xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 17-23 ต.ค.2564

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1."อดีตพระยันตระ" กลับไทยฉลองวันเกิดครบ 70 ปี อ้างยังเป็นพระ สังคมข้องใจ พระแห่กราบไหว้ เหมาะสมหรือไม่!

สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีอดีตพระยันตระ หรือนายวินัย ละอองสุวรรณ ซึ่งเคยถูกมหาเถรสมาคม (มส.) มีมติปลดออกจากความพระเมื่อ 27 ปีก่อน จากเหตุเสพเมถุน จนต้องปาราชิก นอกจากนี้ยังมีคดีก้าวล่วงสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งอดีตพระยันตระได้หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศกว่า 20 ปี และเคยกลับเข้าประเทศครั้งหนึ่งเมื่อปี 2557 หลังคดีต่างๆ หมดอายุความ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่สำนักสงฆ์เกพลิตาโพธิวิหาร ต.หนองบอน อ.เมือง จ.สระแก้ว อดีตพระยันตระ ได้กลับมาปรากฏตัวอีกครั้ง โดยแสดงธรรมให้กับลูกศิษย์ที่มีทั้งฆราวาสและพระภิกษุสงฆ์ ที่ร่วมฟังการแสดงธรรมมากกว่า 50 คน พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า กลับมาประเทศไทยครั้งนี้ รู้สึกคิดถึงแผ่นดินเกิด คิดถึงญาติโยม โดยเฉพาะลูกศิษย์เก่าๆ ที่แยกย้ายไปอยู่ตามวัด หรือสำนักต่างๆ หลายพื้นที่ จึงเดินทางมาพบปะกับลูกศิษย์ และจะเดินทางกลับสหรัฐอเมริกาวันที่ 27 ต.ค.นี้

ทั้งนี้ ภาพที่ทำให้สังคมและแวดวงพระสงฆ์วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก คือภาพอดีตพระยันตระกำลังทำพิธีฉลองวันเกิดครบรอบ 70 ปี โดยมีพระสงฆ์และแม่ชีกำลังกราบไหว้ ทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า พระสงฆ์สามารถกราบฆราวาสได้หรือไม่

ด้านพระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว กล่าวถึงกรณีนี้ว่า การที่พระสงฆ์กราบไหว้ผู้ที่ไม่ใช่พระ แม้จะไม่ผิดพระธรรมวินัย แต่ถือว่าผิดธรรมเนียมจารีตประเพณี ซึ่งพระจะไม่ไหว้ผู้ที่ไม่ใช่พระสงฆ์ด้วยกัน พร้อมชี้ว่า ทางคณะสงฆ์ผู้ปกครองควรเรียกพระสงฆ์ที่ไปก้มกราบอดีตยันตระมาตักเตือนติเตียน เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป

มีรายงานว่า อดีตพระยันตระได้ให้สัมภาษณ์ผ่านทีวีช่องหนึ่ง โดยยังพูดแทนตัวเองว่าอาตมา พร้อมยืนยันว่า ตัวเองยังเป็นนักบวชอยู่ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มีแต่รูปแบบภายนอกเท่านั้นที่เปลี่ยนไป ส่วนที่กลับประเทศไทย เพราะเป็นแดนมาตุภูมิที่เกิดของอาตมา อาตมาเกิดที่ปากพนัง นครศรีธรรมราช ยังมีญาติพี่น้องอยู่เยอะ ตั้งใจมาเยี่ยม และศิษย์สาธุชนที่ยังมีความเลื่อมใสอยู่ ทุกคนดีใจที่อาตมากลับมา ก็มากราบมาไหว้ อาตมาก็ไม่มีสิ่งใดนอกจากพูดให้ธรรมะ

เมื่อถามว่า มีคนตั้งคำถามว่าท่านอยู่ในประเทศไทยท่านไม่ใช่พระแล้ว ทำไมยังให้พระสงฆ์ไปกราบไหว้ท่าน สำนักพุทธฯ กำลังตรวจสอบพระสงฆ์ที่ไปกราบไหว้ท่านจะมีความผิดได้ อดีตพระยันตระ ยืนยันว่า อาตมายังเป็นพระอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่อาตมาไม่ปลงผม ไม่ปลงหนวด ปล่อยไปตามธรรมชาติ เพราะอาตมาอยู่อเมริกา อยู่ป่าจะมาวัดเป็นครั้งคราว ในวันวิสาขบูชา หรือวันมาฆบูชา หรือวันอาสาฬหบูชา เมื่อถามต่อว่า แต่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ศรัทธาท่านแล้ว อดีตพระยันตระ กล่าวว่า อาตมาเข้าใจโลก จะให้คนมาเข้าใจเราทั้งหมดไม่ได้ เป็นธรรมดา

ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 ต.ค. มีสมาชิก TikTok รายหนึ่ง โพสต์คลิปวิดีโอเป็นภาพอดีตพระยันตระนำลูกศิษย์ทั้งพระสงฆ์และแม่ชี เต้นออกกำลังกาย ด้วยการขยับแขน แกว่งมือไปมา โดยในคลิปมีการนำเพลงเข้ามาประกอบท่าทางของอดีตพระยันตระ พระสงฆ์ กับแม่ชี ในทำนองเพลงสนุกสนาน แต่ไม่มีการระบุว่า ใครเป็นผู้นำมาใส่ในคลิป โดยผู้โพสต์ระบุข้อความสั้น ๆ ว่า "กายบริหาร"

ซึ่งได้มีชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็น โดยส่วนใหญ่มองว่า เป็นพฤติกรรมที่ไม่สำรวม รวมทั้งขอให้ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ตรวจสอบถึงความเหมาะสมด้วย

ล่าสุด วันนี้ (23 ต.ค.) มีรายงานว่า อดีตพระยันตระ ได้เดินทางออกจากสำนักสงฆ์เกพลิตาโพธิวิหาร ตั้งแต่ช่วงเช้า ด้วยรถตู้เพื่อเดินทางเข้า จ.ปราจีนบุรี โดยมีรถติดตามส่งอีก 5 คัน หลังจากนั้นจะเดินทางไป จ.ปทุมธานี ก่อนเดินทางกลับสหรัฐฯ ในวันที่ 27 ต.ค.

2.ศาลอุทธรณ์พิพากษาเเก้ จำคุก "สนธิญาณ" 8 เดือน คดีชุมนุม กปปส.ขัดขวางเลือกตั้ง ด้าน "สกลธี-ดร.สมบัติ-ดร.เสรี" รอด!


เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีกบฎ กปปส.สำนวนแรก ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม อายุ 59 ปี แกนนำ กปปส., นายสกลธี ภัททิยกุล อายุ 44 ปี อดีต ส.ส.กทม.ร่วมชุมนุม, นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อายุ 70 ปี อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และอดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง และสภาปฏิรูปการเมือง (สปช.) และนายเสรี วงศ์มณฑา อายุ 72 ปี นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด เป็นจำเลยที่ 1- 4

ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ, กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใดที่ไม่ใช่การกระทำในความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือความไม่สงบในราชอาณาจักรฯ, อั้งยี่, ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ, เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการกระทำนั้นแต่ไม่เลิก, ยุยงให้ร่วมกันหยุดงานฯ เพื่อบังคับรัฐบาล, ร่วมกันบุกรุก และร่วมกันขัดขวางเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง, ร่วมกันขัดขวางการปฏิบัติงานของ กกต. รวม 8 ข้อหา

โดยคดีสำนวน กปปส. ชุดแรกนี้ อัยการยื่นฟ้องตั้งแต่ปี 2557 สืบเนื่องจากการร่วมชุมนุมกันของ กปปส.ที่มีนายสุเทพ เป็นผู้นำการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 23 พ.ย. 56-1 พ.ค.57 ซึ่งมีการพาผู้ชุมนุมบุกรุกปิดสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งท้ายคำฟ้อง อัยการโจทก์ยังได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของจำเลยด้วย มีกำหนด 5 ปี ขณะที่จำเลยทั้ง 4 รายให้การปฏิเสธทุกข้อหา พร้อมตั้งทนายความสู้คดี ระหว่างพิจารณาคดี จำเลยทั้งสี่ได้รับการประกันตัว

คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ก.ค.2562 พิพากษายกฟ้อง โดยพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานที่อัยการโจทก์นำสืบมารับฟังได้เพียงว่า จำเลยทั้ง 4 รายได้เข้าร่วมชุมนุมกับ กปปส. แต่ไม่ได้เป็นแกนนำที่สั่งการผู้ชุมนุม หรือขึ้นปราศรัยสั่งการให้กระทำการรุนแรง โดยการชุมนุมของ กปปส. ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยไว้แล้วในคำวินิจฉัยที่ 59/2556 ว่า เป็นการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 63 ซึ่งสืบเนื่องจากเหตุที่คัดค้านการออกร่างกฎหมายนิรโทษกรรม และไม่พอใจการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา จึงยังไม่พอฟังได้ว่า จำเลยทั้งสี่ได้กระทำความผิดตามฟ้องทั้ง 8 ข้อหา จึงพิพากษายกฟ้อง

เมื่อถึงกำหนดนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ได้มีเเกนนำ กปปส.หลายคนเดินทางมาให้กำลังใจจำเลยทั้งสี่ เช่น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส., นายถาวร เสนเนียม, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ

โดยนายสุเทพกล่าวก่อนเข้าร่วมฟังคำพิพากษาว่า มาให้กำลังใจจำเลยทั้ง 4 คน และพร้อมน้อมรับ
ตามคำพิพากษาของศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลใดก็ตาม เชื่อว่ามีการตัดสินไปตามหลักของกระบวนการยุติธรรม ส่วนในคดีกบฏ สำนวนของตัวเองนั้น ก็เตรียมยื่นอุทธรณ์คดีในเดือน พ.ย.นี้

ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกับนายสุเทพกับพวกอีกหลายคนมั่วสุมและร่วมกันแบ่งหน้าที่กันกระทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรฐานเป็นกบฏ แต่พยานโจทก์ ยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นแกนนำและนำผู้ชุมนุม โดยฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เข้าร่วมชุมนุม ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่า จำเลยที่ 1 เป็นแกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุมจริงหรือไม่

ส่วนของจำเลยที่ 2 พยานหลักฐานยังฟังไม่ได้ตามที่อ้างว่า เป็นแกนนำนำกลุ่มผู้ชุมนุมไปกองบัญชาการกองทัพไทย และกรมสอบสวนคดีพิเศษ กับสถานที่ราชการอีกหลายแห่ง และไม่ได้เข้าไปในอาคาร ป.ป.ช. หรือรู้เห็นเกี่ยวกับการใช้โซ่คล้องประตูทางเข้า สำหรับจำเลยที่ 3 ก็ยังถือไม่ได้ว่า กล่าวปราศรัยหรือยุยงปลุกปั่นให้ผู้ชุมนุมกระทำความผิดแต่อย่างใด ส่วนจำเลยที่ 4 ก็ยังไม่พอฟังได้ว่า เป็นแกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุม


ขณะที่ในทางนำสืบได้ความว่า การที่จำเลยที่ 1-2 เข้าไปในสถานที่ต่าง ๆ เป็นเพียงการเข้าไปโดยได้รับความยินยอมจากผู้ครอบครองสถานที่นั้น ๆ เพื่อพูดคุยเจรจา ส่วนจำเลยที่ 3-4 ในทางนำสืบไม่ปรากฏว่า จำเลยเข้าไปหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลอื่น การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก

ส่วนความผิดฐานร่วมกันขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ และร่วมกันกระทำการใดโดยไม่มีอำนาจ เพื่อไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ จากการเดินทางไปชุมนุมที่โรงเรียนสุโขทัย และสำนักงานเขตดุสิตซึ่งเป็นหน่วยเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2557 ในทางนำสืบฟังได้ว่า นายสนธิญาณ จำเลยที่ 1 ได้เดินทางพร้อมกลุ่มผู้ชุมนุมไปหน่วยเลือกตั้งดังกล่าวจริง ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำสืบปฏิเสธว่า ไม่ใช่ผู้ร่วมกลุ่มตัวแทนเจรจา หากจำเลยไม่ได้เป็นผู้ร่วมชุมนุมก็คงไม่ได้เข้าร่วมเป็นผู้เจรจาดังกล่าว สำหรับจำเลยที่ 2-4 โจทก์ไม่ได้นำสืบว่า ร่วมเดินทางไปกับนายสนธิญาณ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดดังกล่าว

อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน จึงพิพากษาแก้เป็นว่า นายสนธิญาณ จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 76, 152 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 จำคุก 1 ปี


แต่ในทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 8 เดือน และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ต่อมา ญาติและทนายความของนายสนธิญาณ จำเลยที่ 1 ได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างฎีกาสู้คดี ด้านศาลพิจารณาแล้ว อนุญาตให้ประกันตัว โดยตีราคาประกัน 6 แสนบาท และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ

หลังได้ประกันตัว นายสนธิญาณให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่า ศาลพิจารณาตัดสินคดีไปตามขั้นตอนพยานหลักฐาน ก็ไม่ได้รู้สึกอะไร ก็สู้คดีกันไป เพราะศาลชั้นต้นยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ท่านมีหลักฐานแบบนี้ แต่ก็ยังมีขั้นตอนในชั้นศาลฎีกาต่อไป

3. “ไพบูลย์” รอด ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากไม่ต้องพ้น ส.ส. ปมเลิกพรรคประชาชนปฏิรูป และย้ายซบ พปชร.!



ความคืบหน้ากรณี ส.ส. 60 คน ได้เข้าชื่อร้องต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายไพบูลย์ นิติตะวัน ต้องพ้นสภาพการเป็น ส.ส.หรือไม่ จากกรณีสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ หลังพรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7) ทั้งที่นายไพบูลย์ยังต้องปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป จนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จ และไม่ได้เป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ ที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนปิดรับสมัคร เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายไพบูลย์สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่

ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และต่อมาได้กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 20 ต.ค.2564

ทั้งนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คณะกรรมการบริหารพรรค ปชช. ได้ประชุมและมีมติเอกฉันท์ให้เลิกพรรค โดยมีการดำเนินการตามขั้นตอน กระบวนการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับพรรคที่ 54 มีกรรมการบริหารพรรคมาประชุมจำนวน 16 คน ซึ่งไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการบริหารพรรคที่มีอยู่ในขณะนั้นคือ 29 คน และทั้ง 16 คนมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เลิกพรรค จึงเป็นเสียงข้างมากตามข้อบังคับพรรคที่ 55

โดยมีเหตุผลการเลิกพรรคว่า เนื่องจากกรรมการบริหารพรรคหลายคนลาออก และอีกหลายคนกำลังจะลาออก รวมทั้งขาดบุคลากรสนับสนุน จึงไม่สามารถดำเนินกิจการพรรคไปได้ เมื่อแจ้งให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบ และทำการตรวจสอบ กรรมการบริหารพรรคทั้ง 15 คนให้ถ้อยคำสอดคล้องกันถึงเหตุผลที่เลิกพรรค อีก 1 คนอยู่ระหว่างเดินทางไปต่างประเทศ นายทะเบียนพรรคการเมืองจึงเสนอให้ กกต.พิจารณา และมีมติเป็นเอกฉันท์ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้พรรค ปชช.สิ้นสภาพ เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 62 การสิ้นสภาพของพรรค ปชช. จึงเป็นไปโดยชอบ

ส่วนข้ออ้างที่ว่า การเลิกพรรค ปชช. เป็นการกระทำที่นายไพบูลย์มีเจตนาซ่อนเร้น ศาลเห็นว่า ไม่มีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใดแสดงให้เห็นว่า เป็นไปตามที่กล่าวอ้าง เมื่อพรรค ปชช. เลิกพรรค และ กกต. ประกาศการสิ้นสภาพพรรค ปชช.ในราชกิจจานุเบกษา มีผลวันที่ 6 ก.ย. 62 นายไพบูลย์ซึ่งเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(10) ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 91 วรรคสี่ บัญญัติว่า การสิ้นสภาพพรรคการเมืองตามมาตรานี้ เป็นการถูกยุบพรรคการเมืองโดยมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสมาชิกภาพ ส.ส.ที่จะได้รับผลกระทบจากการที่พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพ อันเป็นหลักการเดียวกับการคุ้มครอง ส.ส.ที่สังกัดพรรคการเมืองที่ถูกยุบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (10)

ดังนั้นสมาชิกพรรคการเมืองที่สิ้นสภาพตามมาตรา 91 เพื่อคงการเป็น ส.ส. จึงต้องสมัครเข้าพรรคการเมืองอื่นนับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพ คดีนี้วันที่ 6 ก.ย. 62 เป็นวันที่พรรค ปชช.สิ้นสภาพการเป็นพรรคการเมือง สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐวันที่ 9 ก.ย. 62 จึงอยู่ในระยะเวลา 60 วัน นับแต่พรรค ปชช.สิ้นสภาพการเป็นพรรคการเมือง

ส่วนที่อ้างว่า นายไพบูลย์เป็นหัวหน้าพรรค ปชช. ต้องอยู่ชำระบัญชีจนเสร็จสิ้นตามมาตรา 95 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 กำหนด ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 95 เป็นการกำหนดหน้าที่ของหัวหน้าพรรคการเมืองที่สิ้นสภาพหรือยุบให้ต้องปฏิบัติจนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จ โดยมีหน้าที่ให้ข้อมูลส่งบัญชี งบดุล และเอกสารเกี่ยวกับการเงินภายใน 30 วันนับแต่วันที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพหรือยุบ และห้ามมิให้หัวหน้าพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในนามพรรคการเมืองที่สิ้นสภาพ แต่ไม่ห้ามดำเนินกิจกรรมในนามพรรคการเมืองอื่น

ส่วนข้ออ้างที่ว่า นายไพบูลย์ไม่ใช่บุคคลที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.พลังประชารัฐที่ยื่นต่อ กกต.เมื่อตอนสมัครรับเลือกตั้ง จึงไม่สามารถเป็น ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐได้ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 90 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองในการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง และมาตรา 91 (5) กำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่ได้มาซึ่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง โดยมีวัตถุประสงค์ใช้บังคับระหว่างจัดการเลือกตั้งและประกาศผลการเลือกตั้ง เป็นคนละกรณีกับการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 ( 10 ) ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7) และมาตรา 91 วรรคสี่ ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการเลือกตั้ง และนายไพบูลย์ ได้รับการประกาศผลการเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อแล้ว ด้วยเหตุดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายไพบูลย์ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5)

ด้านนายไพบูลย์เปิดใจหลังทราบคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่า ขอขอบคุณศาลฯ ที่ได้กรุณาพิจารณาด้วยความยุติธรรมตามข้อกฎหมาย โดยนำรัฐธรรมนูญและกฎหมายมาพิจารณาอย่างเที่ยงตรง ทำให้เกิดความกระจ่าง และชัดเจนขึ้นอย่างมาก ซึ่งทุกอย่างดำเนินการตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองทุกประการ

4. ศาลฎีกาพิพากษายืน จำคุก "เติ้ล ธนพล" 1 ปี ไม่รอลงอาญา คดีลักลอบต่อไฟหลวงใช้ในร้านคาร์แคร์!



เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธนพล นิ่มทัยสุข หรือเติ้ล ธนพล อายุ 37 ปี ดารานักแสดงหนุ่ม ในความผิดฐานลักทรัพย์ สืบเนื่องจากเมื่อกลางปี 2560 มีกระแสข่าวว่า ดาราหนุ่มคนหนึ่งเปิดร้านคาร์แคร์ที่ริมถนนสิริโสธร เขต อ.เมืองฉะเชิงเทรา บริการล้างอัดฉีดและตกแต่งรถยนต์ ได้ลักลอบพ่วงไฟฟ้าใช้โดยผิดกฎหมาย

ต่อมา เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา ได้เข้าไปตรวจสอบพบว่า มีการแอบต่อพ่วงสายเมนไฟฟ้าช่วงบริเวณเหนือมิเตอร์ แล้วต่อสายตรงไว้ที่ใต้ฝ้าเพดานของอาคาร ลากโยงสายไปที่บริเวณร้านล้างอัดฉีดและตกแต่งรถยนต์ โดยร้านนี้มีนายธนพล นิ่มทัยสุข เป็นเจ้าของ หลังจากนั้นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่นิติกรเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจ สภ.เมืองฉะเชิงเทรา ให้ดำเนินคดีกับนายธนพล ที่ขโมยใช้ไฟฟ้ามาดำเนินธุรกิจคาร์แคร์ เป็นเวลานานราว 2-3 ปี

คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2562 ว่า นายธนพล จำเลยกระทำผิดจริงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง พิพากษาจำคุก 5 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา

หลังจากนั้น ทนายความของนายธนพล ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอประกันตัว ซึ่งศาลอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างสู้คดีในชั้นอุทธรณ์

ต่อมา ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคหนึ่ง ประกอบ มาตรา 83 ให้จำคุก 2 ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา หลังจากนั้น จำเลยได้ยื่นสู้คดีในชั้นฎีกา

ทั้งนี้ ศาลฎีกาตรวจสำนวนปรึกษากันแล้วเห็นว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้อง พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ หลังศาลอ่านพิพากษา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวนายธนพล ไปคุมขังยังเรือนจำกลางฉะเชิงเทรา เพื่อรับโทษตามกฎหมายต่อไป

มีรายงานว่า ที่มาของคดีนี้ เกิดขึ้นหลังนักแสดงหนุ่มได้ไปเช่าพื้นที่ส่วนหนึ่งของอู่ที่มีเจ้าของชื่อ “ลุงเล็ก” ใน จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อทำธุรกิจคาร์แคร์ชื่อ “ทรี มังกี้”

แต่หลังจากทำไปได้พักหนึ่ง หนุ่มเติ้ลได้ติดค้างการชำระค่าไฟเป็นเวลากว่า 3 เดือน จนเจ้าหน้าที่ได้มายกมิเตอร์ออก แต่ปรากฏว่าในพื้นที่ดังกล่าวกลับยังสามารถใช้ไฟได้อยู่ เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบก็พบว่า พื้นที่คาร์แคร์ของนักแสดงหนุ่มนั้น มีการต่อไฟตรงโดยไม่ผ่านมิเตอร์ และพบว่ามีการต่อไฟมาใช้นาน 2-3 ปีแล้ว

ซึ่งหลังจากเป็นข่าวออกมา มีรายงานว่า เจ้าตัวได้ไปชำระเงินจำนวน 2 แสนบาทเป็นค่าปรับ ขณะที่ในส่วนของคดีอาญานั้น เมื่อเดือน เม.ย.2561 มีข่าวว่า อัยการจังหวัดฉะเชิงเทราสั่งไม่ฟ้องนักแสดงหนุ่ม พร้อมให้เหตุผลว่า ไม่สามารถติดต่อพยาน ซึ่งเป็นอดีตพนักงานในคาร์แคร์ดังกล่าวมาให้ปากคำได้

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ช่วงเดือน ม.ค.2562 มีข่าวว่า อัยการจังหวัดฉะเชิงเทราได้ยื่นเรื่องสั่งฟ้องนักแสดงหนุ่มในคดีดังกล่าวแล้ว กระทั่งสิ้นเดือน ก.ค. ปีเดียวกัน ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาจำคุกนายธนพล 5 ปี แต่จำเลยสารภาพ จึงลดโทษให้ เหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ก่อนที่ศาลอุทธรณ์ จะพิพากษาแก้ เป็นจำคุก 2 ปี และลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา

5. "บิ๊กตู่" ยกเลิกเคอร์ฟิว 17 จังหวัด เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว มีผล 31 ต.ค. ไฟเขียว 46 ปท.เข้าไทยไม่ต้องกักตัว!



เมื่อวันที่ 21 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงการเตรียมตัวเปิดประเทศว่า หลังจากที่ได้ประกาศแผนยกเลิกการกักตัว สำหรับผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย โดยจะต้องเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว เดินทางเข้าประเทศโดยทางอากาศ และเดินทางมาจากประเทศที่เราจัดว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ "จะเห็นได้ว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังประกาศออกไป ประเทศอื่นๆ เช่น อเมริกา และประเทศในภูมิภาคของเรา ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย (บาหลี) ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และมาเลเซีย ต่างก็กำลังทำเช่นเดียวกัน ...เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนเป็นแบบนี้แล้ว จากที่ในเบื้องต้นตัดสินใจว่า เราจะพิจารณาประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อจะให้เดินทางเข้าไทยได้ โดยไม่ต้องกักตัว อยู่ที่ประมาณ 10 ประเทศ แล้วจึงจะค่อยๆ เพิ่มจำนวนประเทศให้มากขึ้น"

"ตอนนี้ผมคิดว่า ในสถานการณ์ใหม่ ถ้าเราต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยให้มาก เพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและภาคธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่เดือดร้อนกันอย่างมากมานาน เราจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าเร็วกว่านั้น ...ผมดีใจที่วันนี้ จะแจ้งให้ทุกท่านทราบว่า เราจะเพิ่มจำนวนรายชื่อประเทศความเสี่ยงต่ำกลุ่มแรก ที่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องกักตัว เป็น 46 ประเทศ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว เดินทางเข้าประเทศไทยโดยทางอากาศ และมีหลักฐานปลอดเชื้อโควิด โดยมีการตรวจก่อนออกเดินทาง และตรวจเมื่อมาถึงประเทศไทย ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้เป็นต้นไป"

ทั้งนี้ วันเดียวกัน (21 ต.ค.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 36 ระบุว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น รัฐบาลจึงเห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องมีการฟื้นฟูประเทศ เพื่อประโยชน์ด้านการใช้ชีวิตความเป็นอยู่และด้านเศรษฐกิจแก่ประชาชน ในเบื้องต้นจึงเห็นควรให้มีการเปิดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว อันจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและการจ้างงาน

ทั้งนี้ ได้กำหนด 8 ข้อ สาระสำคัญ คือ การกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว 17 จังหวัด และยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว โดยมีผลตั้งแต่เวลา 23.00 น. ของวันที่ 31 ต.ค. รวมถึงการห้ามจัดกิจกรรมเสี่ยงในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว การปรับระดับพื้นที่ ตลอดจนการกำหนดและมาตรการป้องกันโรคของผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร

โดยมี 4 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร, ชลบุรี (เฉพาะอำเภอบางละมุง เมืองพัทยา อำเภอศรีราชา อำเภอเกาะสีชัง และอำเภอสัตหีบ เฉพาะตำบลนาจอมเทียน และตำบลบางเสร่), ระยอง (เฉพาะเกาะเสม็ด) และสมุทรปราการ (เฉพาะพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ) ทำให้ 4 จังหวัด/พื้นที่เหล่านี้ไม่มีการเคอร์ฟิวตามข้อกำหนดดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ได้มีคำสั่ง ศบค.ที่ 18/2564 เรื่อง พื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ออกประกาศพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว 17 จังหวัด ประกอบด้วย 1. กรุงเทพมหานคร 2. จังหวัดกระบี่ 3. จังหวัดชลบุรี (เฉพาะอำเภอบางละมุง เมืองพัทยา อำเภอศรีราชา อำเภอเกาะสีชัง และอำเภอสัตหีบ เฉพาะตำบลนาจอมเทียน และตำบลบางเสร่) 4. จังหวัดเชียงใหม่ (เฉพาะอำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอดอยเต่า อำเภอแม่ริม และอำเภอแม่แตง) 5. จังหวัดตราด (เฉพาะอำเภอเกาะช้าง) 6. จังหวัดบุรีรัมย์ (เฉพาะอำเภอเมืองบุรีรัมย์)

7. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (เฉพาะตำบลหัวหิน และตำบลหนองแก) 8. จังหวัดพังงา 9. จังหวัดเพชรบุรี (เฉพาะเทศบาลเมืองชะอำ) 10. จังหวัดภูเก็ต 11. จังหวัดระนอง (เฉพาะเกาะพยาม) 12. จังหวัดระยอง (เฉพาะเกาะเสม็ด) 13. จังหวัดเลย (เฉพาะอำเภอเชียงคาน) 14. จังหวัดสมุทรปราการ (เฉพาะบริเวณพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ) 15. จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เฉพาะเกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า) 16. จังหวัดหนองคาย (เฉพาะอำเภอเมืองหนองคาย อำเภอสังคม อำเภอศรีเชียงใหม่ และอำเภอท่าบ่อ) 17. จังหวัดอุดรธานี (เฉพาะอำเภอเมืองอุดรธานี อำเภอบ้านดุง อำเภอกุมภวาปี อำเภอนายูง อำเภอหนองหาน และอำเภอประจักษ์ศิลปาคม)



กำลังโหลดความคิดเห็น