ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ โพสต์ถึงเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ “โอไมครอน” โดยเผยว่าเชื้อนี้ อ่อนแรงแต่แลกกับคุณสมบัติที่ติดได้ง่ายขึ้น พร้อมแนะให้ “ฉีดวัคซีน” เพื่อสร้างภูมิและลดอัตราการเจ็บป่วย-เสียชีวิต
เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. เฟซบุ๊ก “Opass Putcharoen” หรือ ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ “โอไมครอน” ระบุว่า “Omicron น่าจะระบาดก่อนที่จะมีรายงานที่แอฟริกามาสักพัก ตอนนี้หลายๆ ประเทศทั่วโลกเริ่มรายงานพบเชื้อไวรัสนี้ คาดว่ามีโอกาสน่าจะเป็นสายพันธุ์หลักแทนเดลตา
ส่วนการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งของไวรัสนี้สามารถแบ่งเป็นตำแหน่งที่รู้จัก ได้แก่ การกลายพันธุ์ที่ทำให้จับกับเซลล์คนง่ายขึ้น การกลายพันธุ์ที่อาจจะลดประสิทธิภาพวัคซีน และที่ยังไม่รู้ว่าตำแหน่งการกลายพันธุ์มีผลต่อไวรัสอย่างไรบ้าง ซึ่งต้องรอการศึกษาจากไวรัสในห้องทดลอง มีข้อมูลว่าเชื้อนี้อาจจะทำให้เกิดการติดซ้ำได้หากเคยเป็นโควิดมาก่อน แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าเชื้อนี้ทำให้เกิดโรคที่รุนแรงกว่าเดลตา (แนวโน้มเชื่อว่าเชื้อน่าจะอ่อนแรงเพื่อแลกกับคุณสมบัติที่ติดได้ง่ายขึ้น - แต่ยังต้องรอข้อมูลยืนยัน)
สำหรับในขณะนี้เราควรจะทำอย่างไร ก็คงทำเหมือนกับหลายๆ ประเทศที่พยายามดักเคสแล้วก็กักตัวไว้ ไม่ให้กระจายอย่างรวดเร็ว เพื่อซื้อเวลาสำหรับการเตรียมฉีดวัคซีนให้ภูมิสูงขึ้นพอ (บางประเทศ ขยับเข็มกระตุ้นให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง) ช่องทางที่น่ากังวลคือการเข้ามาจากชายแดน คนเดินข้ามไปมา ถ้าเริ่มมีการระบาดรอบบ้านเราซึ่งคุมได้ยาก
ถึงแม้ว่าเรายังไม่มีวัคซีนที่จำเพาะสำหรับสายพันธุ์นี้ แต่ข้อมูลจากหลายๆ การศึกษาพบว่าถ้าระดับของภูมิสูงพอก็อาจจะยับยั้งไวรัสได้ จากรูปที่แสดงการศึกษาของศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิกและมหาวิทยาลัย Duke ร่วมกับ National University of Singapore (Duke-NUS) ที่กำลังรอตีพิมพ์ ได้วัดภูมิในคนไทยที่ได้รับ sinovac 2 เข็ม แล้วกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ พบว่าที่ 7 วันหลังฉีดภูมิที่ขึ้นสามารถ neutralize ไวรัสสายพันธุ์อื่นได้หลายสายพันธุ์ เช่น เบตา แกมมาที่ดื้อวัคซีนมากๆ แม้ว่าไม่ใช่วัคซีนที่จำเพาะต่อสายพันธุ์นั้นๆ ก็ตาม
มีบางคนภูมิสามารถยับยั้งไวรัส SARS CoV-1 และ coronavirus สายพันธุ์ที่อยู่ในค้างคาวได้ด้วย ตอนนี้รอทำ multiplex test ของ Omicron เพิ่มเติม (การศึกษานี้ใช้กลุ่ม Sinovac ตามด้วย Aztra ตามอาสาสมัครที่ยินดีเข้าร่วมการศึกษา แต่ถ้าวัคซีนอื่นที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี เช่น mRNA ก็น่าได้ผลเช่นเดียวกัน)
คำแนะนำของหลายๆ ประเทศขณะนี้คือยังย้ำความสำคัญของการฉีดวัคซีน ทำให้ภูมิคุ้มกันสูงพอเพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิต ส่วนมุมของการรักษา เนื่องจากการกลายพันธุ์ส่วนใหญ่อยู่ด้านนอก แต่ยาที่ออกฤทธิ์ต่อส่วนอื่นของไวรัส เช่น Molnupiravir Paxlovid Remdesivir ก็น่าจะยังใช้ได้อยู่ ตื่นเต้นได้ว่ามี Omicron แล้ว แต่อย่าตระหนก Keep Calm and Get a Booster กัน ข้อมูลวันที่ 6 ธค 2564”
คลิก>>อ่านโพสต์ต้นฉบับ