xs
xsm
sm
md
lg

“หมอยง” ห่วง “โอมิครอน” ระบาดในไทย กระทบปากท้องประชาชน ชี้ผู้บริหารต้องตัดสินใจให้ดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับ “โอมิครอน” หากเข้ามาระบาดในประเทศไทยอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน ระบุผู้บริหารต้องตัดสินใจให้ดีจะหาจุดสมดุลได้อย่างไร

วันนี้ (22 ธ.ค.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเพจส่วนตัว “Yong Poovorawan” แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ “โอมิครอน” และการตัดสินใจของผู้บริหารเกี่ยวกับความเป็นอยู่ ปากท้องของประชาชน โดยหมอยงได้ระบุข้อความว่า

“การระบาดของ covid-19 สายพันธุ์โอมิครอน จะต้องเกิดในประเทศไทยอย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว ถ้าเป็นไปได้เราอยากให้ช้าที่สุดเพื่อรอระบบสาธารณสุขในการให้วัคซีนเข็ม 3 กระตุ้นให้ได้มากที่สุดก่อน การได้รับวัคซีน 2 เข็มไม่เพียงพอในการที่จะรับมือโอมิครอน

โอมิครอนจะเข้ามาได้เร็วจากผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ Test to go โดยไม่มีการกักตัว เป็นไปได้ยากที่จะป้องกันการหลุดรอดของโอมิครอนเข้ามาระบาดในประเทศไทย ผู้เดินทางเข้ามาอาจอยู่ในระยะฟักตัว หรือสัมผัสระหว่างการเดินทาง

การป้องกันจะได้ผลจะต้องย้อนกลับไปแบบเดิม มีการกักตัว จะเป็น 7 วัน 10 วัน หรือ 14 วันก็แล้วแต่ และการประกาศให้งดกิจกรรมบางอย่างในช่วงเทศกาลปีใหม่ หรือลดการเดินทาง ก็จะเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาการระบาดของโอมิครอน ถ้ามีการระบาดมากก็จะย้อนเป็นวงจรมาสู่ปากท้องประชาชน

ผลทางเศรษฐกิจก็มีความสำคัญ สำหรับความเดือดร้อนของประชาชน รวมทั้งการเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลปีใหม่ก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการแพร่กระจายของโรค

ในขณะที่อัตราการตรวจพบโอมิครอนในผู้เดินทางจากต่างประเทศและติดเชื้อมีอัตราที่สูงขึ้นอย่างมาก โอกาสหลุดรอดจึงเป็นไปได้สูงมาก และถ้าประกอบกับการเดินทางในช่วงปีใหม่ และการเฉลิมฉลองต่างๆ โอกาสแพร่กระจายของโรคก็เป็นไปได้สูง อัตราการแพร่โรคเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว บทเรียนจากประเทศในยุโรปและอเมริกาที่ไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ และบางประเทศต้องหันมาปิดประเทศอีกครั้ง

เราอยากรอให้โอมิครอนเข้ามาระบาดในประเทศไทยให้ช้าที่สุด (การป้องกันไม่ให้เข้ามา คงเป็นไปได้ยาก) เพื่อให้ระบบสาธารณสุขเตรียมรองรับ โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะต้อนรับสายพันธุ์โอมิครอน

การตัดสินใจในวันนี้ จึงขึ้นอยู่กับผู้บริหารที่จะหาจุดสมดุลระหว่างการระบาดของโรคกับปากท้องของประชาชน การตัดสินใจจะต้องให้เร็วที่สุด ก่อนที่โอมิครอนจะเข้ามาระบาดในประเทศไทย”

อ่านโพสต์ต้นฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น