xs
xsm
sm
md
lg

๖ สมเด็จเจ้าพระยาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์! สมัย ร.๕ พระราชทานอำนาจให้ประหารชีวิตคนได้!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



ในยุครัตนโกสินทร์ ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชในปี ๒๓๒๕ จนถึงสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามประกาศยกเลิกบรรดาศักดิ์ ขุน หลวง พระ พระยา ในปี ๒๔๘๔ คงมีขุนนางที่มีความดีความชอบได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา ๑๓๐ ตำแหน่ง แต่มีตัวบุคคล ๑๐๖ ท่าน ในจำนวนนี้ได้รับเกียรติสูงสุดเป็นพิเศษถึงขั้น สมเด็จเจ้าพระยา เพียง ๖ ท่านเท่านั้น

แต่สมเด็จเจ้าพระยาในสมัยรัชกาลที่ ๑ ไม่ปรากฏทั้งนาม ประวัติ และบทบาท กล่าวแต่เพียง “สมเด็จเจ้าพระยาวังหน้า” เท่านั้น จึงไม่ทราบว่าเป็นท่านผู้ใด

ในสมัยรัชกาลที่ ๒ มีจากรึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดเกล้าฯ เจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) ข้าหลวงเดิมในรัชกาลที่ ๑ เป็น สมเด็จเจ้าพระยาวังหน้า ไปรับราชการในพระราชวังบวร นอกนั้นไม่ได้กล่าวถึงอีก
คงมีสมเด็จเจ้าพระยาที่มีบทบาทสำคัญในรัชกาลที่ ๓ ถึงรัชกาลที่ ๕ เพียง ๓ ท่านเท่านั้น คือ

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ซึ่งเรียกกันว่า “สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่”

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) ซึ่งเรียกกัน “สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย”

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ ๕

สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่และสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย เป็นบุตรของ เจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) ที่เกิดจากเจ้าคุณนวล น้องนางในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๑ ส่วนสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นบุตรชายคนโตของสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ เกิดหลังสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ๖ ปี เริ่มเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๑ เป็นนายสุจินดา หุ้มแพร แล้วเลื่อนเป็นหลวงศักดิ์นายเวร เป็นจมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก ตามลำดับ

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯให้เป็น พระยาสุริยวงศ์มนตรี จางวางมหาดเล็ก แล้วเลื่อนขึ้นเป็นพระยาพระคลัง ตำแหน่งเสนาบดีกรมท่า ดูแลด้านศุลกากรและการต่างประเทศ

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยามหาเสนา (น้อย) ว่าการกลาโหม ถึงแก่กรรม จะโปรดให้เจ้าพระยาพระคลังเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยามหาเสนา แต่ท่านขอไม่รับ โดยอ้างว่าบรรดาศักดิ์นี้มักอายุสั้น จึงโปรดเกล้าฯให้เป็นเจ้าพระยาพระคลังตามเดิม แต่ว่าการสมุหกลาโหมด้วย ในรัชกาลนี้จึงมีเจ้าพระยาพระคลังว่าการกลาโหม

ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าฯให้เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยา แต่ทรงเชื่อถือในเรื่องโหราศาสตร์ จึงโปรดให้เรียกว่า “เจ้าพระยาอัครมหาอุดมบรมวงศาเสนาบดี” ไปก่อน จนได้ฤกษ์ในปี ๒๓๙๔ จึงพระราชทานสุพรรณบัฏจารึกราชทินนามเป็น “สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์” พระราชทานเครื่องยศอย่างพระองค์เจ้าต่างกรม ให้เป็นที่สมุหนายก สำเร็จราชการตลอดราชอาณาจักร อันเป็นตำแหน่งสูงสุด ใช้ตราสุริยมณฑลเทพบุตรชักรถ

ส่วนสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ อายุอ่อนกว่าพี่ชาย ๓ ปี เข้ารับราชการตามกันมาติดๆ ในรัชกาลที่ ๑ เป็น นายสนิท หุ้มแพร มหาดเล็ก ถึงรัชกาลที่ ๒ ย้ายไปเป็นเด็กชาในกรมพระราชวังบวร แล้วย้ายกลับมาวังหลวงอีก เป็น พระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก จนรัชกาลที่ ๓ จึงโปรดเกล้าฯเป็น พระยาศรีพิพัฒน์ เล่ากันว่าจะโปรดให้เป็นเจ้าพระยายมราช แต่ท่านขอไม่รับ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ จึงโปรดเกล้าฯให้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาเช่นพี่ชาย แต่โปรดให้เรียกว่า เจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติไปก่อน จนได้ฤกษ์จึงได้พระราชทานสุพรรณบัฏจารึกราชทินนามว่า “สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ” พระราชทานเครื่องยศอย่างพระองค์เจ้าต่างกรม ให้สำเร็จราชการในพระนครทุกสิ่งทุกพนักงาน ใช้ตราจันทรมณฑลเทพบุตรชักรถ

สมเด็จเจ้าพระยาพี่น้องคู่นี้เหมือนเป็นคู่แฝด ทำงานรับสนองเบื้องยุคลบาทในรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ ร่วมกันมาตลอด เป็นผู้มีบทบาทสำคัญใน ๒ รัชกาลนี้ยิ่งกว่าขุนนางผู้ใด

ส่วนสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) เป็นบุตรชายคนโตของสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ เกิดในปี ๒๓๕๑ ปลายรัชกาลที่ ๑ เริ่มเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ ๒ และช่วยบิดาทำงานราชการมาตลอด ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้เลื่อนขึ้นเป็นนายไชยขรรค์ หุ้มแพร และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมาตั้งแต่วัยเยาว์ ได้เลื่อนเป็นหลวงสิทธินายเวร อยู่ในกลุ่มหัวใหม่ที่มี วชิรญาณภิกขุ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางหัวก้าวหน้าอีกหลายคนที่ศึกษาภาษาอังกฤษและวิชาการตะวันตก ในปลายรัชกาลที่ ๓ ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ หลังจากที่บิดาได้ขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระบรมมหาประยูรวงศ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯก็โปรดเกล้าฯพระยาศรีวรวงศ์ขึ้นเป็น เจ้าพระยาศรีวรวงศ์ ว่าที่พระสมุหกลาโหม แต่เนื่องจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ยังถือตราคชสีห์สำหรับตำแหน่งสมุหพระกลาโหม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจึงทรงสร้าง “ตราศรพระขรรค์” พระราชทานให้เจ้าพระยาศรีวรวงศ์ เมื่อดำรงตำแหน่งสมุหพระกลาโหมเต็มตำแหน่งแล้ว ก็ได้ใช้ทั้งตราคชสีห์และตราศรพระขรรค์ ทำให้มีบทบาทสำคัญในการปกครองประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงแก่พิราลัยและสวรรคตแล้ว อำนาจของเจ้าพระยาศรีวรวงศ์ก็มีมากขึ้น จนสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเปรียบเทียบไว้ว่า

“ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ เป็นเสมือนแม่ทัพแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ก็เป็นเสมือนเสนาธิการ ช่วยกันทำงานมาตลอดรัชกาลที่ ๔”

ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีก็ลงมติเป็นเอกฉันท์ ให้ทูลเชิญ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ พระราชโอรสองค์ใหญ่ขึ้นครองราชย์ แต่เนื่องจากยังทรงพระเยาว์ ที่ประชุมจึงเลือกให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีอำนาจสิทธิ์ขาดในราชการแผ่นดินระหว่าง พ.ศ.๒๔๑๑-พ.ศ.๒๔๑๖ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ด้วยพระองค์เองแล้ว จึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ดำรงตรามหาสุริยมณฑล บังคับบัญชาสิทธิขาดราชการแผ่นดินทั่วราชอาณาจักร และสำเร็จสรรพอาญาสิทธิประหารชีวิตคนที่ถึงอุกฤษฏ์โทษมหันตโทษได้

หลังพ้นหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้ว ท่านก็ออกตรวจราชการหัวเมืองอยู่เป็นประจำ และไปพำนักยู่ที่เมืองราชบุรีเป็นส่วนใหญ่ เป็นเวลาถึง ๙ ปี จนถึงวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๔๒๕ ท่านก็ถึงแก่พิราลัยด้วยโรคลมขณะที่กำลังเดินทางกลับจากราชบุรีทางเรือในคลองดำเนินสะดวกที่ท่านเป็นแม่กองขุดไว้ รวมสิริอายุได้ ๗๔ ปี ๒๗ วัน นับเป็นสมเด็จเจ้าพระยาองค์สุดท้ายในประวัติศาสตร์ไทย






กำลังโหลดความคิดเห็น