xs
xsm
sm
md
lg

อภินิหารในพงศาวดารไทย ความจริงหรือรสชาติของประวัติศาสตร์! อิทธิปาฏิหาริย์ ลางบอกเหตุมีครบ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



แม้พระพุทธเจ้าจะทรงสอนว่าอย่าเชื่ออะไรอย่างไร้เหตุผล แม้แต่คัมภีร์ก็อย่าเพิ่งเชื่อ พิจารณาให้ดีเสียก่อนจึงเชื่อ แต่คนไทยเราก็นิยมถือฤกษ์ถือยาม ถืออิทธิปาฏิหาริย์เป็นลางบอกเหตุ และเชื่อตามหมอดูทำนาย ทั้งนี้อาจจะเป็นวิธีการบำรุงขวัญกำลังใจให้กับคนที่เจอกับเหตุเสียเสียขวัญก็เป็นได้ ด้วยเหตุนี้ในสมัยก่อนแม้แต่ราชสำนักก็ยังต้องมีโหรประจำ ซึ่งก็สามารถทำเรื่องร้ายให้กลายเป็นดีไปได้

อย่างในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๗ พ.ศ.๒๓๓๒ บ่าย ๓ โมงเศษ ขณะฝนตกได้เกิดฟ้าผ่าลงมาที่หน้าบันมุขพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท เกิดไฟลุกไหม้เครื่องบนพระมหาปราสาทกับหลังคามุขทั้ง ๔ แล้วลามไปติดพระปรัศว์ซ้ายด้วยอีกหลังหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระราชวังบวรสถานมงคล พระบรมวงศานุวงศ์กับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ผู้น้อย รวมทั้งพระสงฆ์จากพระอารามหลวงต่างๆได้มาช่วยกันดับไฟ และช่วยกันยกพระที่นั่งราชบัลลังก์ประดับมุกซึ่งกั้นเศวตฉัตรออกมาทัน บ้างก็ขนถุงเงินพระราชทรัพย์ในพระคลังทิ้งลงในสระอุทยาน

เหตุที่ฟ้าผ่าพระมหาปราสาทจนไฟไหม้หมดทั้งหลังนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระปริวิตกว่าจะเป็นอวมงคลนิมิตแก่บ้านเมือง พระสงฆ์ทั้งหลายมีสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะเป็นประธาน พร้อมใจกันถวายพระพรว่า ได้ตรวจค้นดูในพระบาลีคัมภีร์พุทธศาสตร์และโลกศาสตร์ ได้ความตามโบราณคติถือสืบต่อกันมาว่า อสนีบาตตกลงที่ใดถือว่าเป็นมงคลนิมิต แม้จะเสื่อมเสียทรัพย์สมบัติ ก็เสียแต่ที่ต้องอสนีภัย จะเสียยิ่งกว่านั้นหาไม่ ตามคัมภีร์พิมพานิพพานมีปรากฏว่า ถ้าอสนีบาตตกต้องกำแพงเมืองใด แม้ข้าศึกมาย่ำยีเมืองนั้น ก็มีแต่จะปราชัยพ่ายแพ้ไปถ่ายเดียว ว่าโดยโลกศาสตร์ ตามนิทานและเรื่องราวที่ปรากฏมาแต่ปางก่อน บางทีอสนีตกต้องศีรษะคนซึ่งผู้หามอยู่เหนือบ่า ผู้นั้นต่อไปได้ดีก็มีบ้าง บางทียกทัพไปอสนีตกต้องช้าง ไปทำศึกได้บ้านเมืองก็มีบ้าง ที่ว่าเป็นนิมิตอวมงคลมิได้พบในแห่งใด พระสงฆ์ทั้งหลายจึงมิได้เห็นว่าเหตุที่อสนีบาตตกต้องพระมหาปราสาทจะเป็นอวมงคลนิมิต ส่วนข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวงก็เข้าชื่อกันกราบบังคมทูลพระกรุณาถวายไชยมงคลโดยใจความเป็นอย่างเดียวกัน

ฟ้าผ่าจึงเป็นเรื่องดี ไม่ใช่เรื่องอาเพศฟ้าพิโรธหรือเทวดาลงโทษแต่อย่างใด ทำให้สบายใจไปตามกัน

ส่วนลางบอกเหตุประหลาดๆก็มีไม่น้อย อย่างในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ได้กล่าวถึงลางบอกเหตุที่เกิดขึ้นก่อนที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะขึ้นครองราชย์ไว้ว่า

“ศักราช ๙๔๖ วอกศก (พ.ศ.๒๑๒๗) ครั้งนั้นสมเด็จพระนารายน์เปนเจ้าเสวยราชสมบัดดิณเมืองพิศณุโลก รู้ข่าวมาว่าพระเจ้าหงษากับพระเจ้าอังวะผิดกัน ครั้งนั้นเสด็จไปช่วยการเศิกพระเจ้าหงษา แลอยู่ในวัน ๕ ๕ ค่ำ ช้างต้นพลายสวัสดิมงคล แลช้างต้นพลายแก้วจักรรัตนชนกัน แลงาช้างต้นพลายสวัสดิมงคลลุ่ยข้างซ้าย แลโหรทำนายว่า ห้ามยาตรา แลมีพระราชโองการตรัสว่า ได้ตกแต่งการนั้นสรัพแล้วจึงเสด็จพยุหยาตราไป ครั้นเถิงณวัน ๔ ๕ ค่ำ เสด็จออกตั้งทัพไชยตำบลวัดยมท้ายเมืองกำแพงเพ็ชร ในวันนั้นแผ่นดินไหว แล้วจึงยกทัพหลวงเสด็จไปเถิงเมืองแครง แล้วจึงทัพหลวงเสด็จกลับคืนมาพระนครศรีอยุทธยา ฝ่ายเมืองพิศณุโลกนั้นอยู่ในวัน ๔ ๑๐ ค่ำ เกิดอัศจรรย์แม่น้ำทรายหัวเมืองพิศณุโลกนั้นป่วนขึ้นสูงกว่าพื้นน้ำนั้น ๓ ศอก อนึ่งเห็นสัตรีภาพผู้หนึ่งหน้าประดุจหน้าช้าง แลทรงสัณฐานประดุจงวงช้าง แลหูนั้นใหญ่ นั่งอยู่ณวัดปราสาทหัวเมืองพิศณุโลก อนึ่งช้างใหญ่ตัวหนึ่งยืนอยู่ณท้องสนามนั้นอยู่ก็ล้มตายลงกับที่บัดเดี๋ยวนั้น อนึ่งเห็นตักแตนบินมาณอากาศเปนอันมาก แลบังแสงพระอาทิตย์บดมาแล้วก็บินกระจัดกระจายสูญไป ในปีเดียวนั้นให้เทครัวเมืองเหนือทั้งปวงลงมายังกรุงพระนครศรีอยุทธยา ในปีเดียวนั้นพระเจ้าหงษาให้พระเจ้าสาวถี แลพญาพสิมยกพลลงมายังกรุงพระนคร แลณ วัน ๔ ๒ ค่ำ เพลาเที่ยงคืนแล้ว ๒ นาฬิกา ๙ บาด เสด็จพยุหบาตราไปตั้งทัพตำบลสามขนอน ครั้งนั้นเศิกหงษาแตกพ่ายหนีไป อนึ่งม้าตัวหนึ่งตกลูกแลศีศะม้านั้นเปนศีศะเดียว แต่ตัวม้านั้นเปน ๒ ตัว แลเท้าม้านั้นตัวละสี่เท้าประดุจชิงศีศะแก่กัน”

แปลความได้ว่า พระเจ้าหงษากับพระเจ้าอังวะผิดใจกันก็เหมือนช้างชนกัน ช้างเชือกหนึ่งก็ต้องล้มตายลง แผ่นดินพิษณุโลกจะสูงขึ้น ประชาชนทั่วทุกทิศจะมุ่งมาเหมือนฝูงตั๊กแตน ส่วนม้า ๒ ตัวมีหัวเดียวชิงศีรษะกัน ก็คงเกิดการแย่งชิงอำนาจกันต่อไป ก็คงทำนองนี้

ส่วนเรื่องใหญ่ยิ่งในประวัติศาสตร์ช่วงนี้ ก็คือการทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชา สมเด็จพระนเรศวรนั้นทรงเพลี่ยงพล้ำเข้าไปอยู่ในวงล้อมของข้าศึก ถูกระดมยิงมาจากทุกสารทิศ แต่ก็ทรงมีชัยชนะได้อย่างงดงาม พงศาวดารช่วงนี้จึงมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ลางบอกเหตุอยู่มาก เริ่มตั้งแต่คืนที่ทรงไปตั้งทัพพักแรมอยู่ที่ป่าโมกนั้น พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับพันจันทานุมาศ (เจิม) กล่าวว่า

“เมื่อเพลา ๑๐ ทุ่มสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสุบินนิมิตร์ว่า น้ำนองท่วมป่ามาฝ่ายประจิมทิศ ลุยชลธีเที่ยวไปพบมหากุมภีล์ตัวใหญ่ ได้สรรพยุทธนาการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประหารกุมภีล์ตาย ประทมตื่นขณะนั้นตรัสให้โหรทาย พระโหราธิบดีทูลทำนายว่าศึกครั้งนี้ใหญ่หลวง จะได้ถึงซึ่งมหายุทธหัตถี แต่ทว่าพระองค์จะมีชัย จะลุยไล่ประหารปัจจมิตร์ข้าศึก ดุจพระสุบินว่าเที่ยวลุยกระแสน้ำฉะนั้น”

และก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์สำคัญ พงศาวดารมักจะกล่าวถึงอภินิหารของพระบรมสารีริกธาตุมาปรากฏเป็นสัญญาณบอกฤกษ์ดีเสมอ ในพงศาวดารฉบับนี้ได้กล่าวต่อไปว่า

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟังดีพระทัยนักทรงเครื่องสำหรับราชรณยุทธ์ สรัพเสร็จเสด็จยังเกยคอยฤกษ์ ทอดพระเนตร์เห็นพระสารีริกบรมธาตุเสด็จปาฏิหารย์ ช่วงเท่าผลส้มเกลี้ยงมาแต่ขิณทิศ เวียนเป็นทักขิณาวัฏแล้วเสด็จผ่านไปอุดรทิศ ทรงพระปีติสร้านไปทั้งพระองค์ ยกพระหัตถ์ถวายทัศนัขสโมธาน อธิษฐานขอสวัสดิชัยแก่ปรปักษ์ พระโหราธิบดีก็ให้ประโคมแตรสังข์ดุริยางคดนตรีพร้อมกัน”

ขณะที่ทัพหน้าของไทยแตกพ่ายมาก่อนที่จะทำยุทธหัตถีนั้น ข้าศึกที่ยกมาเต็มท้องทุ่งเหมือนคลื่นในมหาสมุทร ไล่ล่าทหารไทยจนไม่เป็นขบวน สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถได้ทรงไสช้างเข้าสกัดกั้นข้าศึก จึงถูกทหารพม่าระดมยิงมาทั้งธนูหน้าไม้และปืนไฟ ขณะนั้นฝุ่นธุลีตลบมืดเป็นหมอกมัว พงศาวดารได้กล่าวว่า

“พระบาทสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า จึงตรัสประกาศแก่เทพยดาทั้งปวงว่า ให้บังเกิดมาในประยูรมหาเศวตฉัตร จะให้บำรุงพระบวรพุทธศาสนา ไฉนจึงมิช่วยให้สว่างแลเห็นข้าศึกเล่า พอตกพระโอฐลง พระพายก็พัดควันอันเป็นหมอกมืดนั้นสว่างไป ทอดพระเนตรเห็นช้างเศวตฉัตร ๑๖ ช้าง มีช้างตั้งช้างกันยืนอยู่เป็นอันมากแต่มิได้เห็นพระมหาอุปราชา ครั้นเหลือบไปฝ่ายทิศขวาพระหัตถ์ ก็เห็นช้างเศวตฉัตรช้างหนึ่ง ยืนอยู่ณฉายาไม้ข่อย มีเครื่องสูงและทหารหน้าช้างมาก ก็เข้าพระทัยตระหนักว่าช้างพระมหาอุปราชา พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็ขับพระคชาธารตรงเข้าไป ทหารหน้าช้างข้าศึกก็วางปืนจ่ารงค์ทณฑกนกสับตระแบงแก้วระดมยิง มิได้ต้องพระองค์และพระคชาธาร สมเด็จพระนเศวรเป็นเจ้าจึงตรัสร้องเรียกด้วยพระสุรเสียงอันดังว่า พระเจ้าพี่เราจะยืนอยู่ในร่มไม้เล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกันให้เป็นเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด ภายหน้าไปไม่มีกษัตริย์ที่จะได้กระทำยุทธหัตถีแล้ว

พระมหาอุปราชาได้ฟังดังนั้น ละอายพระทัยมีขัติยราชมานะ ก็บ่ายพระคชาธารออกมารับ เจ้าพระยาไชยานุภาพเห็นช้างข้าศึก ก็ไปด้วยฝีลันน้ำมันมิทันยั้งเสียที พลายพัทกอได้ร่างแบกรุนมา พระมหาอุปราชาจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว สมเด็จพระนเศวรเป็นเจ้าเบี่ยงพระมาลารับ พระแสงของ้าวมิได้ต้องพระองค์ เจ้าพญาไชยนุภาพสะบัดลงได้ล่างแบกถนัด พลายทัพกอเพลียกเบนไป สมเด็จพระนเศวรเป็นเจ้าได้ทีจ้วงฟันด้วยพระแสงพลพ่าย ต้องพระอังษาเบื้องขวาพระมหาอุปราชาตลอดลงมาจนประฉิมมุราประเทศ ซบลงกับคอช้าง และนายมหานุภาพควาญพระคชาธารพระนเศวรเป็นเจ้านั้นต้องปืนเข้าศึกตาย”

ส่วนพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต ซึ่งบันทึกโดยนายเยเรเมียส ฟอน ฟลีต ชาวฮอลันดที่เข้ามาเป็นผู้จัดการบริษัทการค้าอยู่ในกรุงศรีอยุธยาหลายปี ได้รับการยอมรับว่าให้ข้อมูลในยุคสมัยนั้นมาก ก็ยังบันทึกพงศาวดารมีรสชาติยิ่งไปกว่านักพงศาวดารไทยเสียอีก กล่าวว่าตอนที่ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรเผชิญหน้ากับช้างทรงของพระมหาอุปราชานั้น ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรตัวเล็กกว่าก็ตื่นกลัวช้างของพระมหาอุปราชา พยายามเบี่ยงหัวไปมาเพื่อจะหลบหนี สมเด็จพระนเรศวรตกพระทัย รับสั่งกับช้างว่า

“เจ้าผู้เป็นบิดาแห่งแว่นแคว้นนี้ ถ้าเจ้าทิ้งข้าไปเสียแต่ตอนนี้แล้ว ก็เท่ากับเจ้าทิ้งตัวของเจ้าเองและโชคชัยทั้งปวง เพราะข้าเกรงว่าเจ้าจะไม่ได้รับเกียรติยศอันใดอีกแล้ว และจะไม่มีเจ้าชายองค์ใดทรงขี่เจ้าอีก คิดดูเถิดว่า ตอนนี้เจ้ามีอำนาจเหนือเจ้าชีวิตถึงสององค์ และเจ้าสามารถนำชัยชนะมาให้แก่ข้าได้ จงดูประชาชนที่น่าสงสารของเรา พวกเราจะพ่ายแพ้ยับเยินเพียงใด และจะแตกฉานซ่านเซ็นอย่างไรถ้าหากเราหนีจากสนามรบ แต่ถ้าหากเรายืนหยัดอยู่อย่างมั่นคงด้วยความกล้าหาญของเจ้า และด้วยกำลังแขนขาของเราทั้งสอง ชัยชนะก็จะตกเป็นของเราอย่างแน่นอน และเมื่อได้รับชัยชนะแล้ว เจ้าจะได้รับเกียรติยศร่วมกับข้า

ขณะที่ทรงมีรับสั่ง พระนเรศก็ประพรมน้ำมนต์ซึ่งปลุกเสกโดยพราหมณ์เพื่อใช้ในโอกาสเช่นนี้ลงบนหัวช้าง ๓ ครั้ง ทรงพระกันแสงจนกระทั่งหยาดพระชลหลั่งลงบนงวงช้าง ช้างทรงแสนรู้ได้กำลังใจจากคำดำรัส น้ำมนต์ และหยาดพระสุชลของเจ้าชายผู้กล้าหาญ ก็ชูงวงขึ้นหันศีรษะวิ่งเข้าหาข้าศึกตรงไปยังพระมหาอุปราชาดุจจะบ้าคลั่ง การประลองยุทธของช้างตัวนี้เป็นที่น่าสะพรึงกลัวและน่าอัศจรรย์ ช้างทรงตัวใหญ่กว่าพยายามใช้งาเสยช้างตัวเล็กกว่าให้ถอยกลับไป ในที่สุดช้างทรงที่เล็กกว่าก็ได้เปรียบ วิ่งเสยช้างตัวใหญ่ไปเล็กน้อยและใช้งวงฟาดอย่างแรง ช้างตัวใหญ่ร้องแปร๋นแปล้นทำให้พระมหาอุปราชาตกพระทัย พระเจ้าแผ่นดินสยามจึงทรงฉวยโอกาสปราบพระเจ้าแผ่นดินพะโค”

พงศาวดารไทยฉบับฝรั่ง ก็ใส่ไข่ให้อ่านสนุกเหมือนกัน

ความจริงอิทธิปาฏิหาริย์ ลางบอกเหตุเหล่านี้ เป็นอุบายที่ใช้สร้างขวัญกำลังใจในการทำสงคราม เพื่อให้เกิดความฮึกเหิมเชื่อมั่นในชัยชนะ นักพงศาวดารนำมาใช้เพื่อให้อ่านสนุกมีรสชาติน่าติดตาม ซึ่งคนอ่านก็จะได้รับแก่นแท้ของเรื่องคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ทำให้รู้ความเป็นมาในอดีตและเข้าปัจจุบัน เกิดความรักและภูมิในในชาติของตน น่าเสียดายที่หลักสูตรการศึกษาในปัจจุบันไม่ได้เน้นเรื่องประวัติศาสตร์ จนคนรุ่นใหม่ไม่น้อยที่ไม่รู้รากเหง้าอันน่าภูมิใจของตน รับแต่สิ่งที่ถูกมอมเมาจนถึงขั้นชังชาติ ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น