แม้ว่าจะผ่านประสบการณ์ทางงานแสดงมาพอสมควร แต่หากเป็นศาสตร์ทางแผ่นฟิล์มแล้ว “น้ำตาล-พิจักขณา วงศารัตนศิลป์” ยังไม่เคยสัมผัสเลยแม้แต่น้อย จนเมื่อได้รับการติดต่อให้มาเล่นหนังเรื่องแรก กับ ‘ส้มป่อย’ จากค่ายเอ็ม พิคเจอร์ส นั่นจึงทำให้เธอได้ประเดิมการเล่นหนังเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการ และด้วยคาแรกเตอร์ฉีกออกไปจากเดิมพอสมควร ยิ่งทำให้การแสดงของเธอในเรื่องนี้นั้นน่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียวเชียว
อยากให้น้ำตาลช่วยเล่าถึงเรื่องย่อและคาแรกเตอร์ของ ‘ส้มป่อย’ มาพอสังเขปครับ
สำหรับหนังเรื่องนี้นะคะ ‘ส้มป่อย’ ก็จะเป็นเด็กผู้หญิงทางภาคเหนือ เรื่องนี้ก็คือบอกเล่าเรื่องราวความรักของวัยรุ่นหนุ่มสาวทางภาคเหนือ เป็นแบบเหมือนฉบับล้านนา น่ารักๆ สิ่งที่เขาหยิบยกขึ้นมา อาจจะไม่ได้เป็นสาวเหนือ หรือ หนุ่มเหนือในอุดมคติของใครหลายๆ คน ซึ่งบางคนอาจจะคิดว่า คนเหนืออาจจะต้องเรียบร้อยอ่อนหวาน พูดจาเพราะ หรือว่าแต่งตัวเรียบร้อย แต่ว่าเรื่องนี้ก็คือ เป็นเหมือนตัวจี๊ดของหมู่บ้านเลย เป็นแกงค์วัยรุ่นตัวจี๊ดๆ เลย แล้วก็ในเรื่องนอกจากเรื่องความรักของหนุ่มสาวแล้ว ก็มีความรักของครอบครัวเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มีวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ แล้วก็มีเรื่องของความเชื่อด้วยค่ะ เพราะว่าในเรื่อง พระเอกก็มีอาชีพคือร่างทรง
คือตอนที่ได้รับติดต่อมาให้เล่น ก็รู้สึกตื่นเต้นและดีใจมากๆ เลยค่ะ เพราะว่ายังไม่เคยเล่นภาพยนตร์มาก่อน คือเราเรียนจบทางด้านหนังมา แต่โดยส่วนใหญ่ก็จะทำงานเฉพาะเบื้องหลังมากกว่า ซึ่งพอมันเป็นหนังเรื่องแรกที่มีการติดต่อมา ด้วยความที่มันเป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับภาคเหนือด้วย วัยรุ่นทางเหนือ เราก็เลยรู้สึกตื่นเต้นเป็นพิเศษ แล้วก็อยากที่จะเห็นบทหนัง และอยากเล่นแล้ว
ด้วยตัวบทที่ถือว่าใกล้ตัวที่สุด ค่อนข้างเกร็งมั้ยครับ
เกร็งมากค่ะ ตื่นเต้นแล้วท้าทายมาก สิ่งที่เหมือนกันก็คือความเป็นคนเหนือเหมือนกัน แล้วก็เป็นคนที่สนุกสนานเหมือนกัน แต่สิ่งที่มันแตกต่างกัน ก็คือ วัยรุ่นในภาคเหนือในยุคนี้ ซึ่งจะแตกต่างกับเรา เพราะว่าเราอายุ 30 แล้ว ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่า เด็กวัยรุ่นภาคเหนือสมัยนี้ เขาอยู่ที่บ้านแล้วเขาฮิตอะไรกัน เราก็ไปสืบๆ ดูปรากฏว่า เดี๋ยวนี้มันมีเทคโนโลยีอย่างโทรศัพท์มือถือ มันมีแอพลิเคชั่นต่างๆ เราก็โอเคมันมีแบบนี้ อย่างสมัยนี้ เขาชอบเต้น เราก็ปรับตัวเข้ากับเขามากยิ่งขึ้น เพราะว่าในยุคสมัยเรา เราก็ถือว่าเราก็เฮ้วในหมู่บ้านแล้วนะ แต่ก็ไม่ได้ขนาดแบบ ‘ส้มป่อย’ ขนาดนี้ค่ะ
แล้วก็ความง่ายของเขาก็คือ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเขามันค่อนข้างจะคล้ายกับเรา คือเราก็ไม่ได้เป็นเด็กในเมือง เราก็ค่อนข้างที่จะเป็นเด็กบ้านๆ เลย เติบโตมากับท้องไร่ท้องนาท้องสวนเลย ก็มีแกงค์ในหมู่บ้านแบบนี้เหมือนกันค่ะ ก็เลยรู้สึกว่า มันเป็นความท้าทายที่ ด้วยความที่บทบาทมันไกลตัวมากนัก เราจะทำยังไงให้ตัวละครนี้มันดูมีเสน่ห์มากขึ้น
ด้วยความที่น้ำตาลบอกว่า เป็นหนังเรื่องแรกด้วย การทำงานมันแตกต่างจากงานละครที่ผ่านมายังไง
แตกต่างเยอะมากค่ะ เพราะว่า ช่วงที่เราถ่ายทำหนังเรื่องนี้ โควิด-19 กำลังเริ่มระบาด แต่ว่าที่ภาคเหนือในตอนนั้นอาจจะยังไม่ระบาดเยอะมาก ตอนนั้นมันยังเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว คือตอนที่เรายกกองไปถ่ายที่ภาคเหนือเนี่ย เราก็จะต้องจำกัดกลุ่มคนเลย ก็เลยแทบจะอยู่ด้วยกัน แทบจะ 24 ชั่วโมงเลย แทบจะไม่ได้ออกไปข้างนอกเลย เหมือนกับเก็บตัวไปเข้าค่ายอย่างงั้นเลย แล้วทีนี้ มันเป็นข้อดีตรงที่ ภาพยนตร์มันจะไม่เหมือนละครตรงที่ ละครจะถ่ายทำกัน 6 เดือนบ้าง 8 เดือนบ้าง หรือ 1 ปี แต่ภาพยนตร์คือ เหมือนเราเพิ่งมาเจอกัน แล้วเราต้องถ่ายเลย แล้วเวลาแค่ 10 วัน ที่เราจะต้องถ่ายหนังให้จบ เราจะทำยังไงให้มันสนิทกันโดยเร็วที่สุด แล้วก็ทำยังไงให้เข้าถึงตัวละครให้เร็วที่สุดอย่างงี้ค่ะ ดังนั้น มันก็จะเป็นความโชคดีนิดนึงตรงที่ เราต้องเก็บตัวอยู่ด้วยกันนะ เราก็ค่อนข้างที่จะสนิทกันค่อนข้างเร็ว แล้วก็ เรามีการเวิร์คช็อปในการกินอยู่ด้วยกัน มัยก็เลยทำให้เราได้ใกล้ชิดกับทางผู้กำกับด้วย ซึ่งเขาก็จะได้บอกว่า เขาจะต้องการอะไร แบบไหน
แล้วความยากของภาคเหนือ ตรงที่ในภาคเหนือแต่ละจังหวัดก็พูดไม่เหมือนกัน เราก็เลยแบบว่าจะยังไงดี เพราะพระเอก น้องตี๋ (ธนพล จารุจิตรานนท์) ก็เป็นคนเชียงใหม่ เราเป็นคนแพร่ แล้วเราจะยึดสำเนียงไหนในการสื่อสารเป็นหลักในหนังเรื่องนี้ สำหรับ เราสามารถพูดภาษาเหนือในสำเนียงเชียงใหม่ได้ เพราะ เคยเรียนที่ มช. มา 3 ปี เราก็แบบสามารถกลมกลืนไปกับสำเนียงดังกล่าวได้ แต่ทางผู้กำกับ เขาอยากให้เราพูดสำเนียงแพร่เลย แล้วเขาจะปรับบทว่าให้แม่และเพื่อนเป็นคนแพร่ เข้ามาผสมหน่อย เพราะว่าคนแพร่เวลาเถียงกัน มันจะมีความหนักแน่น เพราะสำเนียงแพร่จะเป็นสำเนียงที่ห้วนที่สุดแล้ว เราก็เลยยึดสำเนียงแพร่เป็นสำเนียงหลัก
แน่นอนว่าเรื่องนี้ได้ร่วมงานกับทั้งพี่โขม (ก้องเกียรติ โขมศิริ – ควบคุมงานสร้าง) และ พี่มะเดี่ยว (ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล – ที่ปรึกษา) ด้วย ทั้งสองท่าน ได้ให้คำแนะนำยังไงบ้างครับ
สิ่งแรกเลยที่ตาลกลัว และปรึกษากับพี่ๆ เขา คือเรากลัวการติดภาพการแสดงจากละครมาใช้ในหนังค่ะ เพราะว่า อย่างเวลาที่เราถ่ายละคร ก็จะมี 3 กล้อง ที่เราจะต้องเล่นเผื่อ ในเวลาแต่ละครั้ง แต่ภาพยนตร์คือ ถ่ายกล้องเดียวเลย คือเขาก็มาอธิบายให้เราฟัง แต่เราอาจจะมีเบื้องหลังของการเรียนภาพยนตร์มาบ้างแล้ว ว่าการถ่ายทำมันจะมีกล้องเดียวนะ มันอาจจะต้องเล่นหลายรอบหน่อย ดราม่ามันก็อาจจะร้องไห้เยอะหน่อย แต่สิ่งที่เขาต้องการมากๆ เลยก็คือ ความสมจริง คือในวันที่ไปเจอพี่ๆ เขา เขาบอกว่า ไม่ต้องเปลี่ยนอะไรมากเลย ก็เป็นตัวของตัวเรานี่แหละ เพียงแต่ว่า เอาตัวสมป่อยเข้ามาใส่ในตัวเราอะไรอย่างงี้ค่ะ ไม่ต้องไปคิดถึงมุมกล้อง ไม่ต้องไปคิดถึงอะไรเลย เล่นเป็นตัวละครไป แล้วเขาก็จะไปหามุมของเขาเอง เราก็เลยรู้สึกว่า โอเค ดีจังเลย เพราะว่า เราก็ไม่เคยเล่นหนังมาก่อน เราก็เลยมีความตื่นเต้นมากๆ ไม่รู้ว่ามันจะเป็นยังไง แล้วมีโอกาสได้ไปเวิร์กช็อปที่บ้านพี่มะเดี่ยวที่เชียงใหม่ด้วย ก็สนุกค่ะ ได้เห็นการทำงานที่สนุกสนาน ด้วยความที่พี่เขาอยู่ที่นั่นอยู่แล้ว พอเราได้ไปอยู่ไปกินที่นั่น ก็เลยทำให้ได้สนิทกับพวกพี่ๆ เร็ว
ก็คือเหมือนกับว่า เราได้เอาสิ่งที่เรียนมา ใช้กับหนังเรื่องนี้เลย
ใช่ค่ะ แล้วเขาก็จะแนะนำเราแบบว่า ให้สนิทกับรุ่นน้องไวๆ คือสนิทกับตี๋ เอาง่ายๆ เลยในหนังเรื่องนี้ อาจจะมีเราที่ชั่วโมงบินในการแสดงเยอะหน่อย ดังนั้น เราจะต้องเป็นหลักให้เพื่อนๆ โดยเร็ว เพราะมันจะมีความกลัวแบบว่า เดี๋ยวคนนี้จะเป็นยังไง ซึ่งก้เป็นแบบนั้นจริงๆ เพราะว่า พอนักแสดงหลายๆ ท่านที่มาร่วมฉากกับเรา ก็จะมาถามเราว่า ‘เฮ้ย พี่ผมต้องทำยังไงดี’ เขาก็จะมีมาปรึกษากัน ด้วยความที่น้องตี๋ ก็มีอายุที่ห่างกับเราพอสมควร แล้วดันมาเล่นเป็นเพื่อนกัน ที่ตบหัวและด่ากันได้ เราเลยบอกกับน้องเขาเลยว่า ‘ตี๋ ตบหัวพี่เดี๋ยวนี้’ (หัวเราะ) แกต้องสนิทกับฉันให้ไวที่สุด น้องเขาจะกล้าเล่นกับเรามากยิ่งขึ้น
จากที่น้ำตาลว่ามา ด้วยชั่วโมงบินที่เราเยอะกว่า และเป็นตัวแบกของเรื่อง แต่ก็เป็นหนังเรื่องแรกด้วย มันก็มีความกดดันอยู่เหมือนกันนะ
กดดันนะคะ เพราะคนอื่นอาจจะคิดว่า เราเป็นนักแสดงมานานแล้ว แต่ว่าเราก็ใหม่มากๆ ในการแสดงหนัง เราก็แทบจะไม่พร้อมที่จะไปช่วยอะไรใครเหมือนกัน (หัวเราะเบาๆ) เราก็บอกเลยว่า ‘พี่ถามผู้กำกับเหมือนกันเลยค่ะ เพราะหนูก็ไม่รู้จะยังไงดีแล้ว’ แต่เราชอบอยู่อย่างหนึ่งตรงที่ภาพยนตร์ เหมือนเขาเลือกนักแสดงมาจากคาแรกเตอร์ที่เขามองหาในเรื่องนั้นๆ มันอาจจะไม่เหมือนตัวละครที่บางทีแบบว่า มันมีตัวละครที่เขาวางไว้ว่าจะเป็นอะไรยังไง แต่หนังคือเหมือนคนๆ นั้น เดินออกมาจากบทแล้ว อย่างพี่สไปรท์ บะบะบิ (พัชร์ธีรัตน์ แหลมหลวง) เขามีความรู้สึกว่าเขามีความกดดันมากๆ เขาคิอดว่าเขาเป็นนักแสดงที่ใหม่มากๆ ในการแสดง แต่เรารู้สึกว่า ธรรมชาติของพี่เขามันสุดยอดมากๆ ไม่มีใครทำได้แบบพี่เขาแล้วกับตัวละครในเรื่อง แล้วดราก็ชมเขาเสมอว่าพี่เล่นดีแล้วนะ เขาก็ตอบกลับมาว่าจริงเหรอๆ พี่ไม่มั่นใจในตัวเองเลย ประมาณนี้
แล้วในเรื่องของการทำงานกับ ‘ส้มป่อยทีม’ ทางทีมงานได้มีการแนะนำยังไงบ้างครับ
มันเป็นเรื่องตลกมาก คือพอเราไปถึง ผู้กำกับถามเราว่า ทำไมถึงรับเล่นหนังเรื่องนี้อ่ะ เราก็งงว่า เอ๊ะ ยังไง คือผู้กำกับเขาเป็นรุ่นน้องเราอีกทีนึง แล้วก็มีพี่ที่โตกว่า และน้องอีกคนนึง เขาบอกว่า มันเป็นความฝันของผมเลยนะ ไม่คิดว่าเราจะรับเล่นหนังเรื่องนี้ เพราะตอนแรกสุด เหมือนมันเป็นโปรเจกต์เล็กๆ ของเขา ก็ไม่คิดว่าวันหนึ่งจะได้เรามา เราฟังแล้วก็จะดีใจหรือยังไงดี (หัวเราะ) เราก็พยายามทำทุกอย่างให้เต็มที่ที่สุด เพื่อที่จะสามารถทำได้ คือช่วยอะไรได้ก็ช่วย จะให้แสดงแบบไหน เราก็ทำให้ แล้วก็พยายามขายหลายๆ อย่าง ทำเพิ่มจากในสิ่งที่เขาทำด้วย
อย่างตอนเวอร์ชั่นหนังสั้น เราก็เคยได้ดูตอนที่รับเล่นค่ะ คือในตัวหนังมันก็มีการปรับเปลี่ยนบ้างบางอย่างที่ทำเข้าไป เพราะว่า พอมันเป็นเวอร์ชั่นที่สเกลใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ก็อาจจะเพิ่มตัวละครเข้ามา ทำให้ตัวละครมันกลมมากที่สุด คือเราก็ถามเขาว่า ตอนนั้นเขาเขียนบทจบรึยัง เขาก็บอกว่า อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาบท เหมือนเราทำตัวอย่างหนังเอาไว้ก่อน เอาไว้ขาย เราก็บอกว่า แต่ดีนะ ทำดีเลย แล้วเราดู เราก็ชอบ พอเราเข้าไปอ่านในคอมเมนต์ ทุกคนก็ชอบ อยากดูมากๆ มันก็เลยเป็นความคาดหวังในตัวเราเองอีก (หัวเราะ) คือทุกคนก็อยากดู คือมันเป็นหนังเหนือที่ต้นฉบับมากๆ ทั้งคนเขียนรบท ผู้กำกับ นักแสดง ก็คือเป็นคนเหนือจริงๆ เอาแล้ว ความกดดันเริ่มมาแล้ว ทำยังไงถึงจะออกมาดีนะ ให้สมกับทุกคนเขาคาดหวัง ตั้งตาว่าอยากจะรอดูหนังเรื่องนี้ เพราะว่าเขามีกระแสพอตัวของเขามากๆ เลยค่ะ หลังจากที่ปล่อยหนังตัวอย่างออกไป
อย่างที่น้ำตาลเคยบอกว่า หนังเรื่องนี้เป็นการพลิกคาแรกเตอร์มากที่สุดด้วย โดยส่วนตัวคือ มันเป็นความท้าทายในการแสดงด้วยมั้ย
เป็นความท้าทายมากๆ เลยค่ะ แค่มาเล่นเป็นคนเหนือก็เป็นความท้าทายมากๆ สำหรับเราเลย เพราะว่ามีแฟนๆ หลายคน เขาตั้งหน้าตั้งตารอว่า เมื่อไหร่ เราจะมีผลงานที่เกี่ยวข้องกับทางภาคเหนือซะที เพราะว่า คือส่วนตัวเราจะชอบพูดภาษาเหนือ ไม่ว่าจะเป็นไลฟ์สด หรือว่าถ้าเจอคนเหนือด้วยกัน เราก็จะพูดภาษาเหนือตลอด แล้วก็จะมีความรู้สึกว่า ทำไมคนเหนือถึงไม่ได้เล่นอะไรที่มันเป็นเหนือซะทีนะ อยากดูจังเลย พอเราได้รับบทบาทนี้มาแล้ว เราก็เลยมีความรู้สึกว่า มันเป็นอะไรที่ท้าทายมาก ที่เราจะต้องทำให้มันดีที่สุด ยิ่งคนรู้สึกว่า บทบาทมันไม่ได้ไกลตัวเรามาก เราก็ต้องพยายามมากกว่าเดิม รวมถึง มันเคยมีอะไรที่กลับมาให้เปรียบเทียบแบบนี้ ยิ่งต้องพยายามมากขึ้นกว่าเดิมค่ะ ก็เลยพยายามทำการบ้าน ไปศึกษาดูว่า วัยร่นชาวเหนือในช่วงนี้ทำอะไร เต้นยังไง คือเราเป็นคนชอบเต้น แต่ก็ไม่ได้เต้นแบบว่าเหมือนวัยรุ่นยุคนี้ แต่ไปดูว่า วัยรุ่นรถแห่ เขาเต้นท่าอะไรกัน หรือการเมาแบบรั่วสุดๆ จะต้องเป็นยังไง เพราะเราก็ไม่ได้เมาแบบสนุก เราจะเมาแบบนิ่งๆ แต่ส้มป่อยจะเมาแล้วปีนลำโพงขึ้นไปเต้น เราก็ เอาวะสู้เต็มที่
แน่นอนว่าในหนังเรื่องนี้มันก็มีความยากอยู่แล้ว น้ำตาลคิดว่าส่วนไหนที่ยากที่สุดครับ
สำหรับเรา เรามองว่าด้วยความที่มันเป็นหนังเหนือที่ค่อนข้างฉีกจากอุดมคติของใครหลายๆ คนนี่แหละค่ะ คือตอนที่เราอ่านบท เราก็คิดนะว่า คนดูเขาจะรับได้มากน้อยแค่ไหนกับการนำเสนอวัยรุ่นยุคใหม่ ไม่ได้เป็นวัยรุ่นที่สาวเหนือเรียบร้อยอ่อนไหว ไม่ได้พูดจาน่าฟัง เราเลือกมุมนี้มานำเสนอ คือคนเขาจะรับได้มั้ย คนเขาจะรู้สึกสนุกและมีความสุขไปกับตัวละครตัวนี้มั้ย ตาลก็มีความรู้สึกว่า มันเป็นความยากสำหรับเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ตาลก็เชื่อว่า ตัวละครที่ค่อนข้างมีมิติ ไม่ได้เป็นตัวละครที่ว่า แอ๊วผู้ชายไปวันๆ เมาไปวันๆ กินแต่เหล้าขาว ลาบดิบ แต่เขามีปมในใจ มีเรื่องราวมากมาย ซึ่งมันไม่ใช่แค่ตัวนำอย่างส้มป่อย หรืออย่างตัวแซ้บ ที่รับบทโดยน้องตี๋ ทำไมเขาถึงมาหลอกชาวบ้านด้วยการเป็นคนทรงเจ้า เขาก็มีปมของเขา ก็เลยรู้สึกว่า ภาพยนตร์เรื่องนิ้ มันไม่ได้บอกแค่ด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น แต่มันค่อนข้างจะกลมกล่อม แล้วก็เราเชี่อว่าน่าจะครบทุกรส แล้วตอบโจทย์ถึงข้อสงสัยในแต่ละคนว่า ทำไมเราถึงหยิบยกเอาวัยรุ่นคนหนึ่งซึ่งไม่ได้เป็นวัยรุ่นหนุ่มสาวภาคเหนือในอุดมคติของเขาในหลายๆ คนมาเล่าในหนังเรื่องนี้
ถ้าให้พูดถึง ‘ความเป็นเหนือ’ แบบเร็วๆ ซัก 3 อย่าง คิดว่ามันมีอะไรบ้างครับ
อันแรกคือ ภูเขา คือมีคนถามเราบ่อยว่า เราชอบภูเขาหรือทะเล เราชอบบอกเสมทอว่าเป็นภูเขา เพราะว่าอย่างที่บ้านเราเอง จังหวัดแพร่ ด้วยความที่มันเป็นแอ่งกระทะ มองไป 360 องศา ก้คือเห็นเป็นภูเขาไปหมดเลย แล้วเรารู้สึกว่า จังหวัดทางภาคเหนือมันเหมือนเป็นตัวแทนของขุนเขา มองไปทางไหนก็มีแต่ความเขียวขจี ดูแบบสบายหูสบายตา ก็เลยถ้านึกถึงภาคเหนือ ก็ต้องนึกถึงภูเขาค่ะ
ต่อไปก็เป็นเรื่องภาษา คือมีหลายๆ คนชอบบอกว่า ชอบฟังเวลาที่คนเหนือเขาคุยกัน มันน่ารัก มันแบบพูดจาน่ารักจังเลย แบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน แล้วแบบไพเราะเพราะพริ้งจังเลย แต่ที่จริงแล้ว มันก็มีภาษาสำเนียงของแต่ละจังหวัดที่แตกต่างออกไปอีก อย่างจังหวัดแพร่ บางคนก็จะบอกว่า ทำไมคนจังหวัดนี้ดูดุกันจังเลย อย่างเวลาที่เราคุยโทรศัพท์กับพ่อแม่ เพื่อนตกใจ นึกว่าทะเลาะกัน เขาก็จะมาถามเราว่า โอเครึเปล่า เพราะนึกว่าทะเลาะกัน เราก็บอกกลับไปว่า นี่คือคุยกันปกติเลย บ้านฉันคุยกันแบบนี้ เสียงดังห้วนๆ แบบนี้ มันก็เลยแบบว่า มันก็มีความแปลกตรงที่ภาษาเหนือมันก็ไม่ได้อ่อนหวานทุกจังหวัดนะคะ
สุดท้าย ก็เป็นเรื่องอาหาร คือเราเชื่อว่าเวลาที่ใครไปเที่ยวภาคเหนือ ก็ต้องอยากไปกินอาหารเหนือ แล้วก็ไม่มีอาหารเหนือที่ไหนที่จะอร่อยเท่า อาหารเหนือรสมือแม่ของบ้านเรา คือเรามาอยู่กรุงเทพ เราพยายามหาอาหารเหนือเยอะมาก แต่มันก็ไม่เหมือนกับแบบที่แม่เราทำให้กิน อย่างทุกวันนี้ เวลาที่เรากลับบ้านที่แพร่ เราก็จะขนน้ำพริกกลับมาเป็นกิโลเลย หรือว่าให้แม่ทำไส้อั่วกลับมา คืออาหารเหนือ เราว่ามีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์แล้วก็อร่อย และเราสามารถกินทุกวันอยู่แล้ว ชอบ (ยิ้ม)
คิดว่า ‘ความเป็นเหนือ’ แบบไหนที่ยังติดตัวคุณมาที่สุด แม้ว่าจะมาอยู่ที่ส่วนกลางแล้วก็ตาม
ก็น่าจะเป็นเรื่องของภาษาค่ะ คือแฟนๆ บอกว่า เขาชอบเราพูดภาษาเหนือมากเลย คือเราเป็นคนที่ชอบพูดภาษาถิ่นมากอย่างที่บอก ไม่รู้ทำไม เรามีความรู้สึกอุ่นใจทุกครั้ง เวลาที่เจอคนเหนือด้วยกัน แบบเจอคนที่เข้าอกเข้าใจกัน เราก็จะพูดภาษาเหนือตลอดเลย ถ้าใครติดตามเรามา อย่างบางทีถ้าเราลงแคปชั่นในการพูด ก็จะมีการใช้ภาษาเหนือตลอด ถ้ามีอีกเรื่อง ก็คงเป็นเรื่องอาหารละคะ ชอบพกน้ำพริกติดตัวมาด้วย ขนาดไปต่างประเทศเรายังพกติดตัวไปเลย คือเรารู้สึกว่า น้ำพริกลาบ กินกับอะไรก็อร่อย อยากให้ทุกคนได้ลองชิมดู คือบางทีเรากินกับไข่เจียวก็อร่อยแล้ว หรืออย่างที่เราไปเมืองนอก แล้วมีอาหารแบบแฮม ไส้กรอก บางทีเรากินเยอะๆ มันก็เลี่ยน ก็ไม่ค่อยชอบกินเท่าไหร่ ก็เอาแฮมของเขามาจิ้มกับน้ำพริกลาบบ้านเราซะเลย สุดยอดเลยเจ้า
ขณะเดียวกัน หนังเรื่องนี้จะขายถึงความเป็นเหนืออย่างชัดเจน คิดว่าส่วนไหนที่จะเปลี่ยนภาพจำของคนทั่วไปได้บ้างครับ
จะได้เห็นของภาคเหนือที่มันมีความสนุกมากยิ่งขึ้น คือเราว่ามันก็มีหนัง มีละครที่มันเกี่ยวกับภาคเหนือที่จะเยอะ แต่ว่าส่วนใหญ่จะหยิบยกเอาเรื่องของความอ่อนช้อย อ่อนหวาน หรือเรื่องสวยงาม หยิบมายกมาเล่า แต่ในเรื่องนี้ คนจะได้เห็นคนเหนือที่แบบสนุกสุดๆ ไปเลย สนุกทุกอย่าง กินลาบก็กินคำใหญ่มาก เรากินไปประมาณ 20 คำได้ กินเหล้าขาวก็กินแบบสุดๆ มีเรื่องของการแบบว่ากินงู ก็เข้ามาอยู่ในเรื่องนี้ได้ หรือในเรื่องของการเต้นน่ะค่ะ จริงๆ คนเหนือกินเหล้าเก่งมาก (หัวเราะเบาๆ) หลายๆ คน อาจจะไม่เชื่อ แต่อันนี้คือเรื่องจริง ต้องลองไปกินเหล้ากับคนเหนือดูนะคะ (หัวเราะอีกครั้ง) บางคนอาจจะคิดว่า คนเหนือกินเหล้าไม่เก่งหรอก 2-3 แก้วก็เมา ทุกอย่างจะถูกเปลี่ยนภาพจำ แล้วเราไม่ได้กินแบบธรรมดาด้วย เรากระดกจากขวด
ความคาดหวังต่อหนังเรื่องแรก และ ‘ความเป็นเหนือ’ ของน้ำตาลครับ
ถามว่าคาดหวังมั้ย คาดหวังอยู่แล้วค่ะ ทุกๆ ครั้ง เวลาที่ผลงานเราออก ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ เราคาดหวังเพราะว่าเราเต็มที่กับสิ่งที่เราทำเยอะมากๆ (เน้นเสียง) อย่างหนังเรื่องนี้ เราก็ใส่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีลงไปกับตัวละครตัวนี้ค่อนข้างจะเยอะ ถึงแม้ว่าจะเป็นแค่ในช่วงเวลาสั้นๆ ที่เราได้รู้จักกับตัวละครนี้ แต่เหมือนพยายามทำการบ้าน และเก็บเกี่ยวทุกอย่างให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะให้ตัวละครตัวนี้เป็นตัวละครที่สมบูรณ์ที่สุด ก่อนที่จะไปถึงแฟนๆ เพื่อที่เวลาที่เราไปหนังดูในโรงหนัง ไม่รู้สึกเสียดายว่า ทำไมเราไม่เล่นให้ดีกว่านี้ หรือว่าทำให้มันมากกว่านี้ เพราะว่า ถ้ามีเต็ม 100 เราให้ 101 ไปเลยค่ะ สำหรับหนังเรื่องนี้มันก็นำมาสู่ความคาดหวัง แต่เราก็เข้าใจด้วยสถานการณ์อะไรหลายๆ อย่างแบบนี้นะคะ ก็ขอแค่พอหนังเรื่องนี้ได้ฉาย แล้วกระแสตอบรับกลับคืนมาถึงตัวเรา แล้วเป็นสิ่งที่ดีและทำให้หนังไทยของเรามาอยู่ในกระแสอีกครั้ง ก็ดีใจมากๆ ค่ะ
ส่วน ‘ความเป็นเหนือ’ ด้วยความที่เป็นภาพยนตร์เหนือแบบสมจริงมากๆ แล้วมันไม่ได้เป็นเหนือแบบฉาบฉวย เพราะบางทีอาจจะไปใช้แบบสถานที่หรือว่ามีคนมาพูดเหนือ 2-3 คำ แต่งตัวเป็นภาคเหนือ อันนั้นตาลมีความรู้สึกว่ามันยังไม่ได้ลงลึกเท่ากับหนังเรื่องนี้ คือหนังเรื่องนี้ เราเจาะเข้าไปในชีวิต วิถีความเป็นอยู่แบบบ้านๆ ชนบทเลย ว่าวัยรุ่นที่อยู่ในชุมชนนั้นเป็นคนยังไง เขาอาจจะไม่ได้เป็นสาวหนรือหนุ่มเหนือที่ดูเรียบร้อยอ่อนหวานอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ว่าทุกตัวละครในเรื่องนี้มีมิติหมด แล้วก็ทุกเรื่องที่เขาหยิบยกขึ้นมาเล่า เราว่าเป็นเสน่ห์ที่หลายๆ คนอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อนที่เล่าเกี่ยวกับภาคเหนือค่ะ ก็อยากให้ทุกคนเปิดใจกับหนังเรื่องนี้เยอะๆ ค่ะ
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : ณัฐชนน หล้าแหล่ง