xs
xsm
sm
md
lg

ร.๗ กษัตริย์พระองค์แรกเสด็จประพาสเชียงใหม่! เข้าเมืองด้วยขบวนช้าง ๘๐ ตัวเหมือนกองทัพ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



การเดินทางจากกรุงเทพฯไปเชียงใหม่ในสมัยที่ยังไม่มีถนนนั้น จะไปได้ก็ทางเรือเท่านั้น โดยขึ้นไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงปากน้ำโพ จากนั้นก็แยกเข้าแม่น้ำปิง ผ่านกำแพงเพชร ตาก เข้าอำเภอจอมทองก่อนจะถึงตัวเมืองเชียงใหม่ บางตอนก็ตื้นเขินหรือมีเกาะแก่ง ต้องลากเรือไปด้วยความยากลำบาก และใช้เวลารอนแรมร่วมเดือน จึงไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดมีโอกาสได้เสด็จไปเยี่ยมเยียนหัวเมืองฝ่ายเหนือถึงมณฑลพายัพ จนกระทั่งมีการสร้างทางรถไฟขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ และเจาะอุโมงค์ขุนตานสำเร็จในรัชกาลที่ ๖

ก่อนหน้านั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่ ได้เสด็จธุดงค์ขึ้นไปถึงเมืองนครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย สวรรคโลก และอุตรดิตถ์ และเมื่อขึ้นครองราชย์แล้วก็เสด็จไปเมืองเหนืออีกครั้งด้วยเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช โดยมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงผนวชเป็นสามเณรได้โดยเสด็จไปด้วย แต่ก็ยังไม่ถึงมณฑลพายัพ

ในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้เสด็จไปเมืองเหนือ ๓ ครั้ง ครั้งแรกในปี ๒๔๔๔ เสด็จโดยรถไฟไปพระราชวังบางปะอิน จากนั้นทรงเรือเก๋งพระที่นั่งลากจูงไปจนถึงเมืองอุตรดิตถ์ ครั้งที่ ๒ ในปี ๒๔๔๙ เสด็จโดยรถไฟไปถึงปากน้ำโพธิ์ เมืองนครสวรรค์ จากนั้นทรงเรือแม่แปะ ถ่อขึ้นไปถึงกำแพงเพชร ส่วนครั้งที่ ๓ เสด็จโดยรถไฟไปนครสวรรค์ แล้วทรงเรือพระที่นั่งล่องลงมาเข้าปากแม่น้ำมะขามเฒ่ามาประพาสเมืองสุพรรณบุรี

ส่วนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จพระราชดำเนินไปถึงนครเชียงใหม่ในปี ๒๔๔๘ แต่ก็ในขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร

จึงถือได้ว่ายังไม่มีกษัตริย์สยามพระองค์ใดเคยเสด็จไปประพาสถึงเชียงใหม่ นอกจากบางพระองค์ในอดีตที่ไปในราชการสงครามเพื่อปลดปล่อยเชียงใหม่จากการยึดครองของพม่า
 
จนกระทั้งในวันที่ ๖ มกราคม ๒๔๖๑ หลังจากขึ้นครองราชย์ได้เพียงปีเศษๆ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพเป็นเวลา ๓๒ วัน โดยทางรถไฟและรถยนต์

ในวันที่ ๖ มกราคม เสด็จออกจากกรุงเทพฯโดยขบวนรถไฟพระที่นั่งในเวลา ๐๘.๐๐ น. ใช้เวลาถึง ๑๐ ชั่วโมงจึงถึงพิษณุโลก

วันที่ ๙ มกราคม เสด็จออกจากพิษณุโลก ทรงเยี่ยมเยียนเมืองแพร่ และประทับแรมบนรถไฟที่จอดสถานีเด่นชัย

วันที่ ๑๐ มกราคม ถึงเมืองลำปาง

วันที่ ๑๓ มกราคม เสด็จโดยรถยนต์จากเมืองลำปาง ไปประทับแรมที่เมืองพะเยา

วันที่ ๑๕ มกราคม เสด็จออกจากเมืองพะเยา ไปเมืองพาน และประทับแรมที่เมืองเชียงราย

วันที่ ๑๗ มกราคม เสด็จไปเมืองเชียงแสน แล้วกลับมาประทับแรมเมืองเชียงราย

วันที่ ๑๙ มกราคม จึงเสด็จออกจากเมืองเชียงราย มาประทับแรมที่เมืองพะเยาอีกครั้ง

วันที่ ๒๐ มกราคม เสด็จออกจากเมืองพะเยา มาประทับแรมเมืองลำปาง

วันที่ ๒๒ มกราคม เสด็จออกจากเมืองลำปางโดยขบวนรถไฟถึงเชียงใหม่ ประทับแรม ณ ศาลากลางจังหวัด

วันที่ ๒๖ มกราคม เสด็จไปเมืองลำพูน แล้วกลับมาเชียงใหม่

วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ เวลา ๐๘.๐๐ น. จึงเสด็จออกจากเชียงใหม่โดยขบวนรถไฟ ถึงกรุงเทพฯเวลา ๙ นาฬิกาเศษของวันที่ ๖ กุมภาพันธ์

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเล่าถึงการรับเสด็จฯพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เมืองเชียงใหม่ตอนหนึ่งว่า

“วันเสด็จถึงเชียงใหม่ ประทับพักที่สถานีรถไฟครู่หนึ่งแล้ว เจ้าเชียงใหม่แก้วนวรัฐ ผู้เป็นเชษฐาพระราชชายา ขึ้นคอช้างนำเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชชายาขึ้นขี่คอช้างนำเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์เข้าเมืองด้วยกระบวนแห่ช้าง ๘๐ เชือก ช้างกระบวนแต่งอย่างโบราณ คลุมหน้าและตัวด้วยผ้าสีแดงติดเงินเป็นแผ่นๆ มีฆ้องกลองตีอย่างพื้นเมืองมาในกระบวน และมีคนแต่งตัวอย่างนักรบโบราณถืออาวุธโล่แหลนหลาวดาบมีด มา ๒ ข้างช้าง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องเต็มยศจอมพลทหารบก ทรงถือคทายกรับคำนับราษฎรของพระองค์มาบนกูบเปิดหลังช้างพระที่นั่ง มีเจ้าไชยสงครามแต่งเต็มยศโบราณถือขอช้างพนมมือมาที่หัว และเจ้าประพันธ์ฯแต่งตัวแบบโบราณนั่งมาเป็นท้ายช้างพระที่นั่ง เสียงฆ้องกลองและสีสันของกระบวนแห่และท่าทางของช้างเดินมาเป็นทิว เป็นสิ่งที่แลดูแล้วกระพริบตาไม่ได้ ทำให้ลืมตัวไปว่าอยู่ในสมัยปัจจุบัน กลายเป็นเกิดผูกพันเห็นปู่ย่าตายายเขายกทัพไปร่วมทุกข์ร่วมสุขกันในความเป็นไทย ราษฎรแน่นไปทั้งสองข้างถนนที่เสด็จออกจากสถานีรถไฟไปยังที่ประทับศาลากลางราว ๑ ชั่วโมง ราชทูตต่างๆในกรุงเทพฯพากันขึ้น mail train ตามไปดูแห่ในวันนั้น Dr. Asmis ราชทูตเยอรมันทูลเสด็จพ่อว่า –เกิดมาไม่เคยเห็นอะไรที่จับใจเช่นนี้เลย”

“พระราชชายา” ในที่นี้ หมายถึง พระราชชายาดารารัศมี ในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งทรงมีส่วนสำคัญในการจัดขบวนรับเสด็จในครั้งนี้

พระราชดำริในการเสด็จฯเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพครั้งนี้ “จดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนิรเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พระพุทธศักราช ๒๔๖๙” กล่าวไว้ว่า มีพระราชประสงค์เพื่อทอดพระเนตรสภาพของบ้านเมืองและความเป็นอยู่ของราษฎร และความสำคัญอีกประการคือ ยังไม่เคยมีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดเสด็จพระราชดำเนินไปมณฑลพายัพมาก่อน เป็นโอกาสให้ทอดพระเนตรภูมิประเทศถิ่นฐานบ้านเมือง และทรงทราบถึงทุกข์สุขการทำมาหาเลี้ยงชีพของข้าขอบขัณฑสีมาอาณาจักรทั่วไป เพื่อจะได้ทรงแก้ไขสิ่งที่พ้นสมัย และผดุงสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้คงดีตลอดไป สมดังที่ทรงดำรงตำแหน่งประมุขของชาติ

อีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างราชตระกูลในอดีต คือราชวงศ์จักรีกับเชื้อสายของตระกูลเจ้าเจ็ดตน ที่มี เจ้าหนานทิพช้าง เป็นต้นสายของตระกูล มีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นมานาน กล่าวคือ ในพ.ศ. ๒๓๓๗ เจ้ากาวิละได้เรียกพระอนุชาทั้ง ๖ เข้าเฝ้า และมีโอวาทให้มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า

“ตั้งแต่เราทั้งหลายไปภายหน้าสืบไปถึงชั่วลูก ชั่วหลาน เหลน หลีด หลี้ ตราบสิ้นตระกูลเราทั้งหลาย แม้ว่าลูกหลาน เหลน หลีด หลี้ บุคคลใดมีใจใคร่กบฏ คิดสู้รบกับพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี แล้วเอาตัวและบ้านเมืองไปพึ่งเป็นข้าม่าน ข้าฮ่อ ข้ากุลา ข้าแก๋ว ข้าญวณ ขอผู้นั้นให้วินาศฉิบหาย ตายวายพลัน ฉิบหายเหมือนกอกล้วย พลันม้วยเหมือนกอเลา กอคา ตายไปแล้วก็ขอให้ตกนรกแสนมหากัป อย่าได้เกิดได้งอก...ผู้ใดยังอยู่ในโอวาทคำสอนแห่งเราอันเป็นเจ้าพี่ ก็ขอให้อยู่สุข วุฒิจำเริญ ขอให้มีเตชะฤทธี อนุภาพปราบชนะศัตรู มีฑีฆา อายุมั่นยืนยาว”

ในหนังสือ “เปิดแผนยึดล้านนา” โดย ผศ.ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว ของสำนักพิมพ์มติชน ได้ให้มุมมองในเรื่องนี้ว่า ผลการเสด็จประพาสมณฑลพายัพ ทำให้รัชกาลที่ ๗ ทรงแน่พระทัยที่จะไม่มีการแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครอีกต่อไป โดยมีพระราชประสงค์เปลี่ยนมณฑลพายัพให้มีการปกครองเหมือนมณฑลอื่นๆในพระราชอาณาเขต เนื่องจากครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์สยามเสด็จประพาสมณฑลพายัพ จึงมีการตระเตรียมพิธีการทียิ่งใหญ่ และเกี่ยวข้องกับคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย ราษฎร และชาวต่างชาติอื่นๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นประมุขของราษฎรในมณฑลพายัพ ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของสยามโดยสมบูรณ์






กำลังโหลดความคิดเห็น