xs
xsm
sm
md
lg

เพราะยุทธการบนหลังม้าของพระเจ้าตากสิน จึงมาเป็น “วันทหารม้า” ๔ มกราคม! กำเนิดถนนพรานนก!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



ศูนย์การทหารม้าได้บันทึกไว้ว่า

“เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ จ.ศ.๑๑๒๘ ตรงกับวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ.๒๓๐๙ สมเด็จพระจ้าตากสินมหาราช พร้อมด้วยกำลังทหารจำนวนน้อย ได้ตีฝ่าวงล้อมกองทัพพม่าที่ล้อมกรุงศรีอยุธยาออกไป เมื่อทหารพม่ารวบรวมกำลังไล่ติดตามมาถึง ณ บ้านพรานนก อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา พระองค์พร้อมด้วยทหารเอกคู่พระทัยอีก ๔ นาย รวมเป็นทหาร ๕ นาย ม้า ๕ ม้า (ตัว) ได้ทำการรบบนหลังม้ากับข้าศึก (พม่า) ที่มีทหารบนหลังม้า ๓๐ ม้า (๓๐ คน, ๓๐ ม้า) กับทหารราบเดินเท้าอีก ๒๐๐ นาย ซึ่งในยุทธการครั้งนี้เสียเปรียบ ๑ ต่อ ๕ แต่ด้วยฝีมือการรบอันเป็นเลิศดาบยาวที่ใช้บนหลังม้า (ดาบยาวคือดาบที่ใช้บนหลังม้า จะยาวกว่าดาบปกติประมาณ ๑ ศอกคน) สามารถรบเอาชนะทหารพม่าที่มีมากกว่าได้อย่างเด็ดขาด อีกทั้งพระองค์ได้วางกลยุทธ์ให้ทหารเดินเท้าตั้งค่ายปีกกาซ่อนไว้ จากนั้นพระองค์กับขุนทหารทั้ง ๕ ชักม้าออกศึกอย่างรวดเร็วรุนแรง เมื่อเห็นข้าศึกประมาทก็ชักม้าถอยหนีเข้าสู่แดนสังหาร เมื่อพม่าเข้ามาอย่างไม่ทันระวัง กองรบปีกกาซ้ายขวาก็บุกโจมตี ทัพพม่าที่มากกว่าก็พ่ายแพ้ยับเยิน การวางกลยุทธ์ที่หลักแหลมและความเหี้ยมหาญการศึก ก็สามารถทำให้กองรบของพระเจ้าตากชนะได้อย่างเด็ดขาดสวยงาม ย่อมแสดงให้เห็นถึงการใช้คุณลักษณะของทหารม้าในการรบนั่นคือ ความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ และความรวดเร็วในการเข้าทำลายล้างอย่างสมบูรณ์ ทหารม้าจึงยกย่องพระองค์เป็นบูรพาจารย์แห่งการรบบนหลังม้า และเป็นพระบิดาของเหล่าทหารม้าของเรา และได้ถือเอาวันที่พระองค์ท่านได้สร้างวีรกรรมในครั้งนั้น คือวันที่ ๔ มกราคมของทุกปี เป็น “วันทหารม้า”

ยุทธการครั้งนี้ยังก่อให้เกิดตำนานอันเป็นที่มาของสถานที่ในปัจจุบันอีกหลายแห่ง ทั้งในย่านนั้นจนถึงกรุงเทพฯ
เมื่อพระยาตากสินตีฝ่าวงล้อมของพม่าออกมาจากกรุงศรีอยุธยานั้น ชาวบ้านแห่งหนึ่งได้ส่งข้าวเม่าให้เป็นเสบียงของทหาร อีกหมู่บ้านหนึ่งก็ส่งธนูให้เป็นอาวุธ หมู่บ้านทั้ง ๒ แห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า “บ้านข้าวเม่า และ “บ้านธนู” ปัจจุบันทั้ง ๒ หมู่บ้านเป็นตำบลอยู่ในอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เมื่อเดินทัพมาถึงคลองแห่งหนึ่งได้เกิดปะทะกับทหารพม่า ทรงได้ชัยชนะในจุดนี้ ต่อมาคลองนั้นจึงได้ชื่อว่า “คลองชนะ”

ทหารพม่ายังติดตามพระยาตากไปอย่างไม่ลดละ และตามไปทันที่บ้านโพธิ์สังหาร ได้มีหญิงชาวบ้านคนหนึ่งชื่อนางโพธิ์กับน้องสาว ได้มาช่วยรบกับพม่าจนตัวตาย ทำให้พระยาตากได้รับชัยชนะอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกู้ชาติได้แล้วทรงระลึกถึงวีรกรรมของนางโพธ์ จึงพระราชทานชื่อใหม่ให้หมู่บ้านโพสังหาร เป็น “โพธิ์สาวหาญ” ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ส่วน “บ้านพรานนก” ในตำบลโพธิ์สาวหาญ ซึ่งเป็นสถานที่ทำยุทธการครั้งสำคัญจนเป็นที่มาของวันทหารม้า ก็มี เฒ่าคำ ซึ่งมีเรียกกันว่า พรานนก ได้อาสามาช่วยจัดหาเสบียงส่งให้กองกำลังของพระยาตาก จึงถือกันว่าเป็นบุคคลสำคัญในยุทธการครั้งนี้ด้วย ปัจจุบันมีรูปปั้นพรานนกเป็นที่ระลึกอยู่ที่วัดพรานนก อำเภออุทัย

อีกทั้งถนนวังหลังที่ฝั่งธนบุรี เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.๒๔๗๕ ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนพรานนก” ให้สอดคล้องกับชื่อถนนในฝั่งนี้ซึ่งมักจะตั้งตามชื่อที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ เช่น ถนนลาดหญ้า ถนนท่าดินแดน ถนนบางแก้ว ถนนโพธิ์สามต้น เป็นต้น

นี่ก็เป็นเกร็ดของเหตุการณ์หน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์






กำลังโหลดความคิดเห็น