ในปี พ.ศ.๒๔๐๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯแต่งตั้ง พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) พร้อมคณะ อัญเชิญพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการไปถวายสมเด๊จพระราชินีวิคตอเรีย แห่งอังกฤษ โดยมีหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูร) เป็นล่ามของคณะทูต เมื่อกลับมาหม่อมราโชทัยได้บันทึกเรื่องราวแปลกใหม่ที่ได้ไปเห็นในครั้งนี้ในรูปแบบกลอนนิราศ ให้ชื่อว่า “นิราศลอนดอน” ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๐๔ ได้ขายลิขสิทธิ์นิราศเรื่องนี้ให้หมอบรัดเลย์พิมพ์ออกจำหน่าย ซึ่งได้รับการบันทึกไว้ว่า เป็นการขายลิขสิทธิ์หนังสือเป็นครั้งแรกในเมืองไทย
ในหนังสือ “วชิรญาณ” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯโปรดเกล้าฯให้หอสมุดวชิรญาณพิมพ์เผยแพร่ในปี ๒๔๒๗-๒๔๔๘ ในเรื่อง “อธิบายตำนานเรื่องนิราศลอนดอน” ได้กล่าวว่า
“ เรื่องนิราศลอนดอน ตั้งแต่พิมพ์ให้ปรากฎก็ยกย่องกันมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ ว่าแต่งดีถึงชั้นเอกในหนังสือกลอนไทย ถึงนิราศของสุนทรภู่ เรื่องที่นับว่าเปนอย่างดีก็ไม่ดีกว่านิราศลอนดอน เห็นจะเปนด้วยประหลาดใจกันว่า หม่อมราโชทัยสิเปนนักเรียนภาษาฝรั่งทำไมจึงแต่งกลอนไทยได้ดีถึงเพียงนั้น จึงมีผู้สงสัยว่านิราศลอนดอนนี้หม่อมราโชทัยมิได้แต่งเอง พระสารสาสน์พลขันธ์ สมบุญ ได้เปนที่ขุนมหาสิทธิโวหาร อาลักษณ์ในรัชกาลที่ ๔ บอกแก่ข้าพเจ้าว่า หม่อมราโชทัยได้วานขุนสารประเสริฐ นุช แต่ง แลยังมีผู้พูดกันอีกอย่าง ๑ ว่าหม่อมราโชทัยวานให้สุนทรภู่แต่ง อ้างว่าเมื่อสุนทรภู่ตาย เขาพบกากร่างนิราศลอนดอนที่บ้านสุนทรภู่ เสียงโจทสอดแคล้วเรื่องนิราศลอนดอนนี้เคยได้ยินมาแต่ก่อนเนือง ๆ จนเมื่อก่อนจะพิมพ์ สมุดเล่มนี้ยังมีผู้มาบอกแก่ข้าพเจ้าว่า เคยได้ยินเขาพูดกันว่า นิราศลอนดอนนั้นหม่อมราโชทัยหาได้แต่งเองไม่ ข้าพเจ้าจึงเอาหนังสือนิราศลอนดอนมาอ่านพิจารณาดูอิกครั้ง ๑ อ่านไปไม่เท่าใดก็เชื่อแน่แก่ใจว่า หนังสือเรื่องนี้หม่อมราโชทัยแต่งเอง หาได้วานผู้ใดแต่งไม่ ถ้าจะได้อาศรัยขุนสารประเสริฐ นุช บ้าง ก็เห็นจะเพียงวานให้ช่วยอ่านตรวจแก้ถ้อยคำบ้างเล็กน้อย ข้อที่ว่าวานสุนทรภู่แต่ง น่าจะเปนด้วยสังเกตเห็นกลอนในนิราศลอนดอนคล้ายสำนวนกลอนสุนทรภู่มีอยู่หลายแห่ง เช่นเมื่อราชทูตทูลลากลอนตรงนั้นว่า
“พระทรงจิ้มจันทน์เจิมเฉลิมวิลาศแล้วผูกคาดด้วยขวัญรำพรรณสอน
เสร็จดำรัสตรัสอำนวยอวยพระพรจงถาวรเรืองยศหมดทุกคน”
กลอนเช่นนี้เปนกลอนสุนทรภู่แท้ แต่ถ้าสังเกตต่อไปในที่อื่นจะเห็นได้ว่า ที่จริงนั้นหม่อมราโชทัยเอากลอนสุนทรภู่เปนแบบอย่างแต่งตามด้วยความนับถือ แม้คำสำผัสก็พยายามรับแต่ตรงคำที่ ๓ ตามอย่างกลอนสุนทรภู่ แต่ความจริงสุนทรภู่อยู่มาในรัชกาลที่ ๔ ไม่กี่ปี เห็นจะตายเสียก่อนแต่งนิราศลอนดอนหลายปีแล้ว
หลักฐานที่ทำให้ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าหม่อมราโชทัยแต่งเองนั้น เพราะถ้าผู้อื่นแต่ง จะเปนสุนทรภู่ก็ตาม หรือขุนสารประเสริฐ นุช ก็ตาม คงจะต้องเอาจดหมายเหตุของหม่อมราโชทัยที่พิมพ์ข้างต้นสมุดเล่มนี้เปนหลัก แต่งกลอนตามความที่ปรากฎในจดหมายเหตุนั้นไม่นอกออกไปได้ แต่ในนิราศลอนดอน ถ้าใครสังเกตก็จะเห็นว่ามีความแปลกออกไปจากจดหมายเหตุหลายแห่ง มิใช่แต่ที่ชมนกชมปลา ซึ่งปล่อยให้กลอนพาไปเท่านั้น ยังมีความจริงซึ่งแต่งได้แต่ด้วยรู้เอง เห็นเองอยู่ในนิราศลอนดอน อันมิได้ปรากฎในตัวจดหมายเหตุอีกมากมายหลายแห่ง ใช่วิสัยที่ผู้แต่งตามหนังสือจดหมายเหตุจะว่าได้อย่างนั้นข้อนี้เปนหลักฐานมั่นคงว่านิราศลอนดอนนี้หม่อมราโชทัยแต่งเอง สมดังที่บอกไว้ในโคลงบานแพนกว่า
“ตัวเราเกลากล่าวเกลี้ยงกลอนไข
คือหม่อมราโชทัยที่ตั้ง
แสดงโดยแต่จริงใจจำจด มานา
ห่อนจักพลิกแพลงพลั้งพลาดถ้อยความแถลง”
เพราะฉนั้น หม่อมราโชทัย (ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร ณอยุธยา) ไม่ใช่เปนแต่ผู้แต่งหนังสือดีในทางความเรียง ซึ่งจะเห็นได้ในจดหมายเหตุที่พิมพ์ตอนต้นสมุดเล่มนี้อย่างเดียว ยังเปนกวีที่สมควรจะยกย่องว่าเปนชั้นสูงด้วยอิกอย่าง ๑ ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านทั้งหลายได้อ่านหนังสือนิราศลอนดอนตอนต่อไปในสมุดเล่มนี้แล้ว จะเห็นเปนอย่างเดียวกันทุกคน
แท้จริง ถึงมีผู้สอดแคล้วความสามารถของหม่อมราชโชทัยอยู่บ้างดังกล่าวมา แต่ผู้ที่ยกย่องนับถือความสามารถของหม่อมราโชทัยนั้นมากกว่ามาก มีผู้ที่ทราบว่าจะพิมพ์สมุดเล่มนี้แนะนำแก่ข้าพเจ้าหลายคน ทั้งเปนผู้คนที่ได้เคยรู้จักตัวหม่อมราโชทัยแลผู้ที่ได้เคยเห็นแต่โวหารต่างตัวหม่อมราโชทัย ว่าควรพิมพ์รูปของหม่อมราโชทัยให้ปรากฎในสมุดเล่มนี้ด้วย รูปของหม่อมราโชทัยมีอยู่ในหอพระสมุด จึงได้ให้จำลองพิมพ์ไว้ในตอนนี้ ด้วยเชื่อว่าท่านทั้งหลายคงจะพอใจได้เห็นหม่อมราโชทัยด้วยกันมาก รูปนี้หม่อมราโชทัยถ่ายเมื่อกลับมาจากยุโรปแล้วหลายปี จึงกลับไว้ผมมหาดไทยตามประเพณีในสมัยนั้น”
หม่อมราโชทัยไปกรุงลอนดอนใน พ.ศ.๒๔๐๐ แต่สุนทรภู่เสียชีวิตใน พ.ศ.๒๓๙๘ จึงเป็นไปไม่ได้ที่หม่อมราโชทัยจะวานให้สุนทรภู่เขียน “นิราศลอนดอน” แต่ที่สำนวนกลอนเหมือนกันก็เพราะยุคนั้นสุนทรภู่เป็นไอดอลของกวีทั่วไป หม่อมราโชทัยอาจจะอ่านกลอนของสุนทรภู่จนขึ้นใจก็เป็นได้ และหม่อมราโชทัยก็ไม่ธรรมดา ไม่เคยเป็นนักเรียนนอก แต่เป็นล่ามให้คณะราชทูตไทยได้ ครั้งที่คณะทูตได้รับเชิญไปร่วมโต๊ะน้ำชากับควีนวิคตอเรียเป็นการส่วนพระองค์ ทรงรับสั่งถามหม่อมราโชทัยว่าเรียนภาษาอังกฤษมาจากที่ไหน หม่อมราโชทัยก็ทูลตอบว่าเรียนที่เมืองไทย