นอกจากมีบันทึกในพงศาวารกล่าวไว้ว่า พระแก้วมรกตกับพระบาง มีผีประจำองค์พระไม่ถูกกัน อยู่ร่วมกันเมื่อใดก็จะทำให้บ้านเมืองไม่มีความสงบสุข จนต้องอัญเชิญพระบางกลับไปอยู่เมืองหลวงพระบางตามเดิมแล้ว ยังมีพระพุทธรูปอีก ๒ องค์มีทั้งดีทั้งร้าย องค์หนึ่งงามแปลกตา ก่อให้เกิดสวัสดิมงคล แต่อีกองค์ไปอยู่ที่ไหนก็ทำให้คนเกิดทะเลาะวิวาทกัน จนถึงกับมีคนจดไว้ว่า ทำให้ใครทะเลาะกับใครบ้าง
ทั้งนี้เมื่อครั้ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จไปตรวจราชการที่มณฑลฝ่ายเหนือในปี ๒๔๔๑ ได้พระพุทธโบราณมา ๒ องค์ นำมาไว้ที่วังวรดิศ ถนนหลานหลวง ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังทรงสร้างวัดเบญจมบพิตร วันหนึ่งได้ตรัสกับกรมพระยาดำรงฯว่า มีพระราชประสงค์พระพุทธรูปที่จะตั้งเป็นพระประธานที่ศาลาการเปรียญสักองค์ แต่จะต้องมีขนาดพอเหมาะและให้งามสมกับที่เป็นพระประธาน จะหาให้ได้หรือไม่ กรมพระยาดำรงฯฯได้กราบทูลว่า เมื่อขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ได้พระพุทธรูปมาองค์หนึ่งขนาดตรงตามพระราชประสงค์ ถ้าโปรดก็จะถวาย
ต่อมาอีกสองสามวัน พระพุทธเจ้าหลวงมีพระราชกิจเสด็จไปเมืองสมุทรปราการเพื่อรับพระบรมสารีริกธาตุที่รัฐบาลอินเดียถวาย ได้ทรงแวะที่วังวรดิศก่อนจะเสด็จไปสถานีรถไฟหัวลำโพง พอทอดพระเนตรพระพุทธรูปองค์นั้นที่ท้องพระโรงก็ออกพระโอษฐ์ว่า
“พระองค์นี้งามแปลกจริงๆ”
ตรัสสั่งกรมวังให้จัดยานมาศกับขบวนแห่มีเครื่องสูงกลองชนะไปรับพระพุทธรูปองค์นั้นไปยังพระบรมมหาราชวัง แล้วทรงขนานพระนามถวายว่า “พระพุทธนรสีห์”
เมื่อสร้างพระอุโบสถชั่วคราวที่วัดเบญจมบพิตร โปรดให้เชิญพระพุทธนรสีห์แห่ขบวนใหญ่ไปตั้งเป็นพระประธานไว้ก่อน จนสร้างพระอุโบสถใหญ่แล้ว จึงโปรดให้หล่อจำลองพระพุทธชินราชเมืองพิษณุโลกมาเป็นพระประธาน และโปรดให้หล่อจำลองพระพุทธนรสีห์ ตั้งไว้เป็นพระประธานที่พระวิหารสมเด็จในวัดเบญจมบพิตรด้วยองค์หนึ่ง ส่วนองค์พระพุทธนรสีห์องค์จริงนั้น โปรดให้เชิญเข้าไปประดิษฐานไว้ในพระที่นั่งอัมพรสถาน
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯทรงนิพนธ์ไว้ใน “นิทานโบราณคดี” ว่า
“มีคนชอบพูดกันว่า พระพุทธนรสีห์เป็นพระมีอภินิหารให้เกิดสวัสดิมงคล อ้างว่าตัวฉันผู้เชิญลงมา ไม่ช้าก็ได้เลื่อนยศจากกรมหมื่นขึ้นเป็นกรมหลวง พระพุฒาจารย์ (มา) เมื่อยังเป็นพระมงคลทิพมุนี ผู้อำนวยการปฏิสังขรณ์ เป็นพระราชาคณะสามัญก็ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ชั้นเทพ แม้พระภิกษุเปี่ยมช่างหล่อผู้แต่งพระพุทธนรสีห์ ต่อมาไม่ช้าก็ได้มีสมณศักดิ์เป็นที่พระครูมงคลวิจิตร เขาว่ากันดังนี้”
เมื่อถวายพระพุทธนรสีห์ไปแล้ว กรมพระยาดำรงฯก็ได้นำพระพุทธรูปอีกองค์ที่ได้มาจากเมืองทุ่งยั้ง และได้ส่งไปให้พระพุฒาจารย์ (มา) ปฏิสังขรณ์เหมือนกันมาตั้งบูชาแทน ต่อมาประมาณสองเดือนได้ไปเยี่ยมเจ้าจอมมารดาชุ่ม พระมารดา ก็ได้รับคำถามว่า
“ได้ยินว่าที่ไปได้พระมาจากเมืองเหนือองค์หนึ่ง มักทำให้เกิดทะเลาะวิวาทกันจริงหรือ”
พระพุทธรูปองค์นี้กรมพระยาดำรงฯทรงพบวางนอนอยู่ในพระหัตถ์พระประธานในวิหารหลวงวัดมหาธาตุทุ่งยั้ง เมื่อถามกรมการก็ความว่า เป็นพระพุทธรูปจากวัดวังหมู ถ้าใครไปถวายเครื่องสักการะก็มักมีเหตุวิวาททะเลาะกัน จนไม่มีใครกล้าบูชา แต่พวกลูกศิษย์วัดคึกคะนองมักแอบเอาหมากพลูไปถวายเวลามีงาน ทำให้เกิดทะเลาะวิวาทกันทุกครั้ง จนวันหนึ่งได้หายไปจากวัดวังหมู่ มาพบอยู่ในพระหัตถ์พระประธานวัดมหาธาตุทุ่งยั้ง และไม่มีใครกล้าเอากลับไป สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯรับสั่งให้นำลงมาดู เป็นพระปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย มีความงามและขนาดพอเหมาะ จึงทรงขอและจุดธูปเทียนบูชาเชิญมาลงเรือ ได้ทราบว่าขณะที่นำมานั้นฝีพายเรือทะเลาะชกกัน ๑ คู่
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯนิพนธ์ตอนนี้ไว้ใน “นิทานโบราณคดี” ว่า
“ฉันไม่เคยเล่าเรื่องเดิมของพระองค์นั้นแก่ใคร ชะรอยจะมีคนในพวกที่ได้ขึ้นไปเมืองเหนือกับฉันในครั้งนั้นไปบอกให้ท่านทราบ แต่เมื่อท่านรู้แล้วฉันก็เล่าเรื่องให้ท่านฟังตามเขาบอกที่เมืองอุตรดิตถ์ ท่านพูดต่อไปว่า แต่ก่อนมาคนที่ในบ้านก็อยู่กันเป็นปรกติ ตั้งแต่ฉันเอาพระองค์นั้นมาไว้ที่บ้านดูเกิดวิวาทบาดทะเลาะกันไม่หยุด ท่านส่งเศษกระดาษชิ้นหนึ่งซึ่งท่านได้ให้จดชื่อคนวิวาทมาให้ฉันดู มีทั้งผู้ดีและไพร่วิวาทกันถึง ๖ คู่ ท่านตักเตือนแต่ว่าขอให้ฉันคิดดูให้ดี ฉันกลับมาคิดดูเห็นว่าถ้าขืนเอาพระองค์นั้นไว้ที่บ้านต่อไป ก็คงขัดใจมารดา จึงไปเล่าเรื่องให้พระพุฒาจารย์ฟัง แล้วถวายพระองค์นั้นให้ท่านรับเอาไปไว้ที่วัดจักรวรรดิฯ แต่นั้นเรื่องพระพุทธรูปองค์ที่ได้มาจากเมืองทุ่งยั้งก็เงียบไป
ต่อมาอีกหลายเดือน กรมการเมืองอุตรดิตถ์คนหนึ่ง ซึ่งได้เคยไปเมืองทุ่งยั้งด้วยกันกับฉัน ลงมากรุงเทพฯ ไปหาฉันที่บ้าน ฉันเล่าให้เขาฟังถึงเรื่องพระองค์นั้น แล้วนึกขึ้นว่าถ้าฝากให้เขาเชิญกลับขึ้นไปไว้ที่วัดพระมหาธาตุเมืองทุ่งยั้งอย่างเดิมจะดีกว่าเอาไว้ที่วัดจักรวรรดิฯ จึงสั่งให้คนไปขอพระองค์นั้นคืน พระพุฒาจารย์ตกใจรีบมาหา บอกว่าสำคัญว่าฉันสิ้นอาลัยให้พระองค์นั้นเป็นสิทธิแก่ท่าน ตั้งแต่พระองค์นั้นไปอยู่ที่วัดจักรวรรดิฯ ท่านสังเกตเห็นมักมีเหตุวิวาทบาดทะเลาะเกิดขึ้นในวัดผิดปรกติ แม้จนเด็กลูกศิษย์ซึ่งเคยเป็นคนเรียบร้อยมาแต่ก่อน ก็ไปตีหัวเจ๊กขายเจี้ยมอี๋ ท่านรำคาญใจแต่มิรู้ที่จะทำอย่างไร เผอิญพ่อค้าชาวหัวเมืองคนหนึ่งซึ่งเคยรู้จักกับท่านมาแต่ก่อน เข้ามาค้าขายทางเรือถึงกรุงเทพฯ เขาแวะไปหาท่าน พอเห็นพระพุทธรูปองค์นั้นก็ชอบใจถึงออกปากขอ ท่านจึงให้พระองค์นั้นแก่พ่อค้าคนที่ขอไปเสียแล้ว เขาจะพาไปทางไหนก็ไม่รู้ ก็เป็นอันสิ้นกระแสความเรื่องพระพุทธรูปองค์ที่ได้มาจากเมืองทุ่งยั้งเพียงเท่านั้น ได้แต่หวังใจว่าพ่อค้าคนที่ได้พระไปไม่รู้เรื่องเดิมพระองค์นั้น บางทีจะไม่ไปเป็นเหตุให้เกิดวิวาทบาดทะเลาะเหมือนหนหลัง”
นี่ก็เป็นเรื่องความเชื่อแปลกๆของคนสมัยก่อน ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้กับพระพุทธรูป แต่ก็มีบันทึกไว้เช่นนี้