xs
xsm
sm
md
lg

หนังสือไทย Soft Power ที่รอรัฐสนับสนุนเพื่อโกอินเตอร์ : อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี นักแปลรางวัลสุรินทราชา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี หรือ เบียร์ นักแปลรางวัลสุรินทราชา นักแปลวรรณกรรมจีนที่ได้รับความนิยมจากนักอ่าน บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์แมงมุมบุ๊ก และล่าสุดกับบทบาท อุปนายก ฝ่ายต่างประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย
 
เปิดประตูสู่วงการแปลหนังสือ เพราะอยากให้คนอื่นได้อ่านหนังสือที่ตัวเองชอบ

ผมเรียนและใช้ภาษาจีนมาตั้งแต่เด็ก บวกกับการเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก มีโอกาสได้อ่านหนังสือภาษาจีนที่หลากหลาย เมื่อเจอหนังสือที่ดีที่สนุก ก็อยากจะให้คนอื่นได้อ่านด้วย แต่หนังสือเล่มนั้นยังไม่มีใครแปลเป็นภาษาไทย เราก็แปล แล้วนำไปเสนอสำนักพิมพ์ เขาสนใจได้ตีพิมพ์ออกมา จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่วงการแปลหนังสือ

16-17 ปีที่แล้ว นักแปลภาษาจีนมีน้อยมาก และหนังสือจีนที่แปลมาวางจำหน่าย ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือประเภทวรรณกรรมคลาสสิคหรือนิยายกำลังภายใน แปลโดยนักแปลรุ่นบุกเบิกที่รู้จักกันดี เช่น ว. ณ เมืองลุง และ น. นพรัตน์ เป็นต้น ในขณะที่ช่วงเวลานั้น วรรณกรรมจีนมีความหลากหลายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มวรรณกรรมร่วมสมัยที่เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น และใช้ภาษาที่ใช้กันในเวลานั้น แต่ยังไม่ได้รับความสนใจ เราจึงเลือกวรรณกรรมเหล่านั้นมาแปล ทำให้เรามีงานแปลอย่างต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ ผมถือเป็นรุ่นกลาง ๆ ที่เข้าสู่วงการ อย่างไรก็ตาม วรรณกรรมจีนเพิ่งได้รับความนิยมอย่างสูง ในช่วง 4-5 ปีนี้ มีความหลากหลายของประเภทหนังสือมากขึ้น ทำให้เกิดนักแปลหน้าใหม่เข้าสู่วงการอีกหลายคน

การเติบโตของวงการหนังสือแปลในประเทศไทย

หนังสือแปลได้รับความนิยมมาเป็นเวลานานแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นภาษาอังกฤษ นิยายแปลประเภทสืบสวนสอบสวน ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงวรรณกรรมที่แปลจากภาษาอื่น ๆ ไม่ว่าจะ จีน ญี่ปุ่น หรือภาษาอื่น ๆ ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน จากประสบการณ์การอ่านของตัวเอง ขอตั้งข้อสังเกตุว่า เราอ่านหนังสืออะไรมากกว่ากัน ระหว่างหนังสือไทยกับหนังสือแปล และเดินเข้าร้านหนังสือเห็นหนังสืออะไรมากกว่ากันระหว่างหนังสือไทยกับหนังสือแปล

และเมื่อพูดถึงหนังสือแปล ต้องบอกว่ามีหลายประเภทอีก ไม่ว่าจะเป็น Fiction หรือ Non Fiction สำหรับส่วนตัวแล้ว เหตุที่ได้หนังสือแปลได้รับความนิยมจากนักอ่าน เพราะหนังสือแปลเป็นหนังสือที่ทำการตลาดในต่างประเทศมาแล้ว มียอดขายหลักล้าน ได้รับความนิยมในหลายประเทศ นักอ่านให้ความสนใจเป็นพิเศษ สำนักพิมพ์ที่นำมาจัดพิมพ์ก็มั่นใจว่าขายได้แน่

กลับมามองที่ประเทศไทย ปัจจุบันถึงเราจะมีประชากรเกือบ 70 ล้านคน แต่งานเขียนของไทย ส่วนใหญ่จะมีเวทีแสดงผลงานและแนวคิดอยู่ในขอบเขตประเทศไทย แต่ในขณะที่งานเขียนในโลกตะวันตก หรือแม้กระทั่งจีน จะมีเป้าหมายในผลงานอย่างชัดเจน มีความเป็นสากล ทำให้หนังสือติด Best Seller มีตลาดที่กว้างขวาง เป็นเรื่องธรรมดาที่จะขายหนังสือออกไปได้ 10-20 ประเทศ ในเชิงจิตวิทยา นักอ่านไทยก็มักจะสนใจหนังสือประเภทนี้ก่อน เรียกได้ว่าหนังสือแปลมีอิทธิพลต่อนักอ่านบ้านเราสูงถึง 70-80 % อ้างอิงจากข้อมูลการขอเลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ (ISBN) จาก หอสมุดแห่งชาติ หนังสือหมวดวรรณกรรมแปล จะติดอันดับ 1 ใน 5 ที่มีการขอ ISBN มากที่สุดในแต่ละปี ซึ่งยังไม่นับหนังสือแปลที่กระจายอยู่ในหมวดอื่น ๆ อีก

ปัจจุบันหนังสือที่นำมาแปลมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ประเภท Fiction ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมอยู่ในกระแส และยังขยายไปต่อยอดในงานด้านอื่น ๆ ได้ เช่น ภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือแอนิเมชั่น พอโด่งดังได้รับความนิยม ผู้ชมก็จะกลับมาหาต้นฉบับ หนังสือก็ขายได้อีก ส่วนประเภท Non-Fiction หนังสือประเภทพวก How to คู่มือการทำงาน พัฒนาทักษะ จิตวิทยา และอื่น ๆ ก็ได้รับความนิยม มีกลุ่มผู้อ่านที่เพิ่มขึ้นตลอด


ความสำคัญของลิขสิทธิ์หนังสือ ใครคือผู้รับผิดชอบ

ย้อนกลับไป 20-30 ปีก่อน คนส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์กัน ยุคก่อนที่นิยายจีนกำลังภายในโด่งดัง มีคนนำต้นฉบับมาแปลเป็นภาษาไทย แล้วมาพิมพ์เล่นหรือพิมพ์ขายจะผิดตรงไหน แต่เมื่อประเทศไทยก้าวสู่เวทีโลก เรื่องลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาก็มีความสำคัญมากขึ้น เราเริ่มรู้จักทรัพย์สินทางปัญญาจากการรณรงค์เรื่องลิขสิทธิ์ภาพยนตร์และเพลง ไม่ว่าจะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ หรือเป็นงานดิจิตอล ก็ล้วนแล้วแต่มีมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา เจ้าของความคิดนั้นจะต้องได้สิ่งตอบแทน มองกลับมาที่วงการหนังสือ จะทำหนังสือหนึ่งเล่ม ก็ต้องมีการขอลิขสิทธิ์ เราต้องจ่ายค่าความคิด ค่าทำงาน ให้กับผู้เขียนต้นฉบับด้วย อย่างหนังสือแปลเราก็ต้องไปขอซื้อลิขสิทธิ์จากนักเขียนหรือสำนักพิมพ์ผู้ดูแลลิขสิทธิ์หนังสือเล่มนั้นอยู่ ที่สำคัญเมื่อเราได้ถือลิขสิทธิ์ตามระยะเวลาที่ตกลงกัน ก็จะไม่มีคนอื่นมาจัดพิมพ์หนังสือเล่มนั้นซ้ำกัน

ที่น่าห่วงคือ ความเข้าใจในเรื่องลิขสิทธิ์หนังสือของคนทั่วไปจนถึงภาครัฐยังน้อยมาก แม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือนักกฎหมายบางส่วน ยังเข้าใจว่า การละเมิดลิขสิทธิ์ หมายถึงการละเมิดพวกเครื่องหมายการค้า สินค้าเลียนแบบ แบรนด์เนมหรือนำรูปภาพการ์ตูนมาผลิตสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น แต่ในขณะที่การลอกเลียนความคิดหรืองานเขียน เช่นการลอกข้อความไปเผยแพร่ ทำซ้ำในรูปแบบต่าง ๆ แม้แต่กระทั่งนำไปแจกฟรีทางออนไลน์ หรือจำหน่ายในช่องทางต่าง ๆ โดยไม่ได้รับการยินยอมจากเจ้าของลิขสิทธิ์ เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งผิดกฎหมายเช่นกัน ความรู้เรื่องลิขสิทธิ์เป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราจะต้องให้ความรู้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน

สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย นอกจากจะมีกิจกรรมการจัดงานหนังสือในประเทศแล้ว อีกส่วนหนึ่งเราก็ได้รับเชิญให้ไปร่วมงานหนังสือในต่างประเทศ เพื่อเผยแพร่อุตสาหกรรมหนังสือของบ้านเราให้ต่างชาติได้รู้จัก นำหนังสือของสมาชิกไปแสดง หากมีสำนักพิมพ์ในต่างประเทศสนใจ ก็จะประสานงานเบื้องต้นให้ พันธกิจอย่างหนึ่งของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ คือสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของสมาชิก ด้านลิขสิทธิ์ก็เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องให้ความรู้แก่สมาชิก ไม่ว่าจะเป็นการซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศมาจัดพิมพ์ในบ้านเรา หรือการขายลิขสิทธิ์ของเราไปจัดพิมพ์ในบ้านเขา


การซื้อลิขสิทธิ์หนังสือมาแปล ถือเป็นทางลัดสำหรับการผลิตสินค้า ในขณะที่คุณคิดงานจากกระดาษเปล่า คุณต้องสร้างงานชิ้นหนึ่งขึ้นมาจากศูนย์ก็จะเป็นการทำงานอย่างหนึ่ง แต่ขณะที่คุณเห็นสินค้าสำเร็จรูปที่ผ่านกระบวนการคิดจนเกิดเป็นสินค้ามาแล้ว เพียงแค่ซื้อไอเดียเขามา แล้วมาแปลเป็นภาษาไทย ก็จะลดการทำงานไปครึ่งนึง จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ ทำไมหนังสือแปลจึงมีมากกว่าหนังสือแต่ง แต่ว่าการได้มาซึ่งหนังสือแปลเล่มหนึ่งนั้น ก็จะมีกระบวนการต่างๆ ที่มีลักษณะเฉพาะ ถ้าหากคุณเพิ่งก้าวเข้าสู่วงการ คุณจะต้องเรียนรู้ล้มลุกคลุกคลานกันก่อน สมาคมฯ จึงมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของสมาชิก สามารถให้ข้อมูลและคำแนะนำเบื้องต้น แต่เมื่อตกลงจะซื้อจะขายก็จะต้องติดต่อกันโดยตรง หรือผ่าน ตัวแทน (Agency)

ส่วนในแง่ของการขายลิขสิทธิ์ ต้องบอกว่าการขายลิขสิทธิ์เป็นงานเหนื่อย ถ้ามองในแง่ผลตอบแทนเป็นตัวเลข จะเรียกว่าได้ไม่คุ้มเสีย ขายร้อยได้สิบ ขายหมื่นได้พัน ตลาดหนังสือใหญ่ของโลกอยู่ที่ อเมริกา ยุโรป จีน ซึ่งล้วนมีเป้าหมายสร้างเนื้อหาเป็นสากล ในขณะที่หนังสือภาษาไทย เขียนบนพื้นฐานให้คนไทย 70 ล้านคนอ่าน จึงเป็นเรื่องยากที่ต่างประเทศจะมองเห็น ถ้าอยากให้เขาเห็นก็ต้องใช้แรงผลักดันมหาศาล หลังจากที่สมาคมฯ ได้ดูแลเรื่องการขายลิขสิทธิ์ ลองผิดลองถูกมายาวนาน ก็พบว่า ภาครัฐต้องเป็นผู้นำในการขายลิขสิทธิ์ ใช้หน่วยงานและทรัพยากรที่ภาครัฐมีมาสนับสนุน ในช่วงโควิดที่ผ่านมา ภาครัฐก็ลดงบประมาณสนับสนุนด้านต่าง ๆ รวมทั้งโอกาสในการไปร่วมงานหนังสือในต่างประเทศก็ไม่มีเลย ยิ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

คนทำเรื่องลิขสิทธิ์หนังสือไทย ส่วนใหญ่จะทำงานด้วยใจรัก มีนักเขียนที่รัก มีผลงานที่ผูกพัน พยายามผลักดันงานหนังสือไทยสู่สากล ให้ไปอยู่ในสายตาต่างชาติ และได้ตีพิมพ์ในภาษาต่างประเทศ คนทำงานกลุ่มนี้ยังกระจัดกระจาย ไร้กำลังสนับสนุน ซึ่งสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ได้เริ่มพูดคุยรวมกลุ่มกัน เพื่อขอการสนับสนุนจากภาครัฐ เพิ่มมูลค่าให้กับวงการหนังสือ เพราะหนังสือคือ Soft Power อย่างหนึ่ง ซึ่งหากประสบความสำเร็จในการสร้าง Content ตั้งต้นก็สามารถต่อยอดไปสู่วงการอื่น ๆ สร้างรายได้ให้กับประเทศได้อีกด้วย


หนังสือไทยจะโกอินเตอร์ได้หรือไม่ ?

เวลาเราจะซื้อลิขหนังสือต่างประเทศมาแปล ถ้าเราไม่ได้ชื่นชอบผู้เขียนเป็นการส่วนตัว เราก็จะเลือกหนังสือที่มียอดขายสูง หรือประสบความสำเร็จได้รับการกล่าวถึงมาแปล ซึ่งถ้าหันกลับมามองหนังสือไทย เรามีหนังสือที่ยอดขายเกินแสนกี่เล่ม ถ้าพูดตรง ๆ คือ ยากที่จะผลักดัน แต่ยังมีหนทาง

ทุกวันนี้ก็ยังมีเอเจนซี่ที่ผลักดันหนังสือไทยออกสู่สากลเพราะใจรัก และสิ่งที่ทำอยู่จะคุ้มก็ต่อเมื่อสามารถขายออกไปแปลเป็นหนังสือได้หลาย ๆ ภาษา หรือนำไปต่อยอดเป็นงานประเภทอื่น ๆ ได้อีก ยกตัวอย่างหนังสือไทยที่มียอดขายสูงในรอบ 4-5 ปี ก็น่าจะเป็น บุพเพสันนิวาส แต่ถ้าถามแล้วมีเรื่องอื่น ๆ อีกมั้ย ทำไมจึงไม่มีหนังสือขายดีแบบบุพเพสันนิวาสอีก ทำอย่างไรจึงจะทำให้หนังสือไทยประสบความสำเร็จแบบนั้นได้ เอกชนไม่มีทรัพยากรมหาศาลและสายป่านยาวพอที่จะสนับสนุนได้ เพราะฉะนั้นยืนยันว่า หนังสือไทยโกอินเตอร์ได้ แต่จะเกิดขึ้นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ ส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เพราะนี่คือเรื่องของวิสัยทัศน์ เป็นการลงทุน เพื่อสร้างผลงานฝีมือคนไทย เพื่อคนไทยในระยะยาว ผลตอบแทนที่ได้กลับคืนมาก็จะเข้าประเทศเต็มร้อยเปอร์เซนต์ คือความภูมิใจที่เกิดจากฝีมือคนไทยนั่นเอง

ช่วงมหกรรมหนังสือระดับชาติ Hybrid Book Fair 2564 มีหนังสือเล่มไหนที่อยากชวนหนอนหนังสือมา อ่านออก เถียงได้

ชวนมาอ่านหนังสือที่ตัวเองแปล “จะไม่ทนเงียบอีกต่อไป” ผมแปลหนังสือเพราะต้องการส่งเสียงแทนคนที่ไม่กล้าส่งเสียง ให้กล้าที่จะออกมาส่งเสียงในพื้นที่ปลอดภัย เรื่องของเด็กชายที่ถูกคุกคามทางเพศจากคนใกล้ชิดเป็นเวลา 3 ปี และไม่มีใครแม้แต่พ่อแม่ใส่ใจรับฟัง ปมในใจถูกฝังไว้อย่างเนิ่นนาน สร้างบาดแผลร้าวลึกตั้งแต่เด็กจนโต อยากจะชวนถกเถียงเรื่องความปลอดภัยในครอบครัว ภัยใกล้ตัวเป็นสิ่งที่เราป้องกันได้หรือไม่

พบกับกิจกรรมในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 26 Hybrid Book Fair 2564#อ่านออกเถียงได้ ผ่านเพจThai Book Fair พร้อม ช้อปหนังสืออย่างจุใจ ผ่านทางช่องทางออนไลน์ 24 ชั่วโมงได้ที่ThaiBookFair.com, JD Central, Lazada, Shopee และเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ หรือเลือกช้อปหนังสือจากร้านหนังสือใกล้บ้านที่เข้าร่วมงานได้


กำลังโหลดความคิดเห็น