xs
xsm
sm
md
lg

“เจ้าหญิงแสนหวี” ความรักของเจ้าหญิงไทยน้อย-เจ้าชายไทยใหญ่! มาเป็นละครปลุกใจคนไทย “รักชาติยิ่งชีพ”!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



การปลุกกระแสชาตินิยมในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี กรมศิลปากรที่มี หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา) เป็นอธิบดี ซึ่งเป็นทั้งนักการทูตและนักประวัติศาสตร์ ได้มองเห็นว่าการนำเนื้อหาในประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งตอนใดมาทำเป็นละครที่มีบทรัก บทรบ ประทับใจ ให้เห็นว่าความรักที่มีต่อคู่รัก แม้จะมากเพียงใด ก็ไม่เท่ากับความรักชาติ เป็นการปลุกใจให้เกิดความรักชาติรักบ้านเมือง สร้างความสามัคคีระหว่างคนในชาติ ยอมเสียสละส่วนตัวเพื่อประเทศชาติได้ ดังคำที่ว่า “รักชาติยิ่งชีพ” ละครในแนวนี้จึงถูกสร้างออกมาหลายเรื่อง ซึ่งเป็นแนวที่แตกต่างไปจากละครที่มีแสดงอยู่ในขณะนั้น จึงเรียกกันว่า “ละครหลวงวิจิตร”

๑ ในละครเหล่านี้ก็คือ “เจ้าหญิงแสนหวี” ซึ่งสร้างจากประวัติศาสตร์ช่วงที่มีความขัดแย้งกันระหว่าง ๒ รัฐไทยในอดีต คือ แสนหวี กับ เขมรัฐ ซึ่งก็คือไทยน้อยกับไทยใหญ่ เกิดจากความรักของเจ้าหญิงกับเจ้าชายของรัฐทั้งสอง แต่จากการกระทำตามใจของผู้นำ ทำให้ขุ่นข้องหมองใจกัน จนเป็นเรื่องเศร้าสะเทือนใจ

ละครเรื่องนี้เป็นละครเพลงที่ถูกนำมาออกอากาศทางวิทยุจนกระหึ่มเมืองในปี ๒๔๘๑ แม้คนที่ไม่ค่อยสนใจก็ยังจำเนื้อเพลงบางตอนได้ เช่น “เพลงแสนหวี” ที่ฝ่ายเจ้าหญิงร้องท่อนแรกว่า

พวกเราแสนหวี เราแสนยินดี รับรองเจ้าชาย
มาแต่เขมรัฐ เราจัดงานถวาย สมโภชเจ้าชาย ต่างบ้านเมืองมา

ฝ่ายเจ้าชายก็ร้องตอบด้วย “เพลงเขมรัฐ”ว่า

พวกเราเขมรัฐ ล้วนแต่พลัด บ้านเมืองเข้ามา
บุกป่าผ่าดง มุ่งตรงมานี่ เมื่อเห็นแสนหวี เมืองศรีสง่า


และยังมี “เพลงรักชาติ” ซึ่งบ่งบอกถึงจุดมุ่งหมายของละคร ที่เน้นให้สำนึกถึงความรับผิดชอบต่อชาติมากกว่าความสุขส่วนตัว ซึ่งมีเนื้อร้องว่า

ความรักอันใด แม้รักเท่าไหน ก็ไม่ยั่งยืน
เช่นรักคู่รัก รักแทบจะกลืน กลับกลายขมขื่น ลืมได้ภายหลัง

แต่ความรักชาติ รักแสนพิศวาส รักจนสุดกำลัง
ก่อเกิดมานะ ยอมสละชีวัง รักจนกระทั่ง หมดเลือดเนื้อเรา
ชีวิตร่างกาย เราไม่เสียดาย ตายแล้วก็เผา
ทุกสิ่งย่อมคลาด เว้นแต่ชาติของเรา อย่าให้ใครเข้า เหยียบย่ำทำลาย

เค้าโครงเรื่อง “เจ้าหญิงแสนหวี” หลวงวิจิตรวาทการได้นำมาจากเรื่องของ เจ้าสายเมือง มังราย แห่งเขมรัฐ หรือเชียงตุง ที่มีความรักต่อ เจ้านางเฮินคำ หรือ เรือนคำ ธิดาเจ้าฟ้าแสนหวี น้องสาวของ เจ้าห่มฟ้าผู้ครองนคร ขณะเจ้านางไปเป็นนักเรียนในโรงเรียนของอังกฤษที่เมืองร่างกุ้ง เมื่อความรักนี้ล่วงรู้ไปถึงเจ้าห่มฟ้า ซึ่งต้องการให้น้องสาวแต่งงานกับเจ้าฟ้าเมืองใดเมืองหนึ่งที่เป็นเพื่อนของตนเพื่อผลทางการเมือง แต่เจ้านางเฮินคำปฏิเสธ โดยยืนยันกับพี่ชายว่าจะแต่งงานกับคนที่รักเท่านั้น ทำให้เจ้าห่มฟ้าโกรธมาก จึงใช้วิธีบังคับให้แต่งกับ เจ้าฟ้าส่วยแต้ก เจ้าเมืองยองห้วย ซึ่งแก่กว่าเจ้านางถึง ๒๐ ปี

ในที่สุดเจ้านางเฮินคำก็ต้องยอมจำนน เพราะพี่ชายเป็นทั้งเจ้าเมืองและผู้ปกครองดูแลตนมา พอเรื่องนี้ล่วงรู้มาถึงเจ้าสายเมือง จึงได้เดินทางไปเมืองแสนหวีทันทีพร้อมกับเจ้านางจันทร์ฟองผู้เป็นน้องสาว แต่เจ้าห่มฟ้ากักตัวเจ้าเฮินคำไม่ให้ออกมาพบ ทำให้เจ้าสายเมืองเสียใจมาก ใช้มีดกรีดต้นขาของตัวเองเอาเลือดเขียนสารรักบนผ้าเช็ดหน้าให้น้องสาวที่มาด้วยนำเข้าไปให้เจ้านางเฮินคำ แล้วก็ต้องจากเขมรัฐอย่างใจสลาย ทำให้เป็นเรื่องบาดใจของสองนครด้วย

เป็นที่เปิดเผยว่า เหตุที่เจ้าสายเมืองรู้เรื่องราวภายในของหอหลวงแสนหวีตลอด ก็เพราะ เจ้านางแว่นทิพย์ ผู้เป็นมหาเทวีของเจ้าห่มฟ้า ก็คือน้องนางต่างพระมารดาของเจ้าสายเมือง ทั้งยังเป็นเพื่อนสนิทของเจ้านางเฮินคำที่อยู่โรงเรียนประจำมาด้วยกัน ที่ต้องมาเป็นมหาเทวีของเมืองแสนหวีก็เพราะเหตุผลทางการเมืองเช่นกัน ต่อมาชีวิตคู่ของเจ้าห่มฟ้าเองก็ไม่ราบรื่น มหาเทวีแว่นทิพย์ได้ขอหย่าร้าง กลับไปใช้ชีวิตที่เชียงตุงบ้านเกิดจนวาระสุดท้ายของชีวิต


ส่วนเจ้านางเฮินคำที่ถูกบังคับให้แต่งงาน กลับมีชีวิตที่รุ่งโรจน์ในช่วงที่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ เจ้าส่วยแต้กได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหภาพพม่า มหาเทวีเฮินคำจึงเป็นสุภาพสตรีหมายเลข ๑

แต่ความรุ่งโรจน์ทุกสิ่งก็ต้องจบลงในปี ๒๕๐๕ เมื่อนายพลเนวินเข้ายึดอำนาจ เจ้าส่วยแต้ก ประธานาธิบดีคนแรกถูกจับคุมขังในคุกอินเส่ง และถูกทารุนกรรมจนเสียชีวิตในปีนั้น ส่วนสุภาพสตรีหมายเลข ๑ ซึ่งได้สูญเสียสามีและบุตรชาย ได้ลี้ภัยเข้ามาเมืองไทย และไปอยู่แคนาดาอย่างถาวร จนเสียชีวิตในเดือนมกราคม ๒๕๔๖ ขณะอายุได้ ๘๖ ปี

สำหรับเจ้าสายเมือง ซึ่งเคยมาศึกษาที่กรุงเทพฯและอุปสมบถที่วัดเทพศิรินทร์ก่อนจะกลับไปเรียนที่โรงเรียนประจำของอังกฤษตั้งขึ้นที่เมืองตองยี เมืองหลวงของรัฐฉาน เมื่อจบจากไฮสกูลจึงเข้าต่อที่มหาวิทยาลัยร่างกุ้ง เมื่อสำเร็จปริญญาตรีได้ไปศึกษาต่อที่คิงส์คอลเลจ กรุงลอนดอน

ที่อังกฤษ เจ้าสายเมืองได้พบรักกับ มิ มี่ ไข่ สาวพม่าเชื้อสายมอญ ที่สำเร็จปริญญาตรีจากมหาลัยร่างกุ้ง มาต่อที่คิงส์คอลเลจด้วยกัน เมื่อสำเร็จพร้อมกันจึงเดินทางกลับพม่า มิ มี่ ไข่กลับไปร่างกุ้ง เจ้าสายเมืองกลับเชียงตุง ตอนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทั้งสองได้อพยพไปอยู่อินเดีย เจ้าสายเมืองเข้าเป็นทหารในกองทัพอังกฤษ มิ มี่ ไข่ เข้าทำงานในกระทรวงข่าวสารของอังกฤษที่อินเดีย และได้แต่งงานกัน จนสงครามสงบจึงกลับมาพม่า

เจ้าสายเมืองได้รักษาการเป็นเจ้าฟ้าเชียงตุงอยู่ ๒ ปี เมื่อเจ้าฟ้าองค์ก่อนถูกปลงพระชนม์ ส่วนผู้ที่จะขึ้นครองต่อยังศึกษาอยู่ที่ออสเตรเลีย เมื่อหมดหน้าที่แล้วก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีการศึกษาของเชียงตุงและคะยาห์ ส่วน มิ มิ่ ไข่ได้เขียนหนังสือเป็นภาษาอังกฤษออกมาหลายเล่ม จนเป็นนักเขียนดังของพม่า

ในปี ๒๕๐๕ เมื่อนายพลเนวินยึดอำนาจ เจ้าสายเมืองก็ไม่พ้นชะตากรรมเช่นเดียวกับเจ้ารัฐฉานทั้งหลาย ถูกจับไปขังคุกอินเส่ง ๖ ปี

เมื่อได้รับอิสรภาพในปี ๒๕๑๑ ก็กลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัวที่เมืองตองยี ทำงานด้านวิชาการ และได้รับเชิญไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยสำคัญของโลกทั้งที่อังกฤษและอเมริกา

เจ้าสายเมืองเสียชีวิตเมื่อปี ๒๕๓๐ มิ มิ่ ไข่ เสียชีวิตเมื่อปี ๒๕๓๓


กำลังโหลดความคิดเห็น