xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายฯ ชี้ นายกฯนิวซีแลนด์ หนุนมาตรการให้ทางเลือกกับผู้สูบบุหรี่ ไม่ปิดทางเลือกเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “ลาขาดควันยาสูบ” หรือ ECST และแอดมินเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 100,000 คน เผยหลังมีข่าวรัฐบาลนิวซีแลนด์เคาะมาตรการเด็ดขาด เพื่อหยุดการสูบบุหรี่ในคนรุ่นใหม่ โดยห้ามเด็กเกิดหลังปี 2551 ซื้อบุหรี่หรือผลิตภัณฑ์ยาสูบไปจนตลอดชีวิต ว่า วัตถุประสงค์ของการทำให้นิวซีแลนด์เป็นประเทศปลอดควันมี 2 ส่วนสำคัญ คือ 1. การควบคุมผลิตภัณฑ์ไร้ควันและสร้างความแตกต่างจากบุหรี่แบบเผาไหม้เพื่อสนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่เลิกบุหรี่หรือเปลี่ยนไปใช้ทางเลือกที่เป็นอันตรายน้อยกว่า และ 2. การเข้มงวดกับบุหรี่ซิกาแรตที่มีการเผาไหม้เพื่อค่อยๆ ให้หมดไป เพราะนิวซีแลนด์ตั้งเป้าหมาย “Smokefree 2025” เพื่อลดอัตราการสูบบุหรี่ในประเทศให้เหลือต่ำกว่า 5% ภายใน ค.ศ. 2025 ซึ่งมาตรการทั้งหมดมาจากการยอมรับแนวทางการลดอันตรายจากยาสูบ (tobacco harm reduction) และชัดเจนว่า มาตรการดังกล่าวไม่ได้จำกัดการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งนิวซีแลนด์มองว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยเลิกบุหรี่
นายกรัฐมนตรี จาซินดา อาร์เดิน กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า “เรากำลังเห็นการใช้ผลิตภัณฑ์ไร้ควัน (การเวป) เป็นเครื่องมือในการเลิกสูบบุหรี่ของคนจำนวนมาก และนี่ทำให้เราสามารถผลักดันมาตรการต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อลดการสูบบุหรี่เพราะมีทางเลือกที่ผู้สูบบุหรี่สามารถใช้เลิกสูบบุหรี่ได้อย่างประสบความสำเร็จ เรารู้ว่าการเวปได้สร้างความแตกต่างให้กับคนเหล่านั้นเพื่อเลิกสูบบุหรี่และเป็นเครื่องมือที่สำคัญ”
ด้านกระทรวงสาธารณสุขนิวซีแลนด์ก็พิจารณาเห็นว่าผลิตภัณฑ์ไร้ควัน (vaping) มีศักยภาพที่จะนำประเทศไปสู่เป้าหมายประเทศปลอดควันในปี 2025 และจะดิสรัป (disrupt) ความไม่เท่าเทียมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ความตั้งใจอันดับแรกของแผนการนี้คือการปิดฉากการสูบบุหรี่ที่เป็นอันตรายของประชาชน ซึ่งมาตรการในแผนการนี้ยังรวมถึงการจำกัดการออกใบอนุญาตขายบุหรี่ให้กับร้านค้า รวมถึงการเพิ่มภาษีสมทบกองทุน แต่ไม่ได้มีการห้ามการขายหรือใช้บุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบให้ความร้อน (HTP) ซึ่งได้รับการควบคุมอย่างถูกกฎหมาย และถูกระบุในแผนการสร้างประเทศปลอดควันว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยให้นิวซีแลนด์บรรลุเป้าหมายภายในปี 2025 ได้
ด้าน นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทน ECST อีกรายเสริมว่า นิวซีแลนด์เป็นตัวอย่างประเทศที่ให้ทางเลือกกับผู้สูบบุหรี่ และเลือกที่จะสร้างฉากอวสานให้กับบุหรี่ที่มีการเผาไหม้ซึ่งเป็นสินค้าที่อันตราย ก่อให้เกิดโรคร้ายต่อผู้สูบบุหรี่ แล้วเปิดทางเลือก หรือสนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ที่อันตรายน้อยกว่า เช่น บุหรี่ไฟฟ้า และ HTP แทน เพราะรัฐบาลเข้าใจดีว่าการห้ามหรือแบนแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยไม่มีทางเลือกที่ดีกว่าให้กับผู้บริโภค จะทำให้ตลาดใต้ดินเติบโต แต่ประเทศไทยกลับยังคงปล่อยให้มีการขายบุหรี่ต่อไปแต่กลับแบนบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งตรงข้ามกับนิวซีแลนด์อย่างสิ้นเชิง อีกทั้งเมื่อได้ภาษีสรรพสามิตจากบุหรี่จำนวนมาก กลับเอามาทำกิจกรรมรณรงค์ที่ไม่ได้ช่วยให้ลดอันตรายกับคนสูบบุหรี่เลยแต่นำมาใช้โจมตีบุหรี่ไฟฟ้า แถมการแบนบุหรี่ไฟฟ้าก็แก้ไขปัญหาการลักลอบซื้อขายทางออนไลน์และแพลตฟอร์มดิจิทัลและการแอบใช้ไม่ได้ เพราะยังมีผู้ใช้ทั่วประเทศกว่า 5 แสนราย มีการซื้อขายผิดกฎหมายใต้ดินกันมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 6 พันล้านบาท จึงสนับสนุนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ให้เดินหน้าศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และกรมควบคุมโรค เข้ามาหาแนวทางแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าบนช่องทางออนไลน์และนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาควบคุมให้ถูกต้องตามกฎหมายเช่นเดียวกับประเทศชั้นนำทั่วโลก






กำลังโหลดความคิดเห็น