วันที่ ๑๗ มกราคม เป็นวันเกิดของจิตรกรเอกแห่งยุคคนหนึ่ง เขาเกิดมาด้อยวาสนากว่าคนอื่นมาก พ่อที่มีภรรยาหลายคนแยกกับแม่เมื่ออายุ ๘ ขวบ ทั้งพ่อกับแม่ก็แย่งตัวกัน แต่ไม่มีใครดูแลอย่างจริงจัง ต้องไปอาศัยอยู่กับลุง บางช่วงก็ไปอยู่กับคนอื่นจนใช้นามสกุลของผู้อุปถัมภ์ ประวัติการศึกษาก็ไม่ปรากฏ พอวัยรุ่นก็หางานทำสารพัดทั้งช่างตีเหล็ก ช่างเครื่องเรือโยง จนงานก่อสร้างเขื่อน แต่ด้วยใจรักในงานเขียนรูปมาแต่เด็ก และใฝ่ใจอย่างจริงจัง ทำให้เขากลายเป็นจิตรกรเอกยุค สร้างผลงานล้ำค่าไว้มาก
ท่านผู้นี้ก็คือ เหม เวชกร ผู้เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นสุดยอดของนักวาดรูปที่ไม่มีใครเทียบตั้งแต่ราวปี ๒๔๗๕ เป็นต้นมา ตามประวัติกล่าวว่า เหมเกิดในปี ๒๔๔๖ ที่ตำบลพระราชวัง จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของ ม.ร.ว.ปฐม ทินกร มีชื่อเล่นว่า “หุ่น” มารดาคือ ม.ล.สำริด พึ่งบุญ มีประวัติบางแห่งระบุว่าบิดามารดาได้จ้างครูมาสอนที่บ้าน และได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์กับอัสสัมชัญ แต่ ศรัลย์ ทองปาน ได้เขียนไว้ใน “เหม เวชกร จิตรกรไร้สำนักเรียน ช่างเขียนนอกสถาบัน” ในนิตยสารสารคดีว่า ทะเบียนนักเรียนเก่าของโรงเรียนทั้งสอง แม้จะมีชื่อ “เหม” หลายคน แต่ก็ไม่มีใครใกล้เคียงกับเหมคนนี้ อาจจะเข้าเรียนในช่วงสั้นๆ สรุปได้ว่าไม่ได้เข้าโรงเรียนจริงจังนัก
ตอนอายุ ๑๐ ขวบ เหมไปอยู่กับลุงคือ ม.ร.ว.แดง ทินกร ผู้ที่เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ให้ดูแลบ้านหลังเก่าที่บางขุนพรหม เมื่อท่านย้ายไปอยู่บ้านพระราชทานที่ศาลาแดง ตอนที่สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม เจ้าพระยายมราชเป็นผู้ควบคุมงานสร้าง จึงให้ทีมสถาปนิกอิตาเลียนมาพักที่บ้านบางขุนพรหม วันหนึ่งนายคาร์โล ลิโกรี จิตรกรผู้วาดภาพบนเพดานโดมพระที่นั่ง มาเห็นเด็กอายุ ๑๑-๑๒ ขวบคนหนึ่งเอาชอล์คมาเขียนที่สะพานท่าน้ำจนเปรอะไปหมด รู้สึกทึ่งในฝีมือ จึงขอไปเป็นผู้ช่วยบดสีและส่งพู่กันในงานเขียนพระที่นั่งอนันต์ฯด้วย บางจังหวะก็สอนการเขียนให้ เมื่องานเสร็จนายคาร์โลยังขอกับ ม.ร.ว.แดงจะพาเหมไปอิตาลีเพื่อเรียนด้านศิลปะ ม.ร.ว.แดงก็เห็นชอบจัดเตรียมเสื้อผ้าให้ แต่พ่อกลับมาลักตัวไป จนเหมไม่มีโอกาสได้พบลุงอีกเลย
ชีวิตช่วงนี้เหมต้องพลัดเซพเนจรไปอาศัยอยู่กับ ขุนประสิทธิ์เวชกร (แหยม เวชกร) อดีตแพทย์ประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเกี่ยวพันกันอย่างไร เมื่อเริ่มมีการใช้นามสกุลในรัชกาลที่ ๖ เหมจึงใช้นามสกุล “เวชกร” มาตลอดชีวิต ทั้งๆที่เขาควรมีชื่อว่า หม่อมหลวงเหม ทินกร
เมื่อเข้าวัยรุ่นก็ดิ้นรนหางานทำสารพัด ตั้งแต่ช่างตีเหล็กของอู่ต่อเรือ ตีเหล็กจนมือด้าน ต่อมาก็มีคนมาชวนไปทำงานในเรือโยงรับจ้างลากเรือบรรทุกในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำแม่กลอง และเมื่อมีการสร้างเขื่อนพระราม ๖ ที่สระบุรี เหมก็มาเป็นช่างเครื่องของงานสร้างเขื่อนด้วย แต่ทุกช่วงของชีวิตสิ่งที่เหมไม่ทิ้งเลยก็คือการวาดรูปที่ใจรัก
เมื่ออายุราว ๒๐ กลับเข้ากรุงเทพฯ แม่เห็นว่ามีฝีมือทางเขียนรูปอยู่บ้างจึงพาไปสมัครเป็นช่างเขียนในกรมตำราทหารบก มีหน้าที่เขียนภาพประกอบตำราวิชาทหาร และเหมคงจะหารำไพ่พิเศษอยู่บ้าง เพราะปรากฏภาพวาดหน้าปกหนังสือนิยายเล่มเล็กๆมีลายเซ็นว่า “เหม” มาตั้งแต่ปี ๒๔๖๗
เนื่องจากในปี ๒๔๗๕ จะมีงานฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี มีการซ่อมแซมภาพเขียนรามเกียรติ์ที่ระเบียงรอบโบสถ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามซึ่งชำรุดหลุดร่อนเพราะเขียนมา ๕๐ ปีแล้ว ต้องเขียนใหม่ทั้งหมด และต้องเตรียมงานล่วงหน้าถึง ๓ ปี ในปี ๒๔๗๒ จึงมีการระดมช่างเขียนฝีมือดีมาได้ราว ๗๐ คน มีศิลปินชั้นครู อย่าง เฟื้อ หริพิทักษ์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต เป็นต้น เหม เวชกร เป็นคนหนึ่งที่ผ่านการทดสอบงานนี้ และได้รับมอบหมายให้เขียนในภาพห้องที่ ๖๗ ซึ่งเป็นภาพพระรามแผลงศรล้างมังกรกัณฐ์ ซึ่งเหมได้ฝากฝีมือไว้จนถึงวันนี้
ในช่วงปลายปี ๒๔๗๔ เหมได้ร่วมกับเพื่อนอีก ๒ คน คนหนึ่งคือ เวช กระตุฤกษ์ ช่างเรียงพิมพ์ที่หันมาพิมพ์หนังสือออกมาขาย แต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก อีกคนคือ เสาว์ บุญเสนอ เพิ่งปลดมาจากทหารเกณฑ์ ซึ่งเคยเขียนหนังสือมาบ้าง ได้คบคิดกันพิมพ์หนังสือนิยายราคาถูกออกขาย ขณะนั้นนิยายประเภทนี้จะวางขายในราคา ๒๕-๓๐ สตางค์ แต่ ๓ สหายมีนโยบายจะลดคุณภาพกระดาษลง และพิมพ์จำนวนให้มากขึ้น ขายในราคา ๑๐ สตางค์ เสาว์ บุญเสนอจะเป็นคนเขียนเรื่อง เหม เวชกร เขียนปก และเวช กระตุฤกษ์จัดพิมพ์ ในชื่อ “คณะเพลินจิตต์” ที่ เสาว์ บุญเสนอเป็นคนตั้งชื่อ เริ่มด้วยเรื่อง “ขวัญใจนายร้อยตรี” วางตลาดรับปีใหม่ในวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๕ ปรากฏว่า ๓ วันก็เกลี้ยงตลาด ต้องพิมพ์ออกมาใหม่อีก ๒ ครั้ง จากนั้นหนังสือนิยายของคณะนี้ก็โด่งดังมาตลอด อย่างเรื่อง “ชีวิตต่างด้าว” มียอดพิมพ์ถึง ๒๔,๐๐๐ เล่ม อันเป็นที่มาของ “สำนักพิมพ์เพลินจิตต์” ที่โด่งดังในยุคนั้น
จุดขายหนังสือของคณะนี้นอกจากเนื้อเรื่องนิยายแล้ว ยังอยู่ที่ปกหนังสือที่สวยกว่าทุกเล่มในตลาด แม้จะมีคนพิมพ์ออกมาแข่งอีกหลายคณะ คนอ่านก็จะเล็งเล่มที่ปกมีลายเซ็น “เหม เวชกร” มากกว่าอย่างอื่น จนต่อมาปรากฏว่าค่าเขียนปกสูงกว่าค่าเขียนนิยายเสียด้วยซ้ำ
งานเขียนของเหมปลุกให้เด็กหนุ่มหลายคนที่รักการวาดรูปสมัครขอเข้าเป็นลูกศิษย์ ซึ่งเหมก็ยินดีสอนให้ หนึ่งในจำนวนนี้มี ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ หรือ เสนีย์ เสาวพงศ์ นักการทูตและศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ด้วย ศรัณย์ ทองปานได้เล่าไว้อีกว่า ปยุต เงากระจ่าง ผู้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนไทยเรื่องแรก คือ “สุดสาคร” ซึ่งเป็นคนประจวบคีรีขันธ์ ได้เขียนจดหมายขอเป็นศิษย์เหม เวชกรด้วย ๓ อาทิตย์ต่อมาได้รับจดหมายตอบรับจากเหม ทำเอามือสั่น กินข้าวไม่ลง เหมก็สอนให้ทางไปรษณีย์ จึงมีคำสอนของครูเหมเป็นลายลักษณ์อักษรและเก็บไว้อย่างดี เอามาพิมพ์ในหนังสืองานศพครูเหมด้วย
ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งค้นคว้าเกี่ยวกับงานจิตรกรรมไทยสมัยใหม่ ชี้ให้เห็นว่า
“ผมถือว่า เหม เวชกร เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่สำคัญ ช่างเขียนรุ่นก่อนเหม อย่างเช่นพระเทวาภินิมมิต เขียนพุทธประวัติ ชาดก ถ่ายแบบจากสมเด็จฯกรมพระยานริศฯ มาเป็นแบบช่างหลวง เขียนมีแบบแผน มีมงกุฎ ชฎา เป็นแบบโบราณ แต่เหมเขียนเป็นคนสามัญ เหมไม่ได้ให้ความสำคัญกับความวิจิตรพิสดารของเครื่องแต่งตัวหรือฉากประกอบอย่างคุณพระเทวาฯ
“ความเป็นไทยของเหมจึงไม่ได้อยู่ที่ figure หรือเครื่องแต่งตัว...ไม่ใช่เขียนปราสาทแล้วเป็นไทย แต่คือกิริยาท่าทางที่เขาวางความรู้สึกทีท่าของตัวละคร...ซึ่งอันนั้นเป็นไทย มันมีความรู้สึกที่แฝงอยู่ในภาพด้วย
แม้แต่การเอียงหน้า ชะม้อยชม้ายตาของตัวละครทั้งผู้หญิงผู้ชาย มันมีอันนั้นอยู่ด้วย
“คนที่จะเขียนรูปได้อย่างเหม มันต้องมีจังหวะเหมาะนะ ไม่ใช่จบจากเมืองนอกมาจะเขียนได้ มันอยู่ที่จังหวะ มีโอกาส...มีสนามลง”
เหมผลิตงานศิลปะด้านวาดรูป ทั้งภาพวาดด้วยปากกา ดินสอ และพู่กันไว้มากกว่า ๕๐,๐๐๐ ชิ้น ตัวเลขนี้ดูน่าจะเหลือเชื่อ แต่เหมเขียนมาตลอด แม้ขณะนอนป่วยก็ยังไม่หยุดเขียน
นอกจากมีฝีมือในทางวาดรูปแล้ว ตอนไปอยู่กรมตำราทหารบก เหมก็เริ่มหัดดนตรีไทย จนต่อมาตั้งวงกับเพื่อนได้ และถนัดอย่างมากในทางเครื่องสายและไวโอลิน
งานเด่นอีกอย่างของเหมคือ นอกจากเขียนปกหนังสือแล้ว เขายังเล่าเรื่องผีที่มีคนติดตามกันมาก เหมเขียนหนังสือประเภทนี้ไว้กว่า ๑๐๐ เรื่อง
เหม เวชกร สมรสกับ แช่มชื่น คมขำ ข้าราชสำนักวังหลานหลวงของกรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ เป็นคู่ชีวิตกันจนวันตาย เหมถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๒ ที่บ้านซอยตากสิน ๑ เขตธนบุรี ขณะอายุได้ ๖๖ ปี