xs
xsm
sm
md
lg

"หมอธีระ" เผยไทยกำลังไต่ขึ้นจุดพีกของ "โอมิครอน" วอนชาวไทยอย่าเพิ่งลั้นลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้อย่าเพิ่งวางใจธรรมชาติการระบาดของ "โอมิครอน" น่ากำลังไต่ขึ้นจุดพีกมากกว่า

วันนี้ (16 ม.ค.) เฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความระบุข้อความว่า “ทะลุ 326 ล้านไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 2,216,870 คน ตายเพิ่ม 5,510 คน รวมแล้วติดไปรวม 326,399,962 คน เสียชีวิตรวม 5,552,991 ราย 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส อเมริกา อินเดีย อิตาลี และออสเตรเลีย จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 84.41 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 84.33

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 43.38 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 46.24 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 4 ใน 10 อันดับแรก และ 9 ใน 20 อันดับแรกของโลก อัปเดต COVID-19 หากไม่นับออสเตรเลียแล้ว ทวีปเอเชียเป็นทวีปที่มีจำนวนการติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์เพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุดเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ประเทศต่างๆ ที่ทยอยเผชิญ Omicron ไปก่อนหน้านั้น รวมถึงหลายประเทศในเอเชียที่กำลังระบาดหนักนั้น มีลักษณะกราฟการระบาดที่มีความชันในระยะอัตราเร่งคล้ายกันมาก ในขณะที่ไทยยังไม่ได้ไต่ขึ้นแบบเขา หากดูเงื่อนเวลาควรเห็นการเริ่มถีบตัวขึ้นราว 19-23 มกราคม ส่วน Time to peak นั้น เท่าที่เห็นในประเทศอื่นมีความแปรปรวนพอสมควร ตั้งแต่ 2-4 สัปดาห์ และหลายประเทศก็ยังเป็นขาขึ้นไม่ peak ดี ส่วนหลายประเทศในยุโรปก็ยูเทิร์นเป็นขาลง บอกตรงๆ ว่าหากดูจากธรรมชาติการระบาดของ Omicron ในต่างประเทศทั่วโลกแล้ว ผมไม่เชื่อว่าตอนนี้สถานการณ์เราทรงตัวจนจะเตรียมลั้นลาได้ แต่น่าจะกำลังไต่ขึ้นมากกว่า

อัปเดต Long COVID งานวิจัยล่าสุดโดย Ceban F และคณะทำการทบทวนข้อมูลวิชาการอย่างเป็นระบบ และวิเคราะห์อภิมาน เพื่อตอบคำถามว่าคนที่ป่วยเป็นโควิด-19 แล้วมีอาการคงค้าง หรือ Long COVID นั้น จะมีอาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย (fatique) และมีปัญหาด้านความจำ (cognitive impairment) มากน้อยเพียงใด? และนานเพียงใด?

ผลการศึกษาจากงานวิจัยกว่า 80 ชิ้น พบว่าคนที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีโอกาสเป็น Long COVID โดยมีอาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลียได้ถึง 1 ใน 3 และมีปัญหาด้านความจำราว 1 ใน 5
ผู้หญิงพบอาการ Long COVID ดังกล่าวมากกว่าผู้ชายราว 1.5 เท่า
ผู้ใหญ่พบอาการ Long COVID ดังกล่าวมากกว่าเด็ก 3 เท่า
ผู้ป่วยที่มีอาการ Long COVID ดังกล่าว 1 ใน 3 มีอาการที่ติดตามน้อยกว่า 6 เดือน อีก 1 ใน 3 ก็พบได้ยาวนานกว่า 6 เดือน โดยยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด เนื่องจากข้อจำกัดในการติดตามผลของแต่ละงานวิจัย
ที่สำคัญคือ อาการ Long COVID นั้นพบว่าเกิดได้ในคนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั้งที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล (non-hospitalized) และที่ป่วยจนต้องรักษาในโรงพยาบาล (hospitalized)

ทั้งนี้ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ทีมวิจัยทบทวน บ่งชี้ว่ามีการตรวจพบสารเคมีในเลือดที่บ่งถึงกระบวนการอักเสบอย่างต่อเนื่องในกลุ่มคนที่เป็น Long COVID ซึ่งน่าจะมีส่วนอธิบายอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น และอาจสะท้อนถึงโอกาสที่จะทำให้เกิดปัญหาในระบบต่างๆ ของร่างกายในระยะยาวได้ ด้วยข้อมูลวิชาการที่มีในปัจจุบัน ย้ำว่า ควรป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ใส่หน้ากากเสมอ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี งดปาร์ตี้สังสรรค์กับคนอื่น พบคนน้อยลงสั้นลง อยู่ห่างๆ หากไม่สบายคล้ายหวัด เจ็บคอ ไอ ไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อ ควรรีบตรวจหาโควิดด้วย ไม่ติดเชื้อ ย่อมดีที่สุด สวัสดีวันอาทิตย์ครับ”

คลิกโพสต์ต้นฉบับ




กำลังโหลดความคิดเห็น