สุดท้าย คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ก็มีมติไม่แตกต่างจากการประชุม กพช.เมื่อ 4 ปีก่อน ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2560 ที่เห็นชอบหลักการให้รับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) กำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10-50 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 3.66 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาการสนับสนุน 20 ปี
โดยมติ กพช.ครั้งนี้ กับมติ กพช.เมื่อ 2560 ก็ยังคงมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าภายใต้อัตรากำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่กำหนดดังกล่าวเช่นเดิม
มติ กพช.ปี 2560 และปี 2564 ที่ไม่มีอะไรต่างกันนั้น นับเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า โครงการนี้ควรเดินหน้าไปตั้งแต่ปี 2560 ไม่มีเหตุผลที่ต้องมาหยุดชะงักอยู่ที่กระทรวงพลังงานนานถึง 4 ปี จึงไม่ได้เรียกว่า ทำเพื่อประชาชนอย่างแน่นอน ตรงข้ามกลับสร้างความเสียหาย
ทั้งเสียโอกาสในการดูแลสิ่งแวดล้อมจากกองขยะทั่วประเทศ โดยเฉพาะขยะใน กทม.ที่นับวันขยะจะเพิ่มขึ้น และการหยุดชะงักของโครงการ ทำให้กรุงเทพมหานครต้องปรับแผนบริหารจัดการขยะใหม่ จากเป้าหมายจะลดวิธีกำจัดขยะด้วยการฝังกลบในปี 2565 เป็นต้นไป เพราะโรงไฟฟ้าขยะที่จะเข้ามาเป็นกลไกในการบริหารจัดการขยะแทนยังไม่เกิดขึ้น และต้องตั้งงบประมาณในการเก็บขนและฝังกลบต่อไป อีกกว่า 7,500 ล้านบาทต่อปี
ที่สำคัญ ยังเสียโอกาสในการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ อย่างโครงการนำขยะมาผลิตเป็นไฟฟ้าของศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม และอ่อนนุช ของกรุงเทพมหานครลงทุนกว่าหมื่นล้านบาท และ การชะงักงันของโครงการยังสร้างความเสียหายต่อภาคเอกชนที่ลงทุนโครงการ จากมูลค่าการลงทุนที่เพิ่มขึ้น เพราะตามแผนต้องเริ่มก่อสร้างเมื่อ 2 ปีก่อน
เมื่อเทียบการทำงานของหน่วยงานอื่นๆ และภาคเอกชน ที่กระตือรือร้นทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559-2564) ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล ที่กำหนดให้การแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ
อย่างกระทรวงมหาดไทยภายหลังที่กระทรวงพลังงานได้ขอให้เป็นเจ้าภาพหลักของโครงการนำขยะไปผลิตเป็นไฟฟ้าในแบบกลุ่ม Cluster ก็ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2560 ดึงทุกภาคส่วนเข้ามาบูรณาการการทำงาน ภายใต้คณะกรรมการกลางจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยโดยได้เชิญทุกหน่วยงานหลักในกระทรวงพลังงานเข้าร่วมด้วยอย่างพร้อมเพรียงแล้ว จนกระทั่งได้เอกชนเข้ามาลงทุนแทนรัฐ ซึ่งไม่มีงบประมาณเพียงพอ เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร เจ้าของ 2 โครงการ ที่หนองแขม และอ่อนนุช ที่ติดตามและทำหนังสือสอบถามความก้าวหน้ามาตลอด
สิ่งที่หน่วยงานภายนอกตั้งคำถาม ก็คือ 4 ปีที่หน่วยงานอื่นบูรณาการทำงานที่จะทำให้โครงการเกิดขึ้นได้ตามแผน แต่มาหยุดชะงักที่กระทรวงพลังงานนั้น กระทรวงนี้เอาเวลาไปกับการทำสิ่งใด เหตุใดจึงไม่ทำภารกิจสมตามหน้าที่ กลับใช้เวลาในการโยนคำตอบกันไปมา บางกรมกองของกระทรวงพลังงานลอยตัว บางกรมกองวนเวียนศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ ทั้งที่ได้จ้างสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาวิเคราะห์ต้นทุนมาแล้ว จนได้อัตราเหมาะสมที่ 3.66 บาทต่อหน่วย ซึ่งอัตรานี้ก็ได้รับการเห็นชอบจากกพช.แล้วในปี 2560 และมติ กพช.ล่าสุด 5 พฤศจิกายน 2564 ก็เห็นชอบกรอบตามตัวเลขเดิมที่ 3.66 บาทต่อหน่วย อัตรานี้จึงเป็นอัตราที่ไม่ได้เกิดจากแรงกดดันของภาคเอกชน แต่เกิดจากการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมโดยองค์กรกลางทางวิชาการ
คำตอบของหน่วยงานพลังงาน ที่องค์กรภายนอกได้รับ อ้างเหตุเช่นเดิมทุกครั้งไป ว่า ต้องมีการศึกษาทบทวนความเหมาะสมของโครงการ ทั้งที่รายละเอียดโครงการได้ผ่านความเห็นชอบมาตั้งแต่ปี 2560 ภายใต้การทำงานแบบบุรณาการร่วมกันที่กระทรวงพลังงานเองให้ความร่วมมืออยู่แล้ว นั่นหมายถึงเวลาแต่ละวินาทีที่สูญเปล่าไปนั้น กระทรวงพลังงานไม่ได้ทำเพื่อประชาชนดังว่า แต่กลับสร้างความเสียหายหนักหน่วง และความเสียหายยังไม่ได้หยุดเท่านี้ ตราบใดที่กกพ.ยังไม่มีการประกาศอัตรา และรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน
เรื่องนี้นับเป็นกรณีศึกษาระดับประเทศอย่างดี ว่า การที่มีหน่วยงานหนึ่งอย่างกระทรวงพลังงาน ไม่บูรณาการทำงาน ทำให้โครงการที่เป็นประโยชน์ให้ประเทศ กลับไม่สามารถเกิดขึ้นได้ …การเสียโอกาสทางสิ่งแวดล้อม และการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงความเสียหายของเอกชน มีคำตอบอยู่แล้วว่าใครต้องรับผิดชอบ และจากนี้ไม่ควรทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น แต่ถึงเวลาที่กระทรววพลังงานต้องเข้ามาร่วมบูรณาการอย่างแท้จริง ร่วมกันผลักดันโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว