xs
xsm
sm
md
lg

นางรำไทยจอมใจกษัตริย์เขมร! ฝรั่งเศสไล่ออกนอกประเทศเมื่อมีข่าวจะขึ้นเป็นราชินี!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



“นางรำไทยจอมใจกษัตริย์เขมร” หรือ “นางฟ้ารัตนโกสินทร์” และ “ซิลเดอเรลลาสยาม” เป็นสมญานามของนางรำไทยคนหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๗ ซึ่งเป็นข่าวโด่งดังไปหลายประเทศทั้งเอเชีย ยุโรป จนถึงอเมริกา ว่ากำลังจะขึ้นเป็นราชินีของกัมพูชา ราชสำนักเขมรก็ไม่ได้ปฏิเสธข่าวนี้ แต่น่าแปลกใจที่ฝรั่งเศสผู้ปกครองเขมรกลับเต้นแร้งเต้นกา นอกจากจะบีบให้หนังสือพิมพ์ไทยงดเสนอข่าวนี้แล้ว ยังไล่นางรำผู้เป็นต้นข่าวออกจากกัมพูชาด้วย

นางรำผู้นี้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ แพน เรืองนนท์ เกิดที่บ้านหลานหลวง ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เป็นบุตรีของ นายพูน เรืองนนท์ และ นางแป้น เรืองนนท์ ครอบครัวที่สืบทอดการแสดงละครชาตรีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ เธอจึงซึมซับการแสดงละครชาตรีมาตั้งแต่เด็ก เมื่อโตเป็นสาวสวยได้รับบทนางเอกของคณะ

เรื่องราวอันโด่งดังของเธอปรากฏขึ้นเมื่อนายแอนดริว เอ. ฟรีแมน นักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกันที่เข้ามารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ นสพ.ภาษาอังกฤษ “บางกอกเดลิเมล์” ที่นายฟรีแมนอ้างว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นเจ้าของ เป็นผู้เปิดเผยเรื่องนี้ในบางกอกเดลิเมล์ แล้วยังเอาไปพิมพ์เผยแพร่ในอเมริกาด้วยในหนังสือชื่อ “BROWN WOMEN AND WHITE”

นายฟรีแมนเขียนไว้ว่า เขารู้เบาะแสเรื่องนางสาวแพนครั้งแรกเพราะนักข่าวคนไทยของบางกอกเดลิเมล์ที่ชื่อ ประสุต บังเอิญได้ยินผู้หญิงกลุ่มหนึ่งลงรถไฟที่สถานีหัวลำโพง และซุบซิบกันถึงเรื่องที่แม่ของนางสาวแพนเล่าให้ฟังขณะเดินทางจากอรัญประเทศมาด้วยกัน ว่าลูกสาวของเธอกำลังจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นราชินีกัมพูชา ด้วยสัญชาติญาณของนักข่าว ประสุตจึงรีบตามไปจนพบแม่ของนางสาวแพน

“ดูเหมือนจะเป็นชาวนามากกว่าจะเป็นนางละคร” ประสุตบรรยายถึงลักษณะการแต่งกายของแม่ว่าที่ราชินีกัมพูชา “เธอสวมสร้อยเงิน มีเหรียญทองสลักรูปพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชาห้อยอยู่”

เมื่อถามว่าทำไมเธอจึงคิดว่าลูกสาวจะได้เป็นราชินีกัมพูชา เธอก็บอกว่าเพราะพระมหากษัตริย์กัมพูชามีบัญชาให้อาลักษณ์หลวงบันทึกตำแหน่งของลูกสาวเธอว่าเป็น “เจ้าจอม” และพระราชทานนามใหม่ให้นางสาวแพนว่า “สีสุวัตถ์ อำไพพงศ์”

ประสุตจึงรายงานข่าวนี้ให้ บ.ก.โดยด่วน นายฟรีแมนได้นำเสนอเป็นข่าวเด่นทันที และพาดหัวข่าวว่า

“SIAMESE DANCER MAY BE CAMBODIA’S QUEEN”

“นางรำสยามอาจได้เป็นราชินีกัมพูชา”

รายงานข่าวนี้ทำให้ นางสาวแพน เรืองนนท์ โด่งดังถูกกล่าวขานกันกระหึ่มเมือง

ในการให้สัมภาษณ์ แม่ของนางสาวแพนเล่าว่า เธอและลูกตระเวนแสดงละครอยู่ที่พระตะบอง แต่ตอนนั้นเศรษฐกิจไม่ดี มีคนดูละครน้อย จึงคิดจะปิดวิกกลับกรุงเทพฯ แต่ในเย็นวันหนึ่งขณะเปิดการแสดงอยู่ ผู้ดูแลคณะได้เข้ามากระซิบว่า สมเด็จพระสีสุวัตถ์มุนีวงศ์ กษัตริย์เขมร ประทับอยู่ในกลุ่มผู้ชม และในคืนต่อมาก็เสด็จมาชมอีก เธอเห็นพระองค์ทรงปรบพระหัตถ์เสียงดังเมื่อลูกสาวของเธอปรากฏตัว

รุ่งขึ้นอีกวัน คณะละครเร่ถูกเรียกตัวให้ไปแสดงเบื้องพระพักตร์ในพระบรมมหาราชวังที่กรุงพนมเปญ และมีรับสั่งให้นางสาวแพนเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ในวันรุ่งขึ้น

“เมื่อฉันไปถึง พระองค์ทรงทักทายอย่างเป็นกันเอง และตรัสชมว่าลูกสาวของฉันสวย พระองค์ทรงตรัสขอแพนจากฉัน ซึ่งฉันยินยอมพร้อมใจอยู่แล้ว พระองค์ทรงตรัสถามอีกว่า พ่อของแพนจะยินดีเหมือนฉันหรือไม่ ฉันกราบทูลว่าเขาต้องยินดีเหมือนกัน แต่พระองค์ไม่ยึดคำของฉัน ทรงรับสั่งให้ฉันโทรเลขเรียกสามีให้เดินทางไปกรุงพนมเปญ”

พ่อของนางสาวแพนแสดงเป็นตัวตลกประจำคณะที่กรุงเทพฯ ได้รีบเดินทางไปกรุงพนมเปญ และยินยอมยกลูกสาวให้กษัตริย์กัมพูชา พระองค์จึงพระราชทานบรรดาศักดิ์ “หลวง” ให้เป็นการตอบแทน

ส่วนนางสาวแพนไม่ได้ยินดียินร้ายในเรื่องนี้ แม่ต้องกำชับว่า

“อย่าโง่ รู้ไหมว่านี่เป็นหนึ่งในล้าน หนึ่งในร้อยล้าน ที่จะเกิดขึ้นในชีวิตของนางละครทั้งหลาย”

จากนั้นก็จัดแจงแต่งตัวนางสาวแพนด้วยผ้าซิ่นและเสื้องดงามที่สุดเท่าที่มี พาเข้าไปถวายตัว

หลังจากถวายตัวได้ ๓-๔ วัน สมเด็จพระสีสุวัตถ์มุนีวงศ์ทรงประกาศว่า ทรงสถาปนานางละครชาวสยามผู้นี้เป็น “เจ้าจอม” และทรงดำริว่า หลังจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าศรีสวัสดิ์ พระราชบิดาที่สวรรคตเมื่อ ๒ เดือนก่อน จะสถาปนาให้เป็นราชินีหรือมเหสีอันดับ ๑ ต่อไป จากชายาที่มีอยู่ ๕ องค์
 
แม่ของเจ้าจอมแพนกล่าวว่า ทรงมอบให้เจ้าจอมเป็นผู้ถือกุญแจหีบทรัพย์ส่วนพระองค์ และดูแลเครื่องทรง พระกระยาหาร รวมทั้งกิจการฝ่ายใน

“ก่อนที่ฉันเดินทางกลับมา ทั้งสองคนกำลังมีความสุขมาก แพนได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เธอเป็นภรรยาที่ดีได้เท่าๆกับเป็นนางรำ”

เมื่อบางกอกเดลิเมล์เสนอข่าวนี้ออกไป สำนักข้าหลวงฝรั่งเศสในพนมเปญก็เต้นผาง สั่งมาทางกงสุลฝรั่งเศสประจำสยาม กงสุลที่สยามจึงโทรศัพท์ถึง บ.ก.ฟรีแมนด้วยตัวเองว่า

“เรื่องที่คุณลงพิมพ์เกี่ยวกับกษัตริย์มุนีวงศ์นั้น ผิดทั้งหมด” พร้อมกับแจ้งว่า “ผมกำลังจะส่งแถลงการณ์ที่เราร่างไว้แล้วไปให้คุณ ต้องการให้คุณตีพิมพ์แถลงการณ์นี้ตามที่เราเขียน นับจากนี้เราต้องขอให้คุณหยุดเขียนถึงเรื่องของพระองค์กับเด็กสาวคนนี้”

เมื่อ บ.ก.ถามถึงเหตุผลที่ขอร้องไม่ให้เขียน กงสุลฝรั่งเศสบอกว่า “เพราะทั้งหมดเป็นเรื่องไร้สาระ”

หลังจากกงสุลวางสายไปไม่นาน แถลงการณ์ก็มาถึง มีข้อความว่า

“ตามข่าวที่สถานกงสุลฝรั่งเศสได้รับจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสูงสุดในพนมเปญ ข่าวลือกับเรื่องที่จะมีการสมรสของพระมหากษัตริย์กัมพูชากับนางละครชาวสยามนั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีมูลความจริงโดยสิ้นเชิง จริงๆแล้วนางละครคนนี้ได้รับการว่าจ้างให้อยู่ในคณะนาฏศิลป์หลวงที่กรุงพนมเปญ และมีสถานภาพเช่นเดียวกับนางละครคนอื่นๆที่เป็นชาวกัมพูชาเรา (เดอะ เดลิเมล์) เสียใจอย่างยิ่งที่ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์นี้”

บ.ก.เอาคำแถลงการณ์นี้ไปให้ผู้บริหาร คือ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิฐฏ์ ซึ่งเป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ เมื่อทรงอ่านแล้ว กรมพระสวัสดิฯรับสั่งว่า

“ตามประเพณีของชาวสยามกับกัมพูชาแล้ว นางสาวแพนเป็นชายาของกษัตริย์มุนีวงศ์ ซึ่งพระองค์สามารถสถาปนาเธอเป็นราชินีได้ หากพระองค์มีพระประสงค์เช่นนั้น”

นายฟรีแมนยังได้ไปปรึกษากับเสนาบดีสยามอีกหลายคน ด้วยคำถามว่า “ทำไมฝรั่งเศสถึงต้องการปิดข่าวนี้”

คำตอบที่เขาได้รับก็คือเสียงหัวเราะ

อย่างไรก็ตาม ด้วยอำนาจแฝงบางอย่าง ทำให้บางกอกเดลิเมล์ต้องลงแถลงการณ์นี้ แต่ได้ตัดประโยคสุดท้ายที่ว่า “เรา (เดอะ เดลิเมล์) เสียใจอย่างยิ่งที่ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์นี้” ออกไป

หลังจากนั้น บางกอกเดลิเมล์ก็ยังส่งนักข่าวติดตามบิดานางสาวแพน แม้จะไม่มีข่าวเกี่ยวกับนางสาวแพน แต่สถานทูตฝรั่งเศสก็ยังไม่เลิกรา ออกแถลงการณ์ฉบับที่ ๒ อีกว่า

“กษัตริย์สีสุวัตถ์มุนีวงศ์ แห่งกัมพูชา ทรงไม่พอพระทัย และปฏิเสธข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ไร้สาระ จากการให้สัมภาษณ์ของบิดามารดานางสาวแพน จึงทรงบัญชาให้ส่งตัวนางสาวแพนกลับกรุงเทพฯทันที”

นางสาวแพนได้กลับมาถึงกรุงเทพฯในวันรุ่งขึ้น แต่ปฏิเสธว่าสมเด็จพระมุนีวงศ์ส่งเธอกลับมา บอกว่าเธอกลับมาเยี่ยมน้องชายที่กำลังป่วย

“พระองค์ไม่ต้องการให้ฉันออกมา พระองค์ทรงยินยอมก็ต่อเมื่อฉันสัญญาว่าจะมาไม่กี่วัน และจะรีบกลับไปหาพระองค์ ฉันยังเป็นชายาของพระองค์อยู่”

บางกอกเดลิเมล์ได้พาดหัวข่าวนี้ว่า

“I AM THE CAMBODIAN KING’S WIFE”

“ฉันเป็นชายาของกษัตริย์กัมพูชา”

สถานทูตฝรั่งเศสได้ตอบโต้ด้วยการออกแถลงการณ์อีก ๒ ฉบับ แต่ส่งไปที่ นสพ.สยามออฟเซิร์ฟเวอร์ และ บางกอกไทม์ ไม่ได้ส่งให้บางกอกเดลิเมล์ มีข้อความว่า

“เราได้รับแจ้งจากสถานกงสุลฝรั่งเศสว่า นางสาวแพนได้ถูกขับออกจากกัมพูชาในฐานะบุคคลไม่เป็นที่พึงปรารถนา และเธอจะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาที่กรุงพนมเปญอีก”

นายฟรีแมนยังเปิดเผยด้วยว่า นายเรย์มอน บี. สตีเฟน ที่ปรึกษาชาวอเมริกันของกระทรวงต่างประเทศไทย ได้เรียกเขาไปพบ และถามว่า

“ผมไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมคุณถึงให้พื้นที่มากมายกับข่าวไร้สาระเกี่ยวกับนางละครกับกษัตริย์กัมพูชา” ทั้งยังบอกเชิงสั่งสอนอีกว่า “ผมเห็นด้วยกับทางฝรั่งเศสว่ามันไร้สาระมาก และคุณต้องหยุดตีพิมพ์ข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้”

จากนั้นข่าวของนางสาวแพนกับกษัตริย์มณีวงศ์ก็ค่อยๆหายไปจากหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ก็มีปฏิกิริยาจากผู้อ่านบางกอกเดลิเมล์ ได้ส่งจดหมายไปกองบรรณาธิการแสดงความขุ่นเคืองที่ฝรั่งเศสได้กระทำต่อสตรีชาวสยาม และเรียกร้องให้ฝรั่งเศสขอโทษนางสาวแพน ที่กล่าวหาเธอว่า “เป็นบุคคลไม่เป็นที่พึงปรารถนา” ของราชสำนักกัมพูชา

ฟรีแมนได้เขียนในหนังสือของเขาไว้ว่า
นางสาวแพนเก็บตัวอยู่ในบ้านของบิดา มีเจ้าของวิกละครต่างๆมาเสนอค่าตอบแทนจำนวนสูงถึงคืนละ ๓๐๐ บาท เพื่อให้เธอไปปรากฏตัว ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวเทียบเท่ากับรายได้ที่เธอจะหาได้ (ในฐานะนางละคร) ใน ๑ ปี แม้แต่คณะละครเพลงต่างชาติที่กำลังแสดงอยู่ที่กรุงมะนิลา ยังติดต่อให้เธอเดินทางไปอเมริกา นางสาวแพนได้ปฏิเสธข้อเสนอทั้งหมด ด้วยเหตุผลว่า

“ฉันไม่ใช่นางละครอีกต่อไปแล้ว ฉันเป็นชายาของพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชา”

ฟรีแมนปิดบันทึกชะตาชีวิตซิลเดอเรลลาสยามในหนังสือของเขาไว้ว่า

“พระเจ้ามุนีวงศ์มองหาหญิงคนใหม่ที่ทางฝรั่งเศสยอมรับมาเป็นราชินีของพระองค์ ท้ายสุดนางสาวแพนกลับไปใช้ชีวิตที่ไม่มีใครรู้จักเช่นเดิม เธอกลับไปเป็นนางละครร่วมคณะกับมารดาและบิดาที่ยังแสดงเป็นตัวตลกในคณะละครต่อไป”

หลังจากข่าวโด่งดังสงบลงได้ ๒ ปี แพน เรืองนนท์ได้สมรสใหม่กับชายผู้เป็นนักแสดงด้วยกัน มีบุตรสาวคนหนึ่งซึ่งยึดการเป็นนางละครเช่นเดียวกับแม่และยาย

แพน เรืองนนท์ เสียชีวิตเมื่อปี ๒๕๒๒ ขณะอายุได้ ๖๕ ปี




กำลังโหลดความคิดเห็น