xs
xsm
sm
md
lg

"หมอยง" ชี้ "โอมิครอน" ระบาดหนักต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น อนาคตอาจเป็นแค่ "โรคทางเดินหายใจประจำฤดูกาล"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ออกมาระบุข้อความกล่าวถึงการระบาดของ "โอมิครอน" จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแน่หลังปีใหม่ แต่อัตราการป่วยรุนแรง และเสียชีวิตจะลดลง แนะเร่งฉีดเข็มกระตุ้น ชี้อนาคตอาจเป็นเพียงโรคทางเดินหายใจประจำฤดูกาล

วันนี้ (6 ม.ค.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก "Yong Poovorawan" ในประเด็น "หยุดยาวช่วงปีใหม่ และการติดต่อง่าย" ซึ่ง "หมอยง" ได้ระบุข้อความว่า

"โอมิครอน เรารู้แล้วว่าติดต่อง่าย ประกอบกับการสนุกสนานรื่นเริง และหยุดยาวช่วงปีใหม่ ดังนั้น ผลที่จะพบผู้ป่วยมากขึ้นในช่วงต่อจากนี้ไปไม่ใช่เรื่องแปลก

ผมอยู่กับห้องปฏิบัติการ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ 2-3 วันนี้ รู้แล้วว่าตัวเลขและอัตราการตรวจพบโควิด-19 เพิ่มขึ้นมากๆ ผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ นับจากนี้ต่อไปจะเริ่มพุ่งขึ้นสูงอย่างแน่นอน จะขึ้นสูงแค่ไหนก็คงขึ้นอยู่กับการปฏิบัติต่อจากนี้ที่ทุกคนจะต้องร่วมมือกันลดจำนวนตัวเลขให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้

อัตราการป่วยรุนแรง และเสียชีวิต เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ป่วยจะน้อยกว่า ช่วงการระบาดของเดลตา สิ่งที่สำคัญขณะนี้จะต้องเร่งกระตุ้นวัคซีนเข็มที่ 3 ให้ได้มากที่สุดและอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง 608 ที่เรารู้กันดีว่าอายุเกิน 60 และหรือ มีโรคเรื้อรัง 8 โรค เพื่อลดความรุนแรงให้ได้

การดูแลรักษา จะรับผู้ป่วยที่มีอาการมากเข้าโรงพยาบาล ในกลุ่มสีเขียว จำเป็นที่จะต้องแยกตัวที่บ้าน หรือในชุมชนที่จัดไว้ community isolate เพื่อเป็นการลดการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์จะได้มีเวลาไปดูแลผู้ป่วยที่มีอาการมาก

จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ในรูปเราจะเห็นว่าการระบาดของทั่วโลกเกิดขึ้นเป็น 4 ระลอก เมื่อเปรียบเทียบอัตราป่วยตายจะเห็นว่าอัตราป่วยตายมีแนวโน้มลดลง ถ้าเริ่มจากปีแรกอัตราป่วยตายถึง 3-5% พอเข้าสู่ปีที่ 2 เริ่มลดลงเหลือ 2% และมีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอดจนมาถึงระลอกของโอมิครอน ที่กำลังระบาดอยู่ขณะนี้อัตราการป่วยตายอยู่ที่ 0.3% และก็หวังว่าจะลดลงอีก ดังแสดงในรูป

อัตราการเสียชีวิตในช่วงระบาดของเดลตาของประเทศไทยเราน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของทั่วโลก อัตราการป่วยตายอยู่ที่ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ และหวังว่าในช่วงการระบาดของโอมิครอนก็น่าจะลดลงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของทั่วโลก และถ้าเป็นไปได้ ถ้าทั่วโลกอัตราการป่วยตายเหลือน้อยกว่า 0.1% หรือหนึ่งในพัน ก็จะเข้าสู่ยุคของโรคทางเดินหายใจประจำฤดูกาล ที่จะสร้างปัญหาส่วนใหญ่ให้กับกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มเปราะบางอย่างเช่นไข้หวัดใหญ่"

อ่านโพสต์ต้นฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น