xs
xsm
sm
md
lg

‘สีสันแห่งจิตวิญญาณ’ สนทนา ‘ด้านใน’ กับ ‘ครูมอส-อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ครูมอส-อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี” คือจิตรกรและนักศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญา ผู้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการทำงานของ ‘สี’ ว่าทำงานกับจิตใจและจิตวิญญาณได้อย่างลึกซึ้งเพียงใด สีที่เคลื่อนไหว สีที่อับแสง สีที่เจิดจ้า สีที่หม่นเข้ม สีแต่ละสี เปี่ยมความหมายและส่งสะท้อนสัญญาณถึงความรู้สึกภายในอันลึกซึ้งของตัวผู้ระบายสีอย่างไร ในมุมมองของนักศิลปะบำบัดที่ผ่านกระบวนการทำงานกับผู้มีบาดแผลทางใจและมีความป่วยไข้ในหลายกรณี ในหลากหลายวัย มายาวนานนับ 2 ทศวรรษ

เมื่อผู้รับบำบัดระบายสี เคลื่อนไหว ทุกกระบวนการนับแต่เริ่มต้นจนจบ เขาสามารถอธิบายได้ว่า มีความหมายหรือสัญญาณใดปรากฏและควรได้รับความช่วยเหลือมากน้อยเพียงใด ทั้งในแง่มุมของการรักษาทางการแพทย์ที่เขาทำงานร่วมด้วย และในการทำศิลปะบำบัดผ่าน ‘สี’ ที่ประทับสู่จิตวิญญาณด้านใน
 
ครูมอสศึกษาศาสตร์แขนงนี้มาโดยตรงจากเยอรมนี กระบวนการทำงานของครูมอสจึงโอบอุ้มและประคับประคองจิตวิญญาณภายในของเด็กอย่างทะนุถนอม ครูมอสยังได้ส่งต่อองค์ความรู้นี้ให้แก่ครูบาอาจารย์ที่ทำงานกับเด็กเล็กและผู้ปกครองอีกเป็นจำนวนมาก แม้แต่โรงเรียนเล็กๆ ในป่าเขา ครูมอสก็ยินดีให้ความรู้อย่างเปิดกว้าง ด้วยเหตุนี้ ทั้งเด็กๆ และครู รวมถึงผู้ปกครอง จึงพร้อมใจกันเรียกนักศิลปะบำบัดและจิตรกรผู้นี้ว่า “ครู” อย่างเคารพและให้เกียรติ
 
นอกจากนี้ ยังเป็นเป็นผู้อำนวยการ ‘สถาบันศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญา’ ซึ่งได้รับการรับรองจาก IARTeสวิสเซอร์แลนด์ เขาจึงเป็น ‘ครู’ ผู้ถ่ายทอดวิชาและองค์ความรู้ให้แก่นักศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญามาแล้วไม่น้อยกว่า 20 คน
ย้อนกลับไป ในปี พ.ศ.2543 ครูมอสในห้วงเวลานั้น เริ่มเดินทางไปศึกษาศิลปะที่เมืองชตุทท์การ์ท (Stuttgart )ประเทศเยอรมนี จากนั้นได้รับทุนรัฐบาลเยอรมนี ศึกษาด้านศิลปะบำบัด ที่เมืองชตุทท์การ์ท เยอรมนี เช่นเดียวกัน

เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย เขาทำงานวิชาชีพนักศิลปะบำบัดในโรงพยาบาลและคลินิกในกรุงเทพฯ รวมระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ก่อนที่จะก้าวสู่เส้นทางสายใหม่ โดยการสร้างสตูดิโอศิลปะของตนเองขึ้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเขาใช้เวลารอคอยถึง 3 ปี กว่าผู้เข้ารับการบำบัดเคสแรกจะเดินทางมาถึงสตูดิโอที่เขาเรียกว่า ‘บ้าน’ แต่ช่วงเวลาที่รอคอยเคส 3 ปี ก่อนนั้น ก็ทรงคุณค่า มิใช่ไร้ความหมาย เพราะเขาได้เดินทางเสาะแสวงหาเพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กๆ ที่ควรได้รับการเยียวยาจิตวิญญาณผ่านสี โดยไม่รับค่าตอบแทนใดๆ
 
ด้วยเนื้องานและแนวคิดที่น่าสนใจ ‘ผู้จัดการออนไลน์’ จึงสัมภาษณ์พิเศษ “ครูมอส-อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี” จิตรกรและนักศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญา เพื่อสนทนาถามไถ่ถึงเรื่องราวดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องราวการทำงานของ สี กับ จิตวิญญาณด้านใน เรื่องราวของศิลปะและยุคสมัย องค์ความรู้ของบรรพชนนับแต่ยุคโบราณกาลที่ถูกส่งต่อมาในโลกยุคปัจจุบันซึ่งเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง

ในโลกที่นับวัน วิกฤติ COVID-19 ฉุดลากให้แล้งไร้สีสัน ซีดจาง หม่นเศร้าและอับเฉา เราจะแสวงหา ‘ความงาม’ ได้จากที่ใด ‘คำตอบ’ ของเขาคนนี้สะท้อนถึงความหวังแห่งแสงเจิดจ้าอันงดงามที่ค้นพบได้ภายในจิตวิญญาณของเรานี่เอง

ทั้งหมดทั้งมวล คือถ้อยความ ( เจือเสียงหัวเราะบ้างในบางครั้งครา ) จากนักศิลปะบำบัดผู้นี้


‘ศิลปะมนุษยปรัชญา’ สีสันกับจิตวิญญาณ

หากถามว่าศิลปะในแนวมนุษยปรัชญา หมายถึงอะไร

ครูมอสตอบว่า “จริงๆ แล้ว ก่อนที่เราจะพูดถึงคำต่างๆ หรือคำที่เราให้ความสำคัญ รากฐานหรือรากเหง้าในความหมายของสิ่งที่ผมเรียนรู้มาจากครูบาอาจารย์ในทางเยอรมัน เราเรียกงานของท่านว่าเป็นมนุษยปรัชญาคืองานของท่าน ดร.รูดอล์ฟ สไตเนอร์ ( หมายเหตุ-รูดอล์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) ปราชญ์ชาวออสเตรีย นักปฏิรูปสังคม เกิดวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 1861 ที่ เมืองเล็กๆชื่อ Kraljevec อยู่แถบชายแดนออสเตรีย-ฮังการี ) ซึ่งจริงๆ ท่านก็เป็นคนทางฝั่งฮังกาเรียน-ออสเตรียน แต่ว่า สุดท้ายแล้ว คนจะเรียกท่านว่ามาจากเยอรมัน เพราะท่านเติบโตและใช้ชีวิตอยู่นานกว่า ”

ครูมอสเล่าว่า ดร.รูดอล์ฟ สไตเนอร์ เป็นคนที่เปิดความรู้เรื่องมนุษยปรัชญา ในช่วงเริ่มแรก โดยจะเป็นเรื่องของความเข้าใจในมนุษย์ ในมุมองของทางจิตวิญญาณตะวันตกผสานตะวันออก ที่มองเรื่องของ ‘ร่างกาย’ ‘ใจ’ แล้วก็ ‘จิต’ มองถึงสามคำนี้
พูดง่ายๆ ว่า ในยุคหนึ่งที่เราอธิบายมนุษย์ นอกจากเรื่องศาสนาที่พูดเรื่องจิตใจแล้ว งานในทางปรัชญา

ก็มี ดร.รูดอล์ฟ สไตเนอร์ นักคิด กวี และศิลปินนี้เอง ที่ได้กล่าวถึง ‘ร่างกาย’ ‘ใจ’ แล้วก็ ‘จิต’ ซึ่งในการพัฒนาความเป็นมนุษย์คนหนึ่งก็ได้เล่าถึงขั้นตอนต่างๆ ของการจะเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์นั้น นอกจากเราคลอดมาจากครรภ์ของมารดาแล้ว แต่จริงๆ แล้ว การพัฒนาการทางด้าน ‘ดวงจิต’ นับว่ามีความสำคัญ เป็นความรู้ที่ยิ่งใหญ่มากๆ อย่างหนึ่งในโลก

ครูมอสกล่าวว่า “ความรู้นั้น วกกลับมาที่ว่า ดร.รูดอล์ฟ สไตเนอร์ นั้นได้ให้ความหมายของคำว่า ‘ศิลปะ’ ว่าเป็น ‘รากฐาน’ ในการที่ทำให้มนุษย์พัฒนาทาง ‘จิตวิญญาณ’ ต่อไป นั่นคือความหมายของคำว่า ‘ศิลปะมนุษยปรัชญา’ ในยุคนั้นตรงกับประมาณช่วงปี ค.ศ.1900 ถ้าในโลกศิลปะ เรียกว่ากำลังจะเข้าสู่ยุคศิลปะแบบเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (EXPRESSIONISM) แล้ว ซึ่งก่อนหน้านั้นเป็นยุคศิลปะอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) ประมาณ ค.ศ.1800 เป็นต้นมา

ดังนั้น พอถึงช่วงเวลาของ ดร.รูดอล์ฟ สไตเนอร์ ประมาณปี 1900 ที่ท่านมีโอกาสเริ่มปาฐกถา ซึ่งคนยุคนั้นเขาใช้งานปาฐกถาเป็นงานเผยแพร่ รวมถึงงานหนังสือ แต่งานปาฐกถาจะเยอะกว่า เพราะฉะนั้น ท่านก็จะพูดถึงมิติของศิลปะที่มาสู่บนโลกใบนี้ ในความหมายก็คือ อาร์ต มิชชั่น (Art Mission) เลยครับ ซึ่งให้ภาพใหม่ เลยว่า ‘อาร์ต’ คืออะไร ยุคนั้นจึงมีทั้งจิตรกร และคนที่สนใจทั่วๆ ไปอย่างเรา รวมถึงผู้ที่เป็นครูด้วย ก่อนนั้นความรู้ด้านสียังไม่ขยายสู่กับการทำงานกับจิตใจและจิตวิญญาณได้อย่างลึกซึ้งแบบนี้ ท่านก็พูดไปทีละประเด็นเลย พูดทั้งเรื่องของสี เรื่องของ Art Mission ว่าในแต่ละยุคนั้น เช่นก่อนหน้านั้น อย่างยุคเรเนสซองส์ (หรือยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา-The Renaissance Period อยู่ในช่วงเวลาประมาณ ค.ศ. 1450 -1600) ยุคอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) ยุคเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (Expressionism) ยุคโมเดิร์น (Modern) ว่าในแต่ละยุค ศิลปะทำงานจุดใดกับด้านจิตวิญญาณของมนุษย์”

ครูมอสกล่าวว่า เมื่อเราสนใจงานของศิลปะมนุษยปรัชญา เราจะเห็นลำดับพัฒนาการของตัวศิลปะเอง พูดง่ายๆว่า นับจากศิลปะยุคเคฟ (ยุคภาพวาดผนังถ้ำ Cave Painting หรือ Cave Art จากสมัยโบราณ ) ยุคในถ้ำ กระทั่งถึงยุคของศิลปะในปัจจุบัน ที่เรากำลังคุยกันอยู่นี้

“ณ ปัจจุบันที่เราคุยกันอยู่ ศิลปะเปลี่ยนไปมากนะครับ เราสามารถบอกได้ด้วยว่า ศิลปะเป็นดิจิตอลไปแล้ว ในปัจจุบันมีการทำผลงานศิลปะผ่านดิจิตอล แต่ถ้าเรามองมันผ่านด้วยสายตาแห่งความเข้าใจ เรามองมันเป็น Evolution พัฒนาการ ตั้งแต่ในถ้ำ เราทำงานโดยใช้มือเราจริงๆ แปะไปที่พื้นผนังถ้ำ ซึ่งในความหมายก็คือในยุคนั้น ‘มือ’ คือความเป็นตัวตนของเขา ในขณะเดียวกัน ถ้าในยุคนี้จะให้ตอบว่าตัวเองหรือตัวตนเคลื่อนไปอยู่ตรงไหน ก็อาจเปรียบได้กับ ภาพวาดที่เป็นภาพพอตเทรต (portrait) หรือ ใบหน้า เพราะฉะนั้น ความแตกต่าง นับแต่อดีตที่มนุษย์ทำงานกับแฮนดส์ (Hands) มาถึงตัวตนของมนุษย์อยู่ที่ใบหน้าของมนุษย์คือเฮด (Head) คือตัวตนไปอยู่บนนั้น”ครูมอสระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า

ถ้าเรามองยุคสมัยต่างๆ ด้วยความเข้าใจ เราจะเห็นลำดับของการเคลื่อนของศิลปะในแต่ละยุค ซึ่งศิลปะแนวมนุษยปรัชญานั้น พูดใน Meaningหรือความหมายในลักษณะที่ว่า ‘ศิลปะยกระดับจิตใจมนุษย์’ นี่คือ Keyword เพราะฉะนั้น คีย์เวิร์ดที่สำคัญนี้ ดร.รูดอล์ฟ สไตเนอร์ ท่านก็พยายามจะชี้ให้เห็นถึงคำสามคำที่มีความหมาย

“ท่านไม่ได้พูดตั้งแต่แรก แต่มาจากนักปรัชญารุ่นก่อนนั้นด้วยที่ให้ความสำคัญ ในคำว่า ‘ความดี ความงาม ความจริง’ ซึ่งสามคำนี้ พูดมาตั้งแต่ยุคกรีกแล้วนะครับ ก็คือดีงามจริง เป็นสิ่งที่เป็นความหมายของศิลปะในแนวมนุษยปรัชญาเช่นกัน

เพราะฉะนั้น การที่มนุษย์คนหนึ่งสัมผัสความงามของโลกใบนี้ได้ตั้งแต่เด็กเล็ก ถ้าเด็กคนนั้นได้สัมผัสศิลปะ แล้วความงามของโลกใบนี้ Touch จับใจไปที่เด็ก นั่นคือความหมายที่ดี สำหรับเด็กและศิลปินด้วยเช่นเดียวกัน รวมถึงกับคนทำงานศิลปะทั้งหลาย ดังนั้น แก่นศิลปะแนวมนุษยปรัชญา จึงมุ่งไปที่การทำงานแล้วเราเติบโตทางด้านจิตใจด้วยครับ ซึ่งในที่นี้จะขอเน้นไปที่คำว่าจิตวิญญาณไปเลย เพื่อจะได้เป็นคำที่ชัด จะได้ไม่รู้สึกว่าเราตะขิดตะขวงที่ต้องพูด” ครูมอสเล่าได้อย่างเห็นภาพชัดเจน ว่าการทำงานในเชิงความคิด ต่างจากศิลปะในแนวมนุษยปรัชญาที่เน้นที่จิตใจ หรือจิตวิญญาณ


‘ความดี ความงาม ความจริง’

ครูมอสกล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ โดยเฉพาะยุโรปฝั่งสแกนดิเนเวียน มีแพทย์เริ่มมีใช้ใบสั่งยาที่เป็นให้ไปชมงานศิลปะเพื่อเยียวยา “ประเด็นนี้มักเห็นบ่อย เคยพูดเรื่องนี้ครั้งหนึ่งว่า บ้านเรายังไม่ค่อยขยายเรื่องนี้นัก แต่พื้นที่เล็กๆนี้ผมได้มีโอกาสขยายก็คือ การตั้งคำถามว่า เรามั่นใจไหมว่า ในยุคปัจจุบัน งานศิลปะพร้อมส่งสารออกมาให้คนได้ Healthy ขึ้นหรือเปล่า เพราะว่าผู้ชมศิลปะคือคนทุกเพศวัย รวมถึงเด็กเล็ก ถ้าเด็กๆไปชมงานศิลปะ เขาจะได้รับยาชนิดนี้ด้วยไหม ยาที่ว่านั้น หมายถึง ‘ความดี ความงาม ความจริง’

ดังนั้น ผมให้ความสำคัญมาก เพราะเราอยากส่งเสริมให้มีมิติด้านสุนทรียภาพ ยกตัวอย่างงานหนึ่ง ผมไม่แน่ใจว่ามีโอกาสได้ไปดูไหมครับ เป็นงานศิลปะที่ BACC เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เป็นช่วงก่อนเกิด Covid-19

( หมายเหตุ- งานศิลปะ Art of Element & Therapy: ศิลปะแห่งเหตุปัจจัยและการบำบัด โดย ครูมอส อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี จิตรกรและนักศิลปะบำบัด เป็นภัณฑารักษ์ประจำนิทรรศการ งานจัดแสดงที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bangkok Art and Culture Centre-BACC) หรือ หอศิลป์กรุงเทพฯ ภายในงานมีกิจกรรม Painting Touch The Soul ด้วย ) งานนั้นผมเป็นภัณฑารักษ์ ผมได้รับ Feedback ที่น่าสนใจอย่างมาก ประเด็นสำคัญคือว่าผมเห็นเด็กมาดูงานชิ้นนี้จำนวนสูงมาก เด็กที่ว่านี่คือเด็กเล็กที่มาพร้อมครอบครัว ส่วนเด็กวัยรุ่นมีเยอะมากอยู่แล้วในงานนั้น” ครูมอสระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะที่เราเป็นคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครอง เราก็ต้องสนับสนุนให้กับเด็กของเราเมื่อมีงานที่เหมาะกับเด็กโดยตรง ซึ่งงานนี้มี Feedback จากผู้ปกครองว่า เด็กชอบมาก ซึ่งเป็นเด็กเล็กด้วย จากที่เห็นมีเด็กประมาณ 6 ขวบ 7 ขวบ จะนั่งขลุกอยู่ในนิทรรศการนี้ในหอศิลป์ฯ ทั้งวัน

ครูมอสกล่าวว่า “ผมหวังว่าสิ่งที่เราพูด น่าจะเป็นสิ่งที่ได้รับการถูกส่งเสริมในความหมายของ ‘ใบสั่งยา’ ด้วย เพราะความงามสำหรับในโลกปัจจุบันมีความสำคัญมาก ผมขอยกตัวอย่างว่า ถ้าเราไม่พูดเรื่อง ‘ความงาม’ จะเกิดอะไรขึ้น

ผมขอพูดถึงประเด็นหนึ่ง คือมีคนไข้หลายคนที่เขาพยายามจะฆ่าตัวตาย วัยประมาณ 13-15 ปี ถ้าเราดูในรูปวาดของเขา เมื่อเขามาทำศิลปะบำบัดกับเราคือ ภาพของเขามันไม่มีแสง หรือว่าแสงน้อย เวลาแสงน้อยหรือไม่มีแสงในรูป มันเป็น Sign เป็นสัญญาณ เป็นความหมาย ที่ทำให้เห็นว่าเขามองไม่เห็นสิ่งต่างๆที่อยู่ในโลกใบนี้ สิ่งที่เขาไม่เห็นนั่นก็คือความงาม แต่ถ้าเขาเห็นความงาม ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ความงามเมื่อดูงานศิลปะ แต่รวมถึงความงามที่พ่อแม่พูดกับเขา เพื่อนเขาพูดกับเขา ได้รับการ Support จากคนรอบข้าง ให้กำลังใจเขา หรือการที่เขามีความสุขที่ได้อยู่บ้านของเขา ได้อยู่กับดินหญ้าป่าเขา แม้ว่าบ้านของเขาอาจจะเป็นบ้านแคบๆ แต่ในห้องเล็กๆ นั้น เขามีความสุข นี่คือ ‘ความงาม’ ในความหมายผม ประเด็นคือ เมื่อเขาไม่เห็นความงามในชีวิต เขาจึงต้องการ Leave จากชีวิตตัวเองไป

Point คือ ทุกวันนี้ โลกรอบข้างไม่ได้สวยหรูหรอกนะ เรามี Covid-19 อะไรต่างๆ ก็แย่ แล้วถ้าคุณไม่มี ‘ความงาม’ ไว้กับใจตัวเองเลยหรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทุกอย่างมันก็คงจะแย่ไปกันหมด” ครูมอสระบุถึงความสำคัญของการตระหนักถึง ‘ความงาม’ในชีวิต


‘ระบายสี’ โลกข้างใน

ครูมอสกล่าวว่า เมื่อนักศิลปะบำบัด ‘ระบายสี’ ไปกับผู้รับบำบัด สีก็จะกลับไปประทับ ‘ข้างใน’ กับคนๆ นั้น นี่จึงเป็นสิ่งที่ชัดมากว่า ศิลปะบำบัดไม่ได้พูดถึงสีที่ผู้รับบำบัดแสดงออกมาจากข้างในตัวเขาเท่านั้น แต่เราพูดถึง การปรุงอาหารใหม่ที่รับเข้าไปในจิตใจ นั่นคือเรา ‘ปรุงสีใหม่’ เข้าไปในจิตวิญญาณ เพราะฉะนั้น สีที่สดใสมากขึ้น สีที่เจิดจ้ามากขึ้น สีที่สงบมากขึ้น ทำให้เขาเปลี่ยนแปลง เช่น เขาอาจเคลื่อนไหวจากสีสันในบางสีมากขึ้นในกรณีที่เป็นซึมเศร้า หรือ เขาสงบลงจากภาวะวิตกกังวลที่เขาเป็นอยู่

เพราะฉะนั้น กระบวนการของศิลปะบำบัด เมื่อเราทำไปประมาณ 7-8 ครั้ง มันจะมีพัฒนาการของตัวอาการ เช่น เขาเคยนอนไม่หลับ เขาจะมีโอกาสหลับได้ดีขึ้น เพราะเขาลดการใช้สีที่มันสดหรือจ้ามากๆ ในชีวิตของเขา ถ้าเขาใช้สีที่จ้ามากๆ แล้วลดสีที่จ้าลง เขามีแนวโน้มจะสงบลง

หรือบางกรณี อาจเป็นคนที่เฉื่อยช้า หมดกำลังใจในการใช้ชีวิต ถ้าใช้สีที่ active ขึ้น เข้มขึ้น เขาก็จะมีกำลังที่อยากจะออกไปทำอะไรมากยิ่งขึ้น ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ เราก็จะได้รับ Feedback จากคนรอบข้างของเคสที่รับการบำบัด เช่น จากผู้ปกครอง หรือเพื่อนๆ ก็อาจบอกว่าเขาเปลี่ยนไปนะ ดูเขานอนอิ่มขึ้น ดูกลางวันเขาไม่ง่วงเหงาหาวนอน ดูเขามีความมุ่งมั่น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นับว่าสำคัญมากๆ เลย เพราะมันก็ชัดเจนนะครับ คนที่มุ่งมั่นกับคนที่ไม่มุ่งมั่นนี่ต่างกันมากเลย เช่น เขาอาจจะอยากออกไปข้างนอกมากขึ้น จากที่เมื่อก่อนเขาอยู่แต่ในห้อง เป็นต้น

ครูมอสกล่าวว่า นั่นก็เพราะว่า ‘สี’ สัมผัสไปถึงจิตวิญญาณของผู้คน พูดได้เลยว่าสี ‘โอบอุ้ม โอบกอด เปลี่ยนแปลง จิตวิญญาณได้’

“ถ้าเราเปรียบเทียบ จิตวิญญาณก็มีออร่าของสีนะ เพราะฉะนั้นคนที่ออร่าสว่างขึ้น เราก็รู้สึกว่าเขาดูสว่างขึ้น ถามว่าดูยังไง เราไม่ได้ดูที่ร่างกาย เพราะเราไม่ได้มีตาทิพย์ที่จะเห็นออร่าของเขา ถ้าเรามีตาทิพย์เราก็อาจจะเห็น ( หัวเราะ ) แต่เราดูที่กระดาษที่เขาระบายสี เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญของ ‘ศิลปะบำบัด’ คือเราไม่ได้ดูที่ ‘กระดาษ’ เท่านั้น แต่เราดูกระบวนการทั้งหมด เราดูที่ตัวของเขาด้วย เพราะฉะนั้น แววตาที่ปิ๊งขึ้น ดวงตาที่สบตากับเรา ดวงตาที่เปิดรับสิ่งต่างๆ มากขึ้น ก็บอกอะไรหลายๆ อย่างกับเราในฐานะคนทำศิลปะบำบัด ถ้าเขาทำการรักษาร่วมกับแพทย์ แพทย์ก็จะบอกผมว่า ‘คุณอนุพันธุ์ เคสของคุณ ที่ส่งไป 4-5 ครั้ง เขาดูพูดคล่องแคล่วขึ้นนะ ดูเขาตัดสินใจได้มากขึ้น’ เพราะฉะนั้น การทำงานของศิลปะบำบัด จะเหมือนการร่วมระหว่างทีม คือนักศิลปะบำบัด แพทย์ และผู้เข้ารับการบำบัด” ครูมอสระบุ


บนหนทางของการเป็น ‘นักศิลปะบำบัด’

ถามว่า เป็นนักศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญา ร่วมกับแพทย์หรือโรงพยาบาลมาแล้วกี่ปี ครูมอสตอบว่า “10 ปีถ้วนเลยครับถ้าจนถึงปัจจุบันก็ร่วม20ปีแล้ว”

ครูมอสเล่าว่า มีคุณหมอท่านหนึ่ง ได้รับเอกสารสมัครงานของครูมอส ซึ่งท่านมีพระคุณอย่างมากในชีวิตของครูมอส คือ นายแพทย์จอม ชุมช่วย (จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการมีรักคลินิก) ครูมอสเล่าว่า คุณหมอจอม เมื่อได้อ่าน Portfolio ก็โทรมาพูดคุยถึงแนวทางศิลปะบำบัด

“ผมเติบโตจากคุณหมอจอมมาก คุณหมอสอนผมหลายอย่างในการทำงานด้วยการทำงาน
ในช่วงระยะเวลาสิบปีผมได้ทำงานเป็นนักศิลปะบำบัดในโรงพยาบาลสองแห่งและคลินิกหนึ่งแห่งทำให้ได้รับประสบการณ์ที่มีค่ามาก”

เมื่อถึงวันหนึ่งก็เกิดคำถามขึ้นในใจขณะนั่งทำเคส

“คำถามของผมคือ แล้วเหตุอันใด ศิลปะที่เด็กๆทำอยู่ในโรงเรียนจึงไม่สามารถพยุงเด็กและผู้คนไว้ได้มากพอ นี่เป็นคำถามของผมที่มีต่อการศึกษาก็เลยตั้งสมมติฐาน ซึ่งประเด็นก็คือ ผมทำงานในแบบละมุนละม่อมนะครับ (หัวเราะ) ไม่ไปสู้รบปรบมือกับใคร แต่เราไปคุยกับคนที่เข้าใจงานเรา และเห็นปัญหาเดียวตรงกันกับเรา การศึกษายังขาดศิลปะที่ช่วยพยุงเด็กได้ เพราะศิลปะในการศึกษา ณ ตอนนี้ พาไปที่การประเมินชี้วัดสูงเกินไป เปรียบคือ เป็นการพาไปที่ Product
แต่ศิลปะที่เน้นทำกับใจเน้นเป็น Process ทำยังไง ให้การวาดภาพศิลปะโอบอุ้มเด็ก ทำยังไงให้ภาพวาดประคับประคองเด็กเวลาทำงานศิลปะ จึงเกิดไอเดียขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่สตูดิโอที่ อ.เชียงดาว ใช้ชื่อว่าสตูดิโอศิลปะด้านใน นับเป็นการก้าวต่อไปครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของชีวิต” ครูมอสระบุ

เมื่อชีวิตเริ่มต้น ที่ ‘๗ Arts Inner Place’ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

เมื่ออำลากรุงเทพฯ มาอยู่สตูดิโอที่เชียงดาว ครูมอสเล่าว่าเขาต้องรอเคสหรือผู้ที่เข้ารับการบำบัดนานถึง 3 ปี เคสจึงเดินทางมาหาและจากนั้นก็เดินทางมาต่อเนื่องเรื่อยๆ ถึงปัจจุบัน ซึ่งทุกวันนี้ ก็มีเคสมาจากกรุงเทพฯ แทบทั้งสิ้น

“ช่วง 3 ปีแรกที่ไม่มีเคสจากกรุงเทพฯ ผมใช้วิธีโดยไปติดต่อโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ตามทุ่ง ตามเนินเขา แล้วถามว่ามีเด็กที่อยากให้เราช่วยไหม ครูเขาก็พามามีทั้งเด็กชายขอบและเด็กในท้องถิ่น และบอกว่าอยากให้ช่วย เช่น เด็กที่มีอาการเหม่อลอย เด็กไม่มีสมาธิ ผมทำแบบนั้นอยู่ 3 ปี ทำให้ที่บ้านมิตราทร (มูลนิธิอุบลรัตน์ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ) ที่ดูแลเด็กกำพร้า อันนี้คือ ที่เชียงดาวผมทำแบบไม่มีค่าใช้จ่าย ทำอยู่ 3 ปี ถึงเริ่มมีคนตามหาว่าผมอยู่ไหน เคสก็มาเริ่มมาจากกรุงเทพฯ ”

ครูมอสจะนัดเจอเคสสามวันต่อเนื่อง สตูดิโอที่เชียงดาวจะมีเคสส่วนใหญ่คือผู้ปกครองพาเด็กมารับการบำบัด

“จะมีเด็กวัยรุ่นเยอะ แล้วก็โชคดีที่มีคุณหมอที่หลัง ๆ ท่านเห็นว่าเราทำเคสแล้วเคสมีอาการดีขึ้น เช่นเคสซึมเศร้า (Depression) ไบโพลาร์ (โรคอารมณ์สองขั้ว-Bipolar Disorder) เคสจะส่งต่อมา เพราะคุณหมอมองว่าเคสดีขึ้น ปัจจุบัน ก็ยังมีทำงานร่วมกับหมอในโรงพยาบาลและคลินิค 2-3 แห่ง” ครูมอสระบุ อ่าน ‘จิตวิญญาณ’ ผ่านสีสัน-ปรับสมดุลธาตุในกาย

เมื่อขอให้ยกตัวอย่าง เล่าถึงการระบายสีของบางเคส

ครูมอสเล่าว่า “ที่สตูดิโอผม เราใช้สีน้ำกับชาร์โคล์ (charcoal-ถ่าน ) เป็นหลักและปั้นดินเล็กน้อย ในบางกรณี”
สาเหตุที่ครูมอสใช้ชาร์โคล์ เนื่องจากเป็นลูกศิษย์ในสายศิลปะบำบัดของครูลีแอน โคลัวร์ เดอร์บัวร์ (Liane Collot D'Herbois) ครูลีแอนใช้ชาร์โคล์เป็นหลักซึ่งน่าสนใจว่าเรามักใช้ชาร์โคล์หรือผงถ่านตอนไหน คำตอบคือตอนเราท้องเสีย

“เมื่อท้องเสีย เรากินยาถ่านใช่ไหม ดังนั้น ชาร์โคล์คือธาตุดิน ทำจากไม้วิลโลว์ ที่ทำงานกับช่องท้อง ทำงานกับระบบเผาผลาญและดูดซึมเป็นหลัก ดังนั้นผลที่ได้รับจากชาร์โคล์คือทำให้ท้อง ทำงานสมดุลขึ้น เคส Depression ( ซึมเศร้า ) หรือไบโพลาร์ส่วนใหญ่ เป็นเคสที่ในมุมมองของมนุษยปรัชญา มองว่าระบบเผาผลาญดูดซึมส่วนใหญ่ไม่สมดุล” ครูมอสระบุและเล่าเพิ่มเติมว่า ถ้าในทางการแพทย์ จะพูดถึงความสำคัญของช่องท้องที่กลับไปมีผลต่อระบบประสาท เช่น คุณหมอปอง (หมายเหตุ-นพ.ทีปทัศน์ ชุณหสวัสดิกุล อุปนายกสมาคมการแพทย์มนุษยปรัชญาไทย แพทย์มนุษยปรัชญา ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกัน และผู้มีประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยด้วยการแพทย์แบบองค์รวม) เป็นคุณหมออีกท่านหนึ่งทำงานเคสส่งต่อมาที่เชียงดาวด้วยกัน การทำงานของคุณหมอหลายครั้งก็กลับไปทำงานที่ระบบเผาผลาญดูดซึมของเด็ก เพื่อให้การทำงานดูดซึมของสมองสมดุลขึ้น กรณีนี้คือหลักของแพทย์องค์รวม

“แต่ผมใช้ชาร์โคล์ เพราะผมต้องการดึงน้ำหนักความสมดุลกลับคืนมาที่ช่องท้อง เพราะความอ่อนแอที่เห็นได้ในรูปภาพ เช่น ภาพวาดมีความเย็นจัด มีสีที่เย็น มีพลังชีวิตน้อยในรูป การระบายสีของเคสดีเพรสและไบโพลาร์มีความคล้ายๆ กันคือมีความ Weak ของสี และเพราะไม่มีแสงในรูปที่จ้า ขณะที่วัยรุ่นต้องเริ่มตัดสินใจเองได้แล้ว ในเรื่องต่างๆ เขาต้องการเลือกบางอย่างเอง ตรรกะตรงนี้สำคัญ ถ้าระบบในร่างกายไม่ดี ตรรกะก็ไม่ถูกต้อง ซึ่ง ‘ตรรกะ’ ไม่ใช่แค่ ‘ความคิด’ เท่านั้น แต่ยังเกิดจากระบบต่างๆ ในร่างกายที่ไม่สมดุลด้วย” ครูมอสอธิบาย

ถามว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับการทำศิลปะบำบัดในแนวทางมนุษยปรัชญาที่เกิดขึ้นที่สตูดิโอของครูมอสที่ อ.เชียงดาว ที่ซึ่งครูมอสเรียกว่า ‘บ้าน’ ไม่ต่างจากการ ‘อ่าน’ กระบวนการภายในของผู้รับการบำบัด

ครูมอสตอบว่า “ถูกต้องครับ เพราะในภาษาของเรา เราใช้คำว่า ‘ภาพวาดสะท้อนจิตวิญญาณ’ เลยล่ะครับ เพราะนักศิลปะบำบัดในเส้นทางของครูลีแอน โคลัวร์ เดอร์บัวร์ (Liane Collot D'Herbois) หรือ ดร.รูดอล์ฟ สไตเนอร์ เขาจะมีการวินิจฉัยในมุมมองด้านจิตวิญญาณ ดังนั้น เวลาที่ผู้รับบำบัดระบาย จะมองดูว่า สีที่เขาระบายเป็นสีแสดงออกทางจิตวิญญาณอย่างไร หรือมันเป็นสีที่ซีด หรือมีความชุ่มชื่นมีชีวิต แต่ละสีจะมีจิตวิญญาณของตัวเองนะครับ รวมถึงประเภทของสี สีน้ำจิตวิญญาณคือ Movement ถ้าระบายสีน้ำที่โปร่งแสงออกมาเป็นสีโปสเตอร์ที่ทึบ ก็ไม่ใช่จิตวิญญาณของสีน้ำ หรือถ้าเราระบายชาร์โคล์ ก็ต้องเข้าถึงแสง และน้ำหนักมืดเข้ม ” ครูมอสระบุถึงความละเอียดอ่อนและการทำความเข้าใจในเชิงลึกของศิลปะบำบัดในแนวทางมนุษยปรัชญา


สีสันกับ ‘ความรู้เนื้อรู้ตัว’

เมื่อทำงานด้านศิลปะบำบัดมาระยะหนึ่งแล้ว วันนี้ ครูมอสจึงกลับมาเน้นทำงานกับผู้ที่ทำงานด้านเด็ก หมายถึงการทำงานกับ ‘ครู’ เพื่อให้เขาเห็นหรือสัมผัสกับคำว่า ‘ศิลปะที่รู้เนื้อรู้ตัว’ เพราะว่าคนส่วนใหญ่ คนส่วนหนึ่ง ก็มักจะมองกลับไปที่ประโยคที่ว่าขอระเบิดความรู้สึกข้างในออกมาก่อน ซึ่งอาจจะทำให้ข้ามคำว่าความรู้เนื้อรู้ตัวไปอย่างน่าเสียดาย

“เพราะฉะนั้น ผมมองว่า ‘การรู้เนื้อรู้ตัวคือ’ คือสิ่งที่เป็นเป้าหมายของสังคมปัจจุบัน เพราะทุกวันนี้ เราอยู่ในสังคมที่มีผู้เสียชีวิตอยู่รอบๆ ตัวเราในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้เราตื่นตระหนกว่าเราจะรอดมั้ย เราจะพ้นไปจากวิกฤตินี้มั้ย สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกได้คือ เราต้องมีสติ มีความรู้ตัว ดังนั้น สิ่งที่ ดร.รูดอล์ฟ สไตเนอร์ พูดไว้ตั้งแต่เมื่อ 100 ปี ก่อน สำหรับผมมันใช่ทีเดียว ในบริบทปัจจุบัน เราต้องกลับมาทำงานกับ ‘ด้านใน’ ของเราเอง ไม่ว่าเราจะเป็นจิตรกรหรือว่าเราจะเป็นเด็กน้อยคนหนึ่ง เป็นครูคนหนึ่ง หรือเป็นพ่อแม่ เพราะฉะนั้น ผมพยายามที่จะดึงความเป็นประสบการณ์ใหม่เข้าไปในผู้ที่ทำงานกับเด็ก คือ คำว่าศิลปะด้านใน”
ครูมอสกล่าวว่า วิธีการที่น่าสนใจคือ เราต้องกลับไปที่มือ จึงให้ความสำคัญกับการทำงานด้วยมือผ่านสีที่เคลื่อนไหว ซึ่งช่วยให้ ‘ข้างใน’ เคลื่อนออกไปจากสภาวะที่ติดขัด

“ผมมีคำอธิบายเล็กๆ ด้วยว่าเด็กอนุบาล เวลาระบายสีน้ำด้วยแนวทางนี้ เขาจะหันมาหาครูหรือคนที่อยู่ใกล้ๆ แล้วบอกว่า ‘ดูสิครู สีมันวิ่งเข้าหากันด้วย’ คำถามของผมที่มีต่อคนที่มาเรียนรู้ด้วยกันว่าเด็กคนนี้พูดเป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ทุกคนตอบตรงกันว่า เด็กพูดถึงสิ่งที่เป็นปัจจุบัน แต่ทุกวันนี้ผู้ใหญ่มักชอบให้เด็กคิดเรื่องอนาคตขณะวาดรูป หรืออธิบายอดีตว่าวาดภาพอะไร หากวิธีการของ ดร.รูดอล์ฟ สไตเนอร์ เป็นการพาเด็กทำงานกับปัจจุบัน ให้อยู่กับปัจจุบัน นั่นคือ ‘การรู้เนื้อรู้ตัวตั้งแต่เด็ก’ ดังนั้น ถ้าจะให้แนะนำ ณ จุดนี้ ผมแนะนำให้ใช้เรื่องของสีน้ำ เพราะสีน้ำเป็นอะไรที่ Healthy มากๆ ไม่มีพิษสำหรับคนทั่วไป เพราะสีอยู่ในเนื้อในตัวของเราส่วนหนึ่งอยู่แล้ว และอยู่ในส่วนต่างๆ ของโลก

สำหรับคนที่ยังไม่พร้อมในกระบวนการศิลปะ ผมอยากชวนให้ผู้คนจัดดอกไม้ในพื้นที่ในบ้านด้วย เพราะเมื่อจัดดอกไม้เราจะได้รับพลังจากสีสันเช่นกัน และรับพลังชีวิตจากดอกไม้ที่ส่งถึงตัวเรา นี่คือสิ่งที่อยากแนะนำครับ”
นับเป็นมุมมองที่ทั้งกระตุ้นเตือนทั้งเชื่อมโยงให้เห็นถึงพลังชีวิตของจิตวิญญาณด้านในที่สัมพันธ์ต่อความตระหนักรู้โลกรอบกาย ผ่านสีสันและศิลปะในแนวมนุษยปรัชญาได้อย่างน่าสนใจบนกระแสโลกที่วิ่งผ่านไปด้วยความรวดเร็ว










.....

Text by รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี



กำลังโหลดความคิดเห็น