xs
xsm
sm
md
lg

“เด็กแว้น” ... ปัญหาที่แก้ไม่ได้ด้วยการใช้ความเป็น “พระเอก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิชาการด้านจิตวิทยาชี้ การแก้ไขปัญหาเด็กแว้นที่เน้นให้ตำรวจเป็นพระเอกปราบปรามจับกุม ทำตามความสนใจของสังคมแต่ไม่ใช่แนวทางที่ยั่งยืน ยกโครงการในอดีตที่จันทบุรี “3 ซ” เปลี่ยนทัศนคติ เน้นทำความเข้าใจจนซื้อใจเด็กได้


รายงานพิเศษ

“ที่หน้าบ้านเรา มีผักตบชวาอยู่เต็มคลองเลย พอมันเต็มก็จะมีเรือของกรมชลประทานมาตักออกไป แต่ก่อนคนแถวบ้านเราเรียกเรือนี้ว่า “เรือพระเอก” เพราะช่วยมากำจัดผักตบชวาให้เรา แต่เมื่อผ่านไปหลายปี เราก็ยังเห็นเรือพระเอกต้องกลับมาตักผักตบชวาออกไปทุกปี เพราะในที่สุดผักตบชวาก็กลับมาอีก จนเราเริ่มสงสัยว่า ตกลงเรือพระเอกเขามาทำอะไรกันแน่ มาแก้ปัญหาผักตบชวา หรือมาใช้งบประมาณประจำปี ทำไมเขาต้องทำงานซ้ำซากแบบนี้ทุกปี โดยไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาที่แท้จริงยังไง”

นั่นเป็นคำตอบแรกจากนักวิชาการผู้ที่ลงไปใช้ชีวิตอยู่กับกลุ่มเยาวชนที่ถูกเรียกว่า “เด็กแว้น” เพื่อทำงานศึกษาวิจัยแก้ไขปัญหาเด็กแว้น หลังได้รับคำถามว่า มีความเห็นอย่างไรจากกรณีที่ตำรวจเร่งจับกุมกลุ่มเด็กแว้น ยึดรถ ขยายผลเอาผิดไปยังกลุ่มร้านแต่งรถ แฟนเพจที่นัดหมาย ผู้ปกครองของเด็ก และเตรียมเสนอแก้ไขกฎหมายจราจรให้ครอบคลุมเอาผิดการรวมกลุ่มบนท้องถนนด้วย โดยมีข่าวนี้ถูกเสนอเป็นประเด็นใหญ่ผ่านช่องทางการสื่อสารของตำรวจ เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2564

ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันเป็นรองประธานมูลนิธิป้องกันอุบัติเหตุทางถนนและอาชญากรรม และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “เร่ง รัก รุนแรง : โลกชายขอบของนักบิด” เปรียบเทียบแนวทางการแก้ปัญหาเด็กแว้นด้วยวิธี “จับกุม ดำเนินคดี” กับการแก้ไขปัญหาผักตบชวา เพราะเห็นว่า เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดจากแนวคิดแบบเดียวกัน คือ เป็นการแก้ปัญหาตามความสนใจของสังคม เอาใจสังคม แต่ไม่สร้างองค์ความรู้ที่แท้จริงให้สังคม จึงเป็นวิธีที่มีเป้าหมายเพียงเพื่อทำให้ปัญหายุติลงชั่วคราว ทำให้สังคมพอใจ ผู้ปฏิบัติงานได้รับคำชื่นชม แต่ก็มีคำถามใหญ่ๆ ตามมาว่า ถ้าวิธีการปราบปราม จับกุม ส่งตัวเด็กเข้าสถานพินิจ ส่งไปเข้าศูนย์ฝึก เป็นวิธีการที่ถูกต้องจริง ทำไมตำรวจจึงยังมีจ้องมาไล่ปราบปรามกลุ่มเด็กแว้นอยู่เรื่อยไปไม่รู้จบ


ผศ.ดร.ปนัดดา เห็นว่า วิธีการนี้ไม่ได้ไปแก้ไขที่ต้นตอของปัญหา และไม่ได้นำไปสู่เป้าหมายที่แท้จริง คือ “การทำให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี กลับมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ”

“เราทำงานกับตำรวจมา 10 กว่าปีนะ เราก็ตั้งโจทย์นี้ตลอด ก็มีคำถามกลับมาว่า ตำรวจก็ทำหน้าที่ของตำรวจ คือ ปราบปราม จับกุม ดำเนินคดี เพื่อทำให้สังคมปลอดภัย ไม่งั้นจะให้ทำอะไร”

ผศ.ดร.ปนัดดา กล่าวถึงประเด็นที่ท้าทาย เมื่อถูกถามว่า ถ้าตำรวจไม่จับเด็กแว้น แล้วจะต้องแก้ปัญหานี้อย่างไร จากนั้นเธอจึงเสนอให้ลองกลับไปค้นหาประวัติศาสตร์การจับกุมเด็กแว้นที่มีมาหลายยุคหลายสมัย เปลี่ยนผู้นำองค์กรตำรวจมาแล้วหลายคน ซึ่งทุกยุคสมัยก็ใช้วิธีการเน้นไปที่ “การปราบปราม” แบบที่ใช้ในวันนี้ แต่ไม่ได้ทำให้ปัญหาทุเลาเบาบางลง

“จับแล้วทำยังไงต่อ ปัญหาได้ถูกแก้หรือไม่ เด็กจำนวนมากถูกจับไปเข้าสู่สถานพินิจฯ ไปศูนย์ฝึกฯ จากที่เป็นแค่เด็กแว้น กลายเป็นได้เรียนรู้รูปแบบการกระทำความผิดที่รุนแรงกว่าเดิมด้วยซ้ำ และจากที่เข้าไปทำงานวิจัย เรายังพบว่า เด็กๆเขาก็เรียนรู้วิธีการของตำรวจ พอเขาเคยถูกจับแบบนี้ เขาก็เปลี่ยนวิธี ดังนั้นการที่ตำรวจมาแถลงข่าวว่า ไปจับกุมเพราะพบการนัดหมายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นเรื่องใหม่ จึงไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะที่จริงมันเป็นแค่รูปแบบการนัดหมายรวมกลุ่มที่เปลี่ยนวิธีการไปเรื่อยๆเท่านั้นเอง ไม่ใช่การเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกอะไรเลย”

“หรืออย่างการเพิ่มโทษให้ผู้ปกครองมีความผิดด้วย สมมติว่า พ่อคนหนึ่ง มีลูก 3 คน มีคนหนึ่งไปแว้น ถูกจับ ถูกลงโทษ พ่อก็ถูกลงโทษด้วย แล้วจะให้ใครมาดูแลลูกอีก 2 คนที่เหลือ”

ดังนั้น วิธีการปราบปรามเด็กแว้นด้วยการ “จับกุม” ผศ.ดร.ปนัดดา จึงมองว่า เป็นวิธีการที่ทำให้ “ตำรวจ” ถูกมองเป็นพระเอกของเรื่องอยู่เพียงฝ่ายเดียว แต่ไม่ได้ทำให้ปัญหาถูกแก้ได้จริง จึงตั้งประเด็นว่า

ตำรวจ จะทำงานแก้ไขเรื่องนี้อย่างโดดเดี่ยว เพื่อจะเป็น “พระเอก” อยู่คนเดียวหรือ


“เด็กแว้น เป็นประเด็นปัญหาที่อ่อนไหว มีความซับซ้อน มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและในโรงเรียน ซึ่งเรามีกลไกอื่นๆอีกมากมายที่สามารถนำมาใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาในเชิงลึก ทั้งกระทรวงพัฒนาสังคม ชุมชน โรงเรียน หรือแม้แต่นโยบาย ซึ่งควรประสานความร่วมมือกันเป็นภาคี ดีกว่าที่จะมีพระเอกอยู่คนเดียวมาคอยปราบปราม”
“ออกจากโรงเรียน” เป็นต้นตอที่สำคัญที่สุดของการเกิด “เด็กแว้น” ตามที่ ผศ.ดร.ปนัดดา ศึกษาไว้ และมีผลต่อเนื่องไปถึงปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนด้วย เธอบอกว่า ในช่วงที่ทำวิจัย เด็กจะออกไปจากระบบของโรงงเรียนในช่วง “ม.1 ครึ่ง” ถึง “ม.2 ครึ่ง” (หมายถึงออกไประหว่างเรียนอยู่ ม.1 หรือ ม.2 ยังไม่จบ) แต่เมื่อไปสำรวจในปัจจุบันจะพบว่า เด็กกลุ่มนี้ออกจากโรงเรียนเร็วขึ้นกว่าเดิม จนพบว่ามีเด็ก ป.3 ครึ่ง ออกจากโรงเรียนมาเข้ากลุ่มเด็กแว้นแล้ว ยิ่งในช่วงที่เด็กต้องเรียนออนไลน์ จากปัญหาโควิด -19 ยิ่งพบว่า ในครอบครัวที่ผู้ปกครองต้องหาเช้ากินค่ำ มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ไม่มีเวลาดูแลลูกในการเรียนออนไลน์ ยิ่งทำให้เด็กหลุดออกไปได้ง่าย

“เราเคยไปแอบดูห้องเรียนออนไลน์ของเขา มีนักเรียนทั้งห้อง 35 คน ปรากฏว่ามีนักเรียนที่ส่งงานจริง เข้าเรียนจริงอยู่ 5 คน ที่เหลือไม่เข้าห้องเรียนเลย เด็กเหล่านี้ถ้าเป็นกลุ่มที่ผู้ปกครองเขาอ่อนแออยู่แล้วด้วย โรงเรียนก็ปล่อยด้วย เขาจะไปไหน??”


“เด็กดีมีรูปติดกำแพง เด็กมีปัญหาถูกทิ้ง” เป็นอีกหนึ่งปัจจัยใหญ่ที่ ผศ.ดร.ปนัดดา ชี้ว่า ทำให้เกิด “เด็กแว้น” เพราะเมื่อโรงเรียนใช้ “ผลสำเร็จ” ของเด็ก เป็นตัวชี้วัดเพื่อสร้างชื่อเสียงของโรงเรียน เพื่อประโยชน์ทางด้านธุรกิจของโรงเรียน นั่นก็ทำให้ระบบการศึกษาทิ้งเด็กกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลัง เป็นกลุ่มที่ไม่ถูกยอมรับจากตัวชี้วัดที่วัดคุณค่าผ่านผลการเรียนเท่านั้น

“เขาเอารูปเด็กไปติดกำแพงโรงเรียน เพื่อบ่งบอกความสำเร็จ เป็นแรงจูงใจให้ผู้ปกครองอยากส่งลูกมาเรียนที่นี่ แต่มีเด็กอีกกลุ่มที่ไม่ถูกพูดถึง เด็กบางคนหายไปจากโรงเรียนนานแล้ว ไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครไปตามกลับมาเรียน แต่ยังมีชื่อเป็นนักเรียนอยู่ เพื่อใช้เบิกค่าใช้จ่ายรายหัวกับกระทรวงฯ พอเด็กจะไปสมัครเรียน กศน.ก็สมัครไม่ได้ เพราะชื่อยังอยู่ที่โรงเรียนเดิม”

“แล้วพอเด็กกลุ่มนี้เขาต้องออกจากระบบ เขาว่าง มีเวลา เขาก็ไปรวมตัวกัน ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าการไปซิ่งรถแล้ว ก็คือ การเล่นพนันออนไลน์ ซึ่งกำลังแพร่หลายมาก ทั้งหมดนี้มีรากปัญหามาจากเรื่องเดียวกัน”


“การปราบปรามจับกุม ไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาเด็กแว้นที่ยั่งยืน” จึงเป็นประเด็นที่ ผศ.ดร.ปนัดดา ยืนยันมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา นอกจากการไปศึกษาวิจัยด้วยการไปใช้ชีวิตคลุกคลีกับกลุ่มเด็กแว้น เธอจึงยังทำงานร่วมกับตำรวจและกระทรวงการพัฒนาสังคมฯมาโดยตลอด และเห็นว่า มีโมเดลหนึ่งที่เคยใช้แก้ปัญหาเด็กแว้นได้สำเร็จที่ จ.จันทบุรี คือ โครงการที่มีชื่อว่า โครงการ 3 ซ. จันทบุรี “หยุดซ่า หยุดซิ่ง หยุดเซ็กส์ ไม่มั่วยาเสพติด”

“ตอนนั้นเด็กแว้นที่จันทบุรีเป็นปัญหาใหญ่มาก เขาตั้งกันเป็นแก๊งหลายแก๊งและยกพวกตีกันที่หน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดด้วยซ้ำ จนผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดคนใหม่เข้ามารับตำแหน่ง ผู้ว่าฯ ท่านก็บอกว่า ขอท่านผู้การฯ ข้อเดียวเลย คือ ปราบเด็กแว้นให้หน่อย”


ภาพ : ตำรวจภูธรจังหวัดจันทบุรี Chanthaburi Provincial Police
ผศ.ดร.ปนัดดา เล่าโดยเน้นคำว่า “ปราบ” เพื่อชี้ให้เห็นว่า โครงการนี้ก็เริ่มต้นด้วยแนวคิดการปราบปรามจับกุมเช่นเดียวกับที่ทำอยู่ในปัจจุบัน แต่หลังจากนั้น ก็มีการตั้งภาคีจากหลายหน่วยงานขึ้นมาหารือกัน ทำให้ตำรวจที่เคยคิดจะใช้วิธีปราบปรามจับกุมเด็กแว้น ยอมเปลี่ยนทัศนคติ และนำมาซึ่งการเปลี่ยนวิธีการทำงาน

ต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากการทำลายความภาคภูมิใจของเด็ก เป็นการสร้างความภูมิใจในตัวเขา และต้องเปลี่ยนวิธีคิดของหน่วยงานรัฐ “จากการแสดงตัวเล่นเป็นพระเอกไล่จับผู้ร้าย ต้องกลายเป็นการอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน” นั่นเป็นหลักการที่ ผศ.ดร.ปนัดดา กล่าวถึง

“จากที่เคยเข้าไปตั้งด่านสกัดจับกุม ตำรวจเขาเปลี่ยนไปใช้สายตรวจเดินเท้า เดินเข้าไปที่แหล่งรวมตัวของเด็กตามที่ได้ข้อมูลมาจากสายสืบ เข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับแก๊งต่างๆ เข้าไปท้าทายให้ร่วมกิจกรรม โดยมีสัญญาใจว่าไม่จับกุม จนถึงการไปชวนพ่อแม่มาคุยด้วย”

“เขาทำอยู่นานโดยมีผู้ว่าฯ ฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคม เข้ามาร่วมวงด้วย ทำจนเด็กๆเชื่อใจ ก็ชวนกันไปร่วมกิจกรรม ตั้งกลุ่มพูดคุยเรื่องปัญหายกพวกตีกัน ยาเสพติด อาวุธ และพัฒนาไปพูดคุยกันระหว่างแก๊งได้ จากนั้นก็ชวนเด็กกลุ่มนี้ตามท่านผู้ว่าฯ ไปเป็นวิทยากร ไปร่วมบรรยายร่วมแลกเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหาของวัยรุ่นตามอำเภอต่างๆ ซึ่งทำให้พวกเขารู้สึกภูมิใจในตัวเอง”


ผศ.ดร.ปนัดดา เล่าเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นตัวชี้วัดว่า โครงการนี้เห็นผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ว่าวิธีการทำความเข้าใจ ได้ผลดีมากกว่าการปราบปรามจับกุม

“มีอยู่วันหนึ่ง เด็กๆ เขารวมตัวกันมาพบท่านผู้การฯ จังหวัด (ผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัด) เพื่อมาขอทำพิธีส่งมอบอาวุธ เขาก็เอาปืนมามอบให้ตำรวจเอง จากนั้นก็มาสอนตำรวจด้วยว่า เขาซื้อขายปืนเถื่อนกันยังไง ซื้อขายในเว็บไซต์ยังไง เข้าไปดูตรงไหน กลายเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีเลย”

“หลังจากนั้นโรงเรียนก็ยอมรับเด็กกลับเข้าไปเรียน โดยสอนพิเศษเพิ่มเติมให้จากที่ขาดเรียนไป คนที่ไม่อยากเรียนก็จะสอบถามว่าอยากทำอะไร เช่น อยากทำนา ก็ให้ชาวนามาสอน อยากทำคาร์แคร์ ก็เปิดโรงพักให้พวกเขาไปล้างรถ มีค่าตอบแทนให้ และในที่สุดชาวจันทบุรีก็ได้ลูกหลานกลุ่มนี้กลับคืนมาสู่ครอบครัว ประเทศก็ได้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่ากลับคืนมา”

“เคยคุยกับท่านรองผู้การฯ ในยุคนั้น เดิมทีท่านเป็นตำรวจมือปราบ เน้นการปราบปรามจับกุม แต่ภาคีจากหลายองค์กรก็ช่วยกันคุยจนท่านยอมเปลี่ยนทัศนคติมาใช้วิธีการที่เล่าไป ท่านรองผู้การฯ บอกว่า ช่วงแรกๆ ที่ตำรวจเข้าไปคุยกับแก๊งเด็กแว้นต่างๆ ถูกท้าทาย ถูกรังเกียจ ถูกเหยียดหยามก็มี ต้องอดทนอย่างมากกว่าจะสามารถซื้อใจพวกเขาได้ ซึ่งนั่นสำคัญมาก คือ จะแก้ปัญหานี้ให้สำเร็จ จะต้องอดทน และต้องไม่เล่นเป็น พระเอก ไม่เป็นตัวเด่นอยู่คนเดียว”


โครงการ 3 ซ. จันทบุรี “หยุดซ่า หยุดซิ่ง หยุดเซ็กส์ ไม่มั่วยาเสพติด” จึงเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการแก้ปัญหาเด็กแว้น ซึ่งนั่นก็ทำให้ยิ่งเกิดความสงสัยขึ้นกับ ผศ.ปนัดดา โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า ในเมื่อเคยมีโครงการที่ทำแล้วได้ผลดี สอดคล้องกับผลงานวิจัยที่ระบุชัดเจนว่าการปราบปรามจับกุมไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ทำไมผู้บังคับบัญชาตำรวจในปัจจุบัน จึงไม่นำโครงการนี้มาใช้เป็นต้นแบบ แต่กลับไปใช้วิธีการปราบปรามแบบเดิม

“อยากเชิญชวนให้สื่อและสังร่วมกันค้นหาคำตอบของคำถามนี้ว่า จริงๆ แล้ว เราปราบปรามจับกุมเด็กแว้นเพื่ออะไร เพื่อความปลอดภัยของสังคม เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูเยาวชนของเราให้กลับมาเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพ หรือเพื่อสร้าง พระเอกขี่ม้าขาว ขึ้นมาในภาวะที่สังคมเรียกร้อง”
ผศ.ปนัดดา กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น