ด้วยประสบการณ์ทำงานกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรมายาวนานถึง 2 ทศวรรษ กระทั่งปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการมูลนิธิสืบฯ มาแล้วถึง 6 ปี สะท้อนความผูกพันอันยาวนาน ระหว่าง ‘ภาณุเดช เกิดมะลิ’ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และมูลนิธิสืบฯ ที่ทำงานด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพิทักษ์ผืนป่ามาอย่างต่อเนื่อง
ด้วยเหตุนี้ เมื่อ “ดอยเชียงดาว” จ.เชียงใหม่ ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลกจากยูเนสโก โดยนับเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลลำดับที่ 5 ของเมืองไทย ซึ่งมีคุณค่าอย่างยิ่ง เนื่องจากพื้นที่สงวนชีวมณฑลทั่วทั้งโลกมีอยู่ไม่มากนัก
‘ผู้จัดการออนไลน์’ จึงพูดคุยกับ ‘ภาณุเดช เกิดมะลิ’ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ถึงนิยามความหมายของการเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล รวมถึงแนวทางการอนุรักษ์ ดูแลรักษาอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ซึ่งไม่เพียงถ่ายทอดความน่าสนใจของดอยเชียงดาวและบริบทในพื้นที่ รวมถึงการทำงานด้านการอนุรักษ์กวางผาในพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจ เขายังบอกเล่าถึงการร่วมผลักดันกับภาคประชาสังคมในการร่วมกันป้องกันไฟป่าและหมอกควัน ในพื้นที่ดอยเชียงดาว ไม่เพียงเท่านั้น ภาณุเดชยังอธิบายถึงความพิเศษและความน่าสนใจ อัตลักษณ์เฉพาะตัวของพื้นที่สงวนชีวมณฑลอีก 4 แห่ง ของไทย สะท้อนมิติความเชื่อมโยงของผู้คน ผืนป่า และสัตว์ป่า ได้อย่างน่าสนใจ
ทั้งนี้ หากกล่าวถึง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้รับอนุญาตให้ก่อตั้งขึ้นสิบวัน หลังวันพระราชทานเพลิงศพของสืบ คือวันที่ 18 กันยายน 2533 เพื่อสานต่อปณิธานงานอนุรักษ์ของสืบ อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ทว่า งานของสืบนั้นหนาหนัก เผชิญอุปสรรค แรงกดดันมากมาย โดยเฉพาะจากเหล่าผู้มีอิทธิพลและแสวงประโยชน์จากผืนป่า กระทั่งเขาตัดสินใจปลิดชีวิตตนเองเพื่อพิทักษ์ป่า ด้วยจิตใจที่แน่วแน่ ไม่ไหวเอน
สืบ นาคะเสถียร จึงยังคงเป็นตำนานที่มีชีวิตและลมหายใจ เนื่องด้วยมีผู้สืบต่อปณิธานงานอนุรักษ์ ในนามของมูลนิธิสืบฯ ที่ก่อตั้งมาจวบจนวันนี้ ล่วงเข้าสู่ปีที่ 31 แล้ว การทำงานด้านอนุรักษ์อย่างจริงจังผ่านความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในบริบทพื้นที่นั้นๆ อีกทั้งการมีส่วนร่วมกับชุมชน ภาคประชาสังคม ผู้คนที่ใกล้ชิดผืนป่า รวมทั้งทำงานอย่างบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐ ในการดูแลรักษาป่าและสัตว์ป่า ทั้งหลายทั้งปวงนี้ จึงกล่าวได้ว่า มูลนิธิสืบฯ คือแหล่งรวมองค์ความรู้ขนาดใหญ่ของสังคมไทย ที่บอกเล่าและถ่ายทอดมิติของการดูแลผืนป่าได้อย่างเปี่ยมชีวิตชีวา ควบคู่ไปกับงานวิจัยและการรักษาอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าที่เชื่อมโยงกับผู้คนในสังคม ให้ตระหนักถึงคุณค่าของผืนป่าอันเปรียบเสมือนต้นธารแห่งสรรพชีวิต
นิยามความหมาย ‘พื้นที่สงวนชีวมณฑล’
ถามว่า จากกรณีเมื่อ 15 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ยูเนสโกประกาศให้ดอยเชียงดาว เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก ช่วยเล่าถึงนิยามความหมายของคำว่าพื้นที่สงวนชีวมณฑล ว่าครอบคลุมสิ่งใดบ้าง และในประเทศไทยมีทั้งสิ้นกี่แห่งแล้ว
ภาณุเดชตอบว่า “ในมุมผม ง่ายๆ เลย พื้นที่สงวนชีวมณฑล หรือ Biosphere ถือเป็นพื้นที่แห่งการผสมผสานระหว่างระบบนิเวศกับวัฒนธรรมในพื้นที่นั้นๆ จนมีเอกลักษณ์ มีความเฉพาะของพื้นที่ มีความโดดเด่น จึงทำให้ยูเนสโกประกาศว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล ซึ่งก็คือการสงวนไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ แล้วก็สงวนไว้ซึ่งวิถีชีวิตของชุมชนครับ” เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ ระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า การสงวนไว้ของเขตชีวมณฑล มิได้หมายถึงว่าเป็นการสงวนไว้โดยไม่ให้แตะต้องอะไร ไม่ให้ทำอะไรเสียเลย แต่เป็นลักษณะของการที่พื้นที่แห่งนี้ มีจุดเด่น แล้วการที่จะสงวนเอาไว้ก็คือทำอย่างไรที่จะรักษาแนวทางที่โดดเด่นเหล่านี้ให้ควบคู่กันไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งนับเป็นโจทย์สำคัญที่เราจะต้องคิดต่อ
รู้จักพื้นที่สงวนชีวมณฑล ทั้ง 4 แห่ง ก่อน ‘ดอยเชียงดาว’
ถามว่า ประเทศไทยมีประกาศพื้นที่สงวนชีวมณฑลมากี่แห่งแล้ว
ภาณุเดชตอบว่า ก่อนหน้านี้มีการประกาศมาแล้วทั้งสิ้น 4 แห่งแล้ว ได้แก่
พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช จ.นครราชสีมา
พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสัก-ห้วยทาก จ.ลำปาง
พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า จ.เชียงใหม่
พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง จ.ระนอง
โดยในแต่ละแห่ง มีความโดดเด่นแตกต่างกันไป ดังนี้
แห่งที่ 1 เริ่มต้นที่พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช จ.นครราชสีมา ได้รับการประกาศมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2519
ภาณุเดชกล่าวว่าประเด็นสำคัญของพื้นที่สะแกราชคือ เปรียบเสมือน ตัวแทนของป่าเขตร้อน เป็นป่าที่แห่งอื่นๆ ทั่วโลก ไม่ค่อยมี
แต่เนื่องจากประเทศไทย อยู่ในแนวใกล้เส้นศูนย์สูตร ลักษณะของพื้นที่ป่าจึงมีความหลากหลาย จึงมีการประกาศพื้นที่ตรงนี้ไว้เพื่อทำการศึกษาเรื่องป่าเขตร้อนที่มีอยู่ในประเทศไทยและหายาก
พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช มีขนาดพื้นที่ใกล้เคียงกับที่ดอยเชียงดาว
ทั้งนี้ ในการประกาศครั้งแรก ประกาศเพียงแค่เขตพื้นที่ป่า แต่ต่อมามีการประกาศเอาพื้นที่รอบๆ ที่เป็นตัวเมือง ตัวชุมชนผนวกเข้ามารวมด้วย แต่หากถามว่าความเด่นชัดของพื้นที่ป่าของที่สะแกราช เด่นชัดเท่ากับที่ดอยเชียงดาวไหม ภานุเดชตอบว่า ไม่ชัดเจนเท่าดอยเชียงดาว เนื่องจากเรื่องความสัมพันธ์ เรื่องของการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างคนกับพื้นที่ป่าไม่ชัดเจน
แห่ง 2 ที่มีการประกาศคือพื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า จ.เชียงใหม่ โดยประกาศในปี พ.ศ.2520 ไล่เลี่ยกับที่สะแกราช การประกาศเนื่องจากต้องการให้พื้นที่ตรงนี้ เป็นที่เรียนรู้การจัดการพื้นที่ต้นน้ำแม่สา และต้นน้ำคอกม้าที่จะไหลลงแม่น้ำปิง ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ลำน้ำสำคัญของเชียงใหม่ จึงมีการประกาศพื้นที่โซนนี้ขึ้นมา
ภาณุเดชกล่าวว่า หัวใจสำคัญของการประกาศ ถือว่ามีเหตุผลเดียวกับที่สะแกราชเลยก็ว่าได้ คือ ต้องการให้เป็นพื้นที่สำหรับการศึกษาวิจัย เพื่อการเรียนรู้เรื่องการจัดการลุ่มน้ำบริเวณนั้น แต่ถ้าถามว่าในส่วนของพื้นที่นั้นมีความโดดเด่นไหม จริงๆ แล้วต้องถือว่าโดดเด่น ทว่า บริเวณดอยสุเทพนั้น ยังไม่ค่อยถูกหยิบยกมาศึกษาเท่าที่ควร และขาดเรื่องการจัดการ แต่นัยหนึ่ง ก็มองได้ว่าเหมาะสมแล้ว เพราะไม่ได้ยึดที่ตัวพื้นที่เป็นสำคัญ แต่ถือเอาพื้นที่ลุ่มน้ำเป็นสำคัญในการศึกษาวิจัยและจัดการพื้นที่
เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ ระบุด้วยว่า พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า จ.เชียงใหม่ น่าจะมีพื้นที่ประมาณ 265,500 ไร่ ถือว่ามีพื้นที่ประมาณสักครึ่งหนึ่งของสะแกราช และราวๆ สักครึ่งหนึ่งของดอยเชียงดาว
แห่งที่ 3 คือพื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสัก-ห้วยทาก จ.ลำปาง เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เขตอนุรักษ์เหมือนกับสองแห่งที่ผ่านมา
ภาณุเดชกล่าวว่า “พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสัก-ห้วยทาก จ.ลำปาง จุดเด่นคือ เป็นแหล่งไม้สักที่ดีที่สุดที่เหลืออยู่ในโลก ในโซนนี้ ไม่ใช่ตัวไม้สักอย่างเดียว แต่รวมถึงพันธุกรรมไม้สักด้วย ที่เขารวมเอาพื้นที่จุดนี้ สำหรับเรื่องการศึกษาวิจัย การพัฒนาต่อยอดพันธุกรรมไม้สัก รวมถึงเรื่องของการขยายพันธุ์ จึงประกาศพื้นที่โซนนี้ขึ้นมา ซึ่งปัจจุบัน ก็ยังมีการทำสิ่งเหล่านี้อยู่ สำหรับการปะกาศพื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสัก-ห้วยทาก ประกาศในปี พ.ศ.2520 ปีเดียวกับที่ประกาศพื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า จ.เชียงใหม่ ถือว่าไล่เลี่ยกัน” ภาณุเดชระบุ ก่อนกล่าวเพิ่มเติมว่า
แห่งที่ 4 คือ พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง จ.ระนอง เป็นพื้นที่ติดชายทะเล สาเหตุที่ประกาศ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในเชิงระบบนิเวศน์ ป่าชายเลนที่เหลืออยู่ เป็นระบบนิเวศน์ที่เหลืออยู่ดั้งเดิม ที่ยังไม่มีการสัมปทานเข้าไปทำไม้ฟืน เนื่องจาก ป่าชายเลนมีไม้ฟืนเยอะมาก กล่าวคือไม้ที่ป่าชายเลนให้คุณภาพเรื่องฟืนสูงมาก สำหรับการใช้ก่อไฟ
“ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ป่าชายเลนถูกบุกรุก ทำลายเยอะมาก เพื่อที่จะเอาไม้ไปทำเชื้อเพลิงและใช้พื้นที่ในการเลี้ยงกุ้ง ก็ทำให้ระบบนิเวศน์ในป่าชายเลน ในประเทศไทยเหลือน้อยเต็มที เขาก็เลยประกาศพื้นที่นี้เอาไว้ เพื่อคุ้มครองพื้นที่ และเพื่อเป็นแหล่งพันธุกรรมป่าชายเลนดั้งเดิม และมีไม้ที่มีอายุหลายร้อยปี ยังคงอยู่ในพื้นที่บริเวณนี้ สำหรับ พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง จ.ระนอง ประกาศเมื่อ ปี พ.ศ.2540” ภาณุเดชระบุถึงความสำคัญของพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง
‘ดอยเชียงดาว’ พื้นที่สงวนชีวมณฑล แห่งที่ 5 ของไทย
ถามว่า ดอยเชียงดาวถือเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งที่ 5 ใช่หรือไม่
ภาณุเดชตอบว่า “ถูกต้องครับ แห่งที่ 5 คือ ดอยเชียงดาว จริงๆ แล้ว ก่อนการประกาศ มีการเล็งไว้สองพื้นที่ คือที่ดอยเชียงดาว กับที่ตะรุเตาซึ่งเป็นระบบนิเวศทางทะเล ถ้าเราย้อนกลับไปดูพื้นที่สงวนชีวมณฑลทั้งสี่แห่งที่ผ่านมา ยังไม่มีการพูดถึงทะเล ซึ่งที่ระนอง ก็เป็นป่าชายเลน เป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างทะเลกับบก ก็ยังไม่มีพื้นที่ทางทะเล ในอนาคต ตะรุเตาก็เป็นพื้นที่ต่อไปที่กรมอุทยานเตรียมทำเรื่องเสนอที่จะขอให้ประกาศเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลที่ตะรุเตา
ส่วนที่ดอยเชียงดาวนี่ ในภาพรวมทั่วโลก ผมถือว่าไม่เยอะมาก ก็มีพื้นที่สงวนชีวมณฑลประมาณ 20 แห่ง ถ้าเทียบกับการประกาศมรดกโลกทั้งทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรม แล้วก็อีกส่วนหนึ่งคือการผสมผสานระหว่างธรรมชาติ กับ วัฒนธรรม พื้นที่แบบนั้นมีเป็นร้อย
ต่างจาก พื้นที่สงวนชีวมณฑล ที่ทั่วโลกมีอยู่น้อยมาก เนื่องจากว่าอาจจะเป็นเพราะลักษณะของความโดดเด่น ที่จับต้องลำบาก ไม่เหมือนมรดกโลกทางธรรมชาติ เช่น เรามีเขาใหญ่ที่เราเห็นภาพชัดเจน มีห้วยขาแข้ง ภาพมันชัดเจนว่าเรามีสัตว์ป่า มีสิ่งต่างๆ ตามเกณฑ์กติกาของเขา แต่ว่าพื้นที่สงวนชีวมณฑลที่มันผสมผสาน สามารถอยู่ร่วมกันได้และเป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นนั้น ในมุมมองส่วนตัวของผม ผมว่ามันมีความน่าสนใจสูงกว่ามรดกโลกทางธรรมชาติด้วยซ้ำ” ภาณุเดชระบุ
ถามว่า ความเฉพาะตัวของดอยเชียงดาวในความรู้สึกของคุณคืออะไร และในอนาคต มองว่าควรจะมีการดูแลรักษาหรือบริหารจัดการพื้นที่สงวนชีวมณฑลเชียงดาวอย่างไร
ภาณุเดชตอบว่า “ต้องออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้คลุกคลีมากขนาดนั้น เพราะเชียงดาวเองมีสายตาของผู้ที่ศึกษาอยู่มากพอสมควร อย่างที่ผมบอก พื้นที่นี้มีการผสมสานทั้งเรื่องของวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องของสัตว์ป่า ผืนป่า ซึ่งทำให้คนทั่วประเทศสนใจและไปเยี่ยมเยือนพื้นที่ตรงนี้หลายจุด
บางคนอาจจะเคยไปจุดนี้ แต่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพื้นที่นี้เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ในหลายมิติ เช่น บางคนอาจจะไปดอยเชียงดาว ไปยอดดอย บางคนอาจะมาที่วัดถ้ำเชียงดาวที่มีคุณค่าในเชิงพุทธศาสนา อย่างคุณแม่ผม ท่านก็นิยมที่จะไปที่วัดนั้น เพียงแต่ว่าที่ผ่านมา พื้นที่เหล่านี้ไม่เคยถูกเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน แต่ถ้าเราไปดูประวัติของพื้นที่เชียงดาว จะพบว่าถูกหลอมด้วยธรรมชาติกับวัฒนธรรม ที่เชื่อมโยงกันมาตลอดตั้งแต่หลายร้อยปีมาแล้ว
สำหรับผม มองว่าพื้นที่เชียงดาว เป็นพื้นที่ทั้งในมิติของคนโดยรอบ ที่เชื่อว่า ยอดดอย หรืออ่างสลุงเป็นพื้นที่ที่พระพุทธเจ้ากับพระสาวกเคยเสด็จผ่านมา ช่วงที่ไปเผยแพร่พระธรรม แล้วมาแวะพักชำระร่างกายที่นี่ ก็เกิดเป็นร่องรอย ชาวบ้านก็เรียกว่าอ่างสรง แล้วค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นอ่างสลุง
ดังนั้น ความสัมพันธ์ ในเชิงของความผูกพันทางจิตวิญญาณของยอดดอยเชียงดาวกับคนที่บริเวณนั้น มีมาตั้งแต่อดีต ในขณะเดียวกัน ก็มีถ้ำที่มีสิ่งปลูกสร้างทางพุทธศาสนาอยู่ในบริเวณนั้น เพราะฉะนั้น พื้นที่แห่งนี้จึงมีความเชื่อกับความศรัทธาต่อตัวผืนป่า ศรัทธาต่อธรรมชาติที่อยู่ในบริเวณนั้น” ภาณุเดชระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า
ถ้าหากเรามองเข้าไปที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เหมือนเป็นภูเขาที่โดดเด่น โดดเดี่ยว สูงจนเทียมฟ้า จึงสะท้อนถึงความน่ายำเกรง สะท้อนถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพื้นที่ แต่อย่างที่ผมบอกว่าคนอาจจะรู้จักเชียงดาวในจุดต่างๆ ค่อนข้างเยอะ แต่ไม่ถูกเชื่อมโยงในเชิงการจัดการร่วมกัน
ความน่าสนใจของ ‘ดอยเชียงดาว’
ภาณุเดชกล่าวว่า ดังนั้น เมื่อดอยเชียงดาวได้รับการประกาศเป็นเขตพื้นที่สงวนชีวมณฑล จึงมีจิ๊กซอว์ที่น่าสนใจ ดังนี้
“ประการแรก เพราะดอยเชียงดาวมันไม่ได้มีแค่ตัวพื้นที่อย่างเดียว แต่ยังมีวิถีของเชียงดาว ทั้งพี่น้องชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่ แล้วก็ทุกชุมชนที่มีความสัมพันธ์อันดีกับธรรมชาติ ซึ่งก็มีแง่มุมพวกนี้อยู่
ประการที่สอง ก็คือ ตัวคนเมืองเชียงดาว คนล้านนาที่อยู่ที่นั่น วิถีชีวิตของเขาพอเพียง มีความลงตัวในเชิงของความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ ทำให้มีกลุ่มของการทำเกษตรอินทรีย์ หรือผู้ที่ทำเกษตรเฉพาะๆ เรื่องไป ค่อนข้างจะเป็นเมืองศิลปินอยู่เหมือนกัน และเป็นเมืองที่มีความหลากหลายของอาชีพที่น่าสนใจ ถ้าเราเข้าไปเรียนรู้เข้าไปค้นหา”
ภาณุเดชจึงมองว่า ถ้าประเทศไทยถือโอกาสที่มีการประกาศพื้นที่เขตสงวนชีวมณฑลที่เชียงดาว อยากให้ลองคิดใหม่ในเรื่องของการปรับวิธีการดูแลพื้นที่เขตสงวนชีวมณฑลให้เป็นรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ใช่รูปแบบของการใช้การศึกษาวิจัย เรียนรู้เท่านั้น เพราะตนมองว่าคนที่เข้าไปเพื่อมุ่งที่จะไปเรียนรู้พื้นที่ในมุมของการศึกษาวิจัย ก็มักเป็นนักวิจัย นักศึกษาที่จะเข้าไปค้นคว้าข้อมูลเชิงพื้นที่ แต่ว่าไม่ได้มีมิติที่ตอบโจทย์ของความเป็นเขตสวนชีวมณฑลจริงๆ คือ ยังไม่ครบองค์ประกอบ เพราะฉะนั้น ถ้าเราลองมองมุมใหม่ ดังที่ภานุเดชได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารของกรมอุทยาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มองตรงกันว่าในเมื่อมีการประกาศพื้นที่ตรงนี้ เราไม่ควรไปมองหรือไปคิดวิธีเดิมในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่
โดยภาณุเดชได้สะท้อนถึงปัญหาให้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชรับรู้ ถึงสิ่งที่ตนได้ไปเจอ หรือว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้มาในพื้นที่อื่นๆ เช่น
ประเด็นแรก เขาเห็นว่า การที่มีประกาศพื้นที่สงวนชีวมณฑล หรือแม้แต่การประกาศมรดกโลกในประเทศไทย มักถูกผลักดันโดยหน่วยงานหนึ่ง เช่น แก่งกระจาน ห้วยขาแข้ง เขาใหญ่ หรือที่เชียงดาว ถูกประกาศโดยกรมอุทยาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เหล่านี้ จึงทำให้ความเป็นเจ้าของร่วม ความรู้สึกของคนในพื้นที่หรือคนที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมด้วยน้อยเกินไป ขาดการมองในเชิงคุณค่าร่วมกัน ว่าพื้นที่เหล่านี้มีความสำคัญอย่างไร ทำให้เราต้องร่วมผลักดันพื้นที่ตรงนี้ร่วมกัน แต่เมื่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชรับหน้าที่ดังกล่าว ก็อาจจะมุ่งไปในมิติของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเป็นหลัก
“เช่น เชียงดาว คนที่ร่วมกันผลักดันก็เป็นนักอนุรักษ์ในสถานีวิจัยบ้าง ทำให้มิติที่จะมองในเรื่องอื่นๆ ในการบริหารจัดการร่วมกันมันน้อย นี่คือข้อเสียที่เกิดขึ้นที่ผมเห็น ทั้งที่แก่งกระจานและทุกที่ เมื่อนักอนุรักษ์ผลักดัน นักมนุษยวิทยาก็ค่อนข้างไม่เห็นด้วยในเรื่องการจัดการ เช่น แก่งกระจานเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องของพี่น้องชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ
แต่ว่าถ้าเรามองใหม่ ในเรื่องของการจัดการเชียงดาว เราก็ต้องมองหาความร่วมมือ และสิ่งสำคัญคือต้องเอาคนที่มีความรู้ ความเข้าใจในมิติอื่นๆ มาร่วมวางแผนบริหารจัดการด้วย ไม่ใช่เอานักอนุรักษ์มาวางแผนงานสังคม หรืองานประชาสังคม เพราะว่าเราก็คุยตรงกันว่าเราอยากเห็นเชียงดาวเป็นเมืองน่าอยู่ด้วย ไม่ใช่มองแค่เรื่องของกวางผา หรือสัตว์ป่าอย่างเดียว อย่างที่ผมทำงานอยู่ แต่ตัวชุมชนเองก็ต้องถูกขับเคลื่อนไปในทิศทางของการเป็นเมืองน่าอยู่
หรือว่าเป็นเมืองที่มีความผสมผสานด้านต่างๆ ดังนั้น การจะนำเอานักอนุรักษ์ ที่ดูแลด้านสัตว์ป่าไปทำด้านนี้คงไม่เหมาะ เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่บูรณาการ มันจะขาดการบริหารจัดการที่หลากหลายมิติแน่ๆ” ภาณุเดชสะท้อนมุมมอง
สิ่งสำคัญคือ ‘ความเข้าใจในพื้นที่’ ทุกมิติ
ประเด็นที่สอง ภาณุเดชมองว่า เป็นเรื่องของความเข้าใจในพื้นที่ คือ การรับรู้ร่วมกันในทุกมิติ ทั้งตัวชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ ตัวจังหวัด หรือแม้แต่คนที่อยู่ในเมือง จะมีความเข้าใจเกี่ยวกับเขตพื้นที่สงวนชีวมณฑล มีบทบาทร่วมกับเรื่องพวกนี้มากแค่ไหน ซึ่งผมมองว่ายังน้อย ดังนั้น จะทำยังไง ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทร่วม
แต่ว่าอาจจะมีบทบาทที่แตกต่างกัน อันนี้เป็นเรื่องของการจัดการ” ภาณุเดชระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า
ประเด็นที่สาม คือ เรื่องของการใช้ประโยชน์ร่วม ในมุมของภาณุเดช ไม่ได้หมายถึงเรื่องของการตัดไม้ หรือเอาประโยชน์จากป่าโดยตรงมาถึงตัวชาวบ้าน แต่ว่าชาวบ้านจะต้องมีประโยชน์ร่วมในมุมอื่น เช่น การท่องเที่ยว ชุมชนได้ประโยชน์ ผู้ประกอบการได้ประโยชน์ ไม่ใช่นักธุรกิจได้ประโยชน์อย่างเดียว ดังนั้น ประโยชน์ร่วม คือการที่ชาวบ้านเห็นว่าการร่วมกันรักษาพื้นที่ ทำให้ได้ประโยชน์กลับคืนมา
นอกจากนี้ ภาณุเดช ยังระบุถึงปัญหาหนึ่งที่เชียงดาวคือ เรื่องของไฟป่าที่เกิดขึ้นมาหลายปี กระทั่งประมาณปี พ.ศ.2560-2561 เริ่มมีการเข้าไปทำงานอย่างเข้มข้น และเริ่มเห็นปัญหา ก็คือ ชาวบ้านบางส่วนไม่รู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของพื้นที่ตรงนั้น เขาจะเผาป่าในเชียงดาวเพื่อจะเปิดพื้นที่ในการเลี้ยงวัวควาย และเพื่อการเก็บหาของป่า
“เหล่านี้ ผมมองว่า ความรู้สึกร่วมในการที่จะได้ประโยชน์นั้นไม่มี ทำให้การดูแลรักษาของชุมชนก่อนหน้านี้ยังน้อย และมองป่าเป็นของรัฐที่หากมีโอกาสก็จะเข้าไปใช้ไปหยิบฉวย สิ่งเหล่านี้ อาจต้องมีการเปลี่ยนมิติทางมุมมองกับคนในชุมชน
ประเด็นที่ 4 คือขาดการเชื่อมโยงในเรื่องของการจัดการ เรื่องของการอนุรักษ์ การจัดการในภาคเมือง การจัดการลุ่มน้ำ ซึ่งจะต้องนำเอาหลากหลายองค์กรหลากหลายความรู้มาช่วยกัน เพราะการที่เรามีเขตพื้นที่สงวนชีวมณฑล เขาให้เราออกแบบรูปแบบการจัดการร่วมในเขตสงวนตรงนี้ คือ การพัฒนารูปแบบการจัดการร่วม ซึ่งก่อนจะพัฒนา ต้องมีชุดข้อมูล เพื่อที่จะนำเอาชุดข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการวางแผนและพัฒนา เพื่อนำไปสู่ตัวกิจกรรมที่เกิดจากการวางแผน แต่สิ่งที่ผมเห็นในหลากหลายพื้นที่คือ ส่วนใหญ่เน้นไปที่การทำวิจัย
ซึ่งเป็นการสร้างองค์ความรู้เฉพาะเรื่อง และมันยังไม่ถูกนำมาใช้ในการที่จะเป็นรากฐานการวางแผนพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้มันเกิดประโยชน์สำหรับเรื่องของการจัดการพื้นที่สงวนชีวมณฑลอย่างแท้จริง
ผมก็คาดหวังว่า ถ้าเราเห็นประเด็นเหล่านี้ร่วมกัน เช่น ปัจจุบันกรมอุทยาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งเป็นหน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพหลัก เพราะว่าเป็นหน่วยงานที่เป็นผู้รวบรวมข้อมูลและผลักดัน ร่วมกับ สผ. (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ) แต่ทั้ง หมดนี้ก็อยู่ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นั่นแหละ แต่จะทำอย่างไรให้มิติในการจัดการร่วมกัน ถูกดึงถูกโยงเข้ามา ซึ่งผมมองว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ก็ควรจะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงหน่วยงาน หรือการจัดการแผน เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการในพื้นที่ตรงนี้จริงๆ” ภาณุเดชระบุ และกล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัว มองว่า รูปแบบการจัดการโดยทั่วไปของ พื้นที่สงวนชีวมณฑล จะมีอยู่หลักๆ แบ่งเป็น 3 ลักษณะของพื้นที่ กล่าวคือ
1 พื้นที่ Core areas หรือพื้นที่ใจกลางที่มีความสำคัญ ที่เป็นเหตุให้มีการประกาศพื้นที่เหล่านี้ อย่างกรณีเชียงดาว ก็คือตัวดอยหลวงเชียงดาวนั่นเอง
หรือพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง จ.ระนอง ก็คือส่วนที่เป็นป่าชายเลน
พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช จ.นครราชสีมา ก็คือสถานีวิจัยป่าของสะแกราช เหล่านี้คือ Core areas แต่ละที่จะมีพื้นที่เหล่านี้ ซึ่งในส่วนนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเป็นเจ้าภาพในการบริหารจัดการ แต่ก็จะมีเรื่องของการท่องเที่ยว การทัศนะศึกษาในพื้นที่และอะไรอีกหลายอย่าง ที่จำเป็นต้องมีแผน ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างเดียว ซึ่งหลายภาคส่วนควรต้องหารือร่วมกัน
2. Buffer Zone คือ ส่วนที่ติดกับ Core areas คือพื้นที่ที่มีชุมชนอาศัยอยู่โดยรอบกับเขตดอยหลวง หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ณ วันนี้ มีทั้งหมด 16 ชุมชนที่อยู่โดยรอบดอยหลวงเชียงดาว หรือ 16 หมู่บ้าน หากนับง่ายๆ ตามทะเบียนราษฎร์ของกระทรวงมหาดไทย
“ผมว่าคนกลุ่มนี้คือ Key สำคัญที่จะเข้ามาดูแลในการใช้ประโยชน์ ในการสร้างความยั่งยืนให้กับพื้นที่ตรงนี้ แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะ Core areas ด้วย แต่รวมถึง พื้นที่บ้านเขาเองด้วย ว่าเขาจะปรับหรือว่าจะพัฒนา มีแนวทางอย่างไร ที่จะอยู่ร่วมกัน ระหว่าง Buffer Zone กับ Core areas ตรงนี้ให้ได้” ภาณุเดชระบุ ก่อนเล่าเพิ่มเติมถึงพื้นที่ส่วนต่อไปของพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว
ส่วนที่ 3 ขยับออกมาจากใจกลาง คือพื้นที่โดยรอบ (Transition Zone) หรือพื้นที่รอบนอกที่เป็นเมือง เป็นตัวอำเภอ
“ซึ่งตรงส่วนนี้ ผมยังฝันถึงความเป็นเมืองน่าอยู่ ตัวกิจกรรมของชุมชนอาจจะมีการมาช่วยกันว่า ทำยังไง ให้ความเป็นชุมชนมีความแข็งแรง ร่วมกันคิด ช่วยกันพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป แต่พื้นที่ทั้งสามส่วนที่กล่าวมา ต้องมีคนที่คอยเชื่อมโยงการจัดการ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมพูดมาตลอดคือต้องมีแผนการจัดการ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะต้องถูกผลักดันต่อ” ภาณุเดชระบุ
เมื่อถามว่าดอยเชียงดาว ส่วนที่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลมีทั้งหมดกี่แสนไร่
ภาณุเดชตอบว่า
“มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 536,931.5 ไร่ แบ่งเป็นแกนกลาง (Core areas) 225,060 ไร่ หรือ 41.9%
เป็นกันชน (Buffer Zone) 276,516.3 ไร่ หรือ 51.5%
และเขตรอบนอก (Transition Zone) 35,355.1 ไร่ หรือ 6.58% ครับผม”
มูลนิธิสืบฯ กับ ‘ดอยเชียงดาว’
เมื่อถามถึงบทบาทของมูลนิธิสืบฯ ในการทำงานร่วมหรือเชื่อมโยงกับดอยเชียงดาว โดยเฉพาะเมื่อดอยเชียงดาวได้รับการประกาศเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแล้ว มูลนิธิสืบฯ จะลงไปทำงานผสานกับภาคส่วนต่างๆ อย่างไร
ภาณุเดชยอมรับว่าที่ผ่านมา มูลนิธิสืบฯ อาจยังไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับพื้นที่ดอยเชียงดาวมากนัก ต่างจากในปัจจุบันที่มีการทำงานในพื้นที่เชียงดาว ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งเล่าย้อนไปถึงความเชื่อมโยงการทำงานของมูลนิธิสืบฯ กับพื้นที่ภาคเหนือ โดยย้อนไปนับแต่เมื่อครั้งที่สืบ นาคะเสถียรยังมีชีวิตอยู่
“ตอนคุณสืบยังมีชีวิต คุณสืบไปทำเรื่องเกี่ยวกับกวางผาทางภาคเหนือของประเทศ ช่วงนั้นคุณสืบเน้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งเป็นมูลนิธิสืบฯ ในปี พ.ศ. 2533 กระทั่งถึงปี พ.ศ. 2535-2536 มูลนิธิสืบฯ ก็มีการทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องกวางผาต่อเนื่องจากคุณสืบที่ภาคเหนือ ตอนนั้น มูลนิธิสืบฯ เก็บข้อมูลทุกพื้นที่ ช่วงนั้นเอง ก็เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพื้นที่เชียงดาว กระทั่ง ปัจจุบันนี้ ก็มีเรื่องของการทำวิจัยกวางผาอยู่ในพื้นที่ตรงนั้นด้วยเหมือนกัน แต่โชคดีที่มูลนิธิสืบฯ อาจทำเรื่องของงานวิจัยไม่เหมือนที่อื่น เนื่องจากรูปแบบของผมคือ การเข้าไปทำวิจัยในพื้นที่นั้นๆ ต้องมีรูปแบบกิจกรรมอยู่สามเรื่องด้วยกัน
กิจกรรมที่ 1 คือ เรื่องของการวิจัยประชากรกวางผาที่อยู่ในพื้นที่เชียงดาว ซึ่งเป็นงานวิทยาศาสตร์ มีการติดปลอกคอ มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปสังเกตพฤติกรรม มีนักวิจัยเข้าไปทำงานร่วมกับสถานีวิจัยสัตว์ป่าเชียงดาว ซึ่งงานวิจัยนี้ เราทำมาสองปีแล้ว ก็มีข้อมูลที่จะนำเอามาพัฒนาต่อในเรื่องของการทำอย่างไรให้กวางผา อยู่ในพื้นที่แห่งนี้ได้อย่างยั่งยืน ไม่สูญพันธุ์ เนื่องจากว่า ณ วันนี้ พื้นที่ภาคเหนือเหมือนเป็นเกาะน่ะครับ เชียงใหม่ ป่าไม้ถูกทำลาย เหลือแต่ส่วนหัวของภูเขา เหมือนเป็นเกาะ กวางผาก็จะอยู่ตามยอดพวกนี้ ทำให้กวางผาไม่สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้ ทำให้พันธุ์ของกวางผาค่อยๆ อ่อนแอลง มูลนิธิสืบฯ ก็เข้าไปช่วยตรงนี้” ภาณุเดชระบุและกล่าวเพิ่มเติมถึงกิจกรรมในส่วนที่ 2และ 3 ว่า
กิจกรรมส่วนที่ 2 และ3 มูลนิธิสืบฯ เข้าไปข้องเกี่ยวกับคนที่อยู่ในพื้นที่เชียงดาว มากขึ้น
โดยกิจกรรมที่ 2 คือ งานอนุรักษ์ มีทั้งการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในการเดินลาดตระเวน การดูแลพื้นที่ ซึ่งก็คือการดูแลบ้านให้กวางผานั่นเอง หากแต่ไม่ได้ทำวิจัยอย่างเดียว แต่ทำเรื่องการคุ้มครองพื้นที่ด้วย สิ่งที่มูลนิธิสืบฯ สนับสนุน มีการสร้างจุดสกัดที่นั่น เพื่อที่จะเอาไว้ใช้ลาดตระเวน ดูแลพื้นที่ และจุดสกัด ณ จุดนี้ ยังเป็นจุดดูแลนักท่องเที่ยวที่จะขึ้นไปยังยอดดอยเชียงดาวด้วย
กิจกรรมที่ 3 มูลนิธิสืบฯ เริ่มทำงานกับเจ้าหน้าที่ และชาวบ้านที่อยู่โดยรอบ ในเรื่องการจัดการไฟป่า โดยร่วมกับทางกลุ่มภาคเหนือที่ทำเรื่องหมอกควัน อาทิ สภาลมหายใจ ของจังหวัดเชียงใหม่ และมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ซึ่งภาคประชาสังคมเหล่านี้ ล้วนทำงานเกาะติดบริเวณพื้นที่นี้มาอย่างยาวนาน ก่อนมูลนิธิสืบฯจะเข้ามาร่วมทำงาน จึงนับเป็นโอกาสอันดี ที่เปรียบเสมือนมีเพื่อนๆ มาร่วมกันทำงาน
นอกจากนี้ ภาณุเดชยังกล่าวถึงงานอีกประการของมูลนิธิสืบฯ ในพื้นที่เชียงดาวว่า เป็นงานประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจ คืองานที่ทางมูลนิธิสืบฯ นำเอาข้อมูลในพื้นที่ มาสื่อสารกับสาธารณะ และตั้งใจจะจัดอบรมเยาวชนในอนาคต มีกิจกรรมร่วมกับชุมชนในพื้นที่ เพื่อทำให้เขามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกวางผาและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์
อีกทั้งเมื่อเร็วๆ นี้ ภาณุเดชก็ลงพื้นที่ที่ดอยเชียงดาว เนื่องจากมีการอบรมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในเรื่องของการปีนผา โรยตัวและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถดูแลตัวเอง และดูแลนักท่องเที่ยวได้ในเวลาเดินขึ้นดอย และเนื่องจาก มูลนิธิสืบฯ เห็นว่า เจ้าหน้าที่มีความเสี่ยงเวลาโรยตัวเพื่อเก็บปลอกคอกวางผา นับว่าอันตราย มูลนิธิสืบฯ จึงอยากช่วยในเรื่องนี้ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว เป็นเรื่องที่มูลนิธิสืบฯ เข้าไปทำงานในพื้นที่เชียงดาว ปีนี้นับเป็นปีที่ 3 แล้ว
สิ่งที่อยากเห็น ‘การบริหารจัดการร่วม’
ถามว่า ยังมีประเด็นใด ที่เห็นควรผลักดันเกี่ยวกับพื้นที่ชีวมณฑลดอยเชียงดาวอีกบ้าง
ภาณุเดชตอบว่า “เมื่อได้รับการประกาศเป็นเขตพื้นที่สงวนชีวมณฑล ผมก็ได้มีโอกาสไปหารือกับผู้บริหารของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้แลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาว่าผมเสียดาย ถ้าประกาศแล้วยังมีการบริหารจัดการแบบเดิมๆ เหมือนพื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า จ.เชียงใหม่ ที่ยังมีการก่อสร้างนู่นสร้างนี่ทั้งที่ไม่ควรสร้าง ผมก็สะท้อนว่า ผมกลัวว่าที่เชียงดาวจะเป็นแบบนั้น ผมมองว่า การบริหารจัดการควรมีทิศทาง ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็ขานรับที่จะทำในแนวอนุรักษ์ที่ยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ในระหว่างการหาแนวทางที่จะทำร่วมกัน
ส่วนในอนาคต เราพยายามจะสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในตัวพื้นที่ ในตัวอำเภอเชียงดาว และในตัวเมืองเชียงใหม่ด้วย สิ่งนี้เป็นเรื่องที่อยากทำให้เกิดขึ้น
นอกจากนี้ ก็อยากให้มีการจัดการร่วม ในเขตพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาวให้ครบทุกมิติ โดยส่วนนี้จะดึงทั้งชุมชน ประชาชน และภาคประชาสังคมของเชียงดาว รวมทั้งสภาลมหายใจเชียงใหม่ เข้ามาช่วยกัน โดยอาจใช้ตัวชี้วัดเป็นเรื่องของไฟป่า หมอกควัน และการร่วมรับประโยชน์ของชุมชนที่เกิดในพื้นที่ คือไม่ใช้ตัวชี้วัดแค่กวางผาและการอนุรักษ์ป่าไม่ให้ถูกทำลายเท่านั้น แต่ผมอยากให้มีมิติในเชิงสังคม เศรษฐศาสตร์ เข้าไปอยู่ในแผนนี้ด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่อยากที่จะทำให้เกิดขึ้นครับ” คือคำตอบทิ้งท้ายที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการอนุรักษ์ ดูแลพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งล่าสุดของไทยอย่างครอบคลุมในทุกมิติและเป็นระบบโดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม
…..
Text by รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by ภาณุเดช เกิดมะลิ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร