แทนขวัญ มั่นธรรม
กระแส “หมูแพง” ขณะนี้หายใจรดต้นคอตีคู่มากับการแพร่ระบาดของโอไมครอนในประเทศไทย บางวันกระแสหมูแพงแรงกว่าแซงไปสองก้าวด้วยซ้ำ เชื่อว่าประชาชนและกลุ่มบริโภคเนื้อหมูนิยม ได้รับทราบถึงต้นตอปัญหาที่แท้จริงแล้วว่าเกิดจากโรคระบาดทำให้หมูหายไปจากระบบ 50% และต้นทุนปัจจัยการผลิตเช่นอาหารสัตว์และค่าใช้จ่ายด้านการป้องกันโรคเพิ่มขึ้น 30-40% เห็นตัวเลขแบบนี้ไม่ต้องสงสัยราคาขยับขึ้นมาเรื่อยตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 จากหมูเนื้อแดงที่ราคา 135 บาท/กิโลกรัม ปัจจุบัน 250 บาท เสียงสะท้อนจากแม่ค้าน้ำเงี้ยวที่ตลาดคลองเตย บอกว่า ถ้าเป็นขาประจำมาซื้อจะได้ลดราคาเหลือ 220 บาท ถามว่าแพงไหมก็ยังแพงอยู่ดี แต่ที่ร้านก็ยังไม่ปรับราคาต้องช่วยๆ กันไป
หลายภาคส่วนประสงค์ดี เสนอหลากหลายแนวคิดแก้ไขให้สถานการณ์ดีขึ้น หนึ่งในวิธีที่มีการเสนอคือ “นำเข้าหมูนอก” เพื่อเพิ่มอุปทาน หมายให้ราคาลดลง ซึ่งเจ้ากระทรวงที่รับผิดชอบเรื่องการนำเข้า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยต้องระวังด้านสุขอนามัย ในโรคติดต่อที่อาจมากับเนื้อหมู รวมถึงกฎเกณฑ์ทางการค้าด้วย
ข้อเสนอการนำเข้าหมู จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องพิจารณาย่างรอบด้าน ว่าต้องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือป้องกันปัญหาระยะยาวและสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนให้ลูกหลานไทย
แน่นอนวิธีการนำเข้าได้รับความนิยมชมชอบจากกิจการเขียงหมูเพราะมีของขายได้ราคา แต่เกษตรกรรายย่อยคงมีคำถามว่าแล้วจะส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงเอาหมูเข้าเลี้ยงเพื่อ...? เรื่องนี้ต้องมองแบบสมดุลควบคู่กันทั้งการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน เกษตรกรไทยนี่แหละพระเอกตัวจริง แต่ต้องศัลยกรรมให้สามารถแข่งขันได้ โดยการสนับสนุนด้านเงินทุน ปัจจัยการผลิตในราคาที่เหมาะสม ความรู้ด้านการป้องกันโรค และอื่นๆ ให้ผู้เลี้ยงสามารถยืนหยัดในอาชีพได้อย่างมั่นคง
ที่สำคัญเนื้อหมูนำเข้า ยังมีเรื่องคาใจคนไทยด้านสุขอนามัย โดยเฉพาะสารตกค้างและสารปนเปื้อนจากสารแรคโตพามีน (Ractopamine) ที่รู้จักกันดีในนามสารเร่งเนื้อแดง เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ หญิงมีครรภ์ ที่สำคัญกรมปศุสัตว์ไทยประกาศ “ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงหมูอย่างเด็ดขาด” โดยเป็นสารผิดกฎหมาย ตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2545 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2546 และเป็นสารต้องห้ามของสหภาพยุโรป รวมถึงจีนเช่นกัน
รัฐบาลต้องใช้เหตุผลด้านความปลอดภัยของเนื้อสัตว์และสุขอนามัยของผู้บริโภคคนไทยมาเป็นปัจจัยในการพิจารณา แม้จะเป็นการนำเข้าเฉพาะกิจ อย่ามองเพียงว่าหมูต่างประเทศราคาถูกกว่าไทยและแก้ปัญหาระยะสั้นได้ ที่สำคัญเนื้อหมูนำเข้ามาแบบแช่แข็งเป็นชิ้นส่วน หาใช่หมูซีกตามวัฒนกรรมการบริโภคของคนไทย ทั้งการนำเข้าต้องใช้เวลาข้ามน้ำข้ามทะเลไม่ต่ำกว่า 2 เดือน ใช้เวลาผ่านพิธีการทางศุลกากรที่ปลายทางอีกประมาณ 3-5 วันทำการ ถ้าโชคร้ายตู้เย็นที่ส่งมาเสีย หมูละลาย คุณภาพตก แต่จำเป็นต้องขายเพราะไม่อยากขาดทุน ประเด็นนี้เท่ากับผลักภาระของถูก คุณภาพต่ำ ให้กับคนไทยโดยแท้ ใครจะรับผิดชอบ ถ้าอดใจรอให้เวลาเกษตรกรไทย เลี้ยงด้วยความเอาใจใส่ได้เนื้อหมูคุณภาพดี จะดีกว่าการนำเข้าหรือไม่ ตามสโลแกน ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ