผ่านปัญหาไปได้ การปรึกษานักจิตวิทยาก็นับเป็นหนึ่งในทางเลือก

เพื่อร่วมกันหาทางออก จนกว่าเราจะพบว่าประตูแห่งทางออกบานนั้นสามารถเปิดได้ด้วยตัวเราเอง

….
Text by รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by สมภพ แจ่มจันทร์ และ Knowing Mind


กำลังโหลดความคิดเห็น