เรื่องราวน่าเศร้าที่เกิดขึ้นจริงกับชีวิตคนในเมืองกรุง หลังเจ้าหน้าที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โพสต์แฉ รพ.รัฐในเมืองหลวงปฏิเสธรับเคสผู้ป่วยลมชักไปครึ่งเมือง อ้างห้องฉุกเฉินเต็ม ทำผู้ป่วยต้องนอนรอในรถกว่า 3 ชั่วโมง ระบุได้แต่คิดว่าจะทำยังไงให้รวย ซื้อประกันสุขภาพ จะได้ไม่ต้องไปเป็นผู้ป่วยอนาถาหน้าโรงพยาบาลรัฐ
เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “การันต์ ศรีวัฒนบูรพา” เจ้าหน้าที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “การันต์ ศรีวัฒนบูรพา” บอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่ผู้ป่วยรายหนึ่ง ซึ่งสิทธิรักษาอยู่บ้านเกิดในต่างจังหวัด เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เกิดอาการป่วยเป็นลมชัก รถฉุกเฉินมารับตั้งแต่เวลาประมาณ 02.25 น. แต่ปรากฏว่าโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ไม่มีที่ไหนรับ โดยอ้างว่าเตียงเต็ม ทำให้ผู้ป่วยต้องทนทรมานอยู่ในรถหลายชั่วโมง ล่าสุดต้องนอนรอในรถพยาบาล ได้เข้า รพ.ตอนหกโมงเช้าของวันที่ 16 ธ.ค. ทั้งนี้ ผู้โพสต์ได้ระบุข้อความว่า
“คืนนี้ ชายวัย 52 ปี สิทธิรักษาอยู่บ้านเกิด ตจว. มาทำงานเป็น รปภ.ในกรุงเทพฯ วันแรก ป่วยเป็นลมชัก เพื่อนร่วมงาน โทร. 1669 รถพยาบาลมารับ เอาไปส่ง รพ.รัฐ ไม่มีที่ไหนรับ เจ้าหน้าที่บนรถตระเวนถามขอความเมตตาจากโรงพยาบาลต่างๆ เกือบครึ่งกรุงเทพฯ รวมทั้ง จว.ข้างเคียง เนื่องจากคนไข้อยู่บนรถมา 3 ชั่วโมงแล้ว ชักซ้ำบนรถก็หลายรอบ แต่ไม่มี รพ.ไหนรับ อ้างแต่เตียงเต็ม นี่ไม่ใช่เคสแรก แต่เป็นแบบนี้จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา
#update สรุป เคสนี้ต้องนอนรอในรถพยาบาล ได้เข้า รพ.ตอนหกโมงเช้า กทม.มี รพ.รัฐเยอะมาก เราเคยเห็นพ่อแม่อยากให้เป็นข้าราชการ เวลาป่วยจะเข้า รพ.ไหนก็ได้ สิทธิบัตรทอง 30 บาท ถ้าฉุกเฉินต่างจังหวัดเข้า รพ.รัฐได้เลย ที่ไหนก็ได้ ฟังดูสวยหรู แต่ความจริงก็คือจะได้ยินจากห้องฉุกเฉินว่า ถ้าไปเข้าที่ไหนก็ได้ก็ไปเข้าที่อื่นสิ ไม่ต้องมาที่นี่
สุดท้ายกลายเป็นว่า ถ้าคนไข้ฉุกเฉินอยากเข้า รพ.ก็ต้องนั่งรถไปเอง รพ.จะไม่กล้าปฏิเสธ ถ้าไปด้วย 1669 รพ.จะไม่รับ
ทุกวันนี้ได้แต่คิดว่าจะทำยังไงให้รวย ซื้อประกันสุขภาพ จะได้ไม่ต้องไปเป็นผู้ป่วยอนาถาหน้าโรงพยาบาลรัฐ”
เรื่องราวดังกล่าวกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากชาวเน็ตเป็นจำนวนมาก และเกิดคำถาม ห้องฉุกเฉินสามารถปฏิเสธผู้ป่วยเช่นนี้ได้หรือ ทำให้เจ้าหน้าที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้โพสต์อธิบายในเวลาต่อมาว่า
“โพสต์ก่อนหน้า มีหลายท่านแปลกใจว่า ER ปฏิเสธเคสได้เหรอ มันมีแบบนี้จริงเหรอ ต้องอธิบายแบบนี้ครับ ผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล จะมีการไป ER 2 แบบ คือ ประชาชนนำส่งเอง หรือไปด้วยรถ 1669
10 ปีมานี้ เราประชาสัมพันธ์กับประชาชนมาตลอดว่า เจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้โทร. 1669 ข้อดีคือ มีการดูแลโดยเจ้าหน้าที่กู้ชีพ มียาเวชภัณฑ์บนรถ มีการนำส่งไปรักษายังปลายทางที่เหมาะสม และที่สำคัญมีความรวดเร็ว
อ่าาาา ฟังแล้วมันดีใช่ไหม แต่พักไว้ตรงนี้ก่อน
ใครทำงานในระบบ EMS จะทราบดีว่า เรามี KPI คือ เมื่อรับแจ้งจะต้องไปถึงผู้ป่วยภายใน 8 นาที หรือมีงานวิชาการบอกว่า เคสอุบัติเหตุไม่ควรอยู่ในที่เกิดเหตุนานเกิน 10 นาที แต่! ไม่เคยมีการบอกว่าหลังจากเอาขึ้นรถแล้ว ควรไปให้ถึงการรักษาภายในกี่นาที
ใน กทม.ไม่รู้ว่ามันเป็นกฎ เป็นข้อตกลง สัญญาใจ หรือเป็นบุญบาปอะไรก็แล้วแต่ แต่การที่รถพยาบาลฉุกเฉินเมื่อรับผู้ป่วยขึ้นรถมาแล้ว จะขับเข้าไปส่ง รพ.เลยไม่ได้นะ ต้องให้ศูนย์ 1669 เช็กสิทธิคนป่วยว่าอยู่ที่ไหน ต้องแจ้งโรงพยาบาลปลายทางให้พร้อมรับก่อน เหตุผลฟังดูสวยหรูว่าเพื่อเตรียมการรับเคส
แต่ความจริงคือ ด้วยสภาพความแออัดของห้องฉุกเฉินใน กทม. ถ้าไม่ใช่คนไข้สิทธิของโรงพยาบาลตนเองหรือกำลังจะตายตรงนั้นจริงๆ ก็ยากมากที่จะมี รพ.ไหนรับ จะบอกเลยว่าสิทธิรักษาข้าราชการที่พ่อแม่ภูมิใจนักหนา ป่วยเข้าที่ไหนก็ได้นี่แหละ ใน กทม.หาที่เข้ายากสุด ก็ถ้าเข้าที่ไหนก็ได้ ก็ไปที่อื่นได้ไหม
สุดท้ายคนป่วยต้องนอนอยู่บนรถตระเวนหาห้องฉุกเฉินที่จะยินดีรับ หรือจอดรอเป็นสองสามชั่วโมง
กว่าศูนย์จะประสานหา รพ.ได้ เหตุผลคือถ้าขึ้นรถพยาบาลแล้วก็ให้น้ำเกลือได้นี่ ใส่ท่อช่วยหายใจไปสิ คนไข้อาการคงที่แล้วบนรถ
บางครั้งการแก้ปัญหาจบลงด้วยการให้ผู้ป่วยลงจากรถที่ริมถนนหน้า รพ.แล้วเดินเข้าไปเอง เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาลูกโซ่ เมื่อรถฉุกเฉินยังเอาคนไข้ลงไม่ได้ ก็ไม่สามารถรับเคสต่อไปได้ ศูนย์ 1669 ต้องไปหารถจากที่อื่นไปรับเคสต่อไป ทำให้การช่วยเคสอื่นล่าช้า รวมไปถึงเมื่อโรงพยาบาลอื่นๆ ที่เคสมีรถฉุกเฉินออกเคสให้ 1669 พอเจอแบบนี้บ่อยๆ ก็ปฏิเสธไม่ออกรับเคส เพราะไม่อยากเสียกำลังคนออกไปนอก รพ.เป็นชั่วโมงๆ
ขออนุญาตนำความเห็นของเพื่อนในเฟซที่เคยสัมผัสกับเรื่องนี้มาให้ดู เพื่อยืนยันว่ามันเป็นแบบนี้จริงๆ ใน กทม.”
อ่านโพสต์ต้นฉบับ
อ่านโพสต์ต้นฉบับ