xs
xsm
sm
md
lg

"หมอยง" ระบุ เข็ม 3 AZ, PZ, MN กระตุ้นภูมิสู้ "โอมิครอน" ได้ดี พร้อมเผยสามารถแยกเพาะเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ระบุผลการศึกษาฉีดวัคซีนเข็ม 3 ป้องกันโอมิครอน ชี้ กระตุ้นด้วย แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ภูมิต้านทานขึ้นสูง แต่ต้องให้ห่างกัน 3-6 เดือน พร้อมเปิดเผยข่าวดี ขณะนี้สามารถแยกเพาะเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้แล้ว

วันนี้ (24 ธ.ค.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ชี้ ฉีด 2 เข็มไม่เพียงพอต่อการป้องกันสายพันธุ์โอมิครอน ทั้งนี้ หมอยงได้ระบุข้อความว่า

"เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าการได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มไม่เพียงพอในการจะป้องกัน COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน ต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็มจึงจะเพียงพอสำหรับ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน เข็มกระตุ้นควรจะเป็น AZ, PZ, MN

ถ้าดูระบบภูมิต้านทานในการฉีดเข็ม 3 ตามรูป ไม่ว่าจะฉีด SV - SV หรือ AZ - AZ มาก่อน การให้เข็ม 3 สามารถกระตุ้นภูมิต้านทานได้ดี โดยเฉพาะในการให้ช่วง 3 ถึง 6 เดือน ยกเว้นการกระตุ้นด้วยเชื้อตาย (จะกระตุ้นได้สูงประมาณ 10 เท่า 1 log scale) ดังแสดงในรูป การให้ SV 2 เข็มแล้วกระตุ้น AZ PZ MN ภูมิต้านทานขึ้นสูง เช่นเดียวกันกับ AZ 2 เข็ม กระตุ้นด้วย PZ หรือ MN ก็กระตุ้นได้สูงมาก (ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการ การศึกษา AZ เป็นเข็มกระตุ้น AZ 2 เข็มมาก่อน) ในการใช้วัคซีน Moderna การให้ขนาดครึ่งโดส เปรียบเทียบกับการให้เต็มโดส ผลภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นไม่แตกต่างกันมากดังแสดงในรูป ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้น รอการศึกษา neutralizing antibody ต่อสายพันธุ์เดลตา และโอมิครอน

สหรัฐอเมริกา การกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย MN แนะนำให้ใช้ครึ่งโดส ในทำนองเดียวกัน ประเทศยุโรป เช่นประเทศอังกฤษ ใช้ Moderna เป็นเข็มกระตุ้นตามหลัง AZ 2 โดส ก็ใช้ ครึ่งโดส เช่นเดียวกัน

การศึกษาเข็ม 3 ตามหลังสูตรไขว้ SV-AZ กำลังดำเนินการอยู่และจะแสดงผลได้หลังปีใหม่ ข้อมูลที่แสดงให้ดูนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้น ในการทำการศึกษาวิจัยเราทำมากกว่านี้มาก รวมทั้ง neutralization และขณะนี้ก็สามารถแยกเพาะเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้แล้ว จะมีข้อมูลของ neutralization ในการเผยแพร่ต่อไป ในการศึกษาเปรียบเทียบในสูตรต่างๆ ของการให้วัคซีนในประเทศไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามสถานการณ์วัคซีนที่มีอยู่ในประเทศไทย"

อ่านโพสต์ต้นฉบับ
กำลังโหลดความคิดเห็น