xs
xsm
sm
md
lg

“กรมประมง” ความหวังของคนเลี้ยงกุ้ง อุตสาหกรรมกุ้งไทยเคยโดดเด่นเป็นผู้ผลิตกุ้งเบอร์ 1 ของโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กรมประมง” ความหวังของคนเลี้ยงกุ้ง
อุตสาหกรรมกุ้งไทยเคยโดดเด่นเป็นผู้ผลิตกุ้งเบอร์ 1 ของโลก แต่ปัจจุบันกลับถดถอยจนทำให้ประเทศคู่แข่งแซงหน้าไทยไปแล้วหลายขุม ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อเมริกากลาง หรือ อเมริกาใต้ ทำอย่างไร?ไทยจะทวงแชมป์กลับมาเป็นผู้ผลิตกุ้งแถวหน้าของโลกได้

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ อุปนายกสมาคมกุ้งไทย และประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย กล่าวในงานแถลงข่าวของสมาคมฯ ว่า ประเทศไทยมีปัจจัยเหมาะสมที่จะเป็นผู้ผลิตกุ้งแถวหน้าของโลก ทั้งด้านสภาพอากาศ พันธุ์กุ้ง อาหาร เทคโนโลยีการเลี้ยง และผู้แปรรูปส่งออกที่มีฝีมือ แต่สิ่งที่ทำให้ไทยพลาดท่าเสียแชมป์ ตกไปอยู่ที่อันดับ 6-7 ของโลก เป็นเพราะไม่มีการวางแผนร่วมกันอย่างจริงจัง ทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง บริษัทอาหาร ปัจจัยการผลิต ผู้ส่งออก และภาครัฐ
ขณะที่ปัจจุบัน อุตฯกุ้งไทย ยังเผชิญปัญหาการระบาดของอาการขี้ขาว ตัวแดงดวงขาว และโรคตายด่วน มีปัญหาปัจจัยการผลิตอาหารสัตว์ปรับเพิ่มขึ้น ปัญหาราคากุ้งตกต่ำจากการระบาดของโควิด ซึ่งล้วนส่งผลให้เกษตรกรไม่กล้าลงทุน กระทบถึงปริมาณผลผลิตของประเทศที่ปีนี้จะผลิตได้ราว 2.8 แสนตัน ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ และการจะทำให้ไทยกลับมาผงาดในอุตสาหกรรมกุ้งของโลกได้อีกครั้งนั้น ต้องปรับผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการใช้เพื่อให้ผู้แปรรูปหลีกเลี่ยงการพึ่งพากุ้งนำเข้าจากต่างชาติ โดยมีการคาดการณ์ว่าปริมาณที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 4 แสนตันต่อปี
การจะเพิ่มผลผลิตกุ้งได้ ต้องมีวิธีแก้ปัญหาหลายๆด้านพร้อมกัน ดังเช่นที่ นายเอกพจน์ ยอดพินิจ อุปนายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวถึง “7 แนวทาง - 1 ความร่วมมือ-รัฐปรับบทบาท” ที่ประกอบด้วย 1) การกำหนดเป้าหมายการผลิตกุ้งในประเทศที่ชัดเจน 2) มีรูปแบบแนวทางการเลี้ยงที่เหมาะสมกับเกษตรกรทุกกลุ่ม 3) ปัญหาโรคระบาดได้รับการแก้ไขป้องกันได้เบ็ดเสร็จ 4) เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน-ภาครัฐและสถาบันการเงิน สนับสนุนดอกเบี้ยพิเศษสำหรับเกษตรกร เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับเกษตรกร มีเงินทุนในการปรับโครงสร้างฟาร์ม และโมเดลการเลี้ยงที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน 5) สร้างช่องทางการขายและความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดโลก อาทิ การเจรจา FTA กับสหภาพยุโรปเพื่อให้ไทยส่งออกในตลาดนี้ได้มากยิ่งขึ้น 6)สร้างระบบมาตรฐานการผลิตตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม และ7) นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
ส่วน 1 ความร่วมมือนั้นเกษตรกรต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ด้านการเลี้ยง สิ่งแวดล้อมและอื่นๆ โดยต้องมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดมากขึ้น และที่สำคัญ “ภาครัฐ” ต้องปรับบทบาทจากการเป็นเพียงผู้สนับสนุน มาเป็น “ผู้พัฒนาและฟื้นฟูอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง”
เรียนรู้ “บทบาทรัฐ” จากเวียดนาม
ความสำเร็จของประเทศเวียดนามที่วันนี้ สามารถก้าวขึ้นมาเป็นดาวเด่นในอุตสาหกรรมกุ้งของเอเชียได้สำเร็จ และกำลังจะไปถึงเป้าหมายผลผลิตกุ้ง 1 ล้านตันนั้น กล่าวได้ว่ามี "ภาครัฐ" เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ
เริ่มต้นที่วิสัยทัศน์รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีเล็งเห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมกุ้งของประเทศ จึงประกาศนโยบายที่ให้เวียดนามต้องเป็นผู้ผลิตกุ้งอันดับ 1 ของโลกภายในปี พศ. 2568 ด้วยจำนวนผลผลิต 1 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
จากนั้นรัฐบาลเวียดนาม เดินหน้ากลยุทธ์ที่จะทำให้วิสัยทัศน์นั้นเป็นจริง โดยจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยง-แปรรูปกุ้งด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมกุ้งเฉพาะทางแห่งแรกในภูมิภาค มีการเลี้ยงกุ้งกันมากที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง จากที่เลี้ยงแบบดั้งเดิมกว่า 4 ล้านไร่ และเลี้ยงแบบพัฒนาด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงกว่า 2 แสนไร่ เวียดนามทำการผลักดันเต็มรูปแบบ มีการใช้นโยบายเปลี่ยนนาข้าวเป็นนากุ้ง เพื่อมุ่งเปลี่ยนพื้นที่การเลี้ยงกุ้งแบบดั้งเดิมที่มีอยู่ให้เป็นการเลี้ยงแบบพัฒนา 4-6 ล้านไร่ในอนาคต ทั้งหมดเป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงกุ้งขนานใหญ่อย่างเป็นระบบ ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
ที่สำคัญ มีการเปลี่ยนนโยบายไปสู่การปฏิบัติของภาครัฐในทุกระดับ จากกระทรวง สู่กรม และลงไปถึงประมงทุกจังหวัด ด้วยนโยบายที่ชัดเจน แปรผลเป็นเป้าหมายและภารกิจของประเทศ ลงลึกในวิธีดำเนินการ การเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตเข้าด้วยกัน อุตสาหกรรมกุ้งของเวียดนามจึงเติบโตขึ้นเป็นลำดับอย่างชัดเจน
เมื่อช่วงต้นปี 2564 นายกรัฐมนตรีเวียดนามก็เดินหน้าต่อด้วยแผน 10 ปี โดยอนุมัติ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาการประมงของเวียดนาม 10 ปี (2564-2573)” เพื่อความต่อเนื่องในการพัฒนาอุตสาหกรรมประมงให้เป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ เน้นย้ำกลยุทธ์ทันสมัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน ปรับปรุงโครงสร้างที่เหมาะสม ใช้รูปแบบการผลิตที่ให้ผลผลิตสูง มีคุณภาพและประสิทธิภาพ และใช้กลยุทธ์ทุกทางที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตามเป้าหมายหลักของประเทศที่วางไว้ ขณะเดียวกัย ธนาคารของรัฐ และเอกชนได้เดินตามนโยบายประเทศ ร่วมกันปล่อยสินเชื่อแก่เกษตรกรคนเลี้ยงกุ้งด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ เมื่อได้รับการสนับสนุนทั้งจากรัฐและสถาบันการเงิน เกษตรกรก็เข้าถึงแหล่งทุน เป็นหนทางขยายผลผลิตกุ้งไปสู่เป้าหมาย 1 ล้านตันได้ต่อเนื่องเรื่อยมา
“กรมประมง” ของไทยเราจึงเป็นความหวังของคนเลี้ยงกุ้ง เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในการผลักดันส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งให้มีประสิทธิภาพ มีต้นทุนต่ำเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกุ้งไทย ซึ่งต้องเริ่มจากการ "วางทิศทางของอุตสาหกรรมกุ้ง" ให้ชัดเจนเหมือนที่เวียดนามทำ แล้วกระจายนโยบายลงสู่การปฏิบัติให้ตลอดห่วงโซ่การผลิต ขณะเดียวกันควรเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ เช่น โรคกุ้งที่ทำให้ผลผลิตเสียหาย หรือมาตรการที่จะเชิญชวนให้เกษตรกรใช้ระบบการผลิตที่เหมาะสม การสนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งทุน รวมถึงเชื่อมโยงภาครัฐในกระทรวงอื่นๆที่ต้องทำหน้าที่เจรจาการค้ากรุยทางให้การส่งออกกุ้งไทยในตลาดโลกไปได้ดียิ่งขึ้น
ความหวังของประเทศไทยที่จะทวงแชมป์ผู้ผลิตกุ้งแถวหน้าของโลกคืนมา จึงขึ้นอยู่กับการปรับตัวและเปลี่ยนบทบาทของ “กรมประมง” เป็นสำคัญ 








กำลังโหลดความคิดเห็น