ป้าย LED ปากซอยทองหล่อ กลับมาเปิดฉายโฆษณาอีกครั้งวันนี้ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. เผย บริษัทเจ้าของป้าย อ้างเปิดแสงแค่ 20% ยอมเสียค่าปรับ และยืนยันรื้อถอนใน 7 ก.พ.
รายงานพิเศษ
ดูเหมือนจะยังไม่จบ ปัญหาป้ายโฆษณา LED ยักษ์ ขนาด 256 ตารางเมตร ที่ต้นซอยทองหล่อฝั่งถนนสุขุมวิท ที่ส่องแสงวิบวับรบกวนการนอน การทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวันของผู้อยู่อาศัยฝั่งตรงข้าม จนผู้เดือดร้อนขึ้นป้ายภาพและข้อความตอบโต้ และปรากฏว่า ป้ายถูกปิดไปเมื่อวานนี้ (27 ธ.ค. 2564)
เป็นจังหวะพอดีกับช่วงที่ นายสุชัย พงษ์เพียรชอบ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมผู้อำนวยการเขตวัฒนา ลงพื้นที่ตรวจสอบ พร้อมยืนยันว่าต้องรื้อถอนเพราะติดตั้งโดยไม่ขออนุญาต และถ้าเปิดฉายโฆษณาอีกจะถูกปรับรายวัน หากฝ่าฝืนครบ 3 ครั้ง จะส่งฟ้องศาลดำเนินคดีอาญา
เช้าวันนี้ (28 ธ.ค. 2564) ผู้เดือดร้อนจากป้ายโฆษณา LED ดังกล่าว แจ้งกับ manageronline ว่า ป้าย LED กลับมาเปิดฉายโฆษณาอีกครั้ง แม้จะเปิดแสงไม่จ้ามาก แต่ก็ไม่เป็นไปตามสิ่งที่เจ้าหน้าที่ กทม.ชี้แจงไว้ ว่าจะเปิดฉายอีกไม่ได้
ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ได้เข้าไปคุยกับผู้บริหาร บริษัท อควา แอด จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของป้าย LED ทันทีหลังลงพื้นที่เมื่อวานนี้ และได้รับคำยืนยันว่า จะรื้อถอนป้ายออกหลังจากนี้ โดยอยู่ระหว่างการจัดหาผู้รับเหมา
ส่วนที่ยังเปิดฉายโฆษณาต่อ ทางบริษัท อควา แอด อ้างว่า เคยตกลงกับเจ้าของบ้านผู้เดือดร้อนไว้แล้ว ว่าระหว่างรอรื้อถอนจะขอเปิดฉายโฆษณาไปก่อน โดยจะใช้แสงแค่ประมาณ 20% และปิดภายในเวลา 20.00 น.
พร้อมยืนยันจะยอมจ่ายค่าปรับวันละ 7,000 บาท
นายสุชัย ยืนยันว่า แม้จะยอมเสียค่าปรับ แต่หากฝ่าฝืนเปิดฉายป้ายครบ 3 ครั้ง ทางกรุงเทพมหานครก็ต้องส่งฟ้องดำเนินคดีอาญาฐานก่อให้เกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม และต้องรื้อถอนฐานติดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งระหว่างรอการรื้อถอน อาจต้องมีการเจรจาให้มีการเยียวยาบรรเทาผลกระทบไปด้วยถ้าผู้เดือดร้อนยินยอม
ฝ่ายเจ้าของบ้านผู้เดือดร้อน เปิดเผยกับ MGR Online ว่า ได้รับการประสานเพื่อขอเจรจามาอีกรอบจริง แต่ได้ปฏิเสธการเจรจาไปแล้ว เพราะยังคงมีจุดยืนเดิมคือ ต้องการให้รื้อถอนป้าย LED ออกไป โดยระหว่างนั้นต้องไม่เปิดแสงมารบกวนการใช้ชีวิตอีก
ประเด็นปัญหามลภาวะทางแสงจากป้ายโฆษณา LED ดูเหมือนจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาใหม่ของกรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับหลายเมืองในโลก
ทำให้นายสุชัย เปิดเผยว่า จะนำปัญหานี้เข้าเสนอในที่ประชุมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เดือน ม.ค. 2565 โดยจะขอให้เจ้าหน้าที่ทุกสำนักงานเขต ออกตรวจสอบการติดตั้งป้าย LED ตั้งแต่ก่อนจะเริ่มก่อสร้าง เพื่อให้นำเข้ากระบวนการตรวจสอบทางสิ่งแวดล้อม คล้ายๆกับการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก่อนก่อสร้าง
“ยอมรับว่าอาจยังมีปัญหาข้อกฎหมายไม่รองรับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ผู้ประกอบการมองเห็นช่องว่างของกฎหมาย แต่หากพบว่ามีตรงไหนที่กฎหมายต้องแก้ไข เช่น เมื่อเป็นป้ายที่ฉายแสงออกสู่ภายนอก ต้องมีหลักเกณฑ์เพิ่มเติมอะไรบ้างในการขออนุญาตติดตั้ง ก็สามารถเสนอแก้ไขในสภากรุงเทพมหานครได้เลย” ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. กล่าว