‘แม่นากภาคพิศดาร’ , เรื่องราวของ ‘ยายสำอางค์’ วณิพกที่ปรากฎในบทเพลงซึ่งถูกขับร้องโดยยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว, ชีวิตของครูเพลง หรือพ่อเพลงแม่เพลงที่มีชื่อเสียง แต่ยังไม่เคยถูกถ่ายทอดเป็นตัวอักษรให้ชนรุ่นหลังรับรู้ รวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับผีไทย ตำนานทั้ง 4 นี้ คือผลงานที่ ‘เขา’ ทุ่มเทอย่างขะมักเขม้น เพื่อถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือ หลังจากที่ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา เขาเขียนหนังสือมาแล้ว ถึง 200 เล่ม แต่ละเล่มล้วนทรงคุณค่าและกอปรด้วยจรรยามารยาทของนักเขียนครบถ้วน ไม่ว่าการระบุแหล่งที่มาของข้อมูล รวมถึงการอ้างอิงเอกสารหลักฐานต่างๆ การลงพื้นที่สำรวจ สัมภาษณ์ด้วยตนเอง อีกทั้งเปี่ยมด้วยเนื้อหาที่มีประโยชน์ต่อสังคม ผลงานทั้งหมดที่ผ่านมา พิสูจน์ว่าเขาควรค่าที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
‘นักประวัติศาสตร์ นักเขียนสารคดี นักวิจัย’ คือคำที่ผู้คนเรียกขานพอๆ กับที่เรียกเขาว่า ‘นักสะสม’ ที่มองเห็นถึงคุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่ผ่านกาลเวลา ซึ่งหลายคนอาจนึกไม่ถึงหรือหลงลืมไปแล้ว แต่เขายังคงเก็บรักษาสิ่งที่มีคุณค่าและสะท้อนวิถีชีวิตผู้คนในยุคสมัยเก่าก่อนไว้ให้ประทับและดำรงอยู่ได้อย่างงดงาม ณ ที่ซึ่งถูกเรียกขานว่า “บ้านพิพิธภัณฑ์” หรือ House of Museums
เขาคือ เอนก นาวิกมูล ผู้ก่อตั้ง “บ้านพิพิธภัณฑ์” ที่ให้สัมภาษณ์เปิดใจกับ ‘ผู้จัดการออนไลน์’ ถึงความมุ่งหวังและสิ่งที่เขากำลังสรรค์สร้างขึ้นด้วยความทุ่มเท อย่าง “บ้านพิพิธภัณฑ์ 2” ที่ตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ด้วยแนวคิด ‘บ้านไร่ใกล้ตลาด’ ที่แม้ยังไม่อาจจะบุได้ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด พร้อมด้วยงบประมาณที่เริ่มร่อยหรอ แต่เขาก็ยังคงเดินทางไปดูแลและร่วมสร้าง “บ้านพิพิธภัณฑ์ 2” อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ไม่เพียงเท่านั้น เอนก ยังบอกเล่าถึงจุดแรกเริ่มแห่งแรงบันดาลใจ ที่ทำให้เขารักการเขียนการอ่าน งานของบรมครูที่ทำให้เขาก้าวออกไปสำรวจโลกกว้าง นอกจากนั้น เขายังบอกเล่าความฝันที่เมื่อได้ฟังแล้วอดไม่ได้ที่จะวาดภาพตามในใจ คือการสร้าง ‘เมืองลับแลจำลอง’ และ ‘พิพิธภัณฑ์ผีไทย’ ซึ่งแม้จะยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก เพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่ความฝันของเขาก็สะท้อนภาพแห่งความรักที่มีต่อการสร้างสิ่งประดิษฐ์ และให้คุณค่าต่อพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเขาเชื่อมั่นว่าพิพิธภัณฑ์ คือสิ่งที่จำเป็นและสำคัญต่อทุกสังคม ส่วน บ้านพิพิธภัณฑ์ ที่เขาสร้างขึ้น หรือหากจะมีพิพิธภัณฑ์แห่งอื่นๆ ตามมาในอนาคต เขาก็หวังว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คนรุ่นหลัง มองเห็นภาพวิถีชีวิตของคนรุ่นเก่าก่อน เข้าใจในอดีตมากขึ้น
ด้วยเหตุนั้น เขาจึงยังคงสร้างสรรค์สถานที่อันมีคุณค่าในการเก็บรักษาความทรงจำอย่างมุ่งมั่นทุ่มเทในแทบจะทุกๆ วัน
…..
สั่งสมและสร้างสรรค์ ‘จดหมายเหตุสังคม’
ถามว่าองค์ความรู้ต่างๆ ที่เอนกสั่งสมมา ทั้งในฐานะศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ นักเขียนสารคดี นักประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่ในฐานะผู้ก่อตั้ง “บ้านพิพิธภัณฑ์” หรือ House of Museums องค์ความรู้เหล่านี้จะอยู่รอดอย่างไรในโลกสมัยใหม่ที่โลกโซเชียลมีอิทธิพลต่อผู้คน ของเล่นเก่าๆ จะยังมีความหมายหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโลกยุควิกฤติหลังโควิด-19 ที่ผู้คนกังวลว่าจะอยู่รอดอย่างไร ในแต่ละวัน
ของเล่น ของสะสมและความทรงจำเหล่านี้จะยังมีคุณค่าทางใจและคงอยู่อย่างไร
เอนกตอบว่า ของที่เก็บสะสมส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เก็บไปเสียทั้งหมดทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เก็บเพื่อเป็นตัวอย่างของใช้ชาวตลาด ชาวเมือง หรือถ้ากว้างกว่านั้นก็อย่างเช่น ของใช้ในกรมต่างๆ เช่นกรมศิลปากร เป็นต้น
“การเก็บสะสมสิ่งเหล่านี้ ถือเป็น ‘จดหมายเหตุสังคม’ เป็นเครื่องช่วยจำ ว่าครั้งหนึ่ง เคยมีของอย่างนี้ ครั้งหนึ่งเราเคยเล่นอะไรอย่างนี้ เราเคยมีความสุขกับสิ่งนี้
หรือมีความทุกข์ ความทรมานจากสิ่งนี้ก็เป็นได้ เช่น พิพิธภัณฑ์จากสงครามที่ฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ก็ช่วยย้ำเตือนถึงความโหดร้ายของสงคราม
สิ่งเหล่านี้แหละที่ช่วยเตือนความทรงจำกัน และอยากให้มนุษย์คิดสร้างสรรค์ มากกว่าจะทำลายกัน อย่างพิพิธภัณฑ์ที่ฮิโรชิมา เป็นตัวอย่างเลยว่า เมื่อผู้คนไปเห็นแล้ว เขาเกิดความสะเทือนใจ หรือว่าคนไปเห็นตลาดเก่าๆ ของญี่ปุ่นเขาก็ประทับใจที่มันสะอาด เป็นระเบียบ เหล่านี้ก็น่าจะจุดชนวนความคิดได้ว่า ชีวิตคนญี่ปุ่น เขาดูแลรักษาบ้านเมืองเขาดีมาก มีที่จอดรถให้พร้อม มีห้องน้ำที่สะอาด ทุกคนก็ช่วยกันรักษาความสะอาด อาหารที่เขาทำก็ดูน่ากิน เพราะบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ของเขาประณีต เพราะฉะนั้น คนที่มีโอกาสไปเที่ยวญี่ปุ่นหรือไปดูงานที่นั่น ผมก็อยากให้เอาแนวคิดมาพัฒนาบ้านเราด้วย ของเราก็มีดีอยู่แล้ว ก็อยากให้ทำให้มันดีขึ้น”
เอนกยังระบุถึงอีกสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่สังคมควรมีพิพิธภัณฑ์ โดยกล่าวว่า
“มนุษย์ ย่อมต้องมีการพักผ่อน มีการรื่นเริง ไม่อย่างนั้น ถ้าไม่มีการร้องรำทำเพลง ไม่มีการร้องเล่นเต้นรำ ชีวิตก็ขาดความบันเทิง พิพิธภัณฑ์ก็เช่นเดียวกัน และส่วนพิพิธภัณฑ์ไม่ได้ให้เพียงความรู้ หรือในส่วนของความคิดแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่หรือแหล่งที่มอบความบันเทิงอย่างหนึ่งด้วย ดังนั้น คนที่ไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ก็เพราะเขาชอบเขาก็ไปดูสิ่งเหล่านี้ บางคนชอบอาวุธปืน เขาก็อาจจะไปดูพิพิธภัณฑ์สงคราม คนชอบของเล่นก็ไปดูของเล่น คนชอบวิทยาศาสตร์ก็ไปดูเรื่องวิทยาศาสตร์
เพราะฉะนั้น พิพิธภัณฑ์ หรือการเก็บสะสมของส่วนตัวก็ตาม มันให้ประโยชน์ในเรื่องความบันเทิงใจอย่างหนึ่ง และมุนษย์เราก็ไม่ใช่ว่าจะทำงานอยู่ตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นเครียดตายเลย แต่ถ้าชอบความบันเทิงแบบมีความรู้ด้วย ก็ไปดูพิพิธภัณฑ์ หรือดูนิทรรศการ ส่วนใครชอบบันเทิงอย่างเดียวก็ไปฟังดนตรี ไปไนต์คลับ ไปสถานบันเทิงอะไรก็ว่าไป ดังนั้น สังคมจึงต้องมีพิพิธภัณฑ์ มีห้องสมุด มีสวนสาธารณะเพื่อไว้สำหรับเป็นที่พักผ่อนด้วย หาความรู้ด้วย เช่น เมื่อเราไปสวนสาธารณะก็มีต้นไม้ มีนก หรือแม้แต่สวนสัตว์ เหล่านี้ ก็ช่วยให้คนได้ศึกษาธรรมชาติ ดังนั้น สังคม ควรมีสถานที่เหล่านี้ หรือมีพิพิธภัณฑ์ มีนิทรรศการที่ครอบคลุมทุกแขนง เพื่อที่ว่าความรู้และมนุษย์จะได้เจริญก้าวหน้าไปด้วยกัน หลักการผมก็มีอย่างนี้” เอนกระบุถึงความสำคัญของการมีแหล่งพักผ่อนที่เป็นทั้งสถานที่เรียนรู้ในสังคม
‘บ้านพิพิธภัณฑ์’ กับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19
เมื่อถามว่า ช่วงเกิดวิกฤติโควิด-19 ใน 4 ระลอกที่ผ่านมา “บ้านพิพิธภัณฑ์” ต้องเผชิญหรือประสบกับปัญหาอะไรบ้าง และผ่านมาได้อย่างไร
เอนกตอบว่า “บ้านพิพิธภัณฑ์ เพิ่งกลับมาเปิดอีกครั้งเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2564 ที่รัฐบาลให้เปิดครับ คนก็มาน้อยลง สมัยก่อนมีรายรับที่นำมาทำอะไรได้พอสมควร แต่ทุกวันนี้รายรับก็น้อย
ผลกระทบส่วนหนึ่ง เพราะโควิด-19 ทำให้คนก็ไม่กล้าเที่ยวมาก
ผลกระทบส่วนที่สอง ผมมองว่าเพราะมีที่เที่ยวกระจัดกระจายมากขึ้น
แต่ไม่ว่ายังไง บ้านพิพิธภัณฑ์ของเราก็ยังอยู่เหมือนเดิม อาสาสมัครก็ยังมาทำงานกันเหมือนเดิม ผ่านมา 20 ปีแล้ว ก็ยังทำกันอยู่ 10-20 คนเหมือนเดิมนี่แหละครับ” เอนกระบุ และบอกเล่ารายละเอียดของผลกระทบที่เกิดขึ้นว่า
ผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้รายได้น้อยลง รายจ่ายเท่าเดิม ทว่า ข้อดีก็ยังมีอยู่บ้าง เนื่องจากระหว่างที่ปิดบ้านพิพิธภัณฑ์เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ได้โอกาสซ่อมใหญ่ ซ่อมใหม่แทบทั้งหมดเลย โดยเฉพาะตึกเก่าที่เปิดให้บริการมายาวนานนับแต่เมื่อครั้งที่เปิดอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2544 กระทั่งถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 ในครั้งนั้นก็ต้องใช้เวลาซ่อมแซมนานถึง 7 เดือน
“ในครั้งนั้น ผมก็ถือโอกาสทาสีใหม่ ทำอะไรใหม่อีกเยอะแยะ ก็เท่ากับทำใหม่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ต่อมา ในปี พ.ศ.2563-2564 ถือว่า 9 ปี ต่อมานับจากเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ เราก็ถือโอกาสช่วงที่เราต้องปิดเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เราก็มาทาสีใหม่ มาปรับห้องใหม่ จัดของ จัดตู้จัดโต๊ะใหม่ จัดใหม่หมดเลยครับทั้ง 3 ชั้นเลย ก็เป็นอันว่าคนที่เคยมาที่บ้านพิพิธภัณฑ์เมื่อ 20 ปีก่อน หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก็จะเห็นว่ามันแปลกตาไปสำหรับส่วนที่เป็นตึก 3 ชั้น 3 คูหานี่แหละครับ” อเนกระบุ
ณ จุดแรกเริ่มแห่งแรงดลใจของการเป็นนักเขียน
เมื่อถามถึงความสนใจหรือแรงบันดาลใจแรกเริ่ม ว่าอะไร คือปัจจัยที่ทำให้สร้างบ้านพิพิธภัณฑ์ขึ้นมา รวมทั้งสิ่งใดที่ทำให้กลายมาเป็นนักเขียน นักสารคดี นักประวัติศาสตร์คนสำคัญคนหนึ่งของประเทศในปัจจุบัน
เอนกตอบว่า “แรงบันดาลใจของผมก็มีมาตั้งแต่เด็ก ผมเกิดปี พ.ศ. 2496 ที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา แล้วที่บ้านเป็นร้านขายหนังสือแบบเรียน เครื่องเขียน มีแบบเรียนเยอะแยะ มีหนังสือแบบเรียนเก่าๆ ให้อ่าน แล้วพ่อผมก็ชอบเขียนบันทึก ชอบการจดบันทึก ชอบการเก็บสะสม ผมก็ได้นิสัยนี้จากพ่อโดยตรงเลยครับ” เอนกบอกเล่าถึงแรงดลใจคนสำคัญ ที่ทำให้เขารักการอ่านการเขียน คนๆ นั้นก็คือ ‘พ่อ’ ของเขานั่นเอง
เมื่อเรียนชั้น ป. 3 ป. 4 เอนกก็เริ่มแต่งนิทานและเขียนบันทึก โดยเอนกเล่าว่า เขาเขียนบันทึกเรื่อยจนถึงปัจจุบัน ย้อนกลับไปช่วงประถม เมื่อเริ่มแต่งนิทานแล้ว ต่อมาเขาก็หัดเขียนกลอน เขียนเรื่องสั้นไปตีพิมพ์ลง ‘นิตยสารชัยพฤกษ์’ นิตยสารสำหรับเด็ก เมื่อเอนกส่งเรื่องไปก็ได้ลงตีพิมพ์ ไม่เพียงเท่านั้น เขายังชนะเลิศประกวดเรื่องสั้น ได้อันดับที่ 1
จากนั้น เขาก็พัฒนางานเขียนเรื่อยมา กระทั่งถึงวัยมัธยม แรงบันดาลใจสำคัญคือการที่เขาได้อ่านงานของ ประยูร อุลุชาฎะ หรือที่รู้จักกันในนามปากกา น.ณ ปากน้ำ ที่นับได้ว่าเปิดโลกกว้างให้แก่เอนกไม่น้อย
สำรวจ แสวงหา สร้างสรรค์ ‘อัตลักษณ์’ งานเขียนเฉพาะตัว
เอนกกล่าวถึงแรงบันดาลใจที่ได้รับจากงานของนักเขียนชั้นครูว่า
“งานเขียน ของ น.ณ ปากน้ำ เขาพูดถึงความเสื่อมของศิลปะ พระสงฆ์ที่ไม่รู้ถึงความสำคัญของศิลปะก็เอาปูนไปทาภาพจิตรกรรมฝาผนัง บ้างก็ไปรื้อโบสถ์ รื้อวิหารทิ้ง เราอ่านแล้วเราก็สะเทือนใจ เพราะผมเข้ามากรุงเทพฯ ปี พ.ศ.2515 ผมก็ออกสำรวจ ออกไปเดินตามตึกเก่าๆ ไปดูตึกเก่าๆ นั่งเรือสำรวจคลองต่างๆ แล้วก็ออกไปดูวัดต่างๆ ถ่ายรูป เก็บบันทึกเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
แล้วทีนี้ ในส่วนของการเขียน ในที่สุดผมรู้สึกว่าคนที่เอาจริงเอาจังในการเขียนสารคดีมีน้อย ที่ผ่านมา อาจมีผู้ที่เขียนเล่าด้วยรูปแบบของการบอกเล่าตามสบาย ไม่มีการอ้างอิงหลักฐานอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพื่อให้ผู้อ่านไปสืบค้นต่อได้ ผู้ที่ทำการอ้างอิงหลักฐานและที่มายังมีน้อย
ผมเห็นถึงปัญหานี้ ต่อมาผมก็นำไปพัฒนาว่า ข้อหนึ่ง ต้องมีรูปประกอบให้มากขึ้น ซึ่งผมก็ต้องถ่ายรูปเองอยู่แล้ว ข้อสอง ต้องมีการอ้างอิงว่าเรารู้มาได้อย่างไร ต้องให้เครดิตผู้ที่ให้ความรู้เรา หรือหากเราได้ข้อมูลมาจากการออกไปสัมภาษณ์ ไปสังเกตการณ์ ไปเก็บข้อมูลด้วยตัวเอง เราก็ต้องบอกไปตามตรง ไม่ใช่เขียนเลื่อนลอยแบบตรัสรู้ ผมไม่ชอบหนังสือที่ไม่ให้เกียรติผู้อื่น แบบลอกคัดตัดต่อเขามา แล้วก็ไม่ให้เครดิตเขา แบบนี้ผมไม่ชอบเลย ดังนั้น เมื่อเห็นปัญหานี้ ผมก็พัฒนาการเขียนของผมมาโดยตลอดนะครับ มีการอ้างอิง แม้แต่การถ่ายรูปอะไรก็ตาม ในระยะหลังมานี้ ผมก็เติม วัน เดือน ปี เข้าไปด้วย แล้วต่อมาผมก็เติมรหัสภาพว่าแต่ละภาพมีเบอร์อะไรบ้าง ไม่เช่นนั้น คนรุ่นหลัง ก็สืบค้นไม่ได้ ดังนั้น ที่กล่าวมาทั้งหมด ผมต้องคิดระบบเองหมดเลย หนังสือที่ผมเขียนทั้งหมด 200 เล่ม ผมก็พัฒนามาโดยตลอด” อเนกระบุถึงมาตรฐานในการสร้างงานเขียน
ผลงานเขียนที่อยู่ระหว่างการสร้างสรรค์
ถามว่า นอกจากผลงานเขียนที่มากถึง 200 เล่มแล้ว ยังมีเรื่องใดที่อยากเขียนหรือกำลังเขียนอยู่บ้าง
เอนกตอบว่า “ที่กำลังทำอยู่ก็มี ‘แม่นากภาคพิศดาร’ มี ‘ป้าสำอางค์ วณิพกพเนจร’ ที่ ‘แอ๊ด คาราบาว’ เอาไปร้อง และมีงานเขียนชีวิตพ่อเพลง แม่เพลง ก็ต้องเขียนอีกเยอะ รวมถึงชีวิตพ่อแม่ปู่ย่าตายายผม ผมก็สัมภาษณ์เก็บไว้เยอะ ผมก็ต้องเขียนเรื่องราวของตระกูลตัวเองด้วย มีให้ทำเยอะแยะ ที่เขียนๆ ไว้ในเฟซบุ๊คไปก็เพื่อกันลืมด้วย และเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้คนอ่านฟรี แต่อย่างไรก็คิดว่าจะต้องรวมเล่มนะครับ เพราะว่าตั้งใจเขียนทั้งนั้นเลย มีให้ทำเยอะแยะเลยครับ ไม่จบไม่สิ้น” เอนกระบุถึงหลากหลายเรื่องราวที่ล้วนน่าสนใจ และสะท้อนภาพวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมของไทย
ครั้นถามว่าอยากเขียนถึงเรื่องราวของเจ้านายในอดีตท่านใดเป็นพิเศษบ้างหรือไม่ เอนกตอบว่า องค์สำคัญก็มีผู้เขียนกันไปหมดแล้ว
“ที่ผมสนใจ เช่น ผลงานของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช ต้นตระกูลของ ราชสกุลศุขสวัสดิ ท่านเป็นนักถ่ายรูป แต่หลักฐานน้อยมาก ผมสนใจ แต่เขียนอะไรมากไม่ได้ จนกว่าจะมีข้อมูลโผล่ขึ้นมา หลายเรื่อง เราต้องรอเวลา หรือบางเรื่องบังเอิญได้ข้อมูลมาก็มีครับ เท่าที่เคยเจอ” อเนกระบุ
สิ่งที่มีความหมายและคุณค่าทางใจ
ถามว่า มีสิ่งใดอยากแนะนำเด็กๆ หรือคนรุ่นใหม่ ที่ยังไม่เคยไปบ้านพิพิธภัณฑ์
เอนกตอบว่า “สิ่งที่อยากบอกก็คือ เมื่อได้มาเห็นแล้ว เขาจะพบว่ามีสิ่งสะสมจำลองเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตชาวตลาด ชาวเมืองในยุค พ.ศ.2500 ลงไป เป็นยุคสมัยของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ รุ่นปู่รุ่นย่าของเขา มีร้านต่างๆ ให้เห็น เช่นเป็นร้านถ่ายรูป ร้านของเล่น ร้านเสื้อผ้า อะไรแบบนี้ครับ ก็เป็นการจำลองตลาด ให้เข้าไปอยู่ในอาคารบ้านพิพิธภัณฑ์” เอนกระบุ
ถามว่า ในปัจจุบัน มีของเล่นหรือมีอะไรที่เป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางใจ ที่เอนกชื่นชอบเป็นพิเศษหรือไม่
ผู้ก่อตั้งบ้านพิพิธภัณฑ์ตอบว่า “ของในยุคปัจจุบันน่ะเหรอ ( นิ่งคิด ) ของในยุคปัจจุบันที่มีคุณค่าทางใจ จริงๆ ก็แล้วแต่ว่าเราชอบอะไรนะครับ แต่สำหรับผม ผมสนใจเกี่ยวกับกล้องถ่ายรูปสามมิติ หรือของเล่นที่มันไขลานได้ แต่ผมไม่ได้มีเงินมากมายนะ แล้วผมก็ชอบสิ่งพิมพ์ ชอบเกี่ยวกับหนังสือ ชอบสิ่งพิมพ์ เป็นหลัก” อเนกระบุถึงสิ่งที่ชื่นชอบที่ล้วนสะท้อนถึงคุณค่าของแต่ละยุคสมัย
นักสร้างสิ่งประดิษฐ์ เมืองลับแล และพิพิธภัณฑ์ผี
นอกจาก ผลงานหนังสือ 4-5 เล่มที่อยู่ระหว่างการเขียน รวมถึง บ้านพิพิธภัณฑ์ 2 ที่ตำบลงิ้วราย เอนกยังมีโครงการหรือมีสิ่งใดที่อยากสรรค์สร้างอีกบ้าง
เอนกตอบว่า “ผมอยากทำสิ่งประดิษฐ์กุ๊กกิ๊กๆ นั่นแหละครับ เพราะผมชอบมาตั้งแต่เด็กแล้ว อยากทำเครื่องฉายน่ารักๆ ขึ้นจอ เหมือนฉายสไลด์ เหมือนอย่างในสมัยเด็กที่เราเอากระป๋องนมตราหมีมาเป็นเครื่องฉายสไลด์ขึ้นจอ ที่จริงผมนำเครื่องฉายนี้ไปโชว์ ในรายการคุณพระช่วยที่จะออกอากาศ เดือน ธ.ค. ด้วย แต่ไม่มีเวลาฉายสไลด์ให้เขาดู
ผมชอบเรื่องสิ่งประดิษฐ์ อยากทำโรงหนังตะลุง อยากทำภาพซิลลูเอต ( หมายเหตุ Silhouette หรือ ภาพเงาดำ) ให้คนรู้จักเล่น มันก็คือแนวหนังตะลุง ให้คนได้หัดทำอะไรแบบนั้นน่ะครับที่ผมอยากทำ แล้วก็อยากเล่นภูเขาไฟ สมัยเด็กผมเอาปูนซีเมนต์มาหยอดลงเป็นทรงภูเขาไฟวิสุเวียส ( หมายเหตุ-ปัจจุบันภูเขาไฟวิสุเวียส ตั้งอยู่ในประเทศอิตาลีปัจจุบัน โดยอยู่ใกล้เมืองเนเปิลส์ เหนืออ่าวเนเปิลส์ )
ผมก็เอากระดาษหนังสือพิมพ์ใส่เข้าไป เอากิ่งไม้ใส่เข้าไป มันก็เหมือนภูเขาไฟกำลังพ่นควัน สิ่งประดิษฐ์ที่เป็นภูเขาไฟชิ้นนี้ อยู่ที่บ้านที่อำเภอระโนด ผมอยากจะไปขนมาจังเลย ผมทำตั้งแต่เด็ก ก็ผ่านมา 50 ปีแล้ว
นอกจากนี้ ที่ผมอยากทำคือ ‘เมืองลับแล’ ทำเป็นถ้ำเล็กๆ เหมือนถ้ำแกลบที่จังหวัดเพชรบุรี แล้วก็อยากทำ ‘พิพิธภัณฑ์ผี’ มีเรื่องผี แต่ผมไม่มีเงิน ทำสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เงินทั้งนั้น นอกจากนี้ หลังจากเขียนเรื่องแม่นากภาคพิศดารเสร็จ ผมกำลังจะนำเรื่องผีไทยมาเขียนขยายความ แล้วก็อยากเห็นพิพิธภัณฑ์ผี ผมอยากทำมาก เวลาไปงานวัดแล้วผมชอบ แต่ต้องมีเงิน เงินน่ะสำคัญที่สุด” เอนกบอกเล่าถึงความฝันในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ที่ล้วนแปลกใหม่และน่าสนใจ อีกทั้งยังยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า การจะทำสิ่งเหล่านั้นได้ ต้องมีปัจจัยสำคัญคือเงิน
ความทรงจำที่มีคุณค่า
ถามทิ้งท้าย ถึงความทรงจำที่ถ่ายทอดผ่านงานเขียนที่มีจำนวนมากถึง 200 เล่ม รวมทั้งการก่อตั้งบ้านพิพิธภัณฑ์ทั้งแห่งแรกและแห่งที่ 2 อีกทั้งสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่อยากทำ ไม่ว่า พิพิธภัณฑ์ผี หรือเมืองลับแลที่อยากสร้างขึ้นมา ทั้งหลายทั้งปวงนี้ คาดหวังให้คงอยู่คู่กับสังคมไทย หรืออยู่คู่กับโลกใบนี้ไปอีกนานแค่ไหน
เอนกตอบว่า “จริงๆ แล้ว เมื่อเราทำขึ้นมาแล้ว ก็ย่อมต้องการให้คงอยู่ เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สังคมต้องการ หมายความว่าสังคมต้องการพิพิธภัณฑ์ ไม่ต่างจากที่ต้องการสถานที่ท่องเที่ยว หรือสถานที่หย่อนใจทางธรรมชาติ ไม่ใช่ไปเที่ยวห้างสรรพสินค้าอย่างเดียว ผมสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้น เพื่อที่เมื่อเด็กๆ ได้ไปดูสิ่งของแล้ว เขาจะมีความเข้าใจสังคมในอดีตมากขึ้น ก็หวังอยากให้มีอยู่คู่สังคมต่อไปนานๆ แต่เราจะไปบังคับคนอื่นให้มาชอบแทนเรา หรือมารับผิดชอบดูแลแทนเรา ผมไม่รู้ สำหรับผม หากตายไปแล้วก็จบ
แต่วันนี้ ผมตั้งใจทำให้ดีที่สุด ตั้งใจทำให้มากที่สุด ทำให้ดีที่สุด ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ก็ทำไม่หยุด เพื่อให้มันเกิดสิ่งดีๆ ไม่ได้ทำเพื่อส่วนตัวเลย แต่เพื่อสังคม เพื่อส่วนรวม”
คือคำตอบที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นทุ่มเทในการสร้างสรรค์สถานที่อันเปรียบเสมือนแหล่งกักเก็บความทรงจำและจำลองภาพอดีตอันสวยงามไว้ ให้อยู่คู่สังคมตลอดไป ขณะเดียวกันก็ไม่หยุดที่จะสร้างสิ่งใหม่และถ่ายทอดเรื่องราวอันทรงคุณค่าผ่านตัวอักษร ที่เชื่อว่านักอ่านจำนวนไม่น้อยต่างเฝ้ารอผลงานของศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ผู้นี้
….
Text by รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by เอนก นาวิกมูล