วันนี้ (2 ธันวาคม 2564) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบรางวัลรัฐบาลดิจิทัลประจำปี 2564 “Digital Government Awards: DG Awards 2021”
ให้กับ นายธานี ปาริชาติอินทราณี รองผู้ว่าการ MEA หรือ การไฟฟ้านครหลวง ในฐานะผู้แทน MEA ณ สโมสรกองทัพบก วิภาวดี
รองผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า การได้รับรางวัลครั้งนี้ เป็นการได้รางวัลต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 จากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง MEA ในฐานะรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่บริการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยที่ผ่านมา MEA มีการพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการที่ทันสมัยสะดวกสบายเพื่อตอบสนองความต้องการผู้ใช้ไฟฟ้าเมืองมหานครในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น
1) บริการผ่าน Mobile Application MEA Smart Life และ LINE MEA Connect
2) บริการ e-Service ผ่าน Website
3) บริการเอกสารแบบอิเล็กทรอนิกส์ (MEA e-Bill)
- บริการใบแจ้งยอดค่าไฟฟ้า (e-Invoice)
- บริการใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี (e-Receipt/e-Tax Invoice)
- บริการหนังสือเตือนให้ชำระค่าไฟฟ้า (e-Notification)
4) บริการรับแจ้งไฟฟ้าขัดข้องผ่าน MEA Smart Life และ LINE MEA Connect
5) บริการรับข้อร้องเรียน ผ่าน MEA Smart Life, Web Site และ Call Center
6) บริการค้นหาจุดชาร์จรถไฟฟ้า และสั่งจองหัวชาร์จแบบเรียลไทม์ผ่าน MEA EV Application
7) การเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมการปกครองด้วยโปรแกรม MEA CERPOP ผ่านระบบ Linkage Center
นอกจากนี้ MEA ยังให้ความสำคัญการปรับปรุงระบบงานบริการดิจิทัลในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบ Cyber Security เพื่อการคุ้มครองข้อมูลของผู้ใช้งานพร้อมกับการสร้าง Reliability ให้กับ Platform ของ MEA รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของพนักงานในด้านทักษะ Data Analytic โดยมีเป้าหมายพัฒนางานบริการต่างๆ เพื่อสร้างคุณค่าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในสังคมเมืองมหานครเพิ่มมากยิ่งขึ้น
ในด้านผลตอบรับที่ได้รับจากประชาชนที่เข้าใช้บริการ MEA ยังพบว่า มีจำนวน Transaction การรับชำระค่าไฟฟ้าออนไลน์มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 150 จากปีที่ผ่านมา จากประมาณ 10 ล้าน Transaction เพิ่มเป็น 26 ล้าน Transaction ในปี 2564 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 โดยที่ MEA มีความพร้อมในการรองรับการปรับเปลี่ยนงานธุรกรรมด้านระบบไฟฟ้าต่างๆ ให้เป็นรูปแบบดิจิทัลในทันที ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าของ MEA ได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้ไฟฟ้าให้ใช้บริการในรูปแบบดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น
สำหรับอนาคต MEA ยังคงมุ่งเน้นการพัฒนางานบริการที่ช่วยให้ประชาชนมีความสะดวกสบาย ลดขั้นตอน ง่ายต่อการเข้าถึงบริการ โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกผ่านระบบ Online ทำการเชื่อมโยงการบริการทุกช่องทาง โดยมีเป้าหมายการพัฒนางานบริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ใน 3 ส่วน ดังนี้
1) ระบบงานบริการผู้ใช้ไฟฟ้า (Customer Service System) ให้ได้รับความสะดวกสบาย ง่ายต่อการเข้าถึงบริการ และติดต่อสื่อสารกับ MEA ได้ตลอดเวลา ผ่าน MEA Smart Life, MEA Line Connect และ MEA e-Fix
2) ระบบงานสำหรับผู้ปฏิบัติงานภาคสนาม (Workforce Management System)
3) ระบบงานสำหรับการปฏิบัติงานของพนักงาน (Employee Service System)
ทั้งนี้ MEA จะยังคงพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) อย่างเป็นระบบ และใช้ข้อมูลในการบริหารงาน ให้เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Organization) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และลดต้นทุนการดำเนินงาน นอกจากนั้น MEA จะเชื่อมต่อข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐ และสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการเพิ่มช่องทางธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถทำธุรกรรมได้อย่างครบวงจร และไร้รอยต่อ ซึ่งการขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูลและนวัตกรรมที่ทันสมัยจะกลายเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพงานบริการ เพิ่มความสะดวกให้ผู้ใช้ไฟฟ้า ตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่กำหนดเป้าหมายให้องค์กรของรัฐพัฒนาบริการไปสู่ดิจิทัล และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้กับประชาชนทุกคน