นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยข้อมูลโควิด-19 แปรผันผิดเพี้ยน ทำให้ติดง่าย แพร่ง่าย และหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้เก่ง แนะวิธีรับมือต้องรับวัคซีนเข้มข้น รวดเร็ว และคัดกรองเคร่งครัด
วันนี้ (15 ธ.ค.) เฟซบุ๊ก “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha” หรือ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความระบุว่า “ปะทุสายพันธุ์เพี้ยน หมอดื้อ เขียนตั้งแต่ 22 ส.ค. 2564 จนกระทั่งปัจจุบัน พฤศจิกายน มาจนธันวาคม 2564 ปะทุ โอไมครอน ไปทั่วโลก เป็นที่ชัดเจนแน่ยิ่งกว่าแช่แป้งว่า น้องนุชสุดท้องโคโรนา โควิด-19 แปรผันผิดเพี้ยน เปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตาจนเก่งกาจ สามารถติดเชื้อได้เก่งแพร่กระจายได้จากหนึ่งไปถึงเกือบ 10 คน และแถมยังหลบลี้หนีจากกระบวนการต่อต้านภูมิคุ้มกันของมนุษย์ ตลอดจนภูมิที่สร้างจากวัคซีนหลากหลาย เหล่านี้ไม่น่าแปลกใจ
เมื่อย้อนกลับไปดูรายงานจากประเทศจีนตั้งแต่เมษายน 2563 ในผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์บ้านๆ ของจีนเอง 11 ราย และพบว่าในตัวผู้ป่วยแต่ละรายนั้นมีไวรัสโควิด-19 ที่หน้าตาไม่เหมือนกันอย่างน้อยสี่ตัวจนกระทั่งถึง 10 กว่าตัวในผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีรหัสพันธุกรรมเพี้ยนไปจากเดิมในแทบทุกท่อน และการติดตามรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดจนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมแต่ละท่อน ในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละประเทศที่มีมาตรการควบคุมเข้มแข็งหรือลดหย่อน ทำให้ทราบว่าไวรัสหนีจากสภาพเดิมสู่สภาพใหม่ และในที่สุด เลือกที่จะไฉไลกว่าเก่าโดยยึดหลักที่ว่า เธอจะต้องสามารถแพร่กระจายเพื่อรักษาเผ่าพันธุ์ไปให้นานแสนนาน
การที่พบไวรัสโควิดหน้าตาหลายแบบในคนเดียวกัน ทำให้ทางการประเทศจีนกล่าวเตือนตั้งแต่ปีที่แล้วว่าไวรัสหลายแบบดังกล่าวอาจจะมีการควบรวมผสมกลายเป็นตัวใหม่โดยกระบวนการรีคอมไบน์ และไม่ได้มีการเปลี่ยนท่อนพันธุกรรมทั้งท่อนแบบที่เห็นในไวรัสไข้หวัดใหญ่ และเป็นที่หวั่นเกรงกันว่า ถ้าคนติดเชื้อมีไวรัสที่วิวัฒนาการจนตั้งหลักเป็นสายพันธุ์ชัดเจนแล้วมากกว่าหนึ่งตัว ยกตัวอย่างเช่น มีสายพันธุ์อัลฟา กับเดลตาอยู่ด้วยกัน จะเกิดประกอบร่างใหม่กลายเป็นไฮบริดเหมือนอย่างรถยนต์ที่สลับสับเปลี่ยนใช้ไฟฟ้าหรือน้ำมันในแต่ละสภาพความเหมาะสม เพื่อความประหยัดและไม่เกิดมลพิษ ไฮบริดของไวรัสดังกล่าว ถ้าเกิดขึ้นจะกลายเป็นเอาจุดเด่นของแต่ละสายพันธุ์เข้ามาร่วมกัน
ทั้งนี้ ไม่ใช่เป็นแต่รหัสพันธุกรรมที่ทำให้ติดง่าย แพร่ง่าย และหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้เก่งเท่านั้น แต่ยังมีท่อนอื่นที่เพิ่มเขี้ยวเล็บให้กับไวรัสในการทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้อาจจะด้วยความช่วยเหลือของอนุภาคในเซลล์ของมนุษย์ที่เราเรียกว่า ไรโบโซม แต่อย่างไรก็ตาม การเกิดไฮบริดอาจจะต้องเกิดจากการที่ไวรัสสองสายพันธุ์เข้าไปติดเชื้อในเซลล์เดียวกัน ไม่ใช่เพียงแต่ที่พบจากในสิ่งคัดหลั่งหรือในกระแสเลือดเท่านั้นซึ่งอาจจะเป็นโชคดีอยู่บ้างของมนุษย์ การป้องกันการปะทุของสายพันธุ์เพี้ยนเหล่านี้ คงต้องยกให้ประเทศจีนเป็นประเทศที่ใช้บริบทของการควบคุมภายในร่างกายมนุษย์และภายนอกร่างกายมนุษย์ นั่นคือ การสร้างแรงกดดันอย่างรุนแรงไม่ให้มีการแพร่กระจายเชื้อจากคนหนึ่งไปหาคนอื่น รวมทั้งทำความสะอาดพื้นผิวสาธารณะต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ และมีการเข้มงวดตรวจคัดกรองและแยกตัวออกทันทีที่วินิจฉัยได้ว่ามีการติดเชื้อไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใดก็ตาม
ดังจะเห็นได้จากการที่สามารถตรวจคนได้เป็น 1,000,000 คนภายในระยะเวลาไม่กี่วันในพื้นที่หนึ่ง การสร้างแรงกดดันที่สำคัญต่อเชื้อที่อยู่ในร่างกายมนุษย์ ได้แก่ การวินิจฉัยได้เร็วที่สุดและให้การรักษาเร็วที่สุด ตั้งแต่นาทีแรกควบรวมการใช้สมุนไพรที่มีดาษดื่นและขึ้นทะเบียนในระบบสาธารณสุขของจีนอยู่แล้ว และยกระดับเป็นขั้นเป็นตอนควบกับการรักษาแผนปัจจุบัน และแม้กระทั่งการจัดท่าของคนที่ติดเชื้อลงปอดให้เป็นท่านอนคว่ำก็เป็นกลยุทธ์ที่ประเทศจีนใช้ก่อน แรงกดดันที่สำคัญอีกประการคือ การใช้วัคซีนเป็นจำนวนมหาศาลในเวลารวดเร็วให้แก่ประชากรมากกว่าที่คิดตัวเลข 60% แต่เป็นเกือบทั้งประเทศ ยกเว้นในเด็ก ซึ่งในระยะแรกข้อมูลความปลอดภัยอาจจะยังไม่พอ แต่ในปี 2564 นี้เองที่ประเทศจีนใช้วัคซีนที่มีอยู่ดังเดิมที่เป็นเชื้อตายฉีดให้แก่เด็กด้วย การให้วัคซีนอย่างเข้มข้นเช่นนี้ เป็นการปิดโอกาสหรือเปิดโอกาสน้อยที่สุดให้กับไวรัสที่จะมีการแพร่กระจายจากคนสู่คนไปเป็นลูกโซ่และกดดันไม่ให้มีการกลายพันธุ์หรือรหัสพันธุกรรมเพี้ยนจนกระทั่งสามารถตั้งตัวกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่”
คลิกโพสต์ต้นฉบับ