ในรอบปีที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบวงกว้างในหลายมิติทั่วโลก รวมทั้งผลกระทบต่อแวดวงการศึกษาไทยในหลายแง่มุม ตั้งแต่การปิดเรียน เด็กไทยส่วนใหญ่ต้องปรับตัวในด้านการเรียนการสอน ซึ่งได้เปลี่ยนมาเป็นในรูปแบบออนไลน์ แต่ในอีกด้าน COVID-19 กลายเป็นแรงผลักดันบังคับให้เกิดการปรับตัว และนำมาซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมรูปแบบการศึกษา ใหม่ๆ ที่ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเอง เกี่ยวกับเรื่องนี้พ่อแม่ผู้ปกครองชาวไทย มีความคิดเห็นหรือแนะนำบุตรหลานอย่างไรกันบ้าง ลองไปฟังความคิดเห็นกันดู
ผศ. ดร.สุรภา เทียมจรัส อายุ 41 ปี อาชีพนักวิจัย ผู้ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล ปี 2544 และในฐานะคุณแม่ของ ด.ญ.สารินา เจนจัตน์ (น้องดีญ่า) อายุ 6 ขวบ ได้กล่าวว่า “เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมาจึงทำให้เด็กๆ ไม่สามารถไปโรงเรียนตามปกติได้ ทางครอบครัวจึงได้พยายามหาแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติมให้กับลูก นอกเหนือจากการเรียนออนไลน์กับทางโรงเรียน และได้มาพบกับ www.thailandlearning.org ซึ่งมีประโยชน์มาก เนื่องจากเป็นเว็บพอร์ทัลที่รวบรวมแหล่งเรียนรู้ในโลกออนไลน์ จัดทำโดยมูลนิธิเอเชียประจำประเทศไทย ร่วมกับสถานทูตออสเตรเลีย จากการแนะนำของเพื่อนๆ ซึ่งถือว่าเป็นเว็บไซต์ที่ดีและได้ประโยชน์เยอะมาก เพราะได้รวบรวมเอาเนื้อหาทุกสาขาวิชาเอาไว้ด้วยกันในรูปแบบลิงค์ เมื่อต้องการให้ลูกเรียนรู้ในเรื่องไหน เราก็เข้าไปค้นหาดู จากนั้นก็เข้าไปอ่านดูในแต่ละอัน ลองใช้ว่ามันดีหรือไม่ดีอย่างไร แล้วจึงเลือกจากตรงนั้นนำมาใช้ ดังนั้นเวลาส่วนใหญ่จะไม่ได้อยู่ตรงหน้าเว็บไซต์ แต่จะไปอยู่ตรงการคัดเลือกว่าอะไรที่เหมาะสมกับลูกเรา โดยแอพพลิเคชั่นที่เคยเข้าไปใช้ได้แก่ Khan Academy Kids, Reading Eggs ที่สอนภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์, Starfall Education, Brainpop ซึ่งเมื่อก่อนหน้านี้จะไม่รู้จักมาก่อนเลย
โดยส่วนตัวแล้วคิดว่า Thailand Learning นั้นมีประโยชน์สำหรับตัวคุณแม่มาก เพราะเมื่อเป็นแม่แล้วเราก็ต้องหาสิ่งดีที่สุดให้กับลูก ซึ่งนอกจากเนื้อหาวิชาต่างๆ แล้วก็ยังมีพวก National Geographic for Kids และอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย ซึ่งเว็บไซต์ของต่างประเทศมักจะมีเนื้อหาครอบคลุมกว่า มีลูกเล่นมากกว่าเว็บไซด์ของไทย แต่โดยรวมแล้วก็ถือว่ามีประโยชน์ ซึ่งผู้ปกครองควรจะต้องคัดเลือกให้ลูกก่อน แล้วจึงค่อยทำให้เขาสนุกกับมัน ส่วนใหญ่ที่บ้านจะเปิดให้ใช้โปรแกรมที่เป็นลักษณะเกมฝึกภาษา ซึ่งในช่วงแรกๆ จะแนะนำใช้งานไปพร้อมกับลูกก่อน แต่ระยะต่อมาเขาก็สามารถเปิดใช้บริการเองได้ โดยที่บ้านจะมีการควบคุมเวลาไม่ให้ลูกเล่นเกิน 30 นาที เพราะถ้าเล่นนานเกินกว่านั้นเกรงจะทำให้มีปัญหาได้ และจากการใช้บริการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพบว่าทำพัฒนาการด้านการศึกษาของลูกดีมากขึ้น อยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยหากเมื่อลูกโตขึ้นคุณแม่คิดว่าจะยังคงจะใช้ Thailand Learning เหมือนเดิม เพียงแต่ต้องหาเว็บไซต์ที่เหมาะสมตามช่วงวัยของลูก
ส่วนสิ่งที่คิดว่าควรจะต้องปรับปรุงใน Thailand Learning ก็คือควรจะมีช่องทางการแนะนำว่าในแต่ละเว็บไซต์ดีอย่างไร อาจจะทำช่องทางให้ผู้ปกครองหรือผู้ใช้บริการมากด Like หรือรีวิวแสดงความคิดเห็น เพื่อให้ผู้ใช้ท่านอื่นๆ จะได้ไม่เสียเวลามาค้นหาหรือทดลองใช้ โดยพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่สนใจสามารถเข้าไปใช้บริการได้ที่ www.thailandlearning.org เพื่อลูกที่กำลังเติบโตจะได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ นอกห้องเรียน ที่สำคัญคือใช้งานง่ายผ่านโทรศัพท์มือถือ,แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ สามารถจัดสรรเวลา เสริมสร้างหาความรู้ให้ตัวเองแม้ไม่ได้อยู่ในสถานศึกษา